Tuesday, January 27, 2009

หุ่นปัญญาประดิษฐ์ติดหล่มภาษาไทย


การพัฒนาหุ่นยนต์เดินสองขาเหมือนมนุษย์หรือฮิวแมนนอยด์ ไม่ใช่เรื่องยากแล้วยุคนี้ หรืออาจไม่สำคัญด้วยซ้ำเมื่อหุ่นยนต์ล้อขับเคลื่อนอิสระเดินทางได้ทุกสภาพพื้นผิวได้ดีกว่า

ที่ยากเย็นแสนสาหัสสำหรับนักพัฒนาหุ่นยนต์ไทยรวมถึงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ คือ ทำอย่างไรหุ่นยนต์จะฟังคำสั่งภาษาไทยรู้เรื่อง อุปสรรคที่สำคัญไม่ใช่อื่นไกล ก็ภาษาไทยที่เขียนกันเป็นพรืดนี่แหละ แม้แต่สมองกลยังศิโรราบ

ที่ผ่านมานักวิจัยภาษาหุ่นยนต์ต่างคนต่างคิดหากลวิธีทำให้สมองกลเข้าใจภาษาไทย ทำให้มาตรฐานการแบ่งคำ ตัดคำแตกต่างกันไปของใครของมัน และยังทำให้งานวิจัยด้านสมองกลอัจฉริยะของไทยไม่คืบหน้าด้วย

ดร.กฤษณ์โกสวัสดิ์ นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษาศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ยอมรับสภาพว่า ตอนนี้เราต้องถอยหลังกลับไปเริ่มตั้งแต่การแบ่งคำแบ่งวลี และประโยคในที่สุด

นี่คือที่มาของโครงการการวัดเปรียบเทียบสมรรถนะเพื่อพัฒนามาตรฐานการประมวลผลภาษาไทย(Benchmark for Enhancing the Standard of Thai language porcessing : BEST) ที่เนคเทคประกาศหาสุดยอดโปรแกรมเมอร์มาร่วมแข่งขัน

การแข่งขันเปิดสำหรับ2 ประเภท ได้แก่ นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ปีนี้เป็นการแข่งขันครั้งแรก ในหัวข้อ การแบ่งคำไทย มีผู้สนใจเข้าร่วมแข่งทั้งหมด 20 ทีมทั่วประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา 12 ทีม และประชาชนทั่วไปอีก 8 ทีม

แต่ละทีมจะได้รับร่างหลักเกณฑ์ที่ผู้เชี่ยวชาญจัดทำขึ้นและฐานข้อมูลคำ 5 ล้านคำ ที่จะเปิดให้ดาวน์โหลดเป็นชุดจำนวน 6 ชุดคำ และต้องพัฒนาโปรแกรมให้สามารถตัดแบ่งข้อความภาษาไทยออกเป็นคำๆ ให้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อาจจะใช้หรือไม่ใช้คลังข้อความที่ได้เตรียมไว้ให้ก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถสรรหาทรัพยากรอื่นๆ มาเพิ่มเติมได้เอง เช่น กฎการสะกดคำไทย รายการคำศัพท์และชนิดของคำจากพจนานุกรม เป็นต้น เพื่อให้ได้ซอฟต์แวร์แบ่งคำภาษาไทยที่ดีที่สุด

เราคาดว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะสร้างมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ดร.ชัยวุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษากล่าว ก่อนเสริมว่า การแข่งขันแบ่งคำไทยนี้ อาจจะมีขึ้นอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อให้มาตรฐานมีความแม่นยำ น่าเชื่อถือ จากนั้นจึงขยับไปสู่ขั้น นิพจน์ระบุนาม

นิพจน์ระบุนามหรือคำเฉพาะที่ระบุสถานที่ ชื่อเฉพาะ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่มีในพจนานุกรม และชื่อเฉพาะหรือศัพท์ใหม่เกิดขึ้นมาตลอดเวลา เช่นซานติก้า ที่หลายคนไม่เคยได้ยิน ก็กลายเป็นศัพท์ที่ถูกสืบค้นมากเป็นอันดับ 1 ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา และระบบแบ่งคำที่มีอยู่ก็จะไม่สามารถแบ่งได้ เนื่องจากไม่รู้จัก และจะแบ่งรหัสที่ระบุไว้คือ ซา-น-ติ-ก้-า

ความซับซ้อนของภาษาไทยไม่ใช่เป็นปัญหาเดียวในโลกเพราะแต่ละภาษามีความซับซ้อนเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นภาษาลาว ที่มีรากฐานของภาษาแบบเดียวกับภาษาไทยนั้น มีการใช้เครื่องหมายคอมมา (,) และฟูลสต็อป (.) เพื่อแบ่งคำและประโยค ในขณะที่พม่าและภูฏาน ก็มีการแบ่งพยางค์ชัดเจน ทำให้การพัฒนาเทคนิคการแบ่งคำทำได้ง่ายกว่า

ไม่เฉพาะแต่ภาษาไทยที่หินภาษาที่ซับซ้อนกว่าก็มีให้เห็น เช่น ภาษาอาหรับ ที่มีทั้งการละบางคำทิ้ง หรือการเปลี่ยนรูปคำไปตามบริบท ทำให้แบ่งคำได้ยาก หรือภาษาเขมรที่มีความกำกวม ไม่มีการแบ่งพยางค์ หรือคำที่แน่นอน แต่ก็มีตัวจบประโยคปรากฏให้เห็น
ตัดให้ดีมีชัยสู่สมองกล

เราพัฒนามาเกิน10 ปีแล้ว แต่ท้ายที่สุดเราก็ต้องกลับมาสู่โครงการเบสต์ มาเริ่มตั้งไข่แบ่งคำใหม่ ซึ่งจากฐานข้อมูลคำที่มีมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น จะช่วยให้โครงการวิจัยของเราก้าวหน้า เช่น โปรแกรมแปลภาษา โปรแกรมสืบค้นข้อมูล การสั่งงานด้วยเสียง และการสังเคราะห์เสียง ดร.ชัยกล่าว

โปรแกรมแปลภาษาไทย-อังกฤษและอังกฤษ-ไทย ที่ปัจจุบัน ความแม่นยำอยู่ที่ 60% แปลอังกฤษเป็นไทยได้ แต่ไม่สามารถแปลไทยเป็นอังกฤษได้ เนื่องจากยังตัดคำได้ไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับโปรแกรมสืบค้นในขณะที่ซอฟต์แวร์การสั่งงานด้วยเสียงก็ไม่สามารถทำงานได้สำเร็จเ หมือนเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ ที่ปัจจุบันทำได้แล้ว การสังเคราะห์เสียงภาษาไทยยังผิดเพี้ยน ผิดความหมาย

หากเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานเช่นนี้สำเร็จก็จะทำให้การวิจัยสมองกลอัจฉริยะเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ดังเช่นเนคเทคที่จะมี 2 เทคโนโลยีใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คือ อับดุล ที่วิเคราะห์คำได้ดีขึ้น และการสรุปความอัตโนมัติ (Summarization) ทำหน้าที่สรุปใจความสำคัญไม่ว่าจะเป็นอีเมลหรือข่าว แต่มีความยากในระดับสูง เพราะต้องตัดทั้งคำ วลี ประโยคและต้องเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดก่อนที่จะสรุป ดร.ชัยกล่าว

นอกเหนือจากองค์ความรู้ใหม่และเทคนิคใหม่ ผู้แข่งขันยังมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานการประมวลผลการแบ่งคำ จากร่างหลักเกณฑ์ที่นำไปใช้ ซึ่งทางผู้จัดจะได้รับรู้ข้อดี ข้อเสีย และหาวิธีการแก้ไข

นอกจากนี้เนคเทคยังมีแผนจะจัดแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยใช้ภาษาไทยเป็นโจทย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติหรือนักศึกษาไทยในต่างประเทศได้เข้าร่วม โดยตั้งเป้าจัดการแข่งขันขึ้นภายในงาน Symposium on Natural Language Processing (SNLP) ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2552 นี้

สาลินีย์ทับพิลา

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2009/01/27/x_it_h001_333738.php?news_id=333738

Monday, January 26, 2009

“สุริยุปราคา” ที่ท้องฟ้ากรุงเทพฯ


ชมภาพปรากฎการณ์ “สุริยุปราคา” เหนือท้องฟ้ากรุงเทพฯ ที่ได้เห็นแค่เพียงบางส่วน ตั้งแต่เวลา 15.53 น.โดยช่วงที่กินลึกที่สุดที่บ้านเราจะมองเห็นได้คือ เวลา 16.52 น.และจะค่อยๆ เคลื่อนออก ซึ่งเราไม่สามารถสังเกตได้จนจบปรากฎการณ์ เพราะพระอาทิตย์ชิงตกดินไปเสียก่อน

แม้ว่า สุริยุปราคาแบบวงแหวน (Annular Solar Ecplise) ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ม.ค.52 นี้ ในส่วนของประเทศไทย จะได้เห็นแค่เพียงบางส่วนของปรากฏการณ์ แต่การได้สังเกตปรากฏการณ์ที่ผิดแปลกไปจากทุกวัน ก็ยังสร้างความตื่นเต้นให้ไม่น้อยอยู่เนืองๆ

ทั้งนี้ ภาพที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTVผู้จัดการออนไลน์" นำมาเป็นภาพแรก คือ ภาพการกินดวงลึกที่สุดของปรากฏการณ์ เทาที่สังเกตได้ที่ประเทศไทย โดยบันทึกเมื่อเวลา 16.52 น.ที่ท้องฟ้าบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ที่จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องสุริยุปราคาอยู่บริเวณนั้น

ถัดมาอีก 8 ภาพ บันทึกเมื่อเวลา 16.00 น.เป็นต้นไป โดยเริ่มตั้งแต่ส่วนแรกของปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่จัดกิจกรรมสุริยุปราคาแรกแห่งปีรับปีดาราศาสตร์สากล โดยตั้งกล้อง ณ ชั้น 8 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทว่าในการตั้งกล้องนั้น ทำมุมในองศาที่ต่างออกไป จึงทำให้มุมที่ดวงอาทิตย์เว้นแหว่งแตกต่างไปจากภาพอื่นๆ

สำหรับ 3 ภาพสุดท้าย บันทึกโดยช่างภาพ ASTVผู้จัดการ เมื่อเวลาประมาณ 17.20 น.หลังช่วงคราสกินดวงลึกที่สุด ที่บริเวณท้องฟ้าเหนือรัฐสภา

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000009132

ว้าว!! ในที่สุดก็ได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ”


ในที่สุด ก็ได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ” ปรากฏขึ้นระหว่างการเกิดสุริยุปราคา ที่ท้องฟ้าเหนือเกาะชวา เตือนไว้นิดว่าอย่าเพ่งนาน เพราะแม้ว่าจะเป็นภาพถ่าย แต่ก็ร้อนแรงไม่แพ้แสงอาทิตย์

สุริยุปราคา ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ม.ค.2552 นี้ แม้ว่าจะสังเกตกันได้ในหลายพื้นที่ แต่มีผู้โชคดีเพียงน้อยนิด ที่จะได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ” (Ring of fire) ซึ่งเป็นอีกชื่อเรียกของ “สุริยุปราคาแบบวงแหวน” (Annular Solar Ecplise) โดยในช่วงกลางของอุปราคา ดวงอาทิตย์จะถูกบังด้วยดวงจันทร์ทั้งดวง แต่ไม่ทาบสนิท จึงเห็นเป็นรูปวงแหวน

สุริยุปราคาแบบวงแหวนนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตอยู่ในตำแหน่งเงามืดพาดลงบนพื้นโลก แต่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมาก จนเงามืดทอดยาวไม่ถึงโลก ทำให้เห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์

สำหรับผู้ที่คาดว่าจะโชคดีทีได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ” ก็คือ ผู้ที่อยู่ในแถบมหาสมุทรอินเดีย โดยสามารถสังเกตสุริยุปราคาวงแหวนนานที่สุดถึง 7 นาที 56 วินาที แต่ภาพนี้ก็ได้รับการบันทึกที่เมืองบันดาร์ ลัมปุง (Bandar Lampung) บนเกาะชวา ห่างจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไปนิดเดียว

ส่วนผู้ที่อยู่ในบริเวณอื่นๆ อย่าง แอฟริกา มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย อินเดียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ก็ได้เห็นเป็นเพียงสุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) ที่ผู้สังเกตอยู่ในตำแหน่งเงามัว จึงเห็นดวงอาทิตย์สว่างเป็นเสี้ยว อย่างที่ได้ชมผ่านตาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี คราสครั้งสำคัญอีกครั้งในปีนี้ คือ “สุริยุปราคาเต็มดวง” ในเดือน ก.ค.2552 ซึ่งพื้นที่ที่จะสังเกตเห็นได้ทั้งหมดของปรากฏการณ์ คือ อินเดีย และ จีน (ทั้งคู่นับเป็นประเทศที่มีประชากรมากอันดับสูงสุดของโลก -- ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า สุริยคราสครั้งนี้ น่าจะมีผู้ได้ชมมากที่สุดไปด้วย) อีกทั้งยังเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานกว่า 6 นาที นับว่ายาวนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21

ระหว่างรอปรากฏการณ์ใหญ่แห่งศตวรรษ ก็ยังมีจันทรุปราคาเงามัว 2 ครั้ง เรียกน้ำย่อยกันไปก่อน คือ วันที่ 9 ก.พ.2552 ระหว่างเวลา 19.39-23.38 น.และอีกครั้งในวันที่ 7 ก.ค.2552 ระหว่างเวลา 15.38-17.39 น. โดยไม่เห็นในประเทศไทย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000009238

Wednesday, January 14, 2009

“ซอฟต์แวร์โรงพยาบาล” ความสุขของชุมชน

หัวใจสำคัญของโรงพยาบาลชุมชนไม่ได้มีแค่หมอ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย พยาบาล เวชภัณฑ์ แต่เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอทีก็สำคัญ จะไม่สำคัญได้อย่างไร ถ้าไม่มีระบบข้อมูลสั่งจ่ายยา และเขียนรายงานส่งกระทรวงสาธารณสุขเบิกค่ารักษา ค่ายา และจิปาถะ

ถ้าจะให้โรงพยาบาลชุมชนเจียดงบประมาณไปซื้อระบบบริหารจัดการโรงพยาบาลมาใช้กันทั่วประเทศ งบประมาณที่ใช้คงมหาศาล พอคิดได้อย่างนั้น บรรดาหมอที่สนใจและมีฝีมือด้านการเขียนโปรแกรมจึงจับมือกันพัฒนาระบบโฮสพิทัลโอเอส (Hospital-OS)
ตัวแกนนำพันธมิตรหมอโปรแกรมเมอร์คือ นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเก็ต และยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท โอเพ่นซอร์ส เทคโนโลยี จำกัด ด้วย โดยมีเพื่อนหมอมาช่วยกันจนคลอดออกมาเป็นโปรแกรมใช้งานตามโรงพยาบาลชุมชุนราว 80 แห่งทั่วประเทศ

โปรแกรมดังกล่าวพัฒนาให้รองรับการทำงานในส่วนลงทะเบียนผู้ป่วยและงานเอกสาร รวมถึงงานบริหารจัดการที่ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานบริการผู้ป่วย และเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่โรงพยาบาล

ตอนเริ่มพัฒนาโปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว "หมอก้อง" สร้างเว็บไซต์ www.Hospital-OS.com ให้เป็นชุมชนสำหรับสมาชิกมาแสดงความคิดเห็น และทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แบ่งปันความรู้ รวบรวมความคิดเห็นจากชุมชนเว็บจนเรียกได้ว่า โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสสำเร็จลุล่วงได้ด้วยพลังของชุมชนอย่างแท้จริง

โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสจึงสนองตอบชุมชนโดยพัฒนาซอฟท์แวร์ในรูปแบบโอเพ่นซอร์ส หรือซอฟท์แวร์เปิด ที่ว่าเปิดหมายความว่า เปิดเผย "ซอร์สโค้ด" หรือเนื้อหาข้อมูลโปรแกรมทุกบรรทัด เผื่อใครมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมสามารถเอาไปพัฒนาต่อ หรือดัดแปลงให้เหมาะกับการใช้งานของโรงพยาบาลได้ฟรี

ถึงได้โปรแกรมบริหารจัดการโรงพยาบาลมาแล้วก็ใช่ว่านำไปใช้งานได้เลย ขั้นต่อไปคือ ต้องจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรู้จักการใช้งาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปรากฏว่า สุดท้ายเจ้าหน้าที่ดูแลระบบโปรแกรมมีตั้งแต่เภสัชกรไปจนถึงคนขับรถ

"ผู้ดูแลระบบของเราตามโรงพยาบาลต่างๆ มีตั้งแต่คนขับรถ พนักงานห้องบัตร ผู้ช่วยเภสัชกร หรือแม้แต่เป็นพ่อบ้านที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์มาก่อนก็ทำได้ เราสอนเขาจนดูแลระบบได้" หมอก้องเล่า

นพ.ก้องเกียรติ กล่าวว่า โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการลงทะเบียนคนไข้ไปถึงงานรักษาในโรงพยาบาล แทนที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลแล้วต้องมาที่แผนกเวชทะเบียนเพื่อลงประวัติ จากนั้นคนไข้หรือเจ้าหน้าที่ค่อยถือบัตรไปหน้าห้องตรวจ เพื่อให้หมอดูอาการและสั่งยา แต่ระบบนี้ไม่ต้องใช้กระดาษ เพียงคนไข้กรอกประวัติผ่านคอมพิวเตอร์ ระบบก็จะทำงาน ทำให้แพทย์สามารถสั่งยาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้

“โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสช่วยอุดช่องว่างได้ โรงพยาบาลบางแห่งไกลมาก ไม่มีใครอยากไปขายซอฟต์แวร์หรือบางโรงพยาบาลอยากใช้ซอฟต์แวร์แต่ไม่มีงบประมาณ ก็จะอุดช่องว่างตรงนี้เป็นภาวะพึ่งพากัน" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเก็ต กล่าว

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเปิดให้ดาวน์โหลดนำไปใช้งานได้ฟรี ไม่เฉพาะแต่โรงพยาบาลไทยเท่านั้น ยังมีต่างประเทศเข้ามาดาวน์โหลดโปรแกรมดังกล่าวไปทดลองนำใช้ เช่น ประเทศแถบแอฟริกาติดต่อเข้ามาเพื่อนำไปช่วยในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโรคเอดส์ 200 กว่าแห่ง แต่ขาดงบประมาณรวมถึงข้อจำกัดอื่น

หมอก้องกล่าวว่า สำหรับเมืองไทยยังมีโอกาสที่ดีและเป็นสังคมเปิด ทุกคนมีทางเลือก บางโรงพยาบาลไม่มีเงินก็สามารถใช้ระบบปฏิบัติการที่เปิดให้ใช้ได้ฟรี และการพัฒนาโปรแกรมพยายามเติมเต็มสำหรับกลุ่มที่ยังขาดโอกาสให้มากที่สุด

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เสริมความเห็นว่า ซอฟต์แวร์พาร์คมีความยินดียิ่งในการเปิดโอกาสให้มีการนำโปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะทางการแพทย์ที่บ้านเรายังขาดแคลนระบบสารสนเทศที่มีการปรับใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมการทำงานอย่างตรงจุด ซอฟต์แวร์พาร์คจึงร่วมสนับสนุนทุนให้การอบรมแก่บุคลากรของโรงพยาบาลทั่วประเทศและนำไปมอบเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะผ่านโครงการซอฟต์แวร์เพื่อสังคม

"โครงการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสและสร้างศักยภาพของบุคลากรที่แม้ไม่ได้เป็นคนไอทีก็สามารถนำระบบสารสนเทศมาใช้งานได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดได้" ผอ.ซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าว

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2009/01/14/x_it_h001_330845.php?news_id=330845

ไอทีโซน-วินโดว์ส 7 ท้องแก่ใกล้คลอดแล้ว

ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 7 ของไมโครซอฟท์ใกล้คลอดเต็มแก่แล้วครับ

สตีฟ บอลเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไมโครซอฟท์ประกาศชัดเจนกลางเวทีอินเตอร์เนชั่นแนล คอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ โชว์ 2009 หรือ ซีอีเอส ซึ่งนับเป็นงานแรกที่บอลเมอร์ มาทำหน้าที่แทนบิลล์ เกตส์ ที่เกษียณตัวเองจากตำแหน่งไปเมื่อปีที่แล้ว

สุนทรพจน์ครั้งนี้ บอลเมอร์ มาพร้อมกับการความหวังว่าระบบปฏิบัติการวินโดว์สยังเป็นที่รักของคนส่วนใหญ่ โปรแกรมไลฟ์เสิร์ชLive Search) จะไม่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และยังประกาศเปิดตัวฟอร์ด-ซิง (Ford Sync) เทคโนโลยีบันเทิงในรถที่มาพร้อมกับบริการบอกทางเทลมี (Tell Me) สั่งงานด้วยเสียงด้วย

เริ่มต้น เขาบอกกับมิตรรักไมโครซอฟท์ว่า ยุคเศรษฐกิจถดถอยพลอยทำให้คนคาดหวังน้อยลง มองโลกแง่ดีน้อยลง และเลิกฝันทะเยอทะยาน แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดกับเศรษฐกิจ หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยืดยาวไปสักแค่ไหน เขามั่นใจว่าชีวิตดิจิทัลยังโกยเงินไม่หยุด สำหรับไมโครซอฟท์เองยังคงลงทุนวิจัยและพัฒนาสูงกว่าคู่แข่ง พอมาถึงช่วงพูดถึงวินโดว์ส 7 รุ่นทดสอบใช้งานหรือเบต้า เขาบอกว่าพร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดสำหรับผู้ใช้พีซีวันศุกร์ที่แล้ว (9 ม.ค.)

ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ ยังคงใช้เทคโนโลยีหลักเหมือนกับโอเอสตัวก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นวินโดว์ส เอ็กซ์พี และวิสต้า หรือพูดอีกอย่างว่ากลายพันธุ์มาจากวิสต้า เพียงแต่ปรับจูนแก้ปัญหาที่ผู้ใช้เคยปวดกบาลกับวิสต้า ยกตัวอย่าง ไมโครซอฟท์สัญญาว่าจะทำให้มันใช้งานติดตั้งไดรเวอร์กับอุปกรณ์พ่วงต่ออื่นง่ายขึ้น และมีกล่องแสดงแจ้งเตือนบอกนั่นบอกนี่ให้น้อยลง บอลเมอร์ยังรับประกันด้วยว่าวินโดว์ส 7 ทำงานได้เร็วขึ้น และค่อยๆ จิบแบตเตอรี่โน้ตบุ๊ก

"ผมเชื่อว่าวินโดว์สยังคงเป็นศูนย์กลางระบบสุริยะของชาวเทคโนโลยี ผมเอาส่วนผสมที่ลงตัวมาปรุงให้กลมกล่อม เรียบง่าย วางใจได้ และเร็ว เราทุ่มเทกันอย่างหนักเพื่อให้ถูกใจ และใช้ได้เลย"

บอลเมอร์ยังหวังว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้เครื่องมือสืบค้นไลฟ์เสิร์ชให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังเป็นรองกูเกิ้ลอยู่หลายขุม ที่ผ่านมาได้เจรจากับผู้ผลิตพีซีอย่างเดลล์ อิงค์ ให้ติดตั้งโปรแกรมไลฟ์เสิร์ช และวินโดว์สไลฟ์ รวมถึงโปรแกรมแชท และอีเมลของไมโครซอฟท์ในเครื่องพีซีสำหรับสำนักงานและลูกค้าทั่วไปที่ส่งจำหน่ายไปทั่วโลก ไมโครซอฟท์ยังจับมือกับเวอริซอน เพื่อติดตั้งไลฟ์เสิร์ชลงบนโทรศัพท์มือถือของเวอริซอนที่ใช้ในสหรัฐด้วย

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2009/01/14/x_it_h001_330843.php?news_id=330843

โค้งสุดท้ายการแข่งขันหุ่นยนต์ ด้วย Robocode ประจำปี 2009

วิชาการดอทคอม - นายบุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ ผู้บริหาร บริษัท วิชาการดอทคอม เปิดเผยว่า ตามที่ วิชาการดอทคอม ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการแข่งขัน Robocode Thailand Contest 2009 เพื่อค้นหาสุดยอดทีมกับสุดยอดหุ่นยนต์ประจำปีนี้นั้น ขณะนี้เหลือเวลาเพียง 7 วัน ก่อนที่จะหมดเขตส่งแพ็กเกจหุ่นยนต์สำหรับรอบเข้าคัดเลือก

ผู้ที่จัดทำเสร็จแล้ว ต้องการจะส่งหุ่นยนต์ สามารถเข้าไปส่งได้เลยที่ http://www.vcharkarn.com/robocode/submit.php

ตามกฏกติกา สามารถ Upload แพ็กเกจหุ่นยนต์ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง เวลาเที่ยงคืน (0.00 น.) ของคืนวันที่ 20 มกราคม 2552(เช้าวันที่ 21 มกราคม 2552) และสามารถ Upload แพ็กเกจหุ่นยนต์ทับซ้ำได้เรื่อยๆ จนถึงเวลาปิดรับ จึงขอแนะนำให้ Upload แพ็กเกจหุ่นยนต์ขึ้นมาก่อน ในกรณีที่ไฟล์หาย หรือมีปัญหา สามารถ download หุ่นยนต์ล่าสุดของตนเองมาแก้ไขได้ตลอด ตรงแถบด้านขวาของหน้า http://www.vcharkarn.com/robocode/ (อย่าลืม login ก่อน)

สำหรับวิธีการทำแพ็กเกจหุ่นยนต์อย่างถูกต้องและวิธีการ Upload แพ็กเกจหุ่นยนต์ สามารถเข้าไปอ่านได้จากบทความ http://www.vcharkarn.com/varticle/38351 นี้

สำหรับท่านที่ยังเขียนหุ่นยนต์ไม่เสร็จ บทความการสอนเขียนหุ่นยนต์ Robocode และเอกสารประกอบคำบรรยายการเขียน Robocode ของวันที่ 27 ธันวาคมที่ SIIT, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถูก Upload ขึ้นครบแล้ว สามารถดาวน์โหลดมาชมได้ที่ http://www.vcharkarn.com/robocode/tutorial.php

สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบกฎกติกาการแข่งขันสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.vcharkarn.com/robocode/rule.php

หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อทีมงานวิชาการดอทคอมที่ โทร. 02 583 2802

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000004064

ดักจับดีเอ็นเอด้วยลำแสงนาโน เทคนิคใหม่ทำไบโอเซนเซอร์ความไวสูง


นักวิจัยมะกัน พัฒนาท่อนำแสง ทำแสงให้มีขนาดนาโน ช่วยดักจับดีเอ็นเอและอนุภาคนาโนในของไหลได้ดี พร้อมนำส่งไปยังทิศทางที่ต้องการได้สะดวก อนาคตเห็นทางทำไบโอเซนเซอร์ตรวจโรคแม่นยำสูง

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) สหรัฐฯ ค้นพบวิธีดักจับดีเอ็นเอและอนุภาคนาโนในสารละลายไหล โดยใช้ลำแสงขนาดนาโน ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารเนเจอร์ (Nature) ตามที่ระบุในไซน์เดลี โดยนักวิจัยหวังว่าเทคนิคดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาเป็นไบโอเซนเซอร์ความแม่นยำสูง หรือประยุกต์ใช้ในการคัดเลือกและนำส่งอนุภาคนาโน

วิลเลียม ชูลทส์ มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐฯ (National Science Foundation: NSF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนโครงการวิจัยนี้ระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวสามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในงานด้านวิศวกรรมในการจัดการกับวัตถุระดับโมเลกุลและอะตอม โดยเฉพาะวัตถุที่บรรจุอยู่ในของเหลว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการใช้ประโยชน์จากแสงในการจัดการกับเซลล์และวัตถุขนาดนาโนอยู่แล้ว ทว่าเทคนิคใหม่ที่ว่านี้นี้ช่วยให้นักวิจัยทำงานดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมและยาวนานขึ้น

ด้าน เดวิด อีริคสัน (David Erickson) วิศวกร คอร์เนล กล่าวว่า เรามองแสงเป็นชุดของอนุภาคที่ไม่มีมวลโดยเรียกว่าโฟตอน (photon) ซึ่งพวกเขาได้ทดลองหาวิธีรวมอนุภาคโฟตอนเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กมาก แล้วทำให้ส่องผ่านไปตามท่อนำคลื่น (waveguide) ชนิดพิเศษ ซึ่งคล้ายกับเส้นใยแก้วนำแสงขนาดนาโน เมื่อชิ้นส่วนของวัตถุใด ซึ่งอาจจะเป็นดีเอ็นเอ หรืออนุภาคนาโน ลอยเข้ามาใกล้กับลำแสงโฟตอนดังกล่าว จะถูกดูดเข้ามาข้างในและไหลไปตามลำแสง

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้พัฒนาท่อนำคลื่นเพื่อทำให้แสงกลายเป็นลำแสงขนาดเล็ก และพัฒนาต่อไปเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในกับดักจับดีเอ็นเอ หรือวัตถุอื่นที่มีขนาดเล็กในระดับนาโนเมตรที่ไหลอยู่ในของเหลวได้ดียิ่งขึ้น โดยท่อเล็กๆ แต่ละท่อที่อยู่ภายในท่อนำคลื่นนั้นมีความกว้างเพียง 60-120 นาโนเมตร เท่านั้น ซึ่งบางกว่าความยาวคลื่นของแสงเลเซอร์อินฟราเรดที่มีขนาด 1,500 นาโนเมตร ความสำเร็จครั้งนี้ช่วยขจัดข้อจำกัดที่มีอยู่เดิมอันเกิดจากการกระจายของลำแสงเมื่อเจอสิ่งกีดขวาง และท่อขนาดนาโนภายในท่อนำแสงดังกล่าวยังช่วยให้ใช้แสงในการดักจับหรือขนส่งวัตถุนาโนได้ดียิ่งขึ้นด้วย

นักวิจัยทดลองโดยนำสารละลายที่มีดีเอ็นเอหรืออนุภาคนาโน มาชะให้ไหลผ่านไปตามท่อนำแสงที่มีช่องแสงผ่านขนาดไมโครเมตร ด้วยความเร็ว 80 ไมโครเมตรต่อวินาที ผลปรากฏว่าระบบดังกล่าวสามารถดักจับดีเอ็นเอหรืออนุภาคนาโนเข้ามาภายในลำแสงได้ไม่ถึง 1 ใน 4 ส่วนของอนุภาคทั้งหมด ทว่าเมื่อทดลองใช้ท่อนำแสงที่มีช่องแสงขนาดเล็กลง อัตราการไหลช้าลง และลำแสงมีพลังงานสูงกว่า ปริมาณอนุภาคที่ดักจับได้ก็มีอัตราเพิ่มขึ้น

"สิ่งที่เรากำลังหวังจะทำในตอนนี้ คือทำความเข้าใจกับหลักการทางฟิสิกส์ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้เห็นอะไรก็ตาม ที่อาจเป็นไปได้เข้าใกล้ความเป็นจริงยิ่งขึ้น ครั้งท้ายสุดเรานึกถึงการพัฒนาอุปกรณ์ทางด้านแสงที่มีความรวดเร็ว ฉับไว และประสิทธิภาพสูง สำหรับใช้ในการสื่อสารและงานอื่นๆ ในช่วงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และมีการประยุกต์นำไปใช้ทางด้านระบบนาโน ซึ่งความหวังในอนาคตของเราคือสามารถขนส่งผ่านแต่ละสายของดีเอ็นเอได้คล้ายกับการขนส่งผ่านแสงที่ทำได้แล้วในปัจจุบัน" อีริคสัน กล่าว

อีกทั้งในอนาคตอาจมีการนำเทคโนโลยีในไปใช้ในการดักจับ หรือนำส่งดีเอ็นเอหรืออนุภาคอื่นให้ไปยังทิศทางและเป้าหมายที่ถูกต้องได้ อาทิ ใชัในการพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวินิจฉัยต่างๆ หรือสำหรับรวบรวมอนุภาคที่มีโครงสร้างตามที่ต้องการ.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000003841