Monday, February 5, 2007

พรานล่ามะเร็ง

“แป้นล็อกแขนเทียม” ปลดปล่อยอิสระการทำงานให้ผู้พิการ
ใช่ว่าความพิการจะเป็นสิ่งที่ขวางกั้นศักยภาพของมนุษย์หากแต่เป็นโอกาสให้คนเราได้แสดงถึงความไม่ย่อท้อ สิ่งที่ผู้มีร่างกายครบ 32 จะหยิบยื่นให้ผู้ที่บกพร่องกว่าได้ก็คือโอกาสที่จะให้ได้แสดงศักยภาพของตัวเอง เช่นเดียวกับ “แป้นล็อก” สำหรับแขนเทียม สิ่งประดิษฐ์ที่อำนวยให้ผู้ด้อยโอกาสได้ทำงานที่หลากหลายมากขึ้น

“แป้นล็อกกึ่งอัตโนมัติสำหรับแขนเทียม” เป็นสิ่งประดิษฐ์ของ สมชาย อินทร์หม้อ อาจารย์สอนวิชาชีพด้านโลหะ ของศูนย์ฟื้นฟูสมรถนาภาพคนงาน สำนักงานประกันสังคม ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเดิมๆ ของแขนเทียมชนิดตะขอ (Hook) ที่ใช้งานได้ไม่หลากหลาย และยังมีปัญหาเรื่องการสั่นไม่มั่นคง ทำให้ผู้พิการควบคุมและใช้งานได้ลำบาก แต่แป้นล็อกที่เขาประดิษฐ์ขึ้นนั้นช่วยให้ผู้พิการอุปกรณ์ที่ปลายแขนเทียมได้หลากหลายและเหมาะกับประเภทงานมากขึ้น

“แขนเทียมทั่วไปจะมีเกลียวติดกับแขนเทียม เกลียวตัวนี้มักมีปัญหาทำให้ตะขอสั่น เมื่อจะเปลี่ยนต้องใช้วิธีทุบแขนเทียมเพื่อหล่อใหม่ แต่แป้นล็อกตัวนี้สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ปลายแขนเทียมได้สะดวก ผู้พิการสามารถเปลี่ยนเองได้ เจตนาที่ประดิษฐ์แป้นล็อกนี้ขึ้นมาก็เพื่อให้ผู้พิการทำงานในชีวิตประจำวันได้กว้างขวางขึ้น ตัวล็อกนี้สามารถรับแรงกดได้สูง สามารถปรับมุมได้หลายองศา จึงนำไปประกอบอาชีพได้หลากหลาย” สมชายกล่าว

ทั้งนี้แป้นล็อกสำหรับแขนเทียมมีหลายชนิดและที่ต่างประเทศก็มีใช้กันกว้างขวาง สำหรับแป้นล็อกของสมชายนั้นเป็นชนิด “สไลด์ ล็อก” (Slide Lock) ซึ่งมีต้นทุนผลิตเพียง 200 บาทเท่านั้น ขณะที่แป้นล็อกของต่างประเทศบางชนิดมีราคาสูงถึง 40,000 บาท แต่เนื่องจากเขาทำงานในสำนักงานประกันสังคมที่มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกัน เขาจึงทำแป้นล็อกให้บริการฟรีตามคำร้องขอไปยังสำนักงานประกันสังคม โดยตอนนี้เขาประดิษฐ์สำรองไว้ 20 ตัว โดยกลึงโลหะและประกอบชิ้นส่วนเอง

จุดประกายความคิดของสมชายเกิดจากการที่เขามีโอกาสได้ไปอบรมการเชื่อมอะลูมิเนียมและสแตนเลสที่ประเทศญี่ปุ่น และเขาได้บังเอิญเห็นผู้พิการทางแขนชาวญี่ปุ่นหิ้วกระเป็าเอกสารเจมส์บอนในร้านอาหาร และชาสญี่ปุ่นคนก็ก็เปิดกระเป๋าเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ปลายแขนเทียมและนั่งรับประทานอย่างปกติเหมือนคนทั่วไป เขาจึงคิดที่จะผลิตอุปกรณ์ที่ใช้งานได้คล้ายกันบ้าง ซึ่งผลงานของเขานอกจากจะช่วยให้ผู้พิการไม่เป้นภาระใครแล้ว ยังได้รับรางวัลชมเชยผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2550 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ด้วย

ทางด้าน นางสาวเกศรา อินแก้ว ผู้ช่วยครูตัดเย็บเสื้อผ้า ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ซึ่งได้ใช้งานแป้นล็อกแกะลายกระจกกล่าวว่า แป้นล็อกนี้ใช้งานได้สะดวก ยึดแน่นดี สามารถเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ปลายแขนเทียมได้จึงทำงานได้หลากหลาย ซึ่งเมื่อก่อนเคยใช้ตัวล็อกสำหรับเย็บเสื้อแต่ไม่สามารถถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ได้ และยังมีปัญหาที่จับยึดไม่สะดวกด้วย

…นับว่าแป้นล็อกเป็นอีกสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพของผู้พิการให้เขาสามารถช่วยตัวเองและใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติมากขึ้น…

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000013916

No comments: