Wednesday, February 28, 2007

ส่งเสียงเปิดพัดลม

ส่งเสียงเปิดพัดลม สิ่งประดิษฐ์เพื่อคนพิการ

นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คิดค้นระบบเสียงควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้า พร้อมพัฒนาเครื่องต้นแบบที่ใช้งานได้จริง มุ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ

"นวัตกรรมชิ้นนี้สร้างขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการ ที่ไม่สามารถเดินไปเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งตรงกับหัวข้อการประกวดเยาวชนยอดนักประดิษฐ์ฟิลิปส์ 2549 ที่กำหนดไว้คือ "สิ่งประดิษฐ์ใหม่เพื่อสุขภาพคนไทยที่ดีขึ้น" จึงเขียนหลักการของโครงงานส่งเข้าประกวด ปรากฏว่าได้รับเลือกเป็น 1 ใน 20 ทีม ที่ได้รับทุนในการประดิษฐ์จากบริษัท ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด" นายสุริยา มาจาก ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม และสมาชิกในทีม กล่าว

เครื่องควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าว แบ่งเป็นส่วนควบคุม ทำหน้าที่รับเสียงคำสั่งเข้าไปเพื่อนำไปประมวลผล ถ้าคำสั่งที่สั่งไปนั้นตรงกันกับรหัสคำ (คีย์เวิร์ด) ที่ตั้งไว้ในฐานข้อมูล อุปกรณ์ไฟฟ้านั้นก็จะเปิด เช่น พัดลม เมื่อต้องการเปิดก็ให้สั่งว่า "สตาร์ท" แล้วก็ตามด้วยระดับความแรงของลมที่ต้องการ ซึ่งมี 3 ระดับ ให้สั่งว่า หนึ่ง สอง หรือสาม

หากพูดได้ตรงตามรหัสกำหนด พัดลมก็จะทำงาน ส่วนไฟฟ้าให้แสงสว่าง ถ้าต้องการเปิดไฟก็พูดว่า "ไลท์" เพียงเท่านี้ไฟก็จะเปิด หรือหากต้องการปิด ให้พูดซ้ำคำเดิมอีกครั้งหนึ่ง ไฟก็จะปิด สุดท้ายเป็นเครื่องแสดงอุณหภูมิ หากอยากรู้ว่าอุณหภูมิเท่าไร ก็ให้พูดว่า "เทมเพอระเชอะ" เครื่องก็จะแสดงอุณหภูมิในขณะนั้น

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนพิการ ในการสั่งปิด-เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง และลดการพึ่งพาผู้อื่น

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

แม่ฮ่องสอนเป็นเมืองไอที

เนคเทคปั้นแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองไอทีตั้งเป้า 5 ปีผลิตนักเขียนโปรแกรมเทียบชั้นอินเดีย

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ชูแม่ฮ่องสอนเป็นต้นแบบ "เมืองไอที" ของไทย หวังปั้นคนท้องถิ่นเป็นนักพัฒนาโปรแกรม สร้างสรรค์งานกราฟิก และการ์ตูนเคลื่อนไหวรับงานจากฮอลลีวู้ด ตั้งเป้า 5 ปี ยกระดับเป็นเมืองไอทีเทียบชั้นบังกะลอร์ของอินเดีย

ซิลิกอน วัลเลย์ ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ถือเป็นต้นแบบของเมืองธุรกิจไอที และเป็นแหล่งกำเนิดของบริษัทที่ทำงานด้านซอฟต์แวร์ และบริษัทพัฒนาอุปกรณ์ด้านคอมพิวเตอร์หลายแห่ง นำเงินมหาศาลมาให้สหรัฐ ขณะที่ในเอเชีย บังกะลอว์ ซึ่งเป็นเมืองริมทะเลของอินเดียได้ก้าวขึ้นมาเป็นชุมชนคนไอทีที่รับผลิตงานด้านการเขียนโปรแกรมให้บริษัททั่วโลก โดยมีลูกค้าจากสหรัฐเป็นอันดับหนึ่ง

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตะพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ได้จัดทำโครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบทที่ จ.แม่ฮ่องสอน และเนคเทคได้มีส่วนร่วมแนะนำให้นักเรียนใน จ.แม่ฮ่องสอน ได้รู้จักและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันนักเรียนชั้นมัธยมปลายใน จ.แม่ฮ่องสอน ส่วนใหญ่มีความสามารถไอทีรอบด้าน โดยนักเรียนเหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะก้าวเข้าไปทำงานด้านไอทีต่อไป โดยเนคเทคและ สวทช. มีแผนร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล รวมถึงบริษัทเอกชนในท้องถิ่น เพื่อผลิตบุคลากรตอบสนองความต้องการของตลาดไอทีในอนาคต

จ.แม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดนำร่องที่ สวทช.ได้นำเอาไอทีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพทางการศึกษาและพัฒนาชุมชน จนปัจจุบันคนในพื้นที่มีความเข้าใจไอทีมากขึ้น สวทช.ยังมีแผนที่จะนำโครงการในลักษณะเดียวกันนำไปใช้ร่วมกับโครงการในพระราชดำริในจังหวัดอื่น เช่น จ.น่าน ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศลาว จ.สกลนคร จังหวัดที่มีชุมชนหลากหลาย จ.นครราชสีมา ซึ่งชายแดนติดเขมร และ จ.นราธิวาส ชายแดนติดมาเลเซีย เพื่อสร้างความมั่นคงในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ จ.แม่ฮ่องสอน ต้องการคืออุปกรณ์สื่อสารทางไกล และระบบไฟฟ้าที่ไม่เสถียร เนื่องจาก 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เป็นภูเขา ซึ่งภาครัฐเองจะต้องเข้าให้การสนับสนุน ก่อนที่จะมั่นใจได้ว่า จ.แม่ฮ่องสอน จะมีศักยภาพพอที่จะก้าวขึ้นมาเป็น ไอทีวัลเลย์ เทียบชั้นบังกะลอร์ ของประเทศอินเดีย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, February 27, 2007

เตือนเรียนดาราศาสตร์


เตือนเรียนดาราศาสตร์แค่ “กลุ่มดาว” อาจหลงสู่โลกโหรา

“นอ.ฐากูร” เตือนเรียนดาราศาสตร์แค่ “กลุ่มดาว” อาจหลงไปอยู่โลกโหราศาสตร์ เหตุความก่ำกึ่งที่แรกเริ่มเกิดพร้อมกัน แจงต้องรู้ว่าดาวคืออะไร กำเนิดอย่างไร ชี้ชาวบ้านพูดเรื่องความเชื่อไม่ผิด แต่นักวิชาการดาราศาสตร์ออกมาพูดจะทำให้เด็กสับสนและเข้าใจผิด

นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว หัวหน้าโครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลก (ลีซา) จัดกิจกรรมอบรมครู “ดาราศาสตร์ในท้องฟ้าจำลอง รังสิต” ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ โดยมีครูวิทยาศาสตร์ในเครือข่ายลีซาเข้าร่วมกิจกรรมราว 70 คน ซึ่งได้มีการอบรมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเอกภพและฝึกใช้แผนที่ดาวร่วมกับซอฟต์แวร์สื่อการสอนดาราศาสตร์ "สตาร์รีไนท์" (Starry Night)

ทั้งนี้ นอ.ฐากูรได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งระหว่างการบรรยายเรื่องเอกภพว่า การสอนดาราศาสตร์ในเมืองไทยนั้นมักจบลงที่กลุ่มดาวซึ่งเป็นเรื่องล่อแหลมและอันตรายที่อาจจะกลายเป็นเรื่องโหราศาสตร์ได้ ซึ่งทั้ง 2 ศาสตร์นั้นมีความก่ำกึ่งกันโดยมีจุดเริ่มต้นพร้อมๆ กัน สำหรับโหราศาสตร์นั้นเกิดจาก “ความกังวลและพะวง” ในเรื่องอนาคตแต่ไม่สนใจธรรมชาติ ส่วนดาราศาสตร์นั้นเป็นเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์แขนงอื่นคือเกิดจาก “ความปรารถนาใคร่รู้” ในธรรมชาติ

“เรื่องกลุ่มดาวนั้นเป็นเพียงเปลือก แต่ดาราศาสตร์ต้องรู้ว่าดาวคืออะไร เป็นอย่างไร เกิดอย่างไร เดิมนักดาราศาสตร์และโหราศาสตร์เป็นเหมือนกันคือนักปราชญ์ โดยได้รับการสนับสนุนให้ดูดาวให้ตรง ดูว่าดาวอยู่ตำแหน่งไหนบนท้องฟ้า กษัตริย์จะยกทัพได้เมื่อไหร่ แต่ความชัดเจนระหว่าง 2 ศาสตร์เกิดขึ้นหลังยุค
กาลิเลโอ เป็นการปฏิวัติความคิดหลังมีการยอมรับว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์” นอ.ฐากูรกล่าว

พร้อมกันนี้หัวหน้าโครงการลีซายังได้ชี้ว่าด้านดาราศาสตร์เป็นข่าววิทยาศาสตร์เดียวที่ได้ขึ้นหน้าปกหนังสือพิมพ์ แต่การที่นักข่าวสัมภาษณ์นักวิชาการดาราศาสตร์นำแล้วตามด้วยความเชื่อด้านโหราศาสตร์นั้น ทำให้วิชชาและอวิชชาอยู่ในหมวดเดียว จะทำให้คนทั่วไปแยกแยะได้ลำบาก และเรื่องนิทานดาวก็เป็นเรื่องอันตรายสำหรับเด็กแม้จะมีมนต์ขลังทำให้เด็กสนใจแต่ก็ทำให้ความคิดเราไปไม่ถึงไหน ทั้งนี้ชาวบ้านทั่วไปอาจจะพูดเรื่องโหราศาสตร์ได้ แต่หน่วยงานด้านดาราศาสตร์ไม่ควรจะพูดเพราะจะทำให้เกิดความสับสน

ส่วนวิธีแก้ไขนั้น นอ.ฐากูรกล่าวสิ่งที่ทำได้คือการพัฒนาครู ทำให้ครูสบายใจและมีความรู้ เพราะดาราศาสตร์เป็นเรื่องที่ครูแขยงเนื่องจากมีเสน่ห์ดึงดูดให้เด็กซักถาม แต่ครูกลับมีความรู้ทางด้านนี้น้อย นอกจากนี้บางคนยังมองว่าเป็นวิชาสำหรับประเทศมหาอำนาจที่มีเงินเหลือใช้ แต่สหรัฐอเมริกากลับมองว่าเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล หากเราไม่ให้ความรู้ที่ถูกแก่เด็กแล้วที่สุดเมื่อพวกเขาโตขึ้นก็ได้แค่ซื้อเทคโนโลยีคนอื่นเข้ามาใช้

“จริงๆ ดาราศาสตร์มีอิทธิพลกับเรา เพียงแต่บางครั้งเรามองไม่เห็น อย่างน้ำขึ้น-น้ำลงเราก็เห็นกับตา กองทัพก็ใช้เป็นความรู้ได้ว่าจะยกพลขึ้นบกได้เมื่อไหร่ คนโบราณจะทำนาก็ต้องดูดวงดาว ชาวประมงจะหาปลาก็ดูน้ำขึ้น-น้ำลง หรือโทรศัพท์กับอินเทอร์เน็ตก็เป็นการใช้ประโยชน์จากดาวเทียม” นอ.ฐากูรกล่าวถึงประโยชน์ของความรู้ดาราศาสตร์

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000023861

เลิกสร้างโรงงานใช้ถ่านหิน


นักวิทย์รวมตัวเรียกร้องสหรัฐ เลิกสร้างโรงงานใช้ถ่านหิน

เอพี – เหล่านักวิทยาศาสตร์ชั้นนำรวมตัวกันเรียกร้องให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ยกเลิกแผนสร้างโรงงานที่ใช้พลังงานจากถ่านหิน รวมทั้งขอให้สภาออกกฎหมายยกเลิกใช้ถ่านหิน เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ อันเป็นเหตุให้สถานการณ์โลกร้อนรุนแรงขึ้น

แค่เฉพาะในสหรัฐฯ มีแผนขยายอุตสาหกรรมโดยภายในทศวรรษหน้า จะมีโรงงานที่ใช้พลังงานถ่านหินผุดขึ้นถึง 159 แห่งด้วยกัน ซึ่งพลังงานที่ใช้กับโรงงานเหล่านี้สามารถนำมาใช้ตามครัวเรือนได้มากถึง 96 ล้านหลัง ตามผลการศึกษาของหน่วยงานทางด้านพลังงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Energy.)

การเผาถ่านหินเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญ ที่ช่วยเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยาย โดยคาร์บอนกลายเป็นก๊าซก่อโลกร้อนที่หลายฝ่ายกังวลมากที่สุด และครึ่งหนึ่งของการใช้พลังงานในสหรัฐฯ ล้วนมาจากถ่านหิน

เจมส์ ฮานเซน (James Hansen) นักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เป็นนักวิจัยชุดแรกๆ ของสหรัฐฯ ที่ออกมาเตือนถึงปัญหาโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ โดยเขาและเพื่อร่วมอาชีพหลายรายได้ร่วมกันแถลงข่าว เมื่อวันที่ 26 ก.พ. เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดพักการสร้างโรงงานที่ต้องใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงไว้ก่อน

ฮานสันได้เรียกร้องกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเท็กซัส อาทิ TXU, Kohlberg Kravis Roberts & Co. และ Texas Pacific Group ให้หันมาร่วมมือหยุดสร้างโรงงานที่บริษัทเหล่านี้มีแผนจะตอกเสาเข็มอีก 8 แห่ง โดยย้ำว่าไม่ใช่ย้ายไปสร้างที่รัฐอื่นแทน แต่อยากให้เลิกสร้างไปเลย เพื่อช่วยประเทศลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ทำให้เกิดโลกร้อน

ฮานสันถอดหมวกผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาอวกาศกอดดาร์ดของนาซา (NASA's Goddard Institute for Space Studies) ออกมาแถลงเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวในฐานะพลเมืองของสหรัฐฯ และส่งเสียงถึงสภาคองเกรสว่า ควรจะออกกฎหมายให้หยุดใช้ถ่านหิน ถ้าหากไม่ทำ ประชาชนจะร่วมทำกันเองและเชื่อว่าจะเป็นผลสำเร็จ

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000023505

Monday, February 26, 2007

หุ่นยนต์ช่วยผู้ป่วยอัมพฤกษ์

หุ่นยนต์ช่วยผู้ป่วยอัมพฤกษ์ กล้ามเนื้อแข็งแรง-เดินดีขึ้น

นักวิจัยในเยอรมนีพัฒนาหุ่นยนต์พยุงขาสำหรับฝึกวิ่งบนสายพาน ช่วยสร้างมวลกล้ามเนื้อให้แก่ผู้ป่วยอัมพฤกษ์

คณะนักวิจัยที่โรงพยาบาลประสาท "แบด ไอบลิง" ระบุว่า การฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยอัมพฤกษ์เพราะโรคหลอดเลือดสมอง จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างสม่ำเสมอ แต่มักติดปัญหาในการเริ่มต้น จึงคิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า "โลโคมัท" ช่วยการฝึกเดินบนสายพานให้แก่ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ หุ่นยนต์นี้สามารถปรับได้ทั้งกำลัง แรงพยุงน้ำหนักตัว และความเร็ว แม้แต่ผู้ป่วยที่พิการอย่างหนักก็ใช้ได้

จากการทดลองเบื้องต้นกับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ 30 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกใช้หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินบนสายพาน 30 นาที และทำกายภาพบำบัดทั่วไป 30 นาที อีกกลุ่มทำกายภาพบำบัด 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที โดยให้ทำทุกวันเป็นเวลานาน 4 สัปดาห์ ทั้งสองกลุ่มสามารถขยับขาได้ดีขึ้นพอๆ กัน แต่เมื่อให้เดินบนพื้น ผู้ป่วยที่ใช้หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินสามารถยืนได้นานกว่า

ที่มา: http://www.matichon.co.th
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec02270250&day=2007/02/27§ionid=0326

Friday, February 23, 2007

สเต็มเซลล์รักษา "เสียงแหบ"


แพทย์ไทยใช้สเต็มเซลล์รักษา "เสียงแหบ"สำเร็จครั้งแรกของโลก

เลขาฯ วช. เผย นักวิจัยไทยสามารถพัฒนา "สเต็มเซลล์" หรือเซลล์ต้นกำหนดเพื่อรักษาโรคเสียงแหบได้สำเร็จ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ครั้งแรกของโลก

ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้สัมภาษณ์ถึงยุทธศาสตร์ชาติด้านการวิจัยสเต็มเซลล์ขณะร่วมงานประชุมเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับสเต็มเซลล์ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ว่า ต้องมีการวิจัยขั้นพื้นฐาน ค้นคว้าวิจัยระดับโมเลกุล ระดับเซลล์ เพื่อพัฒนาสู่ระดับที่ 2 คือ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านสเต็มเซลล์ นำไปสู่ขั้นที่ 3 การใช้ประโยชน์ นำไปสู่การวิจัยทางคลินิก เพื่อรักษาบำบัดโรคต่างๆ ซึ่งทาง วช.ได้เริ่มโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มหาวิทยาลัยมหิดล และหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน มีผลการวิจัยที่เป็นฝีมือของคนไทยประสบผลสำเร็จแล้วหลายโครงการ เช่น การรักษาภาวะเสียงแหบด้วยสเต็มเซลล์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยสเต็มเซลล์ที่สถาบันโรคทรวงอก

"เราผลักดันการวิจัยการรักษาโรคหัวใจ โรคไต ระบบประสาท สมอง ทั้งพาร์กินสัน หลอดเลือดหัวใจ พยายามให้มีการวิจัยระดับคลินิก มีความร่วมมือของนักวิจัยขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 เพื่อให้เกิดผลดีกับคนไทย คำนึงถึงจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ให้เกิดผลดี มีความปลอดภัย ขั้นที่ 3 ระดับคลินิก เราทำได้ผลดี เร็วๆ นี้จะมีข่าวดีออกมาอีก การรักษาเสียงแหบถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก" ศ.ดร.อานนท์ กล่าว

ศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า สเต็มเซลล์ที่นำมารักษาผู้ป่วยเสียงแหบนั้น แพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดีนำเลือดของผู้ป่วยมาพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ จากนั้นฉีดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยที่มีอาชีพครู เส้นเสียงที่แหบเครือสามารถทำงานได้ดี พูดสอนนักเรียนได้เหมือนเดิม มีผู้ป่วยเสียงแหบที่รักษาด้วยสเต็มเซลล์แล้ว 6 ราย ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยอยู่ระหว่างติดตามผลอย่างใกล้ชิด

ส่วนสเต็มเซลล์รักษาโรคหัวใจ ทำโดยการนำเลือดของผู้ป่วยมาพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ หลังจากนั้นฉีดกลับเข้าร่างกายผู้ป่วย วิจัยในผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2548 จนถึงปัจจุบัน มีคนไข้ในโครงการวิจัย 5 ราย ทุกรายปลอดภัย แพทย์และนักวิจัยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนอนาคตกำลังวิจัยโรคข้อเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับสเต็มเซลล์ได้จากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ได้แก่ เลือด ไขกระดูก ผิวหนัง ไขมัน เป็นต้น

ที่มา: http://www.matichon.co.th
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec02230250&day=2007/02/23§ionid=0326

กล้องผ่าตัดดวงตา-สมองฝีมือไทย

กล้องผ่าตัดดวงตา-สมองฝีมือไทย

วิศวกรชาวไทยร่วมกับต่างชาติพัฒนากล้องผ่าตัดสำหรับตา สมองและหู เผยออกแบบคำนวณความเข้มแสงอัตโนมัติ ลดปริมาณความร้อนจากเลนส์ สร้างความเสียหายให้อวัยวะ พร้อมทั้งติดตั้งเลนส์ 4 ตัวหนุนแพทย์ผ่าตัดเป็นทีม

นายโอม สาวนายน ผู้อำนวยการด้านอุปกรณ์การแพทย์ บริษัท ไลก้า ไมโครซิสเต็ม จำกัด ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และวิศวกรชาวไทยผู้พัฒนากล้องผ่าตัดจุลศัลยกรรมทางตา สมองและหู รวมกับวิศวกรชาวต่างชาติ กล่าวว่า ความพิเศษของกล้องอยู่ที่เลนส์ 4 ตัว ช่วยให้แพทย์สามารถร่วมผ่าตัดได้หลายคนพร้อมกัน ทั้งยังออกแบบให้ลดปริมาณแสงที่ส่องไปยังวัตถุ จึงลดอันตรายที่อาจเกิดกับอวัยวะที่กำลังผ่าตัด หากได้รับความร้อนจากแสงในปริมาณมากและต่อเนื่อง

"ทีมวิศวกรได้สำรวจความคิดเห็นของศัลยแพทย์ ที่ใช้กล้องจุลทรรศน์ในการผ่าตัดพบว่า กล้องที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด เช่น น้ำหนักมาก ทำให้ใช้งานได้ไม่คล่องตัว อีกทั้งก่อนการใช้งานจะต้องใช้เวลาปรับระบบนานพอสมควร ดังนั้น ทีมวิศวกรจึงได้ออกแบบกล้องผ่าตัดขึ้นใหม่ ให้มีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนที่ปรับทิศทางและมุมมองได้สะดวกขณะผ่าตัด รวมถึงติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ช่วยควบคุมการทำงาน" ผู้พัฒนากล้อง กล่าว

กล้องผ่าตัดที่พัฒนาขึ้นมีหลายเวอร์ชั่น รองรับการใช้งานที่ต่างกัน เช่น กล้องผ่าตัดตา กล้องผ่าตัดสมอง ซึ่งมีความจำเพาะ โดยตัวกล้องสามารถหมุนได้รอบตัวแบบ 3 มิติ มีการคำนวณปริมาณแสงอัตโนมัติ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับอวัยวะของผู้ป่วย ในปริมาณที่ได้รับแสงมาก

กล้องดังกล่าวถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศอเมริกา ยุโรป รวมถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่น โรงพยาบาลศิริราช สำหรับกล้องผ่าตัดสมองและตา รวมถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่ใช้กล้องผ่าตัดสมองอยู่ในปัจจุบัน
น.พ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยใช้งานกล้องจุลศัลยกรรมอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ขณะที่แพทย์ยังขาดความรู้เฉพาะทางในเรื่องงานกล้องจุลศัลยกรรม ทำให้ใช้งานเครื่องมือราคาแพงไม่เต็มประสิทธิภาพ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เชียร์ “ธีออส”


5 มหา'ลัยภูมิภาคใช้ภาพดาวเทียมทำวิจัยท้องถิ่น เชียร์ “ธีออส” ขึ้นฟ้าปลายปีนี้

นักวิจัยเผย 5 มหาวิทยาลัยภูมิภาคชื่อดังร่วมใช้ภาพถ่ายดาวเทียมแก้ปัญหาท้องถิ่น อาทิ การสำรวจที่ดินเพื่อการเพาะปลูก การทำแผนที่ภาษีไร่นา การจำลองภาพ 3 มิติกรุงเก่า และการติดตามพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เชื่อหากปล่อยดาวเทียมธีออสขึ้นฟ้าเมื่อใด นักวิจัยไทยจะยิ่งได้ใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมมากขึ้นเท่านั้น

ในงานการประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิทยาศาสตร์และวิชาการครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 12- 23 ก.พ. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้มีการจัดชุดนิทรรศการเทคโนโลยีอวกาศของไทยยังห้องโถงศูนย์ประชุมเพื่อแสดงความก้าวหน้าของไทยให้นานาชาติได้รับรู้ โดยหนึ่งในชุดนิทรรศการที่นำมาจัดแสดงคือ การใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมในงานวิจัยท้องถิ่น

อาจารย์สถาพร ไพบูลย์ศักดิ์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมในงานวิจัยท้องถิ่นดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนภาพถ่ายดาวเทียมราคาถูกหรือให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. โดยมีมหาวิทยาลัยในเขตภูมิภาค 5 แห่งทั่วประเทศร่วมใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียม

มหาวิทยาลัยในเครือข่ายทั้ง 5 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่จะแห่งจะได้สำรวจปัญหาของท้องถิ่นตัวเองแล้วนำภาพถ่ายดาวเทียมไปใช้ในงานวิจัยแก้ปัญหานั้นๆ อย่างเหมาะสม จากนั้นจึงถ่ายทอดองค์ความรู้และผลงานที่ได้ให้แก่ท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

ตัวอย่างผลงานความก้าวหน้าการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมข้างต้น ได้แก่ การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อสำรวจพื้นที่การปลูกข้าว อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง ตลอดจนการบุกรุกป่าไม้ และกิจกรรมการใช้ที่ดินของลุ่มน้ำชี และจะขยายต่อไปถึงลุ่มน้ำมูลและแม่น้ำโขงตามลำดับ โดยการเปรียบเทียบภาพใหม่กับภาพเก่าในอดีต

การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของมหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อจัดทำแผนที่ภาษีการเพาะปลูก พร้อมจัดทำและฝึกอบรมการใช้ซอฟต์แวร์ใช้ประโยชน์ให้แก่ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจัดทำซอฟต์แวร์ภาพจำลอง 3 มิติของกรุงศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก

การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของมหาวิทยาลัยบูรพาเพื่อการสำรวจอาคาร สิ่งก่อสร้างและการจัดทำระบบที่ดินใน จ.อ่างทอง ระยอง และชลบุรี และการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อตรวจดูขอบเขตน้ำท่วมจากความเสี่ยงของการเกิดลมมรสุมในพื้นที่ภาคใต้

ทั้งนี้ อาจารย์สถาพร กล่าวว่า การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์มากมาย คือเปลี่ยนจากในอดีตที่ต้องใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งข้อมูลที่ได้มักไม่ทันต่อเหตุการณ์ ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ และทำให้เราได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง จึงส่งผลต่อการทำวิจัยที่อิงกับความต้องการของพื้นที่มากขึ้น

“โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้ ประเทศไทยเราจะปล่อยดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรก คือ ดาวเทียมธีออส ขึ้นสู่วงโคจรแล้ว คิดว่าจะมีประโยชน์มากเพราะธีออสจะโคจรกลับมายังที่เดิมทุกๆ 14 วัน ทำให้เราได้ภาพใหม่ๆ อยู่เสมอ อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าภาพถ่ายดาวเทียมจากดาวเทียมดวงอื่นๆ ได้ด้วย” นักวิจัยกล่าวทิ้งท้าย

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000021298

สดร.ชวนดูจันทคราส-สุริยคราส

สดร.ชวนดูจันทคราส-สุริยคราสปีเดียวเกิดสามครั้งรวดมองเห็นได้ในไทย

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนประชาชนดูปรากฏการณ์ครั้งสำคัญทางดาราศาสตร์ทั้งสุริยุปราคาและจันทรุปราคา รวม 3 ครั้งในรอบหนึ่งปี และมองเห็นได้ในประเทศไทย ต้อนรับปีสุริยฟิสิกส์สากล เผยเตรียมจัดกิจกรรมประชุมวิชาการคึกคัก

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ในปีนี้มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์สำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุป ราคาทั้งเต็มดวงและบางส่วน สามารถสังเกตการณ์ได้ในไทย
ในวันที่ 4 มีนาคม มีเหตุการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง โดยเงาของโลกเริ่มเข้าบังดวงจันทร์เวลา 03.16 น. จนกระทั่งเกิดเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงในเวลา 05.43 น. ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถสังเกตเห็นด้านมืดของดวงจันทร์ได้เป็นสีแดงอิฐ เป็นผลจากการหักเหแสงของแสงสีแดงจากดวงอาทิตย์ผ่านบรรยากาศของโลกไปตกกระทบบนดวงจันทร์ อย่างไรก็ดี เงาของโลกจะออกพ้นดวงจันทร์ หรือ "ออกคราส" หมดในเวลา 09.25 น.

"คนไทยจะไม่สามารถติดตามปรากฏการณ์ได้ตลอด เนื่องจากดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลา 06.37 น. ก่อนที่ปรากฏการณ์จะสิ้นสุด" ดร.ศรัณย์ กล่าว

ในวันที่ 19 มีนาคม จะเกิดสุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากดวงจันทร์ได้โคจรมาบังดวงอาทิตย์เป็นบางส่วน สำหรับภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยจะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนแตกต่างกันไป โดยที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนทับในเวลาประมาณ 07.48 น. และสิ้นสุดเวลา 08.57 น. ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่ จ.สงขลา ลงไปนั้นจะไม่สามารถเห็นปรากฏการณ์นี้ได้เลย ส่วนทางภาคเหนือตอนบนจะเกิดปรากฏการณ์นี้นานที่สุดโดยดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดถึงร้อยละ 28

ในวันที่ 28 สิงหาคม จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงอีกครั้ง ซึ่งมองเห็นได้ในไทยเช่นกัน และยังเกิดสุริยุปราคาบางส่วนให้เห็นอีกในวันที่ 11 กันยายน แต่ไม่สามารถสังเกตได้ในไทย

ดร.ศรัณย์ กล่าวต่อว่า เป็นโอกาสอันดีที่เราจะเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคารวมกันทั้งสิ้น 3 ครั้ง ในปีนี้เป็นปีสุริยฟิสิกส์สากล 2007 ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมปีสุริยฟิสิกส์กับองค์การนาซาและสหพันธ์ธรณีฟิสิกส์แห่งอเมริกา โดยจะจัดกิจกรรมการบริการวิชาการในรูปแบบของการบรรยาย/เสวนา นิทรรศการและประชุมวิชาการ เพื่อเข้าถึงประชาชนโดยการให้ความรู้เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ ระบบสุริยะ และผลกระทบของดวงอาทิตย์ต่อโลก รวมทั้งการสร้างความตระหนักและความตื่นตัวเรื่องผลของดวงอาทิตย์และปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ดาวเทียมไทยคม


รู้จักดาวเทียมไทยคม

ขณะที่สถานการณ์ตรวจสอบเพื่อนำดาวเทียมไทยคมกลับคืนสู่อ้อมกอดคนไทยกำลังดุเดือด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เดินเครื่องขอร่วมตรวจสอบการถือครองหุ้นของบริษัท ชินแซท เทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL เจ้าของสัมปทานดาวเทียม ว่าต่างชาติถือครองหุ้นมากกว่า 49% หรือไม่
ถ้าใช่ ! จะได้ยึดสัมปทานคืนทันที เพราะกระทำผิดกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว คาดจะใช้เวลา 1 เดือน

แต่ถ้าการถือครองหุ้นโปร่งใส กระทรวง ไอซีทีพร้อมดำเนินการซื้อสัมปทานดาวเทียมคืน ราคาประเมินไว้ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีที กล่าวว่า ดาวเทียมเป็นสิ่งชั่วคราว แต่ตำแหน่งของการจอดพักดาวเทียม ซึ่งไทยเจรจากับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ถือเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้มีดาวเทียมจอดอยู่ได้ 4-5 ดวง ในจุดเดียวกัน แต่ในอดีตเทคโนโลยีดาวเทียมทำให้ดาวเทียมจอดได้เพียง 1 ดวง/1 จุด โดยดาวเทียมก็ถือเป็นสมบัติของรัฐบาลไทยตามสัญญาสัมปทานด้วย

ขณะที่กระแสการทวงคืนดาวเทียมกำลังระอุ เรามาทำความรู้จักกับดาวเทียมแต่ละดวงพอสังเขปดังนี้ เริ่มจากชื่อ “ไทยคม” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามดาวเทียมของโครงการอย่างเป็นทางการว่า “ไทยคม” (THAICOM) เพื่อเป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงประเทศไทยกับเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ ซึ่งบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) (SATTEL) ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติจากกระทรวงคมนาคม (ปัจจุบันอำนาจการดูแลสัญญานี้ได้ถูกโอนไปอยู่ภายใต้กระทรวงไอซีที) เป็นระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุดสัญญาในปี 2564 หรืออีก 14 ปี

ดาวเทียมไทยคม 1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2536 ก่อนย้ายตำแหน่งวงโคจรจาก 78.5 องศาตะวันออก ไปที่ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ดาวเทียมไทยคม 1A ดาวเทียมไทยคม 1 เริ่มเปิดใช้งานเมื่อเดือนมกราคม 2537 ส่วนดาวเทียมไทยคม 1A เริ่มเปิดใช้งานเมื่อเมื่อเดือนมิถุนายน 2540

ดาวเทียมไทยคม 2 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2537 เริ่มให้บริการในเดือนธันวาคม 2537 อยู่ที่ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก

ดาวเทียมไทยคม 1 และดาวเทียมไทยคม 2 เป็นดาวเทียมรุ่นแรกของโครงการดาวเทียมไทยคม มีอายุการใช้งาน 15 ปี โดยเป็นดาวเทียมรุ่น HS-376 ผลิตโดย บริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือบริษัทโบอิ้งในปัจจุบัน พื้นที่การให้บริการครอบคลุมประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี ญี่ปุ่น และชายฝั่งตะวันออกของประเทศจีน ใช้เป็นดาวเทียมเพื่อการแพร่ภาพและกระจายเสียง

ดูจากข้อมูลข้างต้น ดาวเทียมไทยคม 1 และดาวเทียมไทยคม 2 เหลืออายุการทำงานอีก 2 ปี

ส่วน ดาวเทียมไทยคม 3 เป็นดาวเทียมรุ่น 3 แกน ผลิตโดย บริษัท อัลคาเทล สเปซ ซิสเต็ม ปัจจุบันดาวเทียมไทยคม 3 เลิกใช้งานแล้ว เพราะประสบปัญหาระบบพลังงานขัดข้องบางส่วน ส่งผลให้ไทยคม 3 ให้บริการได้ไม่เต็มที่ บริษัทจึงย้ายลูกค้าไปยังไทยคม 1A-2

สำหรับดาวเทียมไทยคม 4 หรือดาวเทียมไอพีสตาร์ (IPStar-1 หรือ Thaicom-4) เป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ เพื่อการสื่อสาร 2 ทาง หรือเรียกว่า ดาวเทียมโทรคมนาคมที่ใหญ่และมีน้ำหนักมากที่สุด 6,505 กิโลกรัม ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2548 มีพื้นที่บริการของดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด สามารถให้บริการแก่ประชากรในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 2 พันล้านคน

และดาวเทียมดวงล่าสุดไทยคม 5 เป็นดาวเทียมเพื่อการแพร่ภาพและกระจายเสียง ยิงสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 27 พ.ค.49 ดาวเทียมไทยคม 5 มียูบีซีเป็นลูกค้ารายใหญ่ ในฐานะพันธมิตรด้านกลยุทธ์ที่ย้ายการใช้งานจากดาวเทียมไทยคม 3 มีระยะเวลาสัญญา 13 ปี

ดร.อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการด้านการสื่อสารและสารสนเทศ กล่าวว่า ดาวเทียมส่วนใหญ่เมื่อหมดอายุการใช้งานจะถูกดีดออกจากวงโคจร เพื่อนำดาวเทียมดวงใหม่เข้าประจำที่แทน และกลายเป็นขยะอวกาศ เนื่องจากเป็นวิธีกำจัดที่มีภาระน้อย โดยอีกวิธีในการปลดระวางดาวเทียมแต่ไม่เป็นที่นิยม คือ การส่งดาวเทียมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ดาวเทียมจะเกิดการเผาไหม้ ซึ่งต้องเล็งระยะการตกไม่ให้ตรงแหล่งชุมชน

ส่วนกรณีซื้อดาวเทียมคืนซึ่งเป็นกระแสครึกโครม ดร.อนุภาพ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะซื้อดาวเทียมคืน เนื่องจากไม่คุ้ม ทั้งเรื่องวัตถุประสงค์การใช้งาน เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมเกี่ยวกับการสื่อสาร 2 ทาง ซึ่งเป็นเชิงพาณิชย์ ถ้าจะนำมาใช้ในทางทหาร คิดว่าน่าจะทำดาวเทียมเพื่อรองรับการใช้งานทางทหารโดยเฉพาะจะคุ้มกว่า

ที่มา: http://www.dailynews.co.th
Link: http://www.dailynews.co.th/dailynews/pages/front_th/popup_news/Default.aspx?Newsid=118557&NewsType=1&Template=2

จับตา! 3 อุปราคา


จับตา! 3 อุปราคาที่ไทยมองเห็นในปีสุริยฟิสิกส์

หลังจันทร์เต็มดวงในคืนวันมาฆบูชาและก้าวเข้าสู่วันที่ 4 มี.ค.จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคา” ซึ่งเป็นอุปราคาแรกที่เราจะเห็นในปีนี้ โดยตลอดทั้งปีเราจะได้เห็นอุปราคา 3 ครั้ง เป็นจันทรุปราคาเต็มดวง 2 ครั้งและสุริยุปราคาบางส่วนอีก 1 ครั้ง ทั้งนี้อาจเป็นความโชคดีของคนไทยที่มีโอกาสได้เห็นอุปราคาตลอดทั้งปีถึง 3 ครั้ง เพราะโดยปกติทั่วโลกจะเกิดอุปราคาเฉลี่ย 4 ครั้ง

ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยว่าโดยเฉลี่ยทั่วโลกจะเกิดอุปราคา 4 ครั้งต่อปี แต่ใช่ว่าทุกที่จะได้เห็นอุปราคาทุกครั้ง ซึ่งนับว่าปีนี้เมืองไทยโชคดีที่ได้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวถึง 3 ครั้ง คือ จันทรุปราคาเต็มดวงในเช้าวันที่ 4 มี.ค.และช่วงหัวค่ำวันที่ 28 ส.ค. กับสุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 19 มี.ค.

แม้จะมีโอกาสได้เห็นอุปราคาถึง 3 ครั้ง แต่ ดร.ศรันย์ก็ชี้ว่าเราคงเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่สมบูรณ์นัก โดยกล่าวถึงอุปราคาแรกที่จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในช่วงเช้าวันที่ 4 มี.ค. ที่ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามืดของโลกในเวลา 4.30 น. และเต็มดวงในเวลา 5.43 น. ซึ่งไม่นานก็ตกลับขอบฟ้าและดวงอาทิตย์ก็จะขึ้นจากขอบฟ้า ทั้งนี้จะเห็นจันทรคราสเต็มดวงอยู่สูงจากขอบฟ้า 10 องศา ส่วนบริเวณที่จะเห็นอุปราคาดังกล่าวอย่างสมบูรณ์คือทวีปยุโรปและแอฟริกา

อีกปรากฏการณ์คือสุริยุปราคาบางส่วนที่จะเห็นได้ทุกภาค ยกเว้นจังหวัดทางใต้ตั้งแต่ จ.สงขลาลงไปจะไม่เห็น โดยที่สงขลานั้นดวงอาทิตย์ถูกบดบังน้อยมากจนมองไม่เห็น ทั้งนี้จังหวัดที่อยู่ทางเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบดบังได้มาก โดยเฉพาะ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่จะเห็นดวงอาทิตย์บดบังสูงสุด 28 % ซึ่งอาจจะถ่ายทอดสดปรากฏการณ์นี้เพราะต้องใช้กล้องที่มีแผ่นกรองแสงและไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้

ส่วนอุปราคาสุดท้ายที่คนไทยจะได้เห็นในรอบปีนี้คือจันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 28 ส.ค. ซึ่งจะเห็นได้ในช่วงหัวค่ำ ดร.ศรันย์ก็ชี้ว่าจะเห็นไม่สมบูรณ์เช่นกัน โดยคนไทยจะไม่ได้เห็นช่วงที่คราสเริ่มบังดวงจันทร์ แต่จะเห็นอีกทีตอนคราสเต็มดวงแล้วและโพล่พ้นขอบฟ้า ซึ่งหากสังเกตที่กรุงเทพก็จะเห็นว่าคราสเริ่มถอยออกแล้ว แต่หากสังเกตที่อุบลราชธานีก็จะเห็นคราสเต็มดวงสักพักก่อนจะถอยออก

“มี.ค.น่าจะเป็นโอกาสได้เห็นอุปราคามากที่สุด และเป็นเช้าวันอาทิตย์พอดี” ดร.ศรันย์ให้ความเห็น โดยชี้ว่าอุปราคาหลังคืนวันมาฆบูชานั้นไม่มีอุปสรรคเรื่องฝนที่อาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการสังเกตอุปราคาเดือน ส.ค.ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว อีกทั้งจันทรคราสในเดือน มี.ค.ยังอยู่สูงจากขอบฟ้า 10 องศา ขณะที่จันทรคราสในเดือน ส.ค.นั้นอยู่ตรงขอบฟ้าพอดีซึ่งอาจจะมีอะไรบดบัง

อย่างไรก็ดียังมีอุปราคาที่เกิดขึ้นในปีนี้แต่คนไทยจะไม่ได้เห็นคือปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 11 ก.ย. ซึ่งบริเวณที่จะเห็นได้คือ บางส่วนทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ บางส่วนของแอนตาร์กติกา ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก และด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก

นอกจากนี้ ดร.ศรันย์ยังได้อธิบายความสำคัญของปี 2550 ซึ่งถือเป็นปีสุริยฟิสิกส์สากล (International Heliophysical Year) ว่า สหประชาชาติหรือยูเอ็นเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่ต้องการให้ทั่วโลกได้ศึกษาผลกระทบของดวงอาทิตย์ที่มีต่อโลกในแง่มุมต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงแสงสว่างเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร ปรากฏการณ์แสงออโรรา คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรืออนุภาคต่างๆ แล้วเก็บเป็นข้อมูลวิจัยที่นำไปใช่ร่วมกันทั่วโลก

“เหตุผลที่เลือกให้ปีนี้เป็นสุริยฟิสิกส์ เพราะครบรอบ 50 ปีธรณีฟิสิกส์สากล (International Geophysics Year) ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2500 และเป็นการขยายจากการศึกษาจากโลกสู่ดวงอาทิตย์ โดยศึกษาผลกระทบที่โลกได้รับ อีกทั้งยังครบรอบ 50 ปีที่โลกได้ส่งยานอวกาศเป็นครั้งแรก นั่นคือยานสปุตนิก 1 ของรัสเซีย” ดร.ศรันย์อธิบาย

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000022034

นิวตัน (ตอน 2)

นิวตัน แอปเปิ้ล และกฎแห่งแรงโน้มถ่วง (ตอน 2)

เมื่อวานเราได้รู้จักชีวิตของเซอร์ไอแซก นิวตัน ฉบับย่อก่อนที่เขาจะบรรลุธรรม หรืออย่างที่พระนิกายเซนเรียกว่า "ซาโตริ" เมื่อเห็นลูกแอปเปิ้ลหล่นจากต้นลงสู่พื้นจนเข้าใจลึกซึ้งถึง "กฎแห่งแรงโน้มถ่วง" ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ

การค้นพบกฎแรงโน้มถ่วงจากการสังเกตเห็นลูกแอปเปิ้ลหล่นเป็นเกร็ดที่นิยมเล่ากันอยู่เสมอ เรื่องนี้มีแหล่งข่าวใกล้ชิดตัวนิวตันยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง บุคคลที่ยืนยันเรื่องนี้ได้แก่ มาร์ติน โฟลเคส ประธานราชสมาคม วอลแตร์ นักเขียนเชิงปรัชญาชาวฝรั่งเศสที่ได้ยินเรื่องนี้จากแคธารีน บาร์ตัน ลูกพี่ลูกน้องของนิวตัน จอหน์ คอนดูต เพื่อนของนิวตันซึ่งต่อมาสมรสกับลูกพี่ลูกน้องคนดังกล่าว

แม้ว่าบันทึกของวอลแตร์จะได้รับความนิยมจากสาธารณชนมาก แต่บันทึกที่น่าเชื่อกว่ากลับเป็นงานเขียนเรื่อง บันทึกความทรงจำชีวิตของนิวตัน ประพันธ์โดย ดร.วิลเลียม สตูเคอรี ซึ่งเป็นหมอและเพื่อนสนิทของนิวตัน เขาเล่าว่าวันหนึ่งได้ไปหานิวตัน ซึ่งอายุมากแล้วตอนนั้น และได้บรรยายเรื่องที่พูดคุยกันวันนั้นว่า...

"หลังจากทานอาหารค่ำแล้ว เราออกไปเดินเล่นในสวน และดื่มชาใต้ต้นแอปเปิ้ลตามลำพัง ระหว่างที่คุยกันอยู่นั้นเขาเล่าให้ผมฟังว่า บรรยากาศช่างคล้ายกับตอนที่ความคิดเรื่องแรงโน้มถ่วงผุดขึ้นมาในหัว เมื่อเขาเห็นลูกแอปเปิ้ลหล่น เขาคิดว่าทำไมลูกแอปเปิ้ลถึงตกลงพื้นเสมอ ทำไมไม่หล่นไปด้านข้างหรือลอยขึ้นข้างบน แต่กลับตกเข้าหาใจกลางโลก

มันช่างน่าประหลาดจริงๆ ที่เป็นเช่นนี้ต้องเป็นเพราะสสารมีพลังดึงดูดอยู่ และพลังดึงดูดของโลกต้องอยู่ที่ใจกลางพิภพ ไม่ได้อยู่ด้านข้างของโลก ฉะนั้นลูกแอปเปิ้ลถึงหล่นเข้าหาใจกลางโลกเสมอ แต่ถ้าสสารต่างดึงดูดกัน แสดงว่าต้องเกี่ยวข้องกับของขนาดสสาร แอปเปิ้ลดึงดูดโลก และโลกก็ดึงดูดแอปเปิ้ลเช่นกัน และนั่นคือพลังที่เราเรียกว่าแรงโน้มถ่วง (กราวิทัต) ซึ่งแผ่พลังไปทั่วจักรวาล..."

หลักการของนิวตันถูกนำไปใช้อธิบายการเคลื่อนที่ของโลกและเทหะวัตถุ คำนวณระยะห่างของดวงดาว ค่าความสว่าง รอบวงโคจร และอื่นๆ อีกมากมาย จะเรียกว่าเพราะแอปเปิ้ลลูกเดียวแท้ๆ ก็ว่าได้

คนส่วนใหญ่มักรู้จักนิวตันในฐานะนักคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่ชีวิตของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโลกผู้นี้ยังมีแง่มุมอื่นด้วย นิวตันเคยเขียนบทความศาสนาเกี่ยวกับการตีความคัมภีร์ไบเบิล เล่ากันว่านิวตันอาจได้รับแนวคิดเรื่อง "ทวินิยม" มาจากเฮนรี มัวร์ นักปรัชญาชาวอังกฤษที่อยู่ร่วมสมัยกัน บทความดังกล่าวเขาได้เขียนวิพากษ์เกี่ยวกับการมีอยู่ของ "ทรินิตี" (พระบิดา พระบุตร และพระวิญญาณ) ของศาสนาคริสต์ ส่งไปให้ จอห์น ลอค นักปรัชญาและการเมืองชาวอังกฤษเช่นกัน แต่ข้อเขียนดังกล่าวไม่ได้รับตีพิมพ์เผยแพร่

ในปี 2232-2233 และ 2244 เขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ แต่ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมากนัก มีอยู่ครั้งเดียวที่บันทึกว่าเขาได้แสดงความเห็นในสภาเกี่ยวกับลมเย็นที่พัดเข้ามาในห้องประชุม และเสนอให้ปิดหน้าต่าง

ต่อมานิวตันได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงลอนดอนและได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการกองกษาปณ์ในปี 2239 เขาได้เปลี่ยนการอ้างอิงค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงจากมาตรฐานเงินมาเป็นมาตรฐานทองคำ นับเป็นการปฏิรูปการเงินที่สำคัญในยุคนั้น และได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัศวินจากพระราชินีแอนจากการทำงานที่กองกษาปณ์ ไม่ใช่จากผลงานด้านวิทยาศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของเขา

นิวตันถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2270 ร่างของเขาถูกนำไปฝังอยู่ในวิหารเวสต์มินเตอร์ แพทย์พบว่าในศพของนิวตันมีสารปรอทอยู่จำนวนมาก ซึ่งอาจได้รับมาจากการทดลองแปรธาตุ สารพิษจากปรอทนี่เองที่อธิบายได้ว่าทำไมนิวตันถึงมีรูปร่างผิดปกติในช่วงปัจฉิมวัย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ค่ายวิทยาศาสตร์ช้างเผือก


ค่ายวิทยาศาสตร์ช้างเผือกซิเมนต์ไทย

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือซิเมนต์ไทย (SCG) เปิดรับสมัครเยาวชนที่กำลังจะขึ้นชั้น ม.3 ในปีการศึกษา 2550 จากโรงเรียนทั่วประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมเปิดโลกเรียนรู้วิทยาศาสตร์นอกตำรา ค้นหาความรู้ทางเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ในค่ายวิทยาศาสตร์ช้างเผือกซิเมนต์ไทย (SCG Sci-Camp) รุ่นที่ 18 คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องมีระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมในชั้น ม.1-2 ไม่ต่ำกว่า 3.00 และได้รับคะแนนเฉลี่ยสะสมวิชาวิทยาศาสตร์ไม่ต่ำกว่า 3.50

ระยะเวลาในการเข้าค่ายโครงการฯ มีทั้งสิ้น 8 วัน เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 21 เมษายน 2550 ถึงวันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2550 ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล
จ. นครปฐม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องลงทะเบียนเข้าพัก ณ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล วิทยาเขตศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในวันเสาร์ที่ 21 เมษายน 2550 ระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. และร่วมพิธีเปิดค่ายในเวลา 13.30 น. และเดินทางกลับในวันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2550

นักเรียนผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมในโครงการฯ นอกจากจะได้รับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นแล้ว ยังจะได้รับค่าใช้จ่ายและบริการอื่นๆ คือ ค่ายานพาหนะ, การประกันอุบัติเหตุ ตั้งแต่ออกเดินทางจากบ้านพัก ในช่วงเวลาการเข้าค่ายวันศุกร์ที่ 20 ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2550, ที่พักระหว่างการเข้าร่วมโครงการฯ อาหารและเครื่องดื่มทุกมื้อตลอดเวลาเข้าค่าย, เอกสารประกอบการศึกษา, เกียรติบัตร เพื่อแสดงว่านักเรียนได้เข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม

ในการจัดกิจกรรมโครงการฯ นี้ คณะกรรมการจะจัดสอบแข่งขันและมอบรางวัลพิเศษ คือ รางวัลชนะเลิศสำหรับนักเรียนที่ได้รับคะแนนรวมสูงสุด จะได้รับทุนการศึกษารางวัลละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รางวัลเยาวชนคนเก่ง จำนวน 4 รางวัล สำหรับนักเรียนที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละวิชาคือ หิน-ดิน, น้ำ, อากาศ และป่าไม้ โดยได้รับทุนการศึกษารางวัลละ 3,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และ รางวัล "นาท ตัณฑวิรุฬห์" ประเภท "การทำงานเป็นทีม"

วิธีการรับสมัครโดยเขียนเรียงความเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับชีวิตที่พอเพียง พร้อมส่งหลักฐานไปที่คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ภายในวันศุกร์ที่ 9 มี.ค.นี้ สอบถามโทร. 0-2586-3777 หรือ www.siamcement.com

Axis Graphic Limited

Thursday, February 22, 2007

เทคโนโลยีตาไบโอนิก

เทคโนโลยีตาไบโอนิก

เขาว่าดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ อันนี้เป็นคำพูดยอดฮิตในช่วงเดือนแห่งความรัก อาจจะดูเลี่ยนๆ ไปสักหน่อย แต่ก็คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า สายตาจะสื่ออารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ออกมา แต่ถ้าภายใต้ดวงตาของคนกลุ่มหนึ่งไม่สามารถบ่งบอกถึงความรู้สึกที่มีได้ นั้นไม่ใช่เพราะเขาอยากไม่เหมือนใคร หรืออยากเก็บความลับใดๆ ไว้ใต้ดวงตา แต่เพราะเขาเหล่านั้นมีปัญหาทางสายตา ไม่ว่าจะเกิดจากโรคร้าย หรืออุบัติเหตุใดๆ ก็ตาม ทำให้เขาไม่สามารถมองเห็นได้เหมือนคนทั่วๆ ไปต่างหาก

อย่าว่าแต่การสื่อความรู้สึกเลย การใช้ชีวิตประจำวันก็ลำบากมากพอแล้ว ต้องยอมรับว่าสิ่งอำนวยความสะดวกแกผู้พิการทางสายตาในบ้านเมืองเรามีอยู่น้อยมาก จนทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายท่านมองเห็นถึงปัญหาตรงนี้ จึงพัฒนาเทคโนโลยีหนึ่งที่จะพูดถึงในอเมริกาคือ

เทคโนโลยีตาไบโอนิก
เทคโนโลยีตาไบโอนิก หรือการปลูกถ่ายดวงตาอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้พิการทางสายตาที่เนื่องมากจากโรค เช่น กล้ามเนื้อตาเสื่อม (macular degeneration) และความผิดปกติของจอรับภาพ (Retinitis pigmentosa) ให้กลับมามองเห็นได้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีผู้คิดค้นวิธีการรักษาผู้พิการทางสายตาเช่นกัน โดยใช้วิธีฝังอุปกรณ์ที่เป็นกล้องวีดีโอเพื่อรับภาพแล้วส่งข้อมูลภาพเคลื่อนไหวไปยังอิเล็กโทรดที่ฝังอยู่ในดวงตาของผู้มีปัญหาทางสายตา ทำให้สามารถเห็นภาพได้เป็นโครงร่างคร่าวๆ และภาพที่มีการเคลื่อนไหวเท่านั้น

เนื่องจากยุคแรกๆ ความละเอียดของกล้องยังค่อนข้างน้อย ซึ่งความละเอียดเพียงแค่ 16 พิกเซล หรือ 16 อิเล็กโทรด ความละเอียดขนาดนี้ผู้ป่วยสามารถเดินไปตามถนนและสามรถหลบหลีกสิ่งกีดขวางตามท้องถนนได้ ซึ่งผู้ป่วยกล่าวว่าสามารถเห็นขอบมุมของกิ่งไม้ที่ขวางอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถทำให้จำหน้าผู้คนได้ แต่อย่างน้อยก็ยังเห็นเป็นเงาคนได้

ดังนั้น จึงมีการพัฒนาต่อไปเพื่อให้เห็นภาพจริงจากกล้อง และนำการเปลี่ยนแปลงสัญญาณไปเป็นสัญญาณอิเล็กโทรด ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังประสาทตา และจะทำให้ผู้มีปัญหาสายตาสามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น

การใช้อุปกรณ์ใหม่นี้มีความละเอียดมากกว่าอุปกรณ์ในอดีต ซึ่งมีถึง 60 อิเล็กโทรด และยังมีขนาดเล็กกว่าเดิม ซึ่งมีขนาดประมาณ 1 มิลลิเมตร ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการผ่าตัดเพื่อติดตั้งฝังอุปกรณ์ลงไปในดวงตา และจะทำงานโดยการฝังตัวโดยเรียงตัวกันของอิเล็กโทรดขนาดเล็กที่ด้านหลังของดวงตา และกล้องจะใช้ในการจับภาพ ส่งไปประมวลผลที่คอมพิวเตอร์มือถือที่คาดไว้อยู่ที่เอว เปลี่ยนข้อมูลรูปภาพ และผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจะได้เป็นสัญญาณไฟฟ้า และข้อมูลทั้งหมดจะส่งกลับไปยังแว่นตาโดยระบบไร้สาย โดยมีตัวรับสัญญาณที่อยู่ใต้ผิวตาด้านหน้า ซึ่งจะส่งข้อมูลไปยังอิเล็กโทรดที่อยู่ด้านหลัง โดยกระบวนการทั้งหมดจะทำในระบบ Real-time ทำให้การประมวลผลออกมาใกล้เคียงกับคนปกติทั่วไปที่ไม่มีปัญหาทางสายตา

เป็นที่น่ายินดีว่าประชากรอีกประมาณ 1.5 ล้านคนทั่วโลก จะสามารถกลับมามองเห็นเป็นปกติได้อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้ทางองค์การอาหารและยาเริ่มทำการทดลองผ่าตัดกับผู้ป่วยจำนวนหนึ่งและจะขยายไปยังศูนย์ต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาจำนวน 5 ศูนย์ เพื่อผ่าตัดให้กับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี จำนวน 50-75 ราย ถ้าระบบนี้ประสบความสำเร็จ มันจะสามารถทำการผลิตออกมาขาย โดยมีราคาประมาณ 3 หมื่นเหรียญสหรัฐ ซึ่งในระยะถัดไปจะสามารถพัฒนาให้มีความละเอียดได้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และการพัฒนาในอนาคตได้คำนึงไปถึงผลกระทบที่มีต่อระบบประสาทและสมอง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการมองเห็น คราวนี้ดวงตาของทุกๆ คนก็จะได้เป็นหน้าต่างของหัวใจจริงๆ สักที

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

มฤตยูโลกร้อน

มฤตยูโลกร้อน

มหันตภัยยิ่งใหญ่ของโลกที่อาจล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ ไม่ใช่สึนามิ เฮอร์ริเคน ภูเขาไฟระเบิด หรือแผ่นดินไหว แต่เป็นมฤตยูร้ายที่แฝงเร้นมาในรูปของเชื้อโรคที่วิวัฒนาการไปพร้อมกับภาวะโลกร้อน การระบาดของโรคครั้งใหม่อาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ และส่งผลให้ประชากรโลกล้มตายราวใบไม้ร่วง

นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกยืนยันหนักแน่นมากกว่าครั้งไหนๆ ว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเป็นเงื้อมมือของมนุษย์ ไม่ได้เป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ" ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวยืนยันหลังจากเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อไม่นานมานี้

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังที่ค่อนข้างยาวและละเอียดยิบ ดร.อานนท์ กล่าวอธิบายให้เห็นชัดเจนว่า ระดับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องอย่างมีความหมายกับปัจจัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าผลที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ มุมเอียงของโลก จุดดับบนดวงอาทิตย์ รังสีจากนอกโลก

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์โลกเห็นพ้องตรงกันว่า อุณหภูมิในประเทศแถบยุโรปได้เพิ่มสูงขึ้นราว 0.8 องศาเซลเซียสในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ขณะที่คาดว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 3.5 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ. 2100

จากการสำรวจล่าสุดยังพบระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 1-2 มิลลิเมตรต่อปี อากาศที่ร้อนขึ้นเพียงแค่ 0.025 องศาเซลเซียส มีผลให้โมเลกุลของน้ำขยายตัวเพิ่มขึ้น

ตามหลักสมุทรศาสตร์ น้ำทะเลแบ่งออกเป็นชั้น โดยระดับน้ำอุ่นเป็นระดับน้ำที่ลึกจากผิวน้ำราว 200-300 เมตร และลึกลงไปจากระดับดังกล่าวเป็นชั้นน้ำเย็น และมันจะแยกกันชัดเจน ทว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นได้แผ่ความร้อนลงไปถึงระดับชั้นนำเย็นของมหาสมุทรแล้ว

"นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบหลักฐานยืนยันว่า ความร้อนที่อยู่ในบรรยากาศสามารถแพร่ลงไปลึกเฉลี่ยทั้งโลกราว 700 เมตรแล้ว และบางจุดของมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือน้ำอุ่นแพร่ลงไปถึง 1,000 เมตรด้วย ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือการกัดเซาะชายฝั่งและเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว หากระดับน้ำยังอุ่นต่อเนื่องไปอีก 30-40 ปี โดยเฉพาะแถบมัลดีฟส์ ปากแม่น้ำบังกลาเทศ รวมทั้งไทย" ดร.อานนท์ กล่าว

โรคระบาด: หายนะจากโลกร้อน
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกไม่ได้ส่งผลเฉพาะความผันผวนทางด้านอากาศและระบบนิเวศเท่านั้น หากกระทบลึกลงไปถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรการเติบโตของเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยเฉพาะไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ ไข้หวัดนก หรือแม้กระทั่งไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นผลของโลกร้อนที่น่าเป็นห่วง คือ โรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ

ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล่าถึงความชาญฉลาดของเชื้อไวรัส ที่สามารถปรับตัวตามธรรมชาติได้ดีอย่างยิ่งว่า ลักษณะเฉพาะตัวของเชื้อไวรัสสามารถถ่ายทอดจากสัตว์สู่คน และสามารถหลบหลีกให้มีชีวิตอยู่ได้แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่แห้งแล้งก็ตาม เพราะว่าในช่วงที่แห้งแล้งไวรัสสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้จากสัตว์ที่นำโรคประเภทต่างๆ สัตว์บินได้ เช่น นกและค้างคาว และสัตว์บกก็มีตั้งแต่กระรอก กระแต สัตว์ที่ขุดรูอยู่ เช่น หนู เพื่อรอเวลาที่อากาศเหมาะสมก่อนที่จะออกมาแพร่กระจายได้ใหม่อีกครั้ง

"ไวรัสเขาสามารถรอได้ เพราะฉะนั้นจึงมีเชื้อไวรัสที่เรียกว่า สงบแต่ไม่หายขาด มีการซ่อนตัวอยู่ เวลาที่เอื้ออำนวยเขาจะโผล่ออกมาใหม่" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

ปกติแล้ว ธรรมชาติได้สร้างความสมดุลกำหนดระยะห่างระหว่างสัตว์เหล่านั้นไม่ให้ใกล้ชิดกับคน แต่เมื่อเกิดสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง อากาศที่แปรปรวน ฝนตก น้ำท่วม ส่งผลให้วัฏจักรตามธรรมชาติของเชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป

"การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ร่นระยะห่างจากสัตว์เหล่านี้เข้ามาสู่คนได้ง่ายขึ้น การย่นระยะห่างของสัตว์ที่มีไวรัสซ่อนอยู่ถูกปรับเปลี่ยนด้วยมนุษย์ที่เข้าไปรุกล้ำเองด้วย" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์โรคปฏิบัติการทางสมอง เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นหายนะที่มนุษย์ทำให้ธรรมชาติเสียหาย การรุกล้ำทำลายป่า การบุกรุกเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัส ทำให้สัตว์เหล่านี้เข้ามาใกล้คนมากยิ่งขึ้น

"โดยธรรมชาติ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ในสัตว์เหล่านี้ ไม่สามารถที่จะแพร่มาติดคนโดยตรง แต่จะแพร่ไปยังพาหะที่สามารถแพร่ติดต่อมาที่คนได้ สมมติว่ามาจากนก อาจจะต้องลงมาที่ยุง มาปล่อยที่หมูพร้อมแพร่เชื้อในกระแสเลือด เมื่อยุงกัดหมูมากัดคนซ้ำก็เกิดโรค ลักษณะวงจรแบบนี้เกิดจากมนุษย์เอาตัวไปใกล้ไวรัสเพิ่มมากขึ้น" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

สิ่งที่น่ากลัว คือการปรับตัวของสัตว์นำโรคที่เพิ่มจำนวนขึ้นจากอุณหภูมิโลก อากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลให้ยุงเพิ่มประชากรมากขึ้น และมีถิ่นที่อยู่อาศัยมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ร้อนนี้อย่าแปลกใจหากพบยุงดูดเลือดเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นกองทัพยุง

"เมื่อธรรมชาติเสียสมดุล สัตว์ที่แพร่เชื้อก็เพิ่มมากขึ้น ยุงมีจำนวนมากขึ้น หมูก็มีมากขึ้น เมื่อยุงกัดหมูก็ไปเพาะไวรัสในหมู และนักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อไวรัสในหมูส่งผลให้ระบบประสาทของยุงผิดปกติ และยุงจะวิ่งเข้าหาคนมากกว่าปกติ เพราะว่ายุงจะมีระบบประสาทที่มีตัวรับคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะฉะนั้นต่อไปยุงจะไม่กลัวคน แต่จะวิ่งเข้าไปกัดมากขึ้น" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว
ปัญหาที่เกิดทั้งหมดทั้งปวงล้วนเกิดจากการเข้าไปปรับเปลี่ยนไปสร้างความไม่สมดุลระหว่างสัตว์ที่เป็นแหล่งซ่องสุมไวรัส และสัตว์เพาะโรค และตัวนำโรค ทำให้กลไกการทำงานทั้งหมดเปลี่ยนแปลงประสานงานกันมากขึ้นและเข้าใกล้คนมากขึ้น

"ถ้าสัตว์ทั้งสามชนิดสามารถประสานงานกันมากขึ้น จะลงไปสู่คนได้ง่ายขึ้น คนจะเป็นโรคมากขึ้น ที่สำคัญคือเมื่อไวรัสพัฒนาการมากขึ้น เมื่อติดคนที่ถือเป็นอันดับสุดท้าย ซึ่งเมื่อติดคนแล้วถ้าไม่หายก็คือ ตาย และปกติคนจะไม่มีศักยภาพในการแพร่โรคให้กับคนอื่นต่อไป แต่ขณะนี้พบไวรัสหลายตัวเริ่มปรับให้คนเป็นแหล่งเพาะโรค เช่นเดียวกับหมู เมื่อยุงมากัดคนก็สามารถแพร่เชื้อได้เมื่อไปกัดคนอื่นต่อไปอีก" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

มฤตยู "รีเทิร์น"
เมื่อกลไกของการแพร่เชื้อถูกเปลี่ยนไปจากอาการที่เรียกว่า ธรรมชาติเสียสมดุล สิ่งที่ตามมาคือ การพัฒนาของเชื้อโรคที่ต้องจับตามอง ผศ.ดร.กำพล รุจิวิชชญ์ อาจารย์คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เล่าถึงโครงการศึกษายีนก่อโรคและรูปแบบดีเอ็นเอของเชื้ออหิวาตกโรค (Vibrio cholerae O1, O139) สายพันธุ์ที่ทำให้ก่อโรคอหิวาตกโรคในคน ว่าเป็นผลที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

ทีมวิจัยได้ลงไปศึกษาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง มีระยะเวลาในการติดตามในช่วงปี 2548-2551 พบว่า อุบัติการณ์ของเชื้อโรคเปลี่ยนไปจากเดิมที่มักระบาดในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากหน้าแล้งน้ำน้อยจะมีความเข้มข้นของสิ่งสกปรกเยอะและถ้าไม่สะอาดจะทำให้เชื้อก่อโรคได้ง่าย

"เบื้องต้นพบประเด็นที่น่าสนใจว่าแม้เชื้ออหิวาต์ในแม่น้ำทั้งในไทยและอินเดียไม่ใช่เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคได้ แต่พบว่าหากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเพียง 0.5 องศาเซลเซียส อาจจะมีผลทำให้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่ก่อโรค กลายพันธุ์เป็นเชื้อที่ก่อโรคได้" ผศ.ดร.กำพล กล่าว

ผศ.ดร.กำพล บอกว่าถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น มีผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำสูงขึ้น และเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อไวรัสที่ทำให้อหิวาตกโรคระบาดได้ตลอดปีได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนอาจจะต้องศึกษารายละเอียดมากขึ้น เพราะรายงานการวิจัยยังไม่มีความสมบูรณ์มากนัก โดยการศึกษาต้องตอบสมมติฐานเรื่องความสัมพันธ์ของภาวะโลกร้อนว่าจะส่งผลให้เกิดโรคอุบัติใหม่ในเมืองไทยหรือไม่ ปัจจุบัน การศึกษาเรื่องโรคอุบัติใหม่จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในเมืองไทยยังมีน้อยมาก

นอกจากนี้ คณะสหเวชศาสตร์ ยังให้ความสนใจเรื่องการระบาดของโรคไข้เลือดออกด้วย ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีคนเสียชีวิตและเป็นไข้เลือดออกมากขึ้น โดยเฉพาะในกทม. ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ยืนยันจากต่างประเทศ

ปัจจัยหนึ่งเกิดจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้วงจรการฟักตัวของไข่ยุงเร็วขึ้นจนประชากรยุงลายมีมาก และส่งผลให้การระบาดของไข้เลือดออกโดยเฉพาะในกทม. ซึ่งมีระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าพื้นที่อื่น
พันธุ์หมาบ้า

ขณะเดียวกัน ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ ระบุว่า โรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นซ้ำซากกำลังจะกลับมาใหม่เพราะประชากรสุนัขงอกงามมากขึ้นอีก เดิมเชื่อกันว่า โรคพิษสุนัขบ้าจะแพร่เชื้อเฉพาะฤดูร้อนนั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะเมื่อถึงฤดูติดสัดสุนัขจะกัดกันเองทำให้แพร่เชื้อไวรัส สุนัขบางตัวมีอาการ บางตัวไม่มีอาการ และระยะฟักตัวของเชื้อในสุนัขไม่เท่ากัน ดังนั้น สุนัขจึงเป็นตัวแพร่เชื้อได้โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นฤดูร้อนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่าค้างคาวไทยสามารถนำเชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ได้เช่นกัน

"อัตราการเกิดโรคพิษสุนัขที่มีไวรัสในน้ำลายอยู่ที่ร้อยละ 50 เพราะฉะนั้นเมื่อรับเชื้อจะเกิดโรคได้ในระยะเวลาต่างๆ กัน เกิดขึ้นได้ทั้งปีไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อน" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

นอกจากโรคพิษสุนัขบ้าที่มีแนวโน้มระบาดรอบใหม่แล้ว ยังมีโรคไข้สมองอักเสบที่พบอัตราการเจ็บป่วยปีละ 800-1,000 คน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผู้ป่วยมากกว่านี้ เนื่องจาก เฉพาะผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เองมีประมาณ 260 คน แต่ระบบการตรวจสอบข้อมูลที่เกิดโรคอาจจะไม่ดีนักทำให้รวบรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ไม่ดี

เมื่อแนวโน้มการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ ชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันโรค และต้องปิดช่องโหว่ทั้งหมดที่นำโรค "คนมีช่องทางรับเชื้อโรคได้หลายทาง ไม่ว่าจะทางปากจากการรับประทานอาหาร จมูกจากการหายใจ อวัยวะสืบพันธุ์ ผิวหนังที่มีแผลจากยุงกัด แมลงกัด เพราะฉะนั้น เมื่อพื้นฐานการป้องกัน คือหน้าที่ของทุกคน การรักษาสุขภาพไม่ใช่ของรัฐ ไม่ใช่หน้าที่กระทรวงสาธารณสุข แต่ทุกคนมีหน้าที่รักษาสุขภาพของตัวเอง"

"การรักษาสุขภาพของคนทั่วไปคือ การกินของสุก ประเทศไทยต้องกินของสด ผักสดต้องล้างสะอาด เปลี่ยนค่านิยม ต้องใช้ช้อนกลาง ป้องกันอย่าให้ยุงกัด เราจะมานั่งรอให้ กทม. หน่วยงานรัฐมาพ่นหมอกควัน เป็นวิธีการกำจัดยุงลายที่เป็นเพียงแค่มาตรการปลอบใจ เพราะว่ายุงลายอยู่ในบ้าน การพ่นหมอกควันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่ขังน้ำสะอาดในบ้านต้องคว่ำให้หมด" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

ส่วนหน้าที่ของรัฐจะต้องสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่น การกำหนดมาตรฐานยากันยุง ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมทั้งทำแผนก้าวหน้าเชิงรุกซึ่งสำคัญที่สุดคือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานนำข้อมูลมาแชร์กันเพื่อร่วมกันป้องกัน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/22/WW06_WW06_news.php?newsid=55726

ไอพีทีวี

‘ไอพีทีวี’ พัฒนาการของเน็ต คอนเวอร์เจนต์

แม้บริการโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือไอพีทีวี (Internet Protocal Television : IPTV) จะแจ้งเกิดในเมืองไทยมานานกว่า 2 ปี จากการเปิดตลาดของ 2 ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ของไทย คือ ทรู
คอร์ปอเรชั่น ที่ขายพ่วงไปกับทรูวิชั่นส์ หรือยูบีซีเก่า ส่วนอีกรายคือ บัดดี้ บรอดแบนด์ ของบริษัท แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวอร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ ในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น โดยอาศัยโครงข่ายของบริษัท ทีโอที ในการตลาด ทว่ายอดผู้ใช้บริการไอพีทีวี กลับยังไม่กระเตื้อง

ต่างจากตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) กลับมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีตัวเดียวกัน แต่กลับไม่สามารถเดินไปพร้อมกันได้

ไอพีทีวี ถือเป็นบริการเสริม มาต่อยอดให้กับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ให้สามารถรับชมรายการทีวีต่างๆ บนจอคอมพิวเตอร์เหมือนดูโทรทัศน์ปกติ หรือจะผ่านจอโทรทัศน์ทั่วไปก็ได้ หากสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ยังสามารถชมรายการตามสั่ง (ออนดีมานด์) ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรือจะจัดเก็บบันทึกรายการที่ชื่นชอบจากฟรีทีวีเพื่อไว้ชมย้อนหลังก็ได้

ส่วนปัญหาและอุปสรรค ที่ทำให้ไอพีทีวี ไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทย หลายฝ่ายมองว่า ส่วนหนึ่งมาจากความเร็วในการรับส่งข้อมูล (แบนด์วิดท์) ยังมีราคาสูง โดยปัจจุบันความเร็วในระดับเมกะบิตต่อวินาที ราคาอยู่ที่ 500-1,000 บาทต่อเดือน รวมไปถึงการต้องปรับเปลี่ยนหรือต้องมีอุปกรณ์เสริม ได้แก่ โมเด็ม คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ทีวีเองก็ต้องเป็นทีวีความละเอียดสูง (High-Definition T.V) ซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทยมากนัก ยังไม่รวมบริการเนื้อหา หรือคอนเทนต์ ก็ดึงดูดเพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับตลาดด้วย

‘ทรู ไอพีทีวี’ หนึ่งจิ๊กซอว์ บูมอินเทอร์เน็ต คอนเวอร์เจนต์
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในผู้ให้บริการไอพีทีวี กล่าวว่า การเติบโตของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ส่วนหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐด้วยว่าจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าเทียบกับเกาหลี สิงคโปร์ ประเทศไทย ยังห่างไกล

เพราะจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเมืองไทยยังต่ำมีเพียงแค่ 3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เกาหลี มีปริมาณการใช้งานบรอดแบนด์ถึง 74% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่สิงคโปร์ มีถึง 51% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ นอกจากนี้จำนวนผู้มีคอมพิวเตอร์ใช้งานในเมืองไทยก็ยังต่ำ แต่ถ้ามีจำนวนพีซีมากขึ้น การขยายตัวอินเทอร์เน็ตก็ต้องเพิ่มตาม

“โอกาสในตลาดนี้ ยังมีแนวโน้มเติบโตไปได้อีกมากและทรูเองก็ตั้งเป้า 3 ปี นำความสามารถ ทั้งความรู้ ข่าวสาร บันเทิงเข้าถึงประชาชนคนไทย ให้ได้อย่างน้อย 50% ของ 8 ล้านครัวเรือน ผ่านการเชื่อมต่อทางใดทางหนึ่งจากเครือจ่ายทรู” ศุภชัย กล่าว

ปัจจุบัน ทรูมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ 6 แสนราย และคาดว่าปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านราย ส่วนบริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกของบริษัท ทรูวิชั่นส์ มีสมาชิกจำนวน 6 แสนครัวเรือนและจะเพิ่มเป็น 1 ล้านครัวเรือนในปีนี้ โดยทรู เชื่อว่าพัฒนาการของอินเทอร์เน็ต จะเป็นตัวผลักดันให้เข้าสู่การผนวกรวมบริการ (คอนเวอร์เจนตื) อย่างแท้จริง

ด้าน ธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ ผู้อำนวยการบริหารด้านโฮม คอนซูเมอร์ โซลูชัน และไฮสปีด แอ็คเซ็ส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งของบริการไอพีทีวี คือความต้องการความเร็วในการใช้งาน ปัจจุบันความเร็วที่ 512 กิโลบิตต่อวินาที ก็สามารถดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ซึ่งเครือข่ายของทรู สามารถรองรับการใช้งานได้ นอกจากนี้ อุปกรณ์โมเด็มของทรูเอง ก็สามารถรองรับได้ถึง 24 เมกะบิต แต่การใช้งานจริง ต้องค่อยๆ ไต่ระดับความเร็วขึ้นไป

“จริงๆ ทุกบ้าน พร้อมใช้บริการ แต่กว่าจะเป็นที่นิยมคงต้องใช้เวลา” ผู้อำนวยการบริหารด้านโฮม คอนซูเมอร์ โซลูชัน และไฮสปีด แอ็คเซ็ส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ล่าว

‘ไทย’ 1 ใน 5 ประเทศ ดูวีดีโอ ผ่านเน็ตมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้บริการไอพีทีวีจะยังไม่สามารถแพร่หลายในเมืองไทย แต่จากผลการวิจัยตลาดของบริษัทไอดีซี พบว่า อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวัน ของผู้ใช้บริการในอนาคต เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตธรรมดา มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความรวดเร็วในการเชื่อมต่อ

ในที่สุด กลุ่มผู้ใช้งานก็จะมีความเข้าใจถึงข้อดีของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และเริ่มมีความต้องการบริการเสริมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มากขึ้น และเชื่อว่าผู้ใช้บริการ 20% ดูโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) และอีก 77.8% ดูวิดีโอผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

ประเทศที่มีอัตราการดูวีดีโอ ผ่านดินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และไทยตามลำดับ ในขณะที่ประเทศที่มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สูงสุด ได้แก่ ประเทศเกาหลี (90.5%) ไต้หวัน (90.5%) ฮ่องกง (89.6%) สิงคโปร์ (78.2%) ไทย (63.6%) และจีน (52.6%) ตามลำดับ ส่วนในประเทศมาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินเดีย ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ ยังคงใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ (แนร์โรว์แบนด์)

เชื่อมต่อแบบมีสาย คงอิทธิพลต่อผู้ใช้ออนไลน์
แต่หากกล่าวถึงการขยายเครือข่ายแล้ว กลุ่มผู้ใช้งานบรอดแบนด์มักนิยมเขื่อมต่อแบบใช้สาย (wired) ส่วนการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายภายในบ้านแบบไร้สาย (wireless) ยังไม่นิยมมากนัก ซึ่งต่อไป การเชื่อมต่อเครือข่ายภายในบ้าน จะมีบทบาทมากขึ้น โดยจะกลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของสื่อ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน

นั่นหมายถึงพัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่ง ที่ไปสู่การเชื่อมต่อไปยังระบบที่ให้ความบันเทิง (Entertainment System) ด้วยการผนวกรวมระบบวีดีโอ เสียง ตลอดจนรูปภาพต่างๆ ที่ส่งผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้หน่วยเก็บข้อมูล เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกวีดีโอ เป็นอุปกรณ์รับส่งข้อมูล ซึ่งนอกเหนือจากการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการทำงานแล้ว การใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในบ้าน ยังเป็นแรงกระตุ้นให้กับตลาดเกมออนไลน์ รวมไปถึงความบันเทิงต่างๆ เช่น การดูหนัง ฟังเพลงด้วย

ผลจากการขยายตัวทางด้านอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ไม่เพียงแต่กระตุ้นการใช้งานบนโลกออนไลน์ อีกแง่มุมหนึ่ง อินเทอร์เน็ตยังเป้นตัวกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจและจีดีพีโดยรวมของประเทศด้วย เพราะจากการสำรวจของธนาคารโลก พบว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของแต่ละประเทศ ไม่ได้มาจากการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานมือถืออีกต่อไป โดยจะมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทนที่

ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถทำให้ประชากรทั่วทั้งประเทศมีอินเทอร์เน็ตใช้ ก็เท่ากับว่า ช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจไทยไปในตัว

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

กล้องผ่าตัดดวงตา

กล้องผ่าตัดดวงตา-สมองฝีมือวิศวกรไทย

ผลงานร่วมกับวิศวกรต่างชาติ สำหรับผ่าตัดดวงตา สมอง เส้นเลือดและหู ออกแบบพิเศษลดปริมาณความร้อนจากเลนส์ สร้างความเสียหายให้อวัยวะ พร้อมทั้งติดตั้งเลนส์ 4 ตัวหนุนแพทย์ผ่าตัดเป็นทีม
เขียนโดย จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายโอม สาวนายน ผู้อำนวยการด้านอุปกรณ์การแพทย์ บริษัทไลก้า ไมโครซิสเต็ม จำกัด ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และวิศวกรชาวไทยผู้พัฒนากล้องผ่าตัดจุลศัลยกรรมทางตา สมองและหู รวมกับวิศวกรชาวต่างชาติ กล่าวว่า ความพิเศษของกล้องที่พัฒนาขึ้นอยู่ที่เลนส์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 4 เลนส์ ช่วยให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้หลายคนพร้อมกัน ทั้งยังออกแบบให้ลดปริมาณแสงที่ส่องไปยังวัตถุ จึงลดอันตรายที่อาจเกิดกับอวัยวะที่กำลังผ่าตัด หากได้รับความร้อนจากแสงในปริมาณมากและต่อเนื่อง
"ทีมวิศวกรได้สำรวจความคิดเห็นของศัลยแพทย์ ที่ใช้กล้องจุลทรรศน์ในการผ่าตัดพบว่า กล้องที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด เช่น น้ำหนักมาก ทำให้ใช้งานได้ไม่คล่องตัว อีกทั้งก่อนการใช้งานจะต้องใช้เวลาปรับระบบนานพอสมควร ดังนั้น ทีมวิศวกรจึงได้ออกแบบกล้องผ่าตัดขึ้นใหม่ ให้มีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนที่ปรับทิศทางและมุมมองได้สะดวกขณะผ่าตัด รวมถึงติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ช่วยควบคุมการทำงาน" ผู้พัฒนากล้อง กล่าว

กล้องผ่าตัดที่พัฒนาขึ้นมีหลายเวอร์ชั่น รองรับการใช้งานที่ต่างกัน เช่น กล้องผ่าตัดตา กล้องผ่าตัดสมอง ซึ่งมีความจำเพาะ โดยตัวกล้องสามารถหมุนได้รอบตัวแบบ 3 มิติ มีการคำนวณปริมาณแสงอัตโนมัติ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับอวัยวะของผู้ป่วย ในปริมาณที่ได้รับแสงมาก

นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยใช้งานกล้องจุลศัลยกรรมอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ขณะที่แพทย์ยังขาดความรู้เฉพาะทางในเรื่องงานกล้องจุลศัลยกรรม ทำให้ใช้งานเครื่องมือราคาแพงไม่เต็มประสิทธิภาพ

ด้วยเหตุนี้ แพทยสมาคมจึงจัดประชุมวิชาการกล้องผ่าตัดจุลศัลยกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้แพทย์และศัลยแพทย์กว่า 200 คน ได้ทราบถึงเทคโนโลยีการผลิตกล้อง เช่น คุณสมบัติทางฟิสิกส์และโครงสร้างเลนส์ คุณสมบัติการหักแสง นวัตกรรมการผ่าตัด สำหรับนำความรู้พื้นฐานไปประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

"คนไทยมีความสามารถในการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ เช่น เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็ก เตียงพยาบาล เก้าอี้ไฟฟ้า โดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและต้นทุนการผลิตไม่มากนัก แต่สำหรับเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น กล้องที่ใช้ในการผ่าตัด ยังคงต้องนำเข้าเทคโนโลยีต่างประเทศ เพราะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนและการแข่งขัน หากผลิตในปริมาณน้อย ดังนั้น ผู้ใช้งานจำเป็นต้องเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีมากขึ้น” นายแพทย์เอื้อชาติ กล่าว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/22/WW54_5406_news.php?newsid=55751

สเต็มเซลล์รักษาเสียงแหบ

ไทยผนึกสหรัฐใช้สเต็มเซลล์รักษาเสียงแหบ

สเต็มเซลล์รักษาเสียงแหบรายแรกของโลก ผลงานวิจัยร่วมไทย-สหรัฐ รักษาให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดี สภาวิจัยหนุนพัฒนาสเต็มเซลล์รักษาโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตีบ
เขียนโดย ดวงกมล สจิรวัฒนากุล

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)กล่าวว่า วช.สนับสนุนนักวิจัยไทยทำโครงการวิจัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มหาวิทยาลัยมหิดล และหลายหน่วยงานตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน มีผลการวิจัยที่เป็นฝีมือของคนไทยประสบผลสำเร็จแล้วหลายโครงการ เช่น การรักษาภาวะเสียงแหบด้วยสเต็มเซลล์ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยสเต็มเซลล์ที่สถาบันโรคทรวงอก

สเต็มเซลล์ที่นำมารักษาผู้ป่วยเสียงแหบนั้น แพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดีนำเลือดของผู้ป่วยมาพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ จากนั้นฉีดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยที่มีอาชีพครู เส้นเสียงที่แหบเครือสามารถทำงานได้ดี พูดสอนนักเรียนได้เหมือนเดิม มีผู้ป่วยเสียงแหบที่รักษาด้วยสเต็มเซลล์แล้ว 6 รายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยอยู่ระหว่างติดตามผลอย่างใกล้ชิด

ส่วนสเต็มเซลล์รักษาโรคหัวใจนั้นนำเลือดของผู้ป่วยมาพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ จากนั้นฉีดกลับเข้าร่างกายผู้ป่วย การวิจัยในผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2548 จนถึงปัจจุบันมีคนไข้ในโครงการวิจัย 5 ราย ทุกรายปลอดภัย แพทย์และนักวิจัยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนอนาคตกำลังวิจัยโรคข้อเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับสเต็มเซลล์ได้จากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้แก่เลือด ไขกระดูก ผิวหนัง ไขมัน เป็นต้น

สำหรับยุทธศาสตร์ชาติด้านการวิจัยสเต็มเซลล์นั้น เลขาธิการ วช.กล่าวว่า ต้องมีการวิจัยขั้นพื้นฐาน ค้นคว้าวิจัยระดับโมเลกุล ระดับเซลล์ เพื่อพัฒนาสู่ระดับที่ 2 คือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านสเต็มเซลล์ นำไปสู่ขั้นที่ 3 การใช้ประโยชน์นำไปสู่การวิจัยทางคลินิก เพื่อรักษา บำบัดโรคต่างๆ

“วช.ผลักดันการวิจัยการรักษาโรคหัวใจ โรคไต ระบบประสาท สมอง ทั้งพาร์กินสัน หลอดเลือดหัวใจ พยายามให้มีการวิจัยระดับคลินิก มีความร่วมมือของนักวิจัยขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 เพื่อให้เกิดผลดีกับคนไทย คำนึงถึงจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ให้เกิดผลดี มีความปลอดภัย ขั้นที่3 ระดับคลินิกเราทำได้ผลดี เร็ว ๆ นี้จะมีข่าวดีออกมาอีก การรักษาเสียงแหบถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก”ศ.ดร.อานนท์ กล่าว

ทั้งนี้ ศักยภาพนักวิจัยไทยไม่ด้อยกว่าชาวต่างชาติ แต่ต้องใช้พรสวรรค์มากกว่าต่างประเทศ เพราะประเทศไทยให้การสนับสนุนสู้ต่างประเทศไม่ได้ ดังนั้น ต้องใช้ความทุ่มเท ขอให้นักวิจัยมีพื้นความรู้ความเข้าใจการวิจัยระดับพื้นฐานให้มาก จากนั้นพัฒนาสู่การวิจัยระดับสเต็มเซลล์ซึ่งเป็นการวิจัยขั้นสูง สร้างเครือข่ายการวิจัยร่วมกันโดยนักวิจัยมีความจริงใจต่อกัน มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้ ส่วนรายได้ ผลประโยชน์ที่ตามมาเป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องบริหารจัดการแยกออกต่างหาก

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานกล่าวต้อนรับในโอกาสที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา จัดประชุมเรื่อง Emerging Technology on Stem Cell ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

การประชุมดังกล่าว เป็นเวทีให้นักวิจัยไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยสเต็มเซลล์กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก จัดขึ้นในวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์นี้ มีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน นำเสนอผลการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ อาทิเช่น ศ.ไคลฟ์ สเวนด์เซน (Clive Svendsen) เรื่องสเต็มเซลล์กับการซ่อมแซมสมอง พร้อมกันนี้ นักวิจัยจะทัศนศึกษานอกสถานที่ ไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/22/WW54_5401_news.php?newsid=55758

พลาสติกกันกระสุน

มหิดลพัฒนาพลาสติกกันกระสุน

ทีมวิจัยมหิดลพัฒนาเกราะกันกระสุนจากพลาสติก ผลงานวิจัยต่อยอดจากโครงการพัฒนาพลาสติกทนแรงกระแทกสูงเพื่อการขนส่งในภาคอุตสาหกรรม

ดร.กิติกร จามรดุสิต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมงานอยู่ระหว่างดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาเกราะกันกระสุน ที่ทำมาจากพลาสติกอะคริลิก ซึ่งผ่านการวิจัยให้มีคุณสมบัติทนแรงกระแทกสูงได้เป็นพิเศษ เพื่อทดแทนเกราะที่ทำจากโพลิคาร์บอนเนตซึ่งมีราคาแพง

การพัฒนาเกราะกันกระสุนจากพลาสติกใกล้แล้วเสร็จ ในเบื้องต้นพบว่าแผ่นอะคริลิกที่ผ่านการพัฒนาในความหนา 10 มิลลิเมตร สามารถกันกระสุน .38 ได้ ทีมวิจัยจึงตั้งเป้าที่จะพัฒนาแผ่นอะคริลิกขนาด 20 มิลลิเมตร ให้สามารถกันกระสุน .9 และ 11 มม.

ทั้งนี้ผลการทดสอบแรงกระแทกของกระสุนพบว่ากระสุนสามารถเจาะเข้าไปในเนื้ออะคริลิกได้เพียง 4 มิลลิเมตร จึงมีความหวังที่จะพัฒนาเป็นเกราะกันกระสุน ที่มีน้ำหนักเบา และราคาถูกกว่านำเข้า 3-4 เท่า ได้ในอนาคต

"ผลงานวิจัยพลาสติกกันกระสุนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาคุณสมบัติพลาสติกอะคริลิก ให้สามารถทนแรงกระแทกได้เป็นพิเศษ ซึ่งเป็นโจทย์จากบริษัทแพน เอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด ที่ต้องการพัฒนาพลาสติกให้ทนทาน ไม่เปราะหรือแตกง่าย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในขั้นตอนการขนส่ง โดยได้รับทุนวิจัย 4 แสนบาทจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ส่วนทีมงานเป็นนักศึกษาปริญญาตรี 9 คน ร่วมทำวิจัยกับภาคเอกชน ใช้เวลากว่า 3 ปี" ดร.กิติกร กล่าว

งานวิจัยดังกล่าวมีโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้อง 4 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาอะคริลิกให้สามารถทนแรงกระแทกสูง โดยผสมยางธรรมชาติเข้ากับเนื้อพลาสติก ในอัตราส่วนที่เหมาะสม กระทั่งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หน้ากากกันแรงกระแทกและอ่างอาบน้ำ วางขายอยู่ในท้องตลาด โครงการพัฒนาเศษอะคริลิกเหลือใช้มาผลิตเป็นชิ้นงานใหม่ โดยยังคงความประสิทธิภาพในการใช้งาน ทนความร้อนและรังสียูวีได้เทียบเท่ากับชิ้นงานใหม่

โครงการวิจัยแผ่นป้ายประหยัดพลังงานและแผ่นโฆษณาอะคริลิกสีขาวประหยัดพลังงาน และโครงการวิจัยแผ่นอะคริลิกมุก เคลือบมุก และแผ่น Beauty Soft เพิ่มคุณสมบัติความสวยงามของพลาสติก

นายโสรัตต์ วณิชวรากิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแพน เอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า การทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนทุน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู้กับตลาดโลกได้มากขึ้น เพราะงานวิจัยมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพของสินค้า รวมถึงลดต้นทุนการผลิตให้ถูกลง

“ธุรกิจพลาสติกมีการแข่งขันที่รุนแรงมาก หากผู้ผลิตไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแปลกใหม่ ก็จะไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ซึ่งการวิจัยและพัฒนาจำเป็นต้องลงทุนสูง จึงเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่กล้าเสี่ยง” นายโสรัตต์ กล่าว

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สกว.ให้ทุนวิจัยแก่นักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อทำงานวิจัยร่วมกับเอกชน โดยรับฟังปัญหาจากภาคเอกชนมาใช้เป็นโจทย์ในการวิจัย ในโครงการทุนวิจัยระดับปริญญาตรี หรือ IRPUS ตั้งแต่ปี 2545 ปีละ 250 ทุน ในปีที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมวิจัย 179 ราย สำหรับปี 2550 ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สนับสนุนทุนวิจัย จึงขยายทุนเพิ่มเป็น 1,000 ทุน คาดว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 2,200 คน

ทั้งนี้ สกว.จะจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย ในโครงการ IRPUS ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมพลาสติก ที่ทำร่วมกันระหว่างนักศึกษาและบริษัทเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม มาจัดแสดงรวมกว่า 250 ชิ้น ในวันที่ 20-22 เมษายนนี้ ที่ สยามพารากอน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/20/WW54_5401_news.php?newsid=55328

เพาะเลี้ยง"ฟัน

ยุ่นใช้เซลล์ดั้งเดิมเพาะเลี้ยง"ฟัน"

นักวิจัยญี่ปุ่นเพาะ "ฟัน" ที่ดูเหมือนธรรมชาติจาก "เซลล์ดั้งเดิม" บนจานในห้องทดลองแล้วนำไปปลูกถ่ายให้หนู ตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ว่าจะนำไปสู่การพัฒนาอวัยวะที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แทนอวัยวะที่เสื่อมสภาพหรือเสียหาย

คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โตเกียว เมืองชิบะ เผยขั้นตอนการทดลองกับวารสารเนเจอร์เมธอดส์ว่า ได้ฉีดเซลล์ดั้งเดิมเข้าไปเพาะเลี้ยงในโครงคอลลาเจน และทำให้เซลล์ที่เจริญโตขึ้นมามีโครงสร้างสมบูรณ์ของสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็นฟัน ได้แก่ เนื้อเยื่อฟันส่วนที่มีแคลเซียม เคลือบฟัน เนื้อฟัน เส้นเลือดและเอ็นยึดปริทนต์ จากนั้นนำไปปลูกถ่ายให้หนู ปรากฏว่าเซลล์เติบโตและพัฒนาได้ตามปกติ นับเป็นครั้งแรกที่สามารถสร้างอวัยวะทั้งชิ้นขึ้นได้จากเซลล์ไม่กี่เซลล์ และเป็นการพัฒนาการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ให้อวัยวะที่สูญเสียการทำหน้าที่บางส่วนสามารถทำหน้าที่ได้ดังเดิม

"เป้าหมายสูงสุดของเราคือการพัฒนาอวัยวะที่ได้จากกระบวนการชีววิศวกรรม ให้ทำหน้าที่ได้ครบถ้วนแทนอวัยวะที่เสื่อมหรือเสียหายไปเพราะความเจ็บป่วย การบาดเจ็บ หรือความชราได้ในที่สุด" นักวิจัยระบุ

ที่มา: http://www.matichon.co.th
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec02220250&day=2007/02/22§ionid=0326

มฤตยูโลกร้อน

มฤตยูโลกร้อน

มหันตภัยยิ่งใหญ่ของโลกที่อาจล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ ไม่ใช่สึนามิ เฮอร์ริเคน ภูเขาไฟระเบิด หรือแผ่นดินไหว แต่เป็นมฤตยูร้ายที่แฝงเร้นมาในรูปของเชื้อโรคที่วิวัฒนาการไปพร้อมกับภาวะโลกร้อน การระบาดของโรคครั้งใหม่อาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ และส่งผลให้ประชากรโลกล้มตายราวใบไม้ร่วง

"นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกยืนยันหนักแน่นมากกว่าครั้งไหนๆ ว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเป็นเงื้อมมือของมนุษย์ ไม่ได้เป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ" ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวยืนยันหลังจากเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อไม่นานมานี้

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังที่ค่อนข้างยาวและละเอียดยิบ ดร.อานนท์ กล่าวอธิบายให้เห็นชัดเจนว่า ระดับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องอย่างมีความหมายกับปัจจัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าผลที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ มุมเอียงของโลก จุดดับบนดวงอาทิตย์ รังสีจากนอกโลก

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์โลกเห็นพ้องตรงกันว่า อุณหภูมิในประเทศแถบยุโรปได้เพิ่มสูงขึ้นราว 0.8 องศาเซลเซียสในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ขณะที่คาดว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 3.5 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ. 2100

จากการสำรวจล่าสุดยังพบระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 1-2 มิลลิเมตรต่อปี อากาศที่ร้อนขึ้นเพียงแค่ 0.025 องศาเซลเซียส มีผลให้โมเลกุลของน้ำขยายตัวเพิ่มขึ้น

ตามหลักสมุทรศาสตร์ น้ำทะเลแบ่งออกเป็นชั้น โดยระดับน้ำอุ่นเป็นระดับน้ำที่ลึกจากผิวน้ำราว 200-300 เมตร และลึกลงไปจากระดับดังกล่าวเป็นชั้นน้ำเย็น และมันจะแยกกันชัดเจน ทว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นได้แผ่ความร้อนลงไปถึงระดับชั้นนำเย็นของมหาสมุทรแล้ว

"นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบหลักฐานยืนยันว่า ความร้อนที่อยู่ในบรรยากาศสามารถแพร่ลงไปลึกเฉลี่ยทั้งโลกราว 700 เมตรแล้ว และบางจุดของมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือน้ำอุ่นแพร่ลงไปถึง 1,000 เมตรด้วย ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือการกัดเซาะชายฝั่งและเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว หากระดับน้ำยังอุ่นต่อเนื่องไปอีก 30-40 ปี โดยเฉพาะแถบมัลดีฟส์ ปากแม่น้ำบังกลาเทศ รวมทั้งไทย" ดร.อานนท์ กล่าว

โรคระบาด: หายนะจากโลกร้อน
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกไม่ได้ส่งผลเฉพาะความผันผวนทางด้านอากาศและระบบนิเวศเท่านั้น หากกระทบลึกลงไปถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรการเติบโตของเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยเฉพาะไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ ไข้หวัดนก หรือแม้กระทั่งไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นผลของโลกร้อนที่น่าเป็นห่วง คือ โรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ

ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล่าถึงความชาญฉลาดของเชื้อไวรัส ที่สามารถปรับตัวตามธรรมชาติได้ดีอย่างยิ่งว่า ลักษณะเฉพาะตัวของเชื้อไวรัสสามารถถ่ายทอดจากสัตว์สู่คน และสามารถหลบหลีกให้มีชีวิตอยู่ได้แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่แห้งแล้งก็ตาม เพราะว่าในช่วงที่แห้งแล้งไวรัสสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้จากสัตว์ที่นำโรคประเภทต่างๆ สัตว์บินได้ เช่น นกและค้างคาว และสัตว์บกก็มีตั้งแต่กระรอก กระแต สัตว์ที่ขุดรูอยู่ เช่น หนู เพื่อรอเวลาที่อากาศเหมาะสมก่อนที่จะออกมาแพร่กระจายได้ใหม่อีกครั้ง

"ไวรัสเขาสามารถรอได้ เพราะฉะนั้นจึงมีเชื้อไวรัสที่เรียกว่า สงบแต่ไม่หายขาด มีการซ่อนตัวอยู่ เวลาที่เอื้ออำนวยเขาจะโผล่ออกมาใหม่" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว


ปกติแล้ว ธรรมชาติได้สร้างความสมดุลกำหนดระยะห่างระหว่างสัตว์เหล่านั้นไม่ให้ใกล้ชิดกับคน แต่เมื่อเกิดสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง อากาศที่แปรปรวน ฝนตก น้ำท่วม ส่งผลให้วัฏจักรตามธรรมชาติของเชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป

"การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ร่นระยะห่างจากสัตว์เหล่านี้เข้ามาสู่คนได้ง่ายขึ้น การย่นระยะห่างขอสัตว์ที่มีไวรัสซ่อนอยู่ถูกปรับเปลี่ยนด้วยมนุษย์ที่เข้าไปรุกล้ำเองด้วย" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์โรคปฏิบัติการทางสมอง เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นหายนะที่มนุษย์ทำให้ธรรมชาติเสียหาย การรุกล้ำทำลายป่า การบุกรุกเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัส ทำให้สัตว์เหล่านี้เข้ามาใกล้คนมากยิ่งขึ้น

"โดยธรรมชาติ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ในสัตว์เหล่านี้ ไม่สามารถที่จะแพร่มาติดคนโดยตรง แต่จะแพร่ไปยังพาหะที่สามารถแพร่ติดต่อมาที่คนได้ สมมติว่ามาจากนก อาจจะต้องลงมาที่ยุง มาปล่อยที่หมูพร้อมแพร่เชื้อในกระแสเลือด เมื่อยุงกัดหมูมากัดคนซ้ำก็เกิดโรค ลักษณะวงจรแบบนี้เกิดจากมนุษย์เอาตัวไปใกล้ไวรัสเพิ่มมากขึ้น" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

สิ่งที่น่ากลัว คือการปรับตัวของสัตว์นำโรคที่เพิ่มจำนวนขึ้นจากอุณหภูมิโลก อากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลให้ยุงเพิ่มประชากรมากขึ้น และมีถิ่นที่อยู่อาศัยมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ร้อนนี้อย่าแปลกใจหากพบยุงดูดเลือดเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นกองทัพยุง

"เมื่อธรรมชาติเสียสมดุล สัตว์ที่แพร่เชื้อก็เพิ่มมากขึ้น ยุงมีจำนวนมากขึ้น หมูก็มีมากขึ้น เมื่อยุงกัดหมูก็ไปเพาะไวรัสในหมู และนักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อไวรัสในหมูส่งผลให้ระบบประสาทของยุงผิดปกติ และยุงจะวิ่งเข้าหาคนมากกว่าปกติ เพราะว่ายุงจะมีระบบประสาทที่มีตัวรับคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะฉะนั้นต่อไปยุงจะไม่กลัวคน แต่จะวิ่งเข้าไปกัดมากขึ้น" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว
ปัญหาที่เกิดทั้งหมดทั้งปวงล้วนเกิดจากการเข้าไปปรับเปลี่ยนไปสร้างความไม่สมดุลระหว่างสัตว์ที่เป็นแหล่งซ่องสุมไวรัส และสัตว์เพาะโรค และตัวนำโรค ทำให้กลไกการทำงานทั้งหมดเปลี่ยนแปลงประสานงานกันมากขึ้นและเข้าใกล้คนมากขึ้น

"ถ้าสัตว์ทั้งสามชนิดสามารถประสานงานกันมากขึ้น จะลงไปสู่คนได้ง่ายขึ้น คนจะเป็นโรคมากขึ้น ที่สำคัญคือเมื่อไวรัสพัฒนาการมากขึ้น เมื่อติดคนที่ถือเป็นอันดับสุดท้าย ซึ่งเมื่อติดคนแล้วถ้าไม่หายก็คือ ตาย และปกติคนจะไม่มีศักยภาพในการแพร่โรคให้กับคนอื่นต่อไป แต่ขณะนี้พบไวรัสหลายตัวเริ่มปรับให้คนเป็นแหล่งเพาะโรค เช่นเดียวกับหมู เมื่อยุงมากัดคนก็สามารถแพร่เชื้อได้เมื่อไปกัดคนอื่นต่อไปอีก" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

มฤตยู "รีเทิร์น"
เมื่อกลไกของการแพร่เชื้อถูกเปลี่ยนไปจากอาการที่เรียกว่า ธรรมชาติเสียสมดุล สิ่งที่ตามมาคือ การพัฒนาของเชื้อโรคที่ต้องจับตามอง ผศ.ดร.กำพล รุจิวิชชญ์ อาจารย์คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เล่าถึงโครงการศึกษายีนก่อโรคและรูปแบบดีเอ็นเอของเชื้ออหิวาตกโรค (Vibrio cholerae O1, O139) สายพันธุ์ที่ทำให้ก่อโรคอหิวาตกโรคในคน ว่าเป็นผลที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

ทีมวิจัยได้ลงไปศึกษาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง มีระยะเวลาในการติดตามในช่วงปี 2548-2551 พบว่า อุบัติการณ์ของเชื้อโรคเปลี่ยนไปจากเดิมที่มักระบาดในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากหน้าแล้งน้ำน้อยจะมีความเข้มข้นของสิ่งสกปรกเยอะและถ้าไม่สะอาดจะทำให้เชื้อก่อโรคได้ง่าย

"เบื้องต้นพบประเด็นที่น่าสนใจว่าแม้เชื้ออหิวาต์ในแม่น้ำทั้งในไทยและอินเดียไม่ใช่เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคได้ แต่พบว่าหากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเพียง 0.5 องศาเซลเซียส อาจจะมีผลทำให้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่ก่อโรค กลายพันธุ์เป็นเชื้อที่ก่อโรคได้" ผศ.ดร.กำพล กล่าว

ผศ.ดร.กำพล บอกว่าถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น มีผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำสูงขึ้น และเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อไวรัสที่ทำให้อหิวาตกโรคระบาดได้ตลอดปีได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนอาจจะต้องศึกษารายละเอียดมากขึ้น เพราะรายงานการวิจัยยังไม่มีความสมบูรณ์มากนัก โดยการศึกษาต้องตอบสมมติฐานเรื่องความสัมพันธ์ของภาวะโลกร้อนว่าจะส่งผลให้เกิดโรคอุบัติใหม่ในเมืองไทยหรือไม่ ปัจจุบัน การศึกษาเรื่องโรคอุบัติใหม่จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในเมืองไทยยังมีน้อยมาก

นอกจากนี้ คณะสหเวชศาสตร์ ยังให้ความสนใจเรื่องการระบาดของโรคไข้เลือดออกด้วย ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีคนเสียชีวิตและเป็นไข้เลือดออกมากขึ้น โดยเฉพาะในกทม. ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ยืนยันจากต่างประเทศ

ปัจจัยหนึ่งเกิดจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้วงจรการฟักตัวของไข่ยุงเร็วขึ้นจนประชากรยุงลายมีมาก และส่งผลให้การระบาดของไข้เลือดออกโดยเฉพาะในกทม. ซึ่งมีระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าพื้นที่อื่น
พันธุ์หมาบ้า

ขณะเดียวกัน ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ ระบุว่า โรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นซ้ำซากกำลังจะกลับมาใหม่เพราะประชากรสุนัขงอกงามมากขึ้นอีก เดิมเชื่อกันว่า โรคพิษสุนัขบ้าจะแพร่เชื้อเฉพาะฤดูร้อนนั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะเมื่อถึงฤดูติดสัดสุนัขจะกัดกันเองทำให้แพร่เชื้อไวรัส สุนัขบางตัวมีอาการ บางตัวไม่มีอาการ และระยะฟักตัวของเชื้อในสุนัขไม่เท่ากัน ดังนั้น สุนัขจึงเป็นตัวแพร่เชื้อได้โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นฤดูร้อนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่าค้างคาวไทยสามารถนำเชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ได้เช่นกัน

"อัตราการเกิดโรคพิษสุนัขที่มีไวรัสในน้ำลายอยู่ที่ร้อยละ 50 เพราะฉะนั้นเมื่อรับเชื้อจะเกิดโรคได้ในระยะเวลาต่างๆ กัน เกิดขึ้นได้ทั้งปีไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อน" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

นอกจากโรคพิษสุนัขบ้าที่มีแนวโน้มระบาดรอบใหม่แล้ว ยังมีโรคไข้สมองอักเสบที่พบอัตราการเจ็บป่วยปีละ 800-1,000 คน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผู้ป่วยมากกว่านี้ เนื่องจาก เฉพาะผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เองมีประมาณ 260 คน แต่ระบบการตรวจสอบข้อมูลที่เกิดโรคอาจจะไม่ดีนักทำให้รวบรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ไม่ดี

เมื่อแนวโน้มการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ ชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันโรค และต้องปิดช่องโหว่ทั้งหมดที่นำโรค "คนมีช่องทางรับเชื้อโรคได้หลายทาง ไม่ว่าจะทางปากจากการรับประทานอาหาร จมูกจากการหายใจ อวัยวะสืบพันธุ์ ผิวหนังที่มีแผลจากยุงกัด แมลงกัด เพราะฉะนั้น เมื่อพื้นฐานการป้องกัน คือหน้าที่ของทุกคน การรักษาสุขภาพไม่ใช่ของรัฐ ไม่ใช่หน้าที่กระทรวงสาธารณสุข แต่ทุกคนมีหน้าที่รักษาสุขภาพของตัวเอง"

"การรักษาสุขภาพของคนทั่วไปคือ การกินของสุก ประเทศไทยต้องกินของสด ผักสดต้องล้างสะอาด เปลี่ยนค่านิยม ต้องใช้ช้อนกลาง ป้องกันอย่าให้ยุงกัด เราจะมานั่งรอให้ กทม. หน่วยงานรัฐมาพ่นหมอกควัน เป็นวิธีการกำจัดยุงลายที่เป็นเพียงแค่มาตรการปลอบใจ เพราะว่ายุงลายอยู่ในบ้าน การพ่นหมอกควันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่ขังน้ำสะอาดในบ้านต้องคว่ำให้หมด" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

ส่วนหน้าที่ของรัฐจะต้องสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่น การกำหนดมาตรฐานยากันยุง ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมทั้งทำแผนก้าวหน้าเชิงรุกซึ่งสำคัญที่สุดคือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานนำข้อมูลมาแชร์กันเพื่อร่วมกันป้องกัน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/22/WW06_WW06_news.php?newsid=55726

กฎแห่งแรงโน้มถ่วง (ตอน1)

นิวตัน แอปเปิล และกฎแห่งแรงโน้มถ่วง (ตอน1)

การค้นพบที่ยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่รู้จักกันดีคือ การค้นพบ "กฎแรงโน้มถ่วง" ของ เซอร์ ไอแซก นิวตัน ที่เกิดขึ้นอย่างบังเอิญจนแทบไม่น่าเชื่อว่า แอปเปิ้ลลูกเดียวจะอธิบายกลไกของจักรวาลอันไพศาลได้ เรื่องแอปเปิ้ลหล่นใส่หัวนิวตันถูกนำมาเล่าขานกันจนเหมือนนิยายปรัมปรา แต่ความจริงของเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่

นิวตัน เกิดตรงกับวันคริสต์มาสพอดี เมื่อปี 2185 หรือประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง กำพร้าพ่อตั้งแต่เกิด และแม่แต่งงานใหม่ เรียนหนังสือที่เมืองแกรนแธม ห่างจากเมืองวูลสโธรปบ้านเกิดราวสิบกิโลเมตร พอนิวตันอายุ 14 ปี แม่ก็เป็นม่ายรอบสอง สมัยเด็กนิวตันหัวปานกลาง แม่เลยให้ออกจากโรงเรียนมาทำไร่

จริงๆ แล้วนิวตันชอบคณิตศาสตร์มาก และชอบประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้มากกว่าทำไร่ โชคดีที่ลุงของนิวตันซึ่งจบจากวิทยาลัยทรินิตี้ เคมบริดจ์ มองเห็นความสามารถ และยังแนะให้เขาไปเรียนต่อเพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย พออายุได้ 18 ปี นิวตันก็เข้าเรียนที่มหาวิทยลัยเคมบริดจ์ ช่วงสามปีที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย พรสวรรค์ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเขาได้ปรากฏออกมาชัดเจนขึ้น
ช่วงเดียวกันนั้น เกิดโรคระบาดในกรุงลอนดอนจนต้องสั่งปิดมหาวิทยาลัยเมื่อต้นปี 2208 เป็นปีเดียวกับที่นิวตันสำเร็จการศึกษาและกลับมาบ้านที่วูลสโธรป ใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ สองปี ศึกษาและใคร่ครวญก่อนกลับเข้าเคมบริดจ์อีกครั้ง

หลังกลับเข้ามหาวิทยาลัยอีกครั้ง นิวตันก็เริ่มวางรากฐานความรู้ที่เขาศึกษามาเกี่ยวกับเลนส์ (ประดิษฐ์กล้องดูดาวแบบใหม่แทนกล้องดูดาวแบบที่กาลิเลโอคิดค้น) คณิตศาสตร์ (วางรากฐานวิชาแคลคูลัส) และฟิสิกส์ว่าด้วยการเคลื่อนที่และการดึงดูด อย่างไรก็ดี ตอนนั้นนิวตันยังไม่ได้สร้างกฎว่าด้วยแรงดึงดูดเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่ง 20 ปีให้หลัง เขาถึงได้ตีพิมพ์ผลงานชื่อ "Principia" ในปี 2230

มีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้มากมายยืนยันเรื่องที่นิวตันค้นพบกฎแรงดึงดูดจากการสังเกตเห็นแอปเปิ้ลหล่นจากต้น ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไรติดตามอ่านได้วันพรุ่งนี้

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Nation Books Award ครั้งที่ 3

Nation Books Award ครั้งที่ 3 “Sci-Trek: A Journey of Discovery” การออกเดินทางแสวงหา “บ้านหลังใหม่” ของมนุษยชาติ
บริษัท ดูปองท์ (ประเทศไทย) จำกัด สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ได้ร่วมมือกันจัดโครงการประกวดเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ และแฟนตาซี รางวัล Nation Books Award ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “Sci-Trek: A Journey of Discovery” การเดินทางแสวงหาบ้านหลังใหม่ของมนุษยชาติ บริเวณเอเทรียม ชั้น 1 สยามเซ็นเตอร์ ระหว่างวันศุกร์ที่ 23 –วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา 13.30 น. เป็นต้น

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนคนไทยโดยเฉพาะเยาวชนไทยให้มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการในวิทยาศาสตร์ทุกด้าน อันเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเพื่อกระตุ้นและผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวให้กับวงการวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้นและผลักดันให้ผลงานวรรณกรรมของคนไทยมีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสร้างเสริมจินตนาการให้กับตนเองในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ภายในงานพบกับกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิเช่น การประกาศผลรางวัลและมอบรางวัลผู้ชนะเลิศจากการประกวด ร่วมฟังการเสวนา เรื่อง “เขียนเรื่องสั้นให้คว้ารางวัลและได้รับการตีพิมพ์” ซึ่งจะเป็นการถ่ายทอดมุมมองต่องานเขียน และเคล็ดลับการเขียนเรื่องสั้นจากนักเขียนที่มีประสบการณ์ผ่านงานประกวดและงานรวมเล่ม เป็นต้น

รางวัลของประประกวดในครั้งนี้ ผู้ชนะเลิศ จะได้รับโล่รางวัล เงินรางวัล 30,000 บาท และของรางวัลจากผู้สนับสนุนโครงการ รองชนะเลิศอันดับ1 รับโล่รางวัล เงินรางวัล 20,000 บาท และของรางวัลจากผู้สนับสนุนโครงการ รองชนะเลิศอันดับ 2รับโล่รางวัล เงินรางวัล 15,000 บาท และของรางวัลจากผู้สนับสนุนโครงการ และรางวัลชมเชย จำนวน 5 รางวัล รับโล่รางวัล เงินรางวัล 10,000 บาท และของรางวัลจากผู้สนับสนุนโครงการ


ผู้สนใจที่ร่วมงานสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2325-5555 ต่อ 3300, 3302, 3304 หรือ www.nationbook.com

โดย: Axis Graphic Limited

Wednesday, February 21, 2007

สเต็มเซลล์

ไทยใช้ "สเต็มเซลล์" รักษาโรคเสียงแหบสำเร็จรายแรกของโลก

นักวิจัยไทยพัฒนาสเต็มเซลล์รักษาโรคเสียงแหบ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่รายแรกของโลก นักวิจัยไทยจับมือนักวิจัย ม.วิสคอนซิน สหรัฐ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยสเตมเซลล์รักษาโรค เลขาธิการ วช.มั่นใจไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้ แต่ต้องใช้พรสวรรค์เพิ่ม เหตุได้รับการสนับสนุนน้อย

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานต้อนรับในโอกาสที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา จัดประชุมเรื่อง "เทคโนโลยีอุบัติใหม่ในเซลล์ต้นกำเนิด" (Emerging Technology on Stem Cell) ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ก.พ.เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยสเต็มเซลล์กับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) นำเสนอผลการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ อาทิ ศ.ไคลฟ์ สเวนด์เซน (Clive Svendsen) เรื่องสเต็มเซลล์กับการซ่อมแซมสมอง

ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติด้านการวิจัยสเต็มเซลล์ ว่า ต้องมีการวิจัยขั้นพื้นฐาน ค้นคว้าวิจัยระดับโมเลกุล ระดับเซลล์ เพื่อพัฒนาสู่ระดับที่ 2 คือ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านสเต็มเซลล์ นำไปสู่ขั้นที่ 3 การใช้ประโยชน์ นำไปสู่การวิจัยทางคลินิก เพื่อรักษา บำบัดโรคต่างๆ ซึ่งทาง วช.ได้เริ่มโครงการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มหาวิทยาลัยมหิดล และหลายหน่วยงาน ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน มีผลการวิจัยที่เป็นฝีมือของคนไทยประสบผลสำเร็จแล้วหลายโครงการ เช่น การรักษาภาวะเสียงแหบด้วยสเต็มเซลล์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี การรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจด้วยสเตมเซลล์ที่สถาบันโรคทรวงอก

"ผลักดันการวิจัยการรักษาโรคหัวใจ โรคไต ระบบประสาท สมอง ทั้งพาร์กินสัน หลอดเลือดหัวใจ พยายามให้มีการวิจัยระดับคลินิก มีความร่วมมือของนักวิจัยขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 เพื่อให้เกิดผลดีกับคนไทย คำนึงถึงจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ให้เกิดผลดี มีความปลอดภัย ขั้นที่ 3 ระดับคลินิก เราทำได้ผลดี เร็วๆ นี้จะมีข่าวดีออกมาอีก การรักษาเสียงแหบถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของโลก" ศ.ดร.อานนท์ กล่าว

ศ.ดร.อานนท์ กล่าวว่า สเต็มเซลล์ที่นำมารักษาผู้ป่วยเสียงแหบนั้น แพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี นำเลือดของผู้ป่วยมาพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ จากนั้นฉีดเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยที่มีอาชีพครู เส้นเสียงที่แหบเครือสามารถทำงานได้ดี พูดสอนนักเรียนได้เหมือนเดิม มีผู้ป่วยเสียงแหบที่รักษาด้วยสเตมเซลล์แล้ว 6 ราย ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คณะผู้วิจัยอยู่ระหว่างติดตามผลอย่างใกล้ชิด ส่วนสเต็มเซลล์รักษาโรคหัวใจนั้น นำเลือดของผู้ป่วยมาพัฒนาเป็นสเต็มเซลล์ หลังจากนั้นฉีดกลับเข้าร่างกายผู้ป่วย วิจัยในผู้ป่วยรายแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2548 จนถึงปัจจุบัน มีคนไข้ในโครงการวิจัย 5 ราย ทุกรายปลอดภัย แพทย์และนักวิจัยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ส่วนอนาคตกำลังวิจัยโรคข้อเสื่อม โรคหลอดเลือดหัวใจ สำหรับสเต็มเซลล์ได้จากส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ เลือด ไขกระดูก ผิวหนัง ไขมัน เป็นต้น

ศ.ดร.อานนท์ กล่าวด้วยว่า ศักยภาพนักวิจัยไทยไม่ด้อยกว่าชาวต่างชาติ แต่ต้องใช้พรสวรรค์มากกว่าต่างประเทศ เพราะประเทศไทยให้การสนับสนุนสู้ต่างประเทศไม่ได้ ดังนั้น ต้องใช้ความทุ่มเท ขอให้นักวิจัยมีพื้นความรู้ความเข้าใจการวิจัยระดับพื้นฐานให้มาก จากนั้นพัฒนาสู่การวิจัยระดับสเต็มเซลล์ ซึ่งเป็นการวิจัยขั้นสูง สร้างเครือข่ายการวิจัยร่วมกัน โดยนักวิจัยมีความจริงใจต่อกัน มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้ ส่วนรายได้ ผลประโยชน์ที่ตามมา เป็นอีกด้านหนึ่งที่ต้องบริหารจัดการแยกออกต่างหาก

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000021535

แสงจันทร์

อเมริกันท้าพิสูจน์ "แสงจันทร์"รักษาโรค

อุปกรณ์ขนาดใหญ่ยักษ์ในภาพนี้ ทางผู้สร้างโฆษณาว่ามีเพียงชิ้นเดียวในโลก นั่นก็คือ "จานสะท้อนแสงจันทร์" ขนาดความสูง 50 ฟุต หนัก 30 กว่าตัน ที่เรียกว่า "Instellar Light Collector"

จานสะท้อนแสงจันทร์ เป็นสิ่งประดิษฐ์มูลค่า 80 ล้านบาท ตั้งอยู่ในทะเลทรายโซโนแรน รัฐอาริโซนา สหรัฐอเมริกา คุณริชาร์ด ชาพิน เศรษฐีอเมริกัน เจ้าของโครงการนี้ มีความเชื่อว่า แสงจันทร์นวลผ่อง มีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคซึมเศร้า ไขข้ออักเสบ ไปจนถึงมะเร็งบางชนิด!? เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตัวเอง ชาพินจึงทุ่มทุนสร้างจานสะท้อนแสงจันทร์ ซึ่งประกอบขึ้นเป็นรูปเป็นร่างด้วยกระจก 84 ชิ้น แต่ละชิ้น สามารถหมุนได้ 360 องศา เพื่อรับและสะท้อนแสงจันทร์ไปยังจุดที่ต้องการให้ได้มากที่สุด และไม่น่าเชื่อว่าในแต่ละคืนจะมีผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ มาขอรับบริการ " แสงจันทร์บำบัด" ด้วยการ "นอนอาบแสงจันทร์" ที่สะท้อนจากจาน Instellar Light Collector ของชาพินแบบไม่ขาดสาย!

ล่าสุด ชาพินติดต่อขอให้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐมาทดสอบและทำลองเก็บข้อมูลระยะยาวดูว่า แสงจันทร์จะมีอำนาจรักษาโรคได้จริงหรือไม่? ยังไงอย่าหลงชวน "มนุษย์หมาป่า" มาร่วมทดลองด้วยก็แล้วกัน ไม่งั้นอาจวิ่งป่าราบหนีแทบไม่ทัน!

ที่มา: http://www.matichon.co.th
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec04210250&day=2007/02/21§ionid=0326

อย่าตื่นข่าวดาวเคราะห์ชนโลก

สถาบันดาราศาสตร์ไทยย้ำ อย่าตื่นข่าวดาวเคราะห์ชนโลก!

นักดาราศาสตร์ไทยเตือนคนไทยไม่ควรตื่นตกใจกับข่าวดาวเคราะห์น้อย "อะโพฟิส" พุ่งชนโลก เพราะจากการคำนวณของ "นาซ่า" ล่าสุดระบุมีโอกาสน้อยมาก และข้อมูลที่นักบินอวกาศระบุเป็นข้อมูลเก่าที่เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา คาดต้องการทุนไปศึกษาค้นคว้าหาวิธีเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อยให้พ้นจากโลกมากกว่า

นายศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายรัสตี ชไวการ์ต อดีตนักบินอวกาศของยานอพอลโล 9 เป็นตัวแทนผู้เชี่ยวชาญนักบินอวกาศ วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ ออกมาระบุว่า โลกอาจมีโอกาส 1 ใน 45,000 ที่จะถูกดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส พุ่งเข้าชนในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2579 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า ว่า ข่าวดังกล่าวเคยเผยแพร่มาแล้วเมื่อปีก่อน ซึ่งเป็นการคำนวณครั้งแรกของสำนักงานบริหารอวกาศสหรัฐ (นาซ่า) ว่า ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสมีโอกาสพุ่งชนโลกในช่วงเวลานั้น


ทั้งนี้ ดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส เป็นดาวเคราะห์ที่โคจรเฉียดโลกอยู่เป็นประจำ ซึ่งจะเข้ามาทุก 10 ปี ครั้งแรกที่โคจรเฉียดโลกและเคยคำนวณว่ามีโอกาสพุ่งชนโลกนั้นได้ถูกแรงโน้มถ่วงของโลกเบี่ยงเบนออกไปเป็น 29 ปีข้างหน้าที่ดาวเคราะห์ดังกล่าวอาจมีโอกาสจะพุ่งชนโลกอีก

อย่างไรก็ตาม ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อนาซ่าคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิสได้แม่นยำมากขึ้นก็พบว่า โอกาสมีน้อยมากๆ ที่จะเกิดเหตุการณ์อะโพฟิสชนโลก นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจะปรับปรุงข้อมูลใหม่ตลอดเวลา เมื่อทราบวงโคจรที่ชัดเจนของดาวเคราะห์น้อยมากขึ้นเรื่อย ๆ

"ครั้งแรกที่ดูตำแหน่งดาวเคราะห์น้อย 3 ครั้ง ว่าเคลื่อนที่อย่างไร และคำนวณออกมาว่ามีโอกาสระดับหนึ่ง แต่เมื่อยังมีความแม่นยำมากขึ้น ก็พบว่าโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวจะพุ่งชนโลกนั้นน้อยมาก ซึ่งข่าวนี้ประชาชนคนไทยไม่ควรตื่นตกใจ

"การที่นักวิทยาศาสตร์ออกมาระบุนั้น ผมคิดว่าเขาต้องการที่จะหาทุนไปศึกษาค้นคว้าหาวิธีเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อยให้พ้นจากโลกมากกว่า และคนที่จะออกมาระบุว่าความแม่นยำได้ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจากนาซ่าเท่านั้น โดยเฉพาะนายดอน เยโอแมนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคำนวณวงโคจรของนาซ่า" นายศรัณย์ กล่าว

ที่มา: http://www.matichon.co.th
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec02210250&day=2007/02/21§ionid=0326

แบนหลอดไส้

ออสเตรเลียสั่งแบนหลอดไส้ หวังเลิกใช้ภายใน 3 ปี

เอพี/เอเจนซี/เอเอฟพี – ออสเตรเลียประกาศแผนออกกฎยกเลิกการใช้หลอดไฟฟ้าแบบไส้ หันมาใช้พลังงานแบบพอเพียง เพิ่มปริมาณการใช้หลอดฟูออเรสเซ็นต์เข้าแทนที่ เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซปฏิกิริยากระจก หวังช่วยชะลอปัญหาโลกร้อน

มัลคอล์ม เทิร์นบูล (Malcolm Turnbull) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ออสเตรเลีย ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ว่า ทางรัฐบาลออสเตรเลียจะออกกฎหมายจำกัดการขายหลอดไส้ และเชื่อว่าการใช้หลอดไส้น่าจะหมดไปได้ภายใน 3 ปี ส่วนหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์น่าจะสามารถเข้ามามีบทบาทมากขึ้นภายในปี 2009

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลบ่งชี้ว่าออสเตรเลียปล่อยก๊าซก่อสภาวะเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศถึง 565 ล้านตันในปี 2004 โดยเทิร์นบูล เชื่อว่าหากเลิกใช้หลอดไส้แล้วออสเตรเลียจะสามารถลดการปลดปล่อยเรือนกระจกได้ถึง 4 ล้านตันภายในปี 2010 และจะช่วยลดค่าไฟฟ้าในแต่ละครัวเรือนได้มากถึง 66% ด้วย

แม้ว่าออสเตรเลียถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการออกกฎลักษณะดังกล่าว ทว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมารัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายห้ามใช้หลอดไส้ไปแล้ว และในรัฐนิวเจอร์ซีย์ก็เริ่มมีการเรียกร้องให้เลิกใช้หลอดไส้ภายใน 3 ปี

ขณะที่ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ประธานาธิบดีแห่งคิวบา ริเริ่มโครงการลักษณะเดียวกันนี้ตั้งแต่ 2 ปีก่อนแล้ว โดยส่งกลุ่มเยาวชนเข้าไปเปลี่ยนหลอดไฟกันถึงตามบ้าน โดยต้องการให้ใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัด แก่ปัญหาไฟตกบนเกาะ

ไม่กี่เดือนถัดมามิตรรักของคาสโตรอย่างประธานาธิบดีฮิวโก ชาเวส (Hugo Cha) ของเวเนซูเอลา ก็เห็นดีเห็นงามกับแนวคิดดังกล่าว จึงประกาศโครงการประหยัดพลังงานด้วยตัวเอง ทำให้ขณะนี้เวเนซูเอลาและประเทศเพื่อนบ้านใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์กันอย่างแพร่หลาย

ปัจจุบันแม้ว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์จะราคาแพงมากกว่าหลอดไส้มาก แต่ฟลูออเรสเซนต์ใช้พลังงานความร้อนเพียงแค่ 20% ของหลอดไส้ และหลอดไส้ขนาด 75 วัตต์จะมีอายุใช้งานประมาณ 750 ชั่วโมง ขณะที่หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ขนาด 20 วัตต์จะมีอายุใช้งานนานถึง 10,000 ชั่วโมง

แม้นักสิ่งแวดล้อมจะชื่นชมกับรัฐบาลออสเตรเลียที่ออกนโยบายนี้ แต่ก็อดจะติงไม่ได้ว่า แหล่งทีก่อภาวะเรือนกระจกแหล่งใหญ่ของออสเตรเลียนั้นคือภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งที่ใช้พลังงานจากถ่านหิน แต่ก็นับว่านโยบายดังกล่าถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000021270

พิพิธภัณฑ์เด็ก

พิพิธภัณฑ์เด็กเปิดค่ายวัยซนวันปิดเทอม

พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร จัดค่าย "DLP Camp" เสริมทักษะวัยซน สนุกค้นอย่างสร้างสรรค์ในวันปิดเทอม รวม 5 ค่าย
ค่ายแรกเป็นค่ายอนุบาล อายุ 4-6 ปี เช้าไป-เย็นกลับ มี 2 ค่ายให้เลือกคือ ค่ายอนุบาล Healthy Kids ตอนผักดุ๊กดิ๊ก 19-30 มี.ค. ปลูกฝังคุณค่าของผักผ่านกิจกรรมและเรื่องราวสนุกสนาน ณ พิพิธภัณฑ์เด็ก และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และค่ายอนุบาล Thinking Kids ตอนมหัศจรรย์กับสิ่งรอบตัว 30 เม.ย.-11 พ.ค. สนุกกับวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ พิพิธภัณฑ์เด็ก สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ และอุทยานผีเสื้อและแมลง

ค่ายอันซีน สำหรับพี่วัยกลาง อายุ 7-9 ปี เช้าไป-เย็นกลับ 26-30 มี.ค. ท่องโลกการเรียนรู้แปลกใหม่ ผสมผสานตามแนวพระราชดำริ "พอเพียง" ณ พิพิธภัณฑ์เด็ก พิพิธภัณฑ์การเกษตร และศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลนป้อมพระจุลฯ


ค่าย 108 ไอเดีย ตอนครีเอทีฟรุ่นเยาว์ สำหรับพี่ตัวโต อายุ 10-12 ปี ค่ายค้างคืน 4 วัน 3 คืน วันที่ 1-4 พ.ค. กระตุกความคิด สะกิดไอเดียกับโลกการเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ นครนายก ศูนย์ภูมิรักธรรมชาติ หมู่บ้านภูมิปัญญา และเขื่อนขุนด่านปราการชล

ค่ายโรบ็อต ไอเดีย แคมป์ สำหรับน้องๆ ที่รักหุ่นยนต์ อายุ 8-12 ปี เช้าไป-เย็นกลับ มี 3 รุ่น คือ 10-11 มี.ค., 17-18 มี.ค. และ 21-22 เม.ย. พบกับเรื่องราวการเดินทางของโรบ็อต หุ่นยนต์แสนสนุก ณ พิพิธภัณฑ์เด็ก

สอบถามเพิ่มเติม โทร. 08-1751-2219, 0-2615-7333 ต่อ 131, 137, 138 หรือ www.bkkcdm.com

ที่มา: http://www.matichon.co.th
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03you01210250&day=2007/02/21§ionid=0311

Tuesday, February 20, 2007

หุ่นยนต์ช่วยผ่ามะเร็งต่อมลูกหมาก

หุ่นยนต์ช่วยผ่ามะเร็งต่อมลูกหมาก

โรงพยาบาลกรุงเทพ ปรับหุ่นยนต์ช่วยงานผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากหลังจากใช้ผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจมา 2 ปี เปิดทางโรงพยาบาลอื่นเข้าถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผ่าตัดช่วยผู้ป่วยรายได้น้อย

น.พ.กุลวัต ประเสริฐสุนทราศัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ เปิดเผยว่าโรงพยาบาลกรุงเทพได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยงานผ่าตัดมาผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจ 2 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นจนสามารถประยุกต์ใช้เครื่องผ่าตัดเดิมมาใช้การผ่าตัดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจนประสบความสำเร็จไปแล้วจำนวน 2 ราย

การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์เริ่มถูกนำมาใช้งานรักษาผู้ป่วยมากขึ้นตามโรงพยาบาลหลายแห่ง ปลายสัปดาห์ที่แล้ว โรงพยาบาลศิริราชได้เปิดตัวหุ่นยนต์ผ่าตัดจากผู้ผลิตเดียวกันนี้มาช่วยงานศัลยศาสตร์ระบบทางเดินปัสสาวะ อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลถือว่ายังมีราคาสูงในหลักแสนบาท แม้โรงพยาบาลศิริราชจะระบุว่าผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิรักษาตามหลักประกันสุขภาพได้

ด้าน น.พ.ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหาร ศูนย์การแพทย์ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ส่วนราคาการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 2 แสนบาทต่อคนไม่รวมค่าใช้จ่ายอย่างอื่น และยังได้เปิดโอกาสให้ศัลยแพทย์ที่ผ่านการศึกษาด้านการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จากโรงพยาบาลอื่นเข้าใช้เครื่องมือเพื่อผ่าตัดผู้ป่วยได้ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงร่วมกัน

การผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยหุ่นยนต์ แพทย์ที่ผ่านการฝึกฝนจนชำนาญจะบังคับแขนกลผ่านชุดควบคุมที่ทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และยังสามารถซูมภาพบริเวณพื้นที่ผ่าตัดได้ด้วยกำลังขยายของกล้องดิจิทัล ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ และเกิดแผลขนาดเล็ก

พ.ต.ท.นพ.สุเทพ พัชรตระกูล ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยวิธีแบบเก่าที่ผ่าตัดแบบเปิดจะทำให้มีแผลที่ใหญ่ ใช้เวลาในการรักษานาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายด้านการดูแลรักษา ซึ่งเมื่อเทียบกับการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะช่วยให้ผู้ป่วยมีบาดแผลที่เล็กลงเนื่องจากแขนกลที่ใช้ 3 แขนนั้น สามารถเป็นเข็ม เป็นกรรไกร เป็นไฟฟ้าเสมือนมือแพทย์เข้าไปทำการผ่าตัดเอง

"การผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการกระทบเส้นประสาทบริเวณข้างเคียง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำให้อวัยวะแข็งตัวหรืออ่อนตัวได้มาก เนื่องจากอุปกรณ์มีขนาดที่เล็กแต่มีกำลังขยายได้ 6 - 10 เท่า และสามารถมองเห็นภาพในแบบ 3 มิติได้ดี ทำให้เห็นรายละเอียดระหว่างการผ่าตัดได้ชัดเจน ผ่าตัดได้แม่นยำกว่าวิธีการแบบเดิม" ศัลยแพทย์ รพ.ตำรวจ กล่าว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/20/WW54_5405_news.php?newsid=55309

รากฟันเทียม

รากฟันเทียม ฝีมือไทย งานวิจัยจากหิ้ง..สู่การผลิตจริง

“รากฟันเทียม” เทคโนโลยีทางเลือกที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น...

เดิมทีปัจจัยด้านราคาคืออุปสรรค.. เพราะต้องซื้อเทคโนโลยีทั้งหมดจากต่างประเทศ แต่วันนี้…คนไทยจะมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีนี้มากขึ้น เมื่องานวิจัยไทยประสบผลสำเร็จและกำลังจะลงจากหิ้ง...ไปสู่ภาคการผลิตอย่างแท้จริง

โดยสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ TMC ได้รับมอบหมายการขยายผลเชิงพาณิชย์ในเทคโนโลยี “รากฟันเทียมแบบตัวยึดในกระดูกแบบเกลียวใน” ผลงานการวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) หน่วยงานภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจดสิทธิบัตรไปแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ปีที่ผ่านมาและ บริษัทพัฒนาวิทย์ จำกัด คือผู้ประกอบการรายแรกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีนี้ในการผลิตและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

ผศ.ทพ.วิจิตร ธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ ADTECบอกว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการทำทันตกรรมรากฟันเทียมประมาณ15,000ชิ้นงานต่อปี เป็นเทคโนโลยีที่นำเข้าทั้งหมดซึ่งมีราคาแพงต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าลิขลิทธิ์ค่าวัสดุจริงไม่ ถึง10%

ทั้งนี้มองว่าแนวโน้มการใช้งานในประเทศไทยจะมีมากขึ้น ตลาดโตเร็วมาก ซึ่งหากมีราคาที่ต่ำลง โอกาสที่จะแพร่หลายให้ประชาชนเข้าถึงก็จะมีมากขึ้นด้วย

สำหรับงานวิจัยรากฟันเทียมแบบตัวยึดในกระดูกแบบเกลียวใน ซึ่งแรกเริ่มเป็นผลงานของเอ็มเทคนั้น ถือเป็นเทคโนโลยีทันตกรรมขั้นสูง ที่สามารถทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีการรักษาและเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศที่มีราคาแพง จากราคาปัจจุบันที่สูงกว่า 15,000 บาทต่อซี่ เมื่อนำให้พัฒนาวิทย์ บริษัทคนไทยเป็นผู้ผลิต กำหนดราคาจำหน่ายในประเทศเบื้องต้นไว้แล้วว่าไม่เกิน 5,000 บาทแน่นอน

จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้นอกจากจะเป็นฝีมือนักวิจัยไทย ทำในประเทศไทยและขายโดยบริษัทคนไทยแล้วรากฟันเทียมที่ผลิตขึ้นยังเป็นวัสดุที่ได้รับการออกแบบให้มีความเหมาะสมกับขนาดและรูปร่างทางกายวิภาคของคนไทยอีกด้วย

พลเรือเอกเกาะหลัก เจริญรุกข์ ประธาน กรรมการบริหาร บริษัทพัฒนาวิทย์ จำกัด กล่าวว่า ใช้งบประมาณในการผลิตเริ่มต้น 30 ล้านบาท ใช้เวลาในการเตรียมการสายการผลิตประมาณ 3-4 เดือน คาดว่าเริ่มผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้ประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้หลังจากนั้นจะต้องผ่านการทดสอบคาดว่าผลิตเชิงพาณิชย์สำหรับจำหน่ายจริงได้ภายในเดือนตุลาคม 2550

สำหรับรากฟันเทียมเวอร์ชั่นต่อไป ผู้อำนวยการศูนย์ ADTEC บอกว่าอยู่ระหว่างการของบประมาณการวิจัย โดยจะพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งงานวิจัยนี้อยู่ในโครงการงานวิจัยรากฟันเทียม ซึ่ง ADTEC เอ็มเทค เนคเทคและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันจัดตั้งขึ้น ผลงานการวิจัยนอกจากการวิจัยรากฟันเทียมแบบตัวยึดในกระดูกแบบเกลียวในแล้วยังมีอีกหลายผลงานที่เกี่ยวข้องกับทันตกรรมชั้นสูง อาทิ สว่านแบบฉลาดที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ หรือการใช้ซอฟต์แวร์สามมิติบอกตำแหน่งหรือวางแผนการฝังรากฟันเทียม

ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ แม้จะมีการคิดค้นกันมานานแล้วที่ต่างประเทศ แต่ก็น่าภูมิใจ ที่วันนี้นักวิจัยไทยสามารถคิดค้นและทำได้เอง...

ที่มา: http://www.dailynews.co.th
Link: http://www.dailynews.co.th/dailynews/pages/front_th/popup_news/Default.aspx?Newsid=118192&NewsType=1&Template=2