ไทยใช้ "สเต็มเซลล์" รักษาโรคเสียงแหบสำเร็จรายแรกของโลก
นักวิจัยไทยพัฒนาสเต็มเซลล์รักษาโรคเสียงแหบ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่รายแรกของโลก นักวิจัยไทยจับมือนักวิจัย ม.วิสคอนซิน สหรัฐ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยสเตมเซลล์รักษาโรค เลขาธิการ วช.มั่นใจไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้ แต่ต้องใช้พรสวรรค์เพิ่ม เหตุได้รับการสนับสนุนน้อย
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานต้อนรับในโอกาสที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา จัดประชุมเรื่อง "เทคโนโลยีอุบัติใหม่ในเซลล์ต้นกำเนิด" (Emerging Technology on Stem Cell) ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ก.พ.เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยสเต็มเซลล์กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) นำเสนอผลการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ อาทิ ศ.ไคลฟ์ สเวนด์เซน (Clive Svendsen) เรื่องสเต็มเซลล์กับการซ่อมแซมสมอง
ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติด้านการวิจัยสเต็มเซลล์ ว่า ต้องมีการวิจัยขั้นพื้นฐาน ค้นคว้าวิจัยระดับโมเลกุล ระดับเซลล์ เพื่อพัฒนาสู่ระดับที่ 2 คือ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านสเต็มเซลล์ นำไปสู่ขั้นที่ 3 การใช้ประโยชน์ นำไปสู่การวิจัยทางคลินิก เพื่อรักษา บำบัดโรคต่างๆ ซึ่งทาง วช.ได้เริ่มโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มหาวิทยาลัยมหิดล และหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน มีผลการวิจัยที่เป็นฝีมือของคนไทยประสบผลสำเร็จแล้วหลายโครงการ เช่น การรักษาภาวะเสียงแหบด้วยสเต็มเซลล์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยสเตมเซลล์ที่สถาบันโรคทรวงอก
"ผลักดันการวิจัยการรักษาโรคหัวใจ โรคไต ระบบประสาท สมอง ทั้งพาร์กินสัน หลอดเลือดหัวใจ พยายามให้มีการวิจัยระดับคลินิก มีความร่วมมือของนักวิจัยขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 เพื่อให้เกิดผลดีกับคนไทย คำนึงถึงจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ให้เกิดผลดี มีความปลอดภัย ขั้นที่ 3 ระดับคลินิก เราทำได้ผลดี เร็วๆ นี้จะมีข่าวดีออกมาอีก การรักษาเสียงแหบถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก" ศ.ดร.อานนท์ กล่าว
ศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า สเต็มเซลล์ที่นำมารักษาผู้ป่วยเสียงแหบนั้น แพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี นำเลือดของผู้ป่วยมาพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ จากนั้นฉีดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยที่มีอาชีพครู เส้นเสียงที่แหบเครือสามารถทำงานได้ดี พูดสอนนักเรียนได้เหมือนเดิม มีผู้ป่วยเสียงแหบที่รักษาด้วยสเตมเซลล์แล้ว 6 ราย ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยอยู่ระหว่างติดตามผลอย่างใกล้ชิด ส่วนสเต็มเซลล์รักษาโรคหัวใจนั้น นำเลือดของผู้ป่วยมาพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ หลังจากนั้นฉีดกลับเข้าร่างกายผู้ป่วย วิจัยในผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2548 จนถึงปัจจุบัน มีคนไข้ในโครงการวิจัย 5 ราย ทุกรายปลอดภัย แพทย์และนักวิจัยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนอนาคตกำลังวิจัยโรคข้อเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับสเต็มเซลล์ได้จากส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ เลือด ไขกระดูก ผิวหนัง ไขมัน เป็นต้น
ศ.ดร.อานนท์ กล่าวด้วยว่า ศักยภาพนักวิจัยไทยไม่ด้อยกว่าชาวต่างชาติ แต่ต้องใช้พรสวรรค์มากกว่าต่างประเทศ เพราะประเทศไทยให้การสนับสนุนสู้ต่างประเทศไม่ได้ ดังนั้น ต้องใช้ความทุ่มเท ขอให้นักวิจัยมีพื้นความรู้ความเข้าใจการวิจัยระดับพื้นฐานให้มาก จากนั้นพัฒนาสู่การวิจัยระดับสเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นการวิจัยขั้นสูง สร้างเครือข่ายการวิจัยร่วมกัน โดยนักวิจัยมีความจริงใจต่อกัน มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้ ส่วนรายได้ ผลประโยชน์ที่ตามมา เป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องบริหารจัดการแยกออกต่างหาก
ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000021535
Wednesday, February 21, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment