Tuesday, February 20, 2007

รากฟันเทียม

รากฟันเทียม ฝีมือไทย งานวิจัยจากหิ้ง..สู่การผลิตจริง

“รากฟันเทียม” เทคโนโลยีทางเลือกที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น...

เดิมทีปัจจัยด้านราคาคืออุปสรรค.. เพราะต้องซื้อเทคโนโลยีทั้งหมดจากต่างประเทศ แต่วันนี้…คนไทยจะมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีนี้มากขึ้น เมื่องานวิจัยไทยประสบผลสำเร็จและกำลังจะลงจากหิ้ง...ไปสู่ภาคการผลิตอย่างแท้จริง

โดยสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี หรือ TMC ได้รับมอบหมายการขยายผลเชิงพาณิชย์ในเทคโนโลยี “รากฟันเทียมแบบตัวยึดในกระดูกแบบเกลียวใน” ผลงานการวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (ADTEC) หน่วยงานภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจดสิทธิบัตรไปแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ปีที่ผ่านมาและ บริษัทพัฒนาวิทย์ จำกัด คือผู้ประกอบการรายแรกที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีนี้ในการผลิตและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

ผศ.ทพ.วิจิตร ธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ ADTECบอกว่าปัจจุบันประเทศไทยมีการทำทันตกรรมรากฟันเทียมประมาณ15,000ชิ้นงานต่อปี เป็นเทคโนโลยีที่นำเข้าทั้งหมดซึ่งมีราคาแพงต้นทุนส่วนใหญ่เป็นค่าลิขลิทธิ์ค่าวัสดุจริงไม่ ถึง10%

ทั้งนี้มองว่าแนวโน้มการใช้งานในประเทศไทยจะมีมากขึ้น ตลาดโตเร็วมาก ซึ่งหากมีราคาที่ต่ำลง โอกาสที่จะแพร่หลายให้ประชาชนเข้าถึงก็จะมีมากขึ้นด้วย

สำหรับงานวิจัยรากฟันเทียมแบบตัวยึดในกระดูกแบบเกลียวใน ซึ่งแรกเริ่มเป็นผลงานของเอ็มเทคนั้น ถือเป็นเทคโนโลยีทันตกรรมขั้นสูง ที่สามารถทดแทนการนำเข้าเทคโนโลยีการรักษาและเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศที่มีราคาแพง จากราคาปัจจุบันที่สูงกว่า 15,000 บาทต่อซี่ เมื่อนำให้พัฒนาวิทย์ บริษัทคนไทยเป็นผู้ผลิต กำหนดราคาจำหน่ายในประเทศเบื้องต้นไว้แล้วว่าไม่เกิน 5,000 บาทแน่นอน

จุดเด่นของเทคโนโลยีนี้นอกจากจะเป็นฝีมือนักวิจัยไทย ทำในประเทศไทยและขายโดยบริษัทคนไทยแล้วรากฟันเทียมที่ผลิตขึ้นยังเป็นวัสดุที่ได้รับการออกแบบให้มีความเหมาะสมกับขนาดและรูปร่างทางกายวิภาคของคนไทยอีกด้วย

พลเรือเอกเกาะหลัก เจริญรุกข์ ประธาน กรรมการบริหาร บริษัทพัฒนาวิทย์ จำกัด กล่าวว่า ใช้งบประมาณในการผลิตเริ่มต้น 30 ล้านบาท ใช้เวลาในการเตรียมการสายการผลิตประมาณ 3-4 เดือน คาดว่าเริ่มผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้ประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้หลังจากนั้นจะต้องผ่านการทดสอบคาดว่าผลิตเชิงพาณิชย์สำหรับจำหน่ายจริงได้ภายในเดือนตุลาคม 2550

สำหรับรากฟันเทียมเวอร์ชั่นต่อไป ผู้อำนวยการศูนย์ ADTEC บอกว่าอยู่ระหว่างการของบประมาณการวิจัย โดยจะพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งงานวิจัยนี้อยู่ในโครงการงานวิจัยรากฟันเทียม ซึ่ง ADTEC เอ็มเทค เนคเทคและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันจัดตั้งขึ้น ผลงานการวิจัยนอกจากการวิจัยรากฟันเทียมแบบตัวยึดในกระดูกแบบเกลียวในแล้วยังมีอีกหลายผลงานที่เกี่ยวข้องกับทันตกรรมชั้นสูง อาทิ สว่านแบบฉลาดที่สามารถควบคุมอุณหภูมิ หรือการใช้ซอฟต์แวร์สามมิติบอกตำแหน่งหรือวางแผนการฝังรากฟันเทียม

ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ แม้จะมีการคิดค้นกันมานานแล้วที่ต่างประเทศ แต่ก็น่าภูมิใจ ที่วันนี้นักวิจัยไทยสามารถคิดค้นและทำได้เอง...

ที่มา: http://www.dailynews.co.th
Link: http://www.dailynews.co.th/dailynews/pages/front_th/popup_news/Default.aspx?Newsid=118192&NewsType=1&Template=2

No comments: