Thursday, February 22, 2007

กล้องผ่าตัดดวงตา

กล้องผ่าตัดดวงตา-สมองฝีมือวิศวกรไทย

ผลงานร่วมกับวิศวกรต่างชาติ สำหรับผ่าตัดดวงตา สมอง เส้นเลือดและหู ออกแบบพิเศษลดปริมาณความร้อนจากเลนส์ สร้างความเสียหายให้อวัยวะ พร้อมทั้งติดตั้งเลนส์ 4 ตัวหนุนแพทย์ผ่าตัดเป็นทีม
เขียนโดย จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายโอม สาวนายน ผู้อำนวยการด้านอุปกรณ์การแพทย์ บริษัทไลก้า ไมโครซิสเต็ม จำกัด ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และวิศวกรชาวไทยผู้พัฒนากล้องผ่าตัดจุลศัลยกรรมทางตา สมองและหู รวมกับวิศวกรชาวต่างชาติ กล่าวว่า ความพิเศษของกล้องที่พัฒนาขึ้นอยู่ที่เลนส์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เลนส์ ช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้หลายคนพร้อมกัน ทั้งยังออกแบบให้ลดปริมาณแสงที่ส่องไปยังวัตถุ จึงลดอันตรายที่อาจเกิดกับอวัยวะที่กำลังผ่าตัด หากได้รับความร้อนจากแสงในปริมาณมากและต่อเนื่อง
"ทีมวิศวกรได้สำรวจความคิดเห็นของศัลยแพทย์ ที่ใช้กล้องจุลทรรศน์ในการผ่าตัดพบว่า กล้องที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด เช่น น้ำหนักมาก ทำให้ใช้งานได้ไม่คล่องตัว อีกทั้งก่อนการใช้งานจะต้องใช้เวลาปรับระบบนานพอสมควร ดังนั้น ทีมวิศวกรจึงได้ออกแบบกล้องผ่าตัดขึ้นใหม่ ให้มีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนที่ปรับทิศทางและมุมมองได้สะดวกขณะผ่าตัด รวมถึงติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ช่วยควบคุมการทำงาน" ผู้พัฒนากล้อง กล่าว

กล้องผ่าตัดที่พัฒนาขึ้นมีหลายเวอร์ชั่น รองรับการใช้งานที่ต่างกัน เช่น กล้องผ่าตัดตา กล้องผ่าตัดสมอง ซึ่งมีความจำเพาะ โดยตัวกล้องสามารถหมุนได้รอบตัวแบบ 3 มิติ มีการคำนวณปริมาณแสงอัตโนมัติ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับอวัยวะของผู้ป่วย ในปริมาณที่ได้รับแสงมาก

นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยใช้งานกล้องจุลศัลยกรรมอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ขณะที่แพทย์ยังขาดความรู้เฉพาะทางในเรื่องงานกล้องจุลศัลยกรรม ทำให้ใช้งานเครื่องมือราคาแพงไม่เต็มประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ แพทยสมาคมจึงจัดประชุมวิชาการกล้องผ่าตัดจุลศัลยกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้แพทย์และศัลยแพทย์กว่า 200 คน ได้ทราบถึงเทคโนโลยีการผลิตกล้อง เช่น คุณสมบัติทางฟิสิกส์และโครงสร้างเลนส์ คุณสมบัติการหักแสง นวัตกรรมการผ่าตัด สำหรับนำความรู้พื้นฐานไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

"คนไทยมีความสามารถในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็ก เตียงพยาบาล เก้าอี้ไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและต้นทุนการผลิตไม่มากนัก แต่สำหรับเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น กล้องที่ใช้ในการผ่าตัด ยังคงต้องนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ เพราะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนและการแข่งขัน หากผลิตในปริมาณน้อย ดังนั้น ผู้ใช้งานจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีมากขึ้น” นายแพทย์เอื้อชาติ กล่าว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/22/WW54_5406_news.php?newsid=55751

No comments: