Thursday, February 1, 2007

ทุนวิจัยไอทีอียู

ชวนคนไทยชิงทุนวิจัยไอทีอียูประกาศแจก 1 แสน-10 ล้านยูโร/โครงการ

สหภาพยุโรปเปิดโอกาสนักวิจัยไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ส่งโครงงานด้านไอทีประกวดรับทุนสนับสนุน สำหรับพัฒนาสู่การใช้งานจริง เช่น แพทย์ทางไกล หุ่นยนต์อัตโนมัติและเครื่องมือไอทีประหยัดพลังงาน เป็นต้น ด้านการแพทย์ สาธารณสุข ระบุตั้งวงเงินหนุนโครงการละ 1 แสน-10 ล้านยูโร
สหภาพยุโรปหรืออียู เปิดรับผลงานวิจัยไทยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับพิจารณาให้ทุนสนับสนุนนำไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น การแพทย์ สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข โดยเป็นกิจกรรมในความร่วมมือกับศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กำหนดปิดรับผลงานในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้
ทุนวิจัยพัฒนาด้านไอซีทีของอียูนี้ เป็นกิจกรรมในโครงการเอ็นเกจ (ENGAGE : European Union-Southeast Asia) ซึ่งมุ่งสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย ระหว่างประเทศสมาชิกอียูกับ 4 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย รวมวงเงิน 2.4 พันล้านบาทในกรอบดำเนินการ 7 ปี (2550-2556)
"โครงการเอ็นเกจเน้นการสร้างเครือข่ายวิจัยระหว่างประเทศ ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไอที เช่น หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ ระบบการแพทย์ทางไกล การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน ทั้งนี้ ยุโรปมีความสนใจที่จะใช้เครื่อข่ายงานวิจัย ช่วยแก้ปัญหาระดับโลก เช่น ภาวะโลกร้อน" ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
นายจีน ฟรังซัวส์ ครูเทน ตัวแทนกรรมการสหภาพยุโรปในประเทศไทย กล่าวว่า อียูทำงานวิจัยร่วมกับกลุ่มประเทศในอาเซียนมาตลอด 25 ปี โดยสนับสนุนทุนวิจัยไปแล้วกว่า 50 โครงการ สำหรับประเทศไทยได้รับการสนับสนุนไปแล้ว 2-3 โครงการในวงเงิน 1 แสน-10 ล้านยูโร เช่น งานวิจัยและพัฒนายา อาหาร สาธารณสุขและนาโนเทคโนโลยี
ส่วนตัวอย่างงานวิจัยของไทยที่ได้รับทุนจากอียู เช่น โครงการวิจัยยามาลาเรีย ที่นักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาร่วมกับประเทศฝรั่งเศส และโครงการพัฒนาเทคโนโลยีจัดการฟาร์ม ที่นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ร่วมกับนักวิจัยจากบังคลาเทศ เวียดนาม และอังกฤษ
ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เนคเทค กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพร้อมด้านการวิจัยเทคโนโลยีไอที โดยเฉพาะเทคโนโลยีการพัฒนาฮาร์ดดิสไดรฟ์ และอาร์เอฟไอดีหรือชิพอัจฉริยะ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว ระบบซอฟต์แวร์วินิจฉัยโรค ที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับเสนอขอรับทุนดังกล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: