Thursday, February 1, 2007

โลกอาจร้อนขึ้นอีก 4.5

ชี้ถ้ายังปล่อยคาร์บอนมากกว่านี้ถึง 2 เท่าโลกอาจร้อนขึ้นอีก 4.5

เอเอฟพี - อุณหภูมิพื้นผิวโลกอาจสูงขึ้น 4.5 องศาเซลเซียส หากระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มเป็น 2 เท่า จากระดับในยุคก่อนอุตสาหกรรม แต่ก็ใช่ว่า อุณหภูมิจะไม่เพิ่มสูงกว่านี้ ร่างรายงานที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศกำลังอภิปรายกันที่กรุงปารีส ระบุ

ร่างฉบับที่คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ ไอพีซีซี (Intergovernmental Panel on Climate Change : IPCC) เตรียมออกเผยแพร่สู่สาธารณชนในวันที่ 2 ก.พ.นั้น กำลังถูกอภิปรายอย่างละเอียดระหว่างการประชุมเป็นเวลา 4 วัน โดยในรายงานระบุไว้อย่างหนักแน่นว่า หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากน้ำมือมนุษย์ที่มีต่อระบบภูมิอากาศนั้น ชัดเจนยิ่งกว่าครั้งไหนๆ

มลพิษจากคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาในศตวรรษนี้ จะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น "นานไปอีกกว่า 1 สหัสวรรษ" โดยคิดจากเวลาที่มลพิษจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะสลายตัว ร่างรายงานเผย นอกจากนี้ ร่างรายงานยังชี้อีกว่า "เป็นไปได้อย่างมาก" ที่คลื่นความร้อนและฝนกระหน่ำจะเกิดบ่อยขึ้น หิมะที่ปกคลุมคาดว่าจะลดน้อยลง และพายุไต้ฝุ่นและเฮอร์ริเคนจะเกิดน้อยครั้งลง แต่จะรุนแรงยิ่งขึ้น

ก่อนจะมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกตัวสำคัญ อยู่ที่ประมาณ 280 ส่วนต่อล้านส่วน (ppm) ในปัจจุบัน ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ประมาณ 380 ppm และกำลังเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2-3 ppm ต่อปี เพราะประเทศที่บริโภคพลังงานปริมาณมาก อย่าง จีนและอินเดีย กำลังมีเศรษฐกิจที่เติบโต

ร่างฉบับดังกล่าวซึ่งเอเอฟพีได้สำเนามา ระบุด้วยว่า ในศตวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไปแล้ว 0.74 องศา

ร่างรายงานยังเห็นว่า "เป็นไปได้อย่างมาก" คิดเป็นแนวโน้มมากกว่า 90% ที่อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1900 เป็นผลมาจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์เป็นผู้ก่อ ทั้งนี้ในรายงานฉบับที่แล้วเมื่อปี 2001 ไอพีซีซีกล่าวไว้ว่า แนวโน้มดังกล่าว "เป็นไปได้" หรืออยู่ที่ 66%หรือน้อยกว่า

รายงานยังยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าได้เกิดอะไรขึ้นบ้างกับภูมิอากาศของโลก

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ความแห้งแล้งได้ทวีความรุนแรงและยาวนานยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ส่วนบริเวณที่มีพื้นน้ำแข็งปกคลุมตามฤดูกาลในแถบซีกโลกเหนือ ก็ลดลง 7% ตั้งแต่ปี 1900

จาก 12 ปีที่ผ่านมา มี 11 ปีที่ถูกจัดเป็นปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติมา

อุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรได้เพิ่มขึ้น จนถึงระดับลึกลงไปอย่างน้อย 3,000 เมตร ชี้ให้เห็นว่า มหาสมุทรดูดความร้อนจากอากาศ

อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งอุณหภูมิน้ำที่เพิ่มขึ้นคิดเป็น 60-70% ของปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 1.8 มม. ต่อปี ตั้งแต่ปี 1961 ถึง 2003 ปัจจัยที่เหลือเกิดจากแผ่นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาและเกาะกรีนแลนด์ละลาย

ในปี 2001 ไอพีซีซีคาดการณ์ว่า ภายในปี 2100 อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น 1.4 - 5.8 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับปี 1990 โดยขึ้นอยู่กับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในอากาศ

ส่วนในการประเมินครั้งล่าสุด มีการทำนายไว้ว่า อุณหภูมิจะเพิ่มเท่าใดดูได้จากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ไม่ได้กล่าวถึงกำหนดเวลาปี 2100

หากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 550 ppm อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.4 -5.8 องศา โดยมีการ "ประมาณแบบเจาะจงที่สุดอยู่ที่ 3 องศาเซลเซียส" รายงานเผย

อย่างไรก็ตาม รายงานก็เตือนด้วยว่า อุณหภูมิที่เพิ่มสูงมากกว่า 4.5 องศา ก็มีสิทธิเป็นไปได้ หากความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นมาก

ผลกระทบซึ่งจะเกิดขึ้นในศตวรรษนี้ที่รายงานฉบับนี้ทำนายไว้ มีอาทิ

- หิมะที่ปกคลุมจะลดลงอย่างต่อเนื่อง และดินส่วนล่างซึ่งเป็นน้ำแข็งถาวรในแทบทุกเขตจะละลายรวดเร็วยิ่งขึ้น

- ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 28 - 43 ซม. ขึ้นอยู่กับระดับคาร์บอนไดออกไซด์

- แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมน้ำทะเลจะลดลงทั้งในขั้วโลกเหนือและใต้ การคาดการณ์บางอันระบุว่า น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกตอนหน้าร้อนจะ "หายไปเกือบทั้งหมด" ภายในปี 2100

- เป็นไปได้อย่างมากที่คลื่นความร้อนและฝนกระหน่ำจะเกิดบ่อยครั้งขึ้น

- พายุในเขตร้อนจะเกิดน้อยครั้งลง แต่จะรุนแรงขึ้น และเส้นทางพายุจะไปทางขั้วโลก

- กระแสน้ำอุ่น กัลฟ์สตรีม จะเคลื่อนช้าลง 1 ใน 4 ในศตวรรษที่ 21 นี้

แต่ความหวาดกลัวที่ว่าทวีปยุโรปตะวันตกจะกลายเป็นยุคน้ำแข็งในศตวรรษนี้ อาจเป็นไปได้น้อยลง โดยรายงานบอกว่า "ไม่น่าเป็นไปได้อย่างมาก" ที่กระแสน้ำอุ่น กัลฟ์สตรีม จะเคลื่อนตัวช้าลงอย่างสุดขีด และไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศจะอุ่นขึ้นเนื่องมาจากปฏิกิริยาเรือนกระจก

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000012751

No comments: