Friday, June 29, 2007

1 ก.ค. "ดาวศุกร์-ดาวเสาร์" ใกล้ชิดกัน 0.7 องศา


เดอะสตาร์/ผู้จัดการออนไลน์-ฉลองรับครึ่งปี "ดาวศุกร์-ดาวเสาร์" ใกล้ชิดกัน 0.7 องศา 1 ก.ค.นี้ เหนือท้องฟ้าฟากตะวันตกใกล้กลุ่มดาวสิงโตและห่างจากดาวหัวใจสิงห์เพียง 5 องศา

ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำของวันที่ 1 ก.ค.ดาวศุกร์จะโคจรเข้าใกล้ดาวเสาร์โดยมีระยะห่างเพียง 0.7 องศา ซึ่งนายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่าเราจะเห็นดาวศุกร์และดาวเสาร์ห่างกันด้วยขนาดที่กว้างกว่าขนาดเชิงมุมของดวงจันทร์เล็กน้อย โดยขนาดเชิงมุมหรือขนาดปรากฏของดวงจันทร์เท่ากับ 0.5 องศา ส่วนขนาดเชิงมุมจากขอบฟ้าถึงท้องฟ้าตำแหน่งกลางศรีษะเป็น 90 องศา โดยทั่วโลกจะเห็นดาวศุกร์เข้าใกล้ดาวเสาร์พร้อมกันแต่เวลาที่เห็นจะต่างกันไปตามเวลาท้องถิ่น เช่นที่สหรัฐอเมริกาจะเห็นในวันที่ 30 มิ.ย. แต่ไทยจะเห็นในช่วงหัวค่ำวันที่ 1 ก.ค.นี้

ทางด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่าโอกาสที่ดาวศุกร์กับดาวเสาร์จะอยู่ใกล้กันเกิดได้ยากและไม่ทราบว่าอีกกี่ปีจะเกิดขึ้นอีก โดยดาวศุกร์ซึ่งเคลื่อนที่เร็วกว่าจะเริ่มทิ้งห่างดาวเสาร์หลังจากวันที่ 1 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ดาวศุกร์เป็นดาวที่มีคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์สั้นกว่าดาวเสาร์โดยใช้เวลาเพียง 224 วัน แต่ดาวเสาร์ต้องใช้เวลา 29 ปีจึงจะโคจรรอบอาทิตย์ครบ 1 รอบ อย่างไรก็ดีดาวเคราะห์ทั้ง 2 ยังมีโอกาสที่เข้าใกล้กันอีก

ทั้งนี้ รศ.บุญรักษาให้ข้อมูลว่าตำแหน่งที่จะเห็นดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงจะอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวสิงโตทางซีกฟ้าทิศตะวันตกและอยู่สูงจากขอบฟ้าพอสมควร โดยจะเห็นดาวศุกร์ที่สว่างมากเนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างสุดบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กับดาวเสาร์ที่สว่างน้อยกว่า และเหนือดาวทั้ง 2 ขึ้นไป 5 องศาจะเป็นตำแหน่งของดาวหัวใจสิงห์ (Regulus)

"ตอนนี้ก็เริ่มเห็นดาวศุกร์-ดาวเสาร์ใกล้กันแล้วและจะใกล้ที่สุดวันที่ 1 ก.ค.นี้ จากนั้นไม่นานดาวศุกร์ก็เคลื่อนที่ทิ้งไป ส่วนดาวเสาร์ก็ยังอยู่บริเวณดาวสิงห์โดยในคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ 29 ปี ดาวเสาร์จะอยู่ใกล้กลุ่มดาวสิงห์ประมาณ 2 ปี" รศ.บุญรักษากล่าว พร้อมทั้งเพิ่มเติมว่าช่วงนี้เรายังจะได้เห็นดาวพฤหัสบดีที่สว่างสดใสในทิศตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างชัดเจน โดยวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมาดวงจันทร์และดาวพฤหัสบดีก็อยู่ใกล้กันมากด้วย

ทั้งนี้เราจะเห็นดาวเสาร์เป็นจุดสีเหลืองอยู่ใต้ดาวศุกร์เยื้องไปทางขวา โดยดาวศุกร์จะมีความสว่างมากกว่าถึง 8 เท่าเพราะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า และแม้ตาเปล่าเราจะเห็นดาวเคราะห์ทั้ง 2 อยู่ใกล้กันมากแต่ระยะห่างจริงไกลกันหลายพันล้านกิโลเมตร และปรากฏการณ์นี้ก็เป็นโอกาสให้เราเห็นลักษณะการเคลื่อนที่สัมพัทธ์กันของดาวเคราะห์ด้วย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000075828

"บลูมูน" จันทร์เต็มดวงยากจะเห็น 30 มิ.ย.นี้


นาซา/เอเอพี/ผู้จัดการออนไลน์- 30 มิ.ย.นี้เกิด "บลูมูน" จันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ในรอบเดือน ปรากฏการณ์ยากจะเกิด เพียง 2.5 ปีมีครั้ง ด้านนักดาราศาสตร์ระบุจันทร์เพ็ญสวยงามแต่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาดวงดาว

จันทร์เต็มดวงในวันที่ 30 มิ.ย.นี้เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "บลูมูน" (Blue moon) หรือปรากฏการณ์ที่จันทร์เต็มดวงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือน ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 2.5 ปีต่อครั้ง ขณะที่บางนิยามหมายถึงปรากฏการณ์ที่จันทร์เต็มดวง 3 ครั้งภายใน 1 ฤดูกาล

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติในคืนสิ้นเดือนนี้ว่าปกติเดือนหนึ่งดวงจันทร์เต็มดวงเพียงครั้งเดียว แต่เดือน มิ.ย.นี้มีจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง และเป็นเหตุการณ์ที่นานๆ จะเห็นจึงเรียกว่าบลูมูน ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า Once in a blue moon หมายถึงนานๆ จะเห็นสักครั้ง อีกทั้งจันทร์เต็มดวงที่จะเห็นก็ไม่ได้เป็นสีฟ้า

"ไม่มีอะไรพิเศษ ตามความหมายของฝรั่งคือดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ไม่ถึงกับบ่อยแต่ก็ไม่ยากที่จะเกิด เกิดจันทร์เพ็ญห่างกัน 29.5 วัน โอกาสจะเกิดต้นเดือน-ปลายเดือนก็เกิดขึ้นได้ เป็นแค่รอบการโคจรของดวงจันทร์กับรอบปฏิทินเท่านั้น" นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทยให้ความเห็น

แม้จันทร์เต็มดวงจะเป็นปรากฏการณ์ที่สวยงามแต่สำหรับนักดาราศาสตร์แล้วกลับกลายเป็นอุปสรรคในการศึกษาดวงดาวบนท้องฟ้ารวมทั้งการศึกษาดวงจันทร์เอง

"แสงสว่างจากจันทร์เต็มดวงได้บดบังดวงดาวให้ยากที่จะสังเกต มันยังยากที่จะหาตำแหน่งภูเขาและปากปล่องภูเขาไฟของดวงจันทร์เอง ช่วงจันทร์เต็มดวงเป็นเวลาที่แย่สำหรับการดูดวงจันทร์ มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะมองดวงจันทร์ขึ้นและตกลงมหาสมุทร แต่สำหรับการสังเกตทางดาราศาสตร์แล้ว มันเป็นช่วงเวลาแย่ที่สุด ไม่มีเงา มันก็มีพื้นผิวที่เป็นแสงขาวนวล เวลาที่ดีสุดสำหรับดูดวงจันทร์คือเวลาที่คุณเห็นดวงจันทร์เพียงครึ่งหรือน้อยกว่านั้น" ความเห็นของเจฟฟ์ วายแอทท์ (Geoff Wyatt) ผู้จัดการหอดูดาวซิดนีย์ (Sydney Observatory) ออสเตรเลีย

สำหรับจันทร์เต็มดวงที่จะเห็นในคืนวันสิ้นเดือนนี้ไม่ได้เป็น "สีน้ำเงิน" ตามความหมายภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ในสำนวนภาษาอังกฤษคำดังกล่าวมีหลายความหมาย อาจหมายถึงเหตุการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้น นานๆ ครั้งหรืออาจจะหมายถึงเรื่องไร้สาระน่าหัวเราะก็ได้

อย่างไรก็ดีเคยมีปรากฏการณ์ที่ผู้คนเห็นดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงินทั้งขณะที่จันทร์เต็มดวง จันทร์ครึ่งดวง หรือแม้แต่จันทร์เสี้ยว และบางคืนก็ยังเห็นเป็นสีเขียวด้วย

เมื่อปี 1883 ที่ภูเขาไฟกรากาตัวในอินโดนีเซียระเบิดซึ่งนักวิทยาศาสตร์ประมาณความรุนแรงเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 100 ล้านตัน ภูเขาไฟส่งเสียงกัมปนาถให้ผู้คนที่อยู่ห่างออกไป 600 กิโลเมตรได้ยินคล้ายเสียงลั่นของชัตเตอร์กล้องถ่ายภาพ เถ้าภูเขาไฟพวยพุ่งสู่ชั้นบรรยากาศและดวงจันทร์เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน

สก็อตต์ โรว์แลนด์ (Scott Rowland) นักภูเขาไฟวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii)ให้ข้อมูลว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเห็นดวงจันทร์สีน้ำเงินนั้นเพราะบางส่วนอนุภาคของเถ้าภูเขาไฟที่ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศมีขนาดประมาณ 1 ไมครอน ซึ่งเป็นขนาดที่สะท้อนแสงสีแดงได้เป็นอย่างดีขณะที่แสงสีอื่นๆ ผ่านฝุ่นละอองดังกล่าวลงสู่พื้นโลกได้ ดังนั้นแสงขาวของดวงจันทร์ที่ผ่านฝุ่นละอองลงมาจึงกลายเป็นสีน้ำเงินและบางครั้งกลายเป็นสีเขียว

สำหรับปรากฏการณ์บลูมูนที่จันทร์เต็มดวงเป็นรอบที่ 2 ของเดือนในครั้งต่อไปนั้นจะเกิดขึ้นในวันส่งท้ายปีเก่าของปี 2009

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000075615

Wednesday, June 27, 2007

‘เตาก๊าซหุงต้มอนุรักษ์พลังงาน’


เมื่อวันพุธสัปดาห์ก่อนได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงงานที่ได้รางวัลที่ 1 ในการประกวดนวัตกรรมหัวข้อที่ 7 คือ “นวัตกรรมเพื่อการประหยัดพลังงาน”ของโครงการ “เดลินิวส์-SCG ประกวดเจ้าความคิด” ไปเรียบร้อยแล้ว

มาในสัปดาห์นี้ จะเป็นรายละเอียดของโครงงานที่ได้รับรางวัลที่ 2 ในการประกวดหัวข้อเดียวกัน ซึ่งก็คือโครงงานที่ชื่อ “เตาก๊าซหุงต้มอนุรักษ์พลังงาน” ผลงานของ น.ส.กานต์นลิน กาญจนชูโต และนายพีรวัชร จิณ แพทย์ สองนักเรียนจากโรงเรียน วิสุทธรังษี จ.กาญจนบุรี

สำหรับที่มาของโครงงานชิ้นนี้นั้น น้อง ๆ ทั้งสอง บอกว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้พลังงานชนิดต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทั้งน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ไฟฟ้า ฯลฯ จนทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี จึงจำเป็นที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันประหยัดการใช้พลังงานลง

ทั้งนี้ตามปกติแล้วทุกครัวเรือนมีความจำเป็นต้องใช้พลังงาน โดยเฉพาะพลังงานจากก๊าซหุงต้ม ซึ่งปัจจุบันเตาก๊าซที่ใช้หุงต้มในบ้านเรือนได้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพดีอยู่แล้ว แต่ยังมีเตาก๊าซอีกประเภทที่นิยมใช้ตามร้านอาหาร คือ “เตาก๊าซหัวเขียว” ซึ่งสามารถปรับความแรงของเปลวไฟได้สูงมาก ตามความต้องการประกอบอาหารแต่ละชนิด แต่ประสิทธิภาพจะต่ำกว่าเตาก๊าซที่ใช้ในบ้านเรือนทั่วไป จึงได้เกิดแนวคิดหาวิธีที่จะทำให้เตาก๊าซหุงต้มหัวเขียวลดการสูญเสียพลังงานลงเมื่อเกิดการใช้งาน และนำพลังงานที่สูญเสียนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดพลังงานในขณะที่ราคาก๊าซหุงต้มมีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต

หลังจากเกิดแนวคิดดังกล่าวจึงได้ทำการออกแบบและประดิษฐ์เตาก๊าซหุงต้มขึ้น โดยนำเตาก๊าซหัวเขียวมาพัฒนาและลดข้อเสียและจุดบกพร่องต่าง ๆ ลง เช่นการที่เตามีลักษณะโปร่งเมื่อมีลมพัดผ่านจะทำให้เปลวไฟโฉบไปมา ทำให้สูญเสียพลังงานบางส่วนไป โดยปรับเปลี่ยนให้สามารถใช้เตาในพื้นที่โล่งแจ้งที่มีลดพัดผ่านได้ โดยการออกแบบเตาก๊าซหัวเขียวให้มีส่วนบังลม ลดช่องว่างระหว่างภาชนะกับเตา ทำให้ภาชนะหุงต้มได้รับความร้อนมากขึ้นและสม่ำเสมอ จึงร้อนเร็วกว่าเตาก๊าซแบบเดิม

นอกจากนี้ยังได้ออกแบบส่วนที่เป็นบังลมให้เป็นท่อเพื่อให้สามารถนำความร้อนจากเตาที่แผ่ออกด้านข้างไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ โดยใช้หลักการหมุนเวียนน้ำร้อนเหมือนกับระบบหม้อน้ำของรถยนต์ ซึ่งเมื่อได้ทดลองใช้งานเตาก๊าซที่ออกแบบมาแล้ว ก็พบว่ามีประสิทธิภาพดีความร้อนที่ต่อออกมายังหม้อด้านข้างทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงถึง 100 องศาเซลเซียส เป็นการใช้พลังงานที่คุ้มค่ายิ่งขึ้น ด้วยการเปิดเตาก๊าซเพียงเตาเดียวแต่ใช้ประโยชน์ได้ถึงสองทาง

สำหรับการใช้งานเตาก๊าซที่ได้ออกแบบมานั้น ก็เหมือนกับการใช้งานเตาก๊าซหัวเขียวทั่วไป และเพิ่มขั้นตอน ด้วยการนำน้ำสะอาดมาเพิ่มใส่ภาชนะส่วนที่ต่อออกมาจากข้างเตา ซึ่งน้ำจะไหลผ่านท่อไปยังภาชนะรอบเตา เมื่อเราติดไฟเตาก๊าซหัวเขียวเพื่อใช้งานตามปกติ ความร้อนของเปลวไฟที่แผ่ออกด้านข้าง จะทำให้น้ำร้อนขึ้นและถ่ายเทไปยังภาชนะด้านข้างที่ต่อท่อไว้ ซึ่งสามารถใช้อุ่นหรือตุ๋นอาหารได้ โดยนำภาชนะที่จะอุ่นหรือตุ๋นมาวางครอบไว้

ทั้งหมดคือรายละเอียดผลงานของ 2 เยาวชนคนเก่งจากโรงเรียนวิสุทธรังษี ที่ต้องการใช้พลังงานจากเตาก๊าซหัวเขียวให้ได้ประโยชน์สูงสุด สำหรับน้อง ๆ เยาวชนคนอื่น ๆ ที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมส่งโครงงานนวัตกรรมเข้าประกวดกันนั้น ตอนนี้ทางโครงการฯ กำลังเปิดรับโครงงานในการประกวด “รางวัลแห่งปี” อยู่

โดยการประกวด “รางวัลแห่งปี” ถือเป็นการประกวดรางวัลใหญ่และรางวัลสุดท้ายของโครงการแล้ว ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดหัวข้อในการประกวดแต่อย่างใด เปิดโอกาสให้น้อง ๆ เยาวชนคิดและทำโครงงานนวัตกรรม เกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ได้เพื่อส่งเข้าประกวด แต่จะมีข้อแตกต่างจากการประกวดนวัตกรรมใน 7 หัวข้อที่ผ่านมานิดหน่อย คือ น้อง ๆ เยาวชน ที่ต้องการส่งโครงงานเข้าประกวด จะต้องทำแบบจำลองหรือโมเดลของผลงานส่งเข้ามาพร้อมกับโครงงานด้วย

ทั้งนี้ น้อง ๆ เยาวชน สามารถส่งโครงงานหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสื่อสารองค์กร อาคารสำนักงานใหญ่ 2 ชั้น 1 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เลขที่ 1 ถนนปูนซิเมนต์ไทย บางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 โทร. 0-2586-6612 โทรสาร 0-2586-2974 หรืออีเมลที่ vp2650@hotmail.com และ jirawatj@dailynews.co.th.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=131750&NewsType=1&Template=1

เผยโฉมเครื่องบิน นำนักเที่ยวขึ้นอวกาศ


บริษัทยูโรเปียน แอโรนอติก ดีเฟนซ์ แอนด์ สเปซ หรือ EADS เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงในการสร้างและออกแบบเครื่องบิน

ล่าสุด EADS เผยโฉมเครื่องบินใหม่ ที่จะนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปเที่ยวบนอวกาศ ซึ่งจะได้ความสนุกหรรษา เพราะอยู่ในภาวะไร้น้ำหนักแล้ว ยังได้เสียวที่ขึ้นไปอยู่บนอวกาศสูงกว่าการเดินทางโดยเครื่องบิน คือ สามารถนำนักท่องเที่ยวขึ้นไปสูงกว่าพื้นโลกมากกว่า 62 ไมล์ หรือเทียบเท่า 327,360 ฟุต!

EADS กระซิบว่า เที่ยวบินแรกที่เครื่องบินลำนี้จะนำผู้โดยสารขึ้นสู่ห้วงอวกาศ อาจมีขึ้นในปี 2550 หรือเพียงอีก 5 ปี ไม่นานเกินรอ สินค้าบริการที่ใหม่ๆ มักจะควบคู่กับความแพง ตั๋วท่องอวกาศจึงน่าจะอยู่ประมาณ 7 ถึง 9.3 ล้านบาท โดยเครื่องบินสามารถบินออกจากสนามบินทั่วๆ ไป เช่น สุวรรณภูมิ นาริตะ ฮีทโธรว์

เมื่อถึงระดับที่เหมาะสม นักบินก็จะเปิดเครื่องยนต์จรวด ส่งผลให้เครื่องบินทะยานขึ้นไปจากพื้นดิน 37 ไมล์ หรือ 195,360 ฟุต ภายในเวลาเพียง 80 วินาที พอถึงจุดสูงสุดเท่าที่จะทำได้ นักบินจะปิดเครื่องยนต์ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเหมือนอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนัก อยู่ประมาณ 3 นาที การท่องเที่ยวครั้งหนึ่งจะมีนักท่องเที่ยวขึ้นไปได้แค่ 4 คน แต่ละครั้งจะใช้เวลาเดินทางครึ่งชั่วโมง เร็วกว่าการเดินทางบนถนนเป็นไหนๆ

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec03270650&day=2007/06/27§ionid=0326

เชียร์เด็กไทยป้องกันแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลก


สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ส่งเยาวชนไทยทีม "อินดิเพนเดนต์" (Independent) แชมป์โลก เวิลด์ โรบอต เรสคิว 2006 และทีม "ไอเดียล" (Ideal) แชมป์ ไทยแลนด์ เรสคิว โรบอต แชมเปี้ยนชิพ 2006 พร้อมหุ่นยนต์กู้ภัยทั้ง 4 ตัว ร่วมป้องกันแชมป์และแข่งขัน "เวิลด์ โรบอต เรสคิว 2007" ที่เมืองแอตแลนต้า สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 3-8 ก.ค.นี้ โดยมีทีมที่เข้าร่วมแข่งขัน 300 ทีม จาก 33 ประเทศทั่วโลก

นายพินิจ เขื่อนสุวงค์ หรือโน้ต หัวหน้าทีมอินดิเพนเดนต์ กล่าวถึงความพร้อมว่า "ได้นำเรื่องแม็กคานิกส์และจุดเด่นหุ่นยนต์ที่ได้ศึกษาของแต่ละทีมมาปรับปรุง ทดสอบเพื่อหาข้อบกพร่องให้มากที่สุด เพื่อปิดช่องโหว่ หุ่นยนต์จึงหน้าตาเปลี่ยนไปพอสมควร ใช้งานจริงได้มากกว่าเดิม ทั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบขับเคลื่อน และอีกหลายอย่าง ส่วนการทำแผนใช้เลเซอร์ สแกน ซึ่งมีข้อผิดพลาดน้อย แต่มีความละเอียดมาก"

"เห็นกติกาแล้วตกใจ การแข่งขันปีนี้เข้มกว่าปีก่อนๆ ที่เคยจัดในเยอรมนีและญี่ปุ่น เพราะต้องแข่งขันทั้งหมด 10 ภารกิจ สภาพแวดล้อมจำลองขึ้นมาเพื่อทดสอบหุ่นยนต์โดยเฉพาะ ฉะนั้นหุ่นยนต์ที่จะอยู่รอดไปถึงรอบสุดท้ายได้ต้องอึดมากๆ ระบบต้องมีความเสถียรสุดๆ เจ้าภาพจึงเป็นประเทศที่น่ากลัวเพราะถ้าอุปกรณ์ของเขาเสียหายสามารถหาอะไหล่เปลี่ยนได้ทันที แต่ของเรามีข้อจำกัดไม่รู้จะหาได้ที่ไหน

การแข่งขันครั้งนี้จะพยายามทำให้ดีที่สุด แม้น้องๆ ต้องแข่งในสนามเดียวกัน แต่พวกเราช่วยกันทำช่วยกันทดสอบ เมื่อถึงเวลาต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีสุด นอกจากไปแข่งขันแล้วเราจะเป็นทูตวัฒนธรรมประชาสัมพันธ์ให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้นว่าไม่ได้มีแต่เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยว แต่ยังมีคนไทยอีกกลุ่มที่สนใจด้านเทคโนโลยีและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง"

ด้านนายทรงเกียรติ กิ่งแก้ว หรือแจ๊ก หัวหน้าทีม "ไอเดียล" กล่าวถึงการแข่งขันครั้งนี้ว่าไม่ได้หวังอะไรมาก ขอแค่ชนะและจะทำให้เต็มที่ ในการแข่งขันไม่ได้กลัวเรื่องเทคโนโลยีของประเทศอื่นเพราะนอกเหนือจากความพร้อมของหุ่นยนต์แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแข่งขันคือสติและสมาธิ

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03you01270650&day=2007/06/27§ionid=0311

Tuesday, June 26, 2007

ล้ำเลิศ...


หุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ HRP-3 Promet Mk-II ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างสีขาวสะอาดตา กำลังโชว์ความสามารถในการป้องกันน้ำ โดยยืนอาบน้ำที่ฝักบัว รวมทั้งไขนอต ระหว่างงานแถลงข่าวที่ห้องทดลอง คาวาดะ อินดัสตรีย์ (Kawada industry) ทางตอนเหนือของโตเกียว หุ่นยนต์ดังกล่าวมีความสูง 160 เซนติเมตร หนัก 68 กิโลกรัม อัพเกรดมาจากหุ่นยนต์ HRP-2 Promet โดยเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างคาวาดะ อินดัสตรีย์ และสถาบันเพื่อความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=131639&NewsType=1&Template=1

เก็บตก4หุ่นยนต์สุดล้ำจากงาน "RoboBusiness2007"


แม้งาน RoboBusiness 2007 งานประชุมหุ่นยนต์นานาชาติที่จัดขึ้นในบอสตัน สหรัฐอเมริกา จะจบลงไปแล้วช่วงปลายเดือนพฤศภาคมที่ผ่านมา แต่ความน่าสนใจของหุ่นยนต์หลากสายพันธุ์จากงานนี้ยังมีอยู่ไม่จางหาย ทั้งหุ่นยนต์เพื่อการทหาร หุ่นยนต์นางพยาบาล และหุ่นยนต์ของเล่น

หนึ่งในหุ่นยนต์ด้านการทหารที่น่าสนใจที่สุดคือ BEAR ไม่ได้แปลว่าหมีแต่ย่อมาจาก The Battlefield Extraction-Assist Robot งานจากบริษัท Vecna Robotics ซึ่งมีรางวัลสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมประจำปีนี้ของนิตยสารไทมส์เป็นดีกรีการันตี จุดเด่นของหุ่นยนต์ตัวนี้คือการเป็นหุ่นยนต์ช่วยชีวิตทหารในสมรภูมิรบ สามารถอุ้มทหารที่บาดเจ็บและเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 20 ไมล์ต่อชั่วโมง สามารถรับน้ำหนักทหารสูงสุดถึง 300 ปอนด์ ซึ่งบางกรณีอาจมีอาวุธยุทโธปกรณ์น้ำหนักสูงติดตัวอยู่กับทหาร สำหรับราคาของ BEAR นั้นทางผู้ผลิตไม่เปิดเผยตัวเลขที่แน่นอน คาดว่าจะเริ่มเปิดสายการผลิตอย่างจริงจังภายใน 2 ปีครึ่ง

หุ่นยนต์นางพยาบาลที่ถูกนำมาโชว์ตัวในงานนี้คือ InTouch RP-7 ผลงานของบริษัท InTouch Technologies จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แม้รูปลักษณ์จะดูเหมือนตู้คีออสก์เคลื่อนที่ได้แต่หุ่นยนต์ตัวนี้ถูกออกแบบมาสำหรับใช้งานในโรงพยาบาล จุดเด่นของหุ่นยนต์ตัวนี้คือ ในกรณีฉุกเฉิน หากแพทย์ไม่สามารถเดินทางมาดูอาการผู้ป่วยได้ ก็สามารถติดตามอาการอย่างไกลชิดผ่านเว็บแคมที่ฝังอยู่ในตัวหุ่นได้ ขณะเดียวกันผู้ป่วยหรือญาติก็สามารถโต้ตอบและรับชมใบหน้าของแพทย์ผ่านทางเว็บแคมได้เช่นกัน

อีกสีสันเด่นของงานนี้คือหุ่นยนต์ของเล่น หนึ่งในดาวเด่นของหุ่นยนต์กลุ่มนี้คือ Netoy จากบริษัท IZI Robotics สัญชาติเกาหลี Netoy สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายไว-ไฟ สามารถอ่านคอนเทนท์บนเว็บไซต์นานาชนิดได้ ทั้งอีเมล ข่าว จนถึงรายงานสภาพอากาศ สามารถทำงานเป็นอีเมลเสียงหรือที่เรียกว่าว็อยซ์เมลและเครื่องเล่นเพลง MP3 ได้ โดยแก้มของ Netoy จะเรืองแสงขึ้นทันทีที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการโชว์การทำงานของหุ่นยนต์กู้ภัยสำหรับเครื่องบิน ผลงานของบริษัท OC Robotics สัญชาติอังกฤษที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับเครื่องบินแอร์บัส (AirBus) เป็นหุ่นยนต์แขนงูที่สามารถเลื้อย ขดตัวหรือชอนไชตามรูหรือพื้นขรุขระได้ไม่ต่างจากงูจริงๆ ด้านบนของแขนติดตั้งกล้องดิจิตอลไว้เพื่อให้สามารถค้นหาสิ่งของหรือการแสดงภาพในพื้นที่ที่มีสิ่งของปิดทับ สามารถตั้งโปรแกรมเพื่อทำงานภารกิจเฉพาะได้

ขอบคุณเนื้อหาและภาพประกอบจากซีเน็ตดอทคอม

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9500000071821

นิสิตจุฬาฯ พร้อมดวลหุ่นยนต์บอลโลก


นายกานต์ กาญจนาภาส นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าทีม Plasma-Z ตัวแทนประเทศไทย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ หรือ World RoboCup 2007 ที่แอตแลนต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย.-11 ก.ค.นี้ ว่า ในปีนี้เพื่อนนิสิตที่ร่วมกันทำงานตั้งใจพัฒนาหุ่นยนต์กันมากหลังจากในปีที่ผ่านมาทีมจากจุฬาฯ คว้าอันดับสามในการแข่งขันที่เมืองเบรเมน ประเทศเยอรมนี ในการแข่งขันร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วโลกเกือบ 10 ทีม "ในปีนี้จะปรับเปลี่ยนมอเตอร์เพื่อเพิ่มความเร่งของกำลังต้นให้สามารถยิงลูกบอลได้เร็วและแรงกว่าเดิม เพิ่มความแม่นยำในการส่ง-รับลูกบอล และเพิ่มขีดความสามารถให้ยิงลูกบอลโด่งได้อย่างแม่นยำด้วย"

หัวหน้าทีม Plasma-Z กล่าวด้วยว่า แม้การแข่งขันจะมีคู่แข่งสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้ามาก แต่เชื่อว่าผลการแข่งขันจะออกมาสูสี และทีมไทยยังมีโอกาสประสบความสำเร็จด้วยการทำให้ลำดับการแข่งขันดีขึ้นจากเดิม

สำหรับการแข่งขัน World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล โดยสร้างโปรแกรมเพื่อควบคุมหุ่นยนต์แบบอัตโนมัติให้หุ่นยนต์สามารถเตะฟุตบอลได้โดยไม่มีคนบังคับ และเล่นฟุตบอลตามกติกาที่ตั้งไว้ โดยกำหนดให้มีหุ่นยนต์ฝ่ายละ 5 ตัว ผลการแข่งขัน

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03you01260650&day=2007/06/26§ionid=0311

Monday, June 25, 2007

มศวเปิดศูนย์นาโนฯ ตรวจวัณโรครู้ผลเร็ว

รศ.โกสุม จันทรศิริ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า มศว ได้จัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยี ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่ใช้เพื่อวินิจฉัยโรคต่างๆ ระยะแรกจะเน้นวิจัยโรคติดเชื้อที่สำคัญ คือ เชื้อวัณโรค ไข้เลือดออก โรคเท้าช้าง เอดส์ เป็นการพัฒนาไบโอเซนเซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่มีการใช้งานในวงการแพทย์ การเกษตรอุตสาหกรรม การทหาร สิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงานที่ มศว กำลังศึกษาสามารถตรวจสอบได้เพียง 1 นาที ในการตรวจวัดเชื้อวัณโรคชนิดมัยโคแบคทีเรียมทูเบอร์คุโลซิส ถือเป็นงานต่อยอดและเครื่องมือที่ใช้ตรวจเชื้อนั้น ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่กระบวนการตรวจเชื้อวัณโรคที่ทำกันอยู่ คือ เพาะเชื้อ และการเพิ่มปริมาณจำนวนดีเอ็นเอหรือ (พีซีอาร์) ซึ่งต้องใช้เวลา และมีข้อจำกัดคือไม่สามารถรู้ว่าเชื้อวัณโรคที่ตรวจนั้นดื้อยาชนิดไหน ส่วนงานที่ มศว กำลังศึกษานั้นให้เครื่องมือตรวจค้นวัณโรคทั่วๆ ไปก่อน จากนั้นจะพัฒนาเชื้อที่ดื้อยา และสามารถรู้ได้อีกว่าเป็นยาชนิดไหน งานวิจัยชิ้นนี้สามารถต่อยอดได้อีกในอนาคต ในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อนำไปตรวจโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec02250650&day=2007/06/25§ionid=0326

รับสมัครคนใจเด็ดทดลองเสมือนไปดาวอังคารเก็บตัวในยาน 17 เดือน


เอพี/เอเอฟพี – อีซามองหาอาสาสมัครที่อยากร่วมการทดลองอันแสนก้าวล้ำ ทนสภาพกดดันได้ และไม่เบื่อง่าย เพื่อเดินทางสู่ดาวอังคารแบบเสมือนจริง โดยต้องเก็บตัวอยู่ร่วมกันในห้องแคบๆ 520 วันและปฏิบัติภารกิจซ้ำๆ กินอาหารจำกัด ห้ามอาบน้ำ และอาจต้องเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นเมื่อใดก็ไม่รู้

องค์การอวกาศยุโรป หรืออีซา (European Space Agency : ESA) ประกาศรับสมัคร 12 ผู้กล้าที่จะร่วมทดสอบการเดินทางเสมือนสู่ดาวอังคาร โดยอาสาสมัครต้องอยู่กับสภาพจำลองเหมือนยานอวกาศในพื้นที่จำกัด แสนน่าเบื่อ และโดดเดี่ยวบนโลกเป็นเวลาประมาณ 17 เดือน หรือ 520 วัน นับเป็นการทดลองที่ท้ายที่สุดครั้งหนึ่งในโลก

ตามการคำนวณระยะเวลการเดินทางเมื่อดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดก็จะห่างประมาณ 56 ล้านกิโลเมตร เราจะใช้เวลาเดินทาง 250 วันถึงดาวอังคาร และอยู่บนนั้น 30 วันเพื่อเก็บข้อมูลการทดลอง จากนั้นเดินทางกลับโดยใช้เวลาอีก 240 วัน เป็นเวลาทั้งสิ้น 520 วัน

ยานอวกาศสู่ดาวอังคารจำลองทึ่จะใช้ทดลองนี้ประกอบด้วยชุดส่วนจำเพาะหรือมอดูล (module) ที่มีระบบล็อกด้านใน พัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยในมอสโกว รัสเซีย เมื่อประตูมอดูลปิดแน่น เท่ากับตัดขาดกับโลกภายนอก อาสาสมัครจะไม่สามารถติดต่อผู้ใดได้ นอกเสียจากสัญญาณวิทยุที่ดีเลย์ครั้งละหลายสิบนาที

อาสาสมัครจะต้องเผชิญภาวะจำลองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเกิดเหตุฉุกเฉิน ภารกิจประจำวัน และการทดลอง รวมถึงความน่าเบื่อต่างๆ นานา ซึ่งเกิดขึ้นแน่อย่างไม่ต้องสงสัย ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่จำกัด โดยลูกเรือแต่ละคนจะมีพื่นที่ส่วนตัวขนาด 30 ตารางฟุต มีห้องครัว ห้องนั่งเล่น และห้องสุขาอย่างละ 1 ห้อง ทว่าไม่มีน้ำให้อาบเพราะต้องจำกัดปริมาณน้ำ

ส่วนอาหารการกินก็เป็นอาหารแช่แข็งเหมือนกับผู้ที่ประจำอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติรับประทานกันทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ก็มีจำนวนจำกัด ซี่งต้องแบ่งสรรกันให้ตลอดระหว่างการเดินทาง รวมทั้งไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

แม้ว่าจะมีโอกาสสื่อสารกับคนที่รักหรือภาคพื้นดิน แต่การตอบโต้ติดต่อแต่ละครั้งอาจต้องใช้เวลามากกว่า 40 นาที และบางทีสัญญาณอาจใช้ไม่ได้ เมื่อยานเข้าสู่ตำแหน่งอับ

จุดประสงค์ของการทดสอบครั้งนี้ก็เพื่อศึกษาผลกระทบทางจิตวิทยาว่าลูกเรือสามารถอดทนได้ยาวนานแค่ไหนระหว่างภารกิจการเดินทางสู่ดาวอังคาร

ทั้งนี้ ระหว่างการทดลองอาสาสมัครสามารถออกจากมอดูลได้ทันทีที่ต้องการ หากเกิดปัญหาต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องบอกเหตุผล ทว่าทางทีมวิจัยต้องการอาสาสมัครที่มีท่าทีว่าจะอดทนไปจนสิ้นสุดการทดลองที่ยาวนานนับปีครั้งนี้ได้

ผู้มีสิทธิสมัครร่วมการทดลองนี้จะต้องอายุระหว่าง 25-50 ปี มีสุขภาพดี และมีประสบการณ์การทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาใดสาขาหนึ่ง และที่สำคัญต้องเป็นพลเมืองของ 1 ใน 15 ประเทศสมาชิกอีซาหรือไม่ก็รัสเซียและแคนาดา ซึ่งคุณสมบัติที่สำคัญกว่าอื่นๆ คือพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและรัสเซีย

อย่างไรก็ดี มีอาสาสมัครเพียง 6 คนที่จะได้เข้าทดสอบ (ส่วนที่เหลือไว้สำรอง) อีซามีรายละเอียดว่า 4 ใน 6 ของลูกเรือที่เข้าร่วมจะเป็นชาวรัสเซีย และอีก 2 มาจากประเทศอื่นๆ ตามที่ระบุ โดยขั้นตอนการทดสอบนั้นจะเริ่มกลางปีหน้า โดยให้อาสาสมัครทดลองอยู่ในยานจำลองก่อน 105 วัน และพิจารณาว่าจะต่อเนื่องไปอีก 105 วัน หรือพัก ก่อนที่จะทดสอบแบบเต็มๆ 520 วันรวดในช่วงปลายปี 2008 หรือต้นปี 2009

กระบวนการคัดสรรนั้นก็เหมือนกับการคัดเลือกนักบินอวกาศของอีซา แม้ว่าจะเน้นไปในทางจิตวิทยาและความทนทานต่อความเครียดมากกว่าความสมบูรณ์ทางร่างกายก็ตาม ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะได้ค่าตอบแทนวันละ 120 ยูโร (ประมาณ 5,500 บาท)

ทั้งนี้ อีซาได้ประกาศว่าทั้งชายและหญิงผู้ที่คิดว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมจะเป็นอาสาสมัครทดลองการเดินทางสู่ดาวอังคารให้สมัครได้ถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยเปิดให้ดาวน์โหลดใบสมัครที่ http://www.spaceflight.esa.int/CallforCandidates

หลังจากประกาศรับสมัครไปแล้วไม่กี่วันมีผู้สนใจส่งใบสมัครมาที่อีซามากกว่า 2,000 ราย ส่วนทางสถาบันวิจัยปัญหาทางชีวเวชของรัสเซีย (Institute of Biomedical Problems) อันเป็นสถานที่ทดลองครั้งนี้ก็ได้รับใบสม้ครแล้วกว่า 150 ใบแต่เป็นผู้หญิงเพียง 19 ราย ซึ่งสิ่งที่ยากลำบากก็คือการหาผู้ที่มีสุขภาพเหมาะสมกับการทดลองในรูปแบบนี้

อย่างไรก็ดี แผนเดินทางสู่ดาวอังคารอาจยังไม่ใช่เป้าหมายอันใกล้ เพราะสหรัฐฯ กำลังเตรียมการเดินทางสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2018 จากนั้นจึงจะเดินทางสู่ดาวอังคาร แต่ในส่วนของอีซาก็ยังไม่มีแผนที่แน่ชัดเช่นกัน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000073794

จัดระเบียบฮาร์ดดิสก์พิชิตความเร็ว

คอมพิวเตอร์ระบบปฏิบัติการวินโดว์สเวลาใช้งานไประยะหนึ่งย่อมมีข้อมูลเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์เพิ่มเป็นเงาตามตัว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ผู้ใช้จะรู้สึกว่าเครื่องทำงานตอบสนองได้ช้าลง

การแก้ไขที่นิยมใช้เพื่อให้เครื่องทำงานเร็วขึ้นคือ การทำ "ดีแฟรกเมนเทชั่น" โดยเข้าไปที่ Programs > Accesories > System Tools > Sytem Defragmentor

แต่ทุกคนทราบกันดีว่า การทำดีแฟรก ซึ่งเป็นการจัดระเบียบไฟล์บนฮาร์ดดิสก์ใช้เวลานานแค่ไหน ยิ่งสมัยนี้ฮาร์ดดิกส์มีขนาดความจุมากขึ้น ยิ่งต้องรอนาน บางครั้งนอนหลับไปตื่นยังทำงานไม่จบเลย และระหว่างเครื่องทำการดีแฟรกยังไม่สามารถทำงานอื่นได้ด้วย

สปีด ดีแฟรก เป็นโปรแกรมช่วยจัดระเบียบข้อมูลที่ช่วยให้การทำดีแฟรกให้เร็วขึ้น ไม่ต้องนั่งหาวนอนหาวเรอเหมือนก่อน อย่างตอนที่ทดสอบจัดระเบียบไฟล์ด้วยสปีดดีแฟรกกับฮารดดิกส์ความจุ 48 กิกะไบต์ ใช้เวลาจัดการราว 40 นาที จากเดิมที่ต้องรอกันเป็นชั่วโมง เรียกว่าหากวางแผนดีๆ สั่งให้โปรแกรมทำงานตอนพักเที่ยง พอกลับมาที่โต๊ะทำงานสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ทันที ไม่เสียเวลางาน

โปรแกรมจัดระเบียบเร่งด่วนตัวนี้ มีขนาดไฟล์เพียง 1.3 เมกะไบต์ เท่านั้น สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.sofotex.com/ เมื่อได้ไฟล์มาแล้วให้คลิกติดตั้ง โดยตอบตกลงยอมรับเงื่อนไขการใช้งาน และกดปุ่ม Next ไปจนเสร็จขั้นตอน

เหตุที่โปรแกรมนี้จัดระเบียบเร็วขึ้น ก็เพราะมันจะสั่ง restart เครื่องก่อน พอเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่จะมีเพียงโปรแกรมสปีดดีแฟรกเท่านั้นที่ทำงาน โดยที่ระบบปฏิบัติการวินโดว์สจะยังไม่ถูกเรียกมาใช้งาน

ข้อเสียอย่างเดียวคือ ระหว่างโปรแกรมนี้ทำงานอยู่ จะไม่มีแถบแสดงความคืบหน้าของการทำงานให้เห็น สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวคือรอ แต่ขอแนะนำให้ไปหาอย่างอื่นทำสักชั่วโมงจะดีกว่า เพราะผู้ใช้สามารถตั้งให้เครื่องปิดการทำงาน หรือ "รีสตาร์ท" เครื่องหลังจากจบการดีแฟรกแล้ว ที่สำคัญอีกอย่างคือ โปรแกรมตัวนี้ "ฟรี ไม่มีหมกเม็ด"

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Sunday, June 24, 2007

2สถาบันคิดทำสิ่งทอนาโน ส่งกลิ่นหอมบำบัดผู้สวมใส่

สองสถาบันวิจัยร่วมกันพัฒนาเส้นใยส่งกลิ่นหอม เผยดึงเทคโนโลยีนาโนสร้างแคปซูลจิ๋วบรรจุกลิ่นเคลือบบนเส้นใย พร้อมคิดหาวิธีควบคุมเวลาปล่อยกลิ่นและระดับของกลิ่นให้ได้ตามต้องการ

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา นักวิชาการประจำศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า นาโนเทคร่วมกับนักวิจัยจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ พัฒนาแคปซูลนาโนสำหรับเคลือบเส้นใย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ตัดเย็บจากเส้นใยดังกล่าว อาจจะเป็นผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าม่าน ผ้าคลุมโต๊ะ ส่งกลิ่นหอมออกมา ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทยในตลาดการค้าโลก

งานวิจัยครั้งนี้เพิ่งเริ่มต้นได้ประมาณ 4 เดือน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาสารเคลือบด้านในแคปซูลนาโน ซึ่งขนาดเล็ก 200-300 นาโนเมตร ทำหน้าที่กักเก็บของเหลวหรือก๊าซที่เป็นต้นตอของกลิ่น เช่น กลิ่นจากน้ำมันหอมระเหย และกลิ่นจากสารสังเคราะห์ เป็นต้น จากนั้นเป็นการวิจัยนำแคปซูลที่มีสารเคลือบ มาทดสอบคุณสมบัติการยึดเกาะเส้นใย ทั้งเส้นใยธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์

โดยนำเส้นใยฝ้ายสำเร็จรูปจุ่มในอ่างที่มีแคปซูลนาโน นำไปผ่านลูกรีดและอบให้แห้งในอุณหภูมิความร้อนที่เหมาะสม เพื่อให้แคปซูลติดแน่นอยู่กับเนื้อผ้า และไม่หลุดเมื่อถูกซักล้างบ่อยครั้ง แล้วจึงทดสอบคุณสมบัติการทำงานของเม็ดแคปซูลว่า สามารถให้กลิ่นหอมออกมาเหมือนกลิ่นต้นแบบก่อนบรรจุหรือไม่ และปริมาณกลิ่นที่ออกมามากน้อยอย่างไร

นักวิจัยสามารถกำหนดลักษณะการปล่อยกลิ่นให้มีหลายแบบ เช่น ปล่อยกลิ่นแบบสม่ำเสมอในปริมาณน้อย ปล่อยกลิ่นเวลาที่ถูกกระตุ้นด้วยแรงสัมผัส หรือปล่อยกลิ่นเมื่อสภาพแวดล้อมเป็นกรดและด่าง รวมทั้งสามารถออกแบบให้กลิ่นนั้นอยู่ติดกับเส้นใยนานที่สุดเท่าไร เช่น 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน เป็นต้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการนำสิ่งทอนั้นไปใช้งาน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

อังกฤษออกกฎคุมสร้างบ้านลด "โลกร้อน" แล้วไทยล่ะ?


ลำพังคนๆ เดียวปั่นจักรยานไปทำงาน ปิดน้ำ-ปิดไฟ ลดใช้พลังงาน จะช่วยลดต้นตอของปัญหา "โลกร้อน" ได้มากแค่ไหน แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าวิถีชีวิตของเรานี่แหละที่เป็นปัจจัยหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อม คงมีหลายคนตั้งคำถามทำนองนี้ แต่สำหรับ "ทิม ฟอร์ซิธ" อาจารย์สิ่งแวดล้อมจากอังกฤษแจงว่าแนวทางหนึ่งที่จะช่วยได้คือต้องเริ่มจากนโยบาย

"แสงสว่างจากหลอดไฟนี่มาจากไหน มาจากพลังงานที่ผลิตจากถ่านหิน แล้วเรามีทางเลือกอื่นไหม...ไม่"

คำพูดของ ดร.ทิม ฟอร์ซิธ (Dr.Tim Forsyth) จากสถาบันเศรษฐศาสตร์และการเมืองลอนดอน (London Schools of Economics and Political Science) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) สะกิดให้เรารู้ว่าบางสาเหตุของภาวะโลกร้อนก็ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกำลังเล็กๆ ของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่การแก้ไขต้องเริ่มมาจากการวางนโยบายว่าจะให้อะไรเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับประเทศ

ทั้งนี้ ดร.ฟอร์ซิธเป็นอาจารย์อาวุโสของภาควิชาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สถาบันเศรษฐศาสตร์และการเมืองลอนดอน ได้เดินทางมาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ บาร์ บริติชเคาน์ซิล สยามแควร์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ก็มีโอกาสพูดคุยกับเขาในวาระนี้ด้วย

อดีตนักข่าวเอพีประจำประเทศไทยและนักข่าวหนังสือพิมพ์ "เอเชีย อิงค์" (Asia Inc.) เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วผู้นี้ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจโตเร็ว จึงจำเป็นต้องมีนโยบายด้านพลังงานออกมา แต่ปัญหาสำคัญของไทยคือสังคมในเมืองหลวงกับต่างจังหวัดมีความแตกต่างกันมากซึ่งจะมีผลต่อการออกนโยบายที่ครอบคลุม

อย่างไรก็ดีหากไทยมีนโยบายช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนออกมาจริงๆ ทางสหประชาชาติประเมินว่าไทยจะช่วยลดการใช้พลังงานของทั้งโลกได้ถึง 0.5% แต่ทั้งนี้ทุกประเทศต้องมีส่วนช่วยแก้ปัญหาบ้าง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีใครทำอะไรเลย

ในส่วนของสหราชอาณาจักรได้มีกฎหมายหรือนโยบายใดออกมารองรับต่อปัญหาภาวะโลกร้อนหรือไม่นั้น ดร.ฟอร์ซิธกล่าวว่าขณะนี้มีกฎหมายด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรการก่อสร้างอาคาร เช่น การสร้างบ้านใหม่ที่ใช้บานกระจกเป็นผนังหรือหน้าต่างต้องใช้ระจก 2 ชั้นเพื่อกักเก็บความอบอุ่นไว้ในตัวบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นด้วย และอนาคตอาจมีกฎหมายที่เฉพาะบุคคลมากขึ้นโดยอาจกำหนดให้แต่ละคนลดการใช้พลังงานด้วย

อย่างไรก็ดีตาม ดร.ฟอร์ซิธอาจารย์สิ่งแวดล้อมผู้ทำงานเกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสะอาดและเคยทำงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้เป็นเวลา 6 ปี กล่าวว่าสิ่งสำคัญสำหรับประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกคือการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด

ทั้งนี้หากแต่ละประเทศมีนโยบายตั้งรับกับปัญหาโลกร้อนจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000072839

Thursday, June 21, 2007

ก้าวสู่ยุคเว็บ 3.0

หากโทรศัพท์มือถือที่เราใช้อยู่เป็นประจำอยู่ในยุค 2.5-3 จี แล้วคุณรู้ไหมว่าเว็บไซต์ที่เราใช้บริการค้นหาข้อมูล อีเมล ดาวน์โหลดโปรแกรม ที่เราใช้อยู่ทุกวันเป็นประจำอยู่ในยุคของเว็บ 2.0 ซึ่งเป็นมาตรฐานของเว็บไซต์ใหม่แทบทุกเว็บในโลกมาได้ประมาณ 2-3 ปี และเชื่อไหมว่าตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคของเว็บ 3.0 เว็บไซต์รูปแบบใหม่ที่เน้นคลังข้อมูล รวมทุกสิ่งที่ทุกคนอยากรู้ ให้น่าใช้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีกระดับ

ผมเชื่ออยู่อย่างว่า หลังจบย่อหน้าแรกหลายคนคงทำหน้านิ่วคิ้วขมวด กับคำถามคาใจว่านี่เรากำลังจะเข้าเว็บ 3.0 แล้วหรอ เพิ่งเป็นเว็บ 2.0 มาหมาดๆ เองนะบางคนคงถามว่า เว็บ 2.0 คืออะไรหว่า มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ทำไมไม่เห็นรู้เรื่องเลย ในรายระดับสาหัสสุดๆ ร้อยวันพันปีจะใช้อินเตอร์เน็ตสักครั้ง คงร้องว่า โอ้...พระเจ้ายอด มันจอร์จมาก... ว่าแต่ว่าเจ้าเว็บ 1.0 หน้าตาเป็นยังไง แล้วมาเป็น 3.0 ได้ยังไง หากท่านมีอาการดังกล่าวให้เตรียมยาดมไว้ให้พร้อม เพราะที่จะเล่าต่ออาจทำให้ยิ่งปวดขมับกว่าเดิม

เมื่อพูดถึงเว็บ 1.0 ต้องย้อนกลับไปราวๆ ปี 1992-1999 หลังจากอินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายไปทั่ว นักเล่นอินเตอร์เน็ตในยุคนั้นเริ่มใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโปรแกรมที่เรียกว่า เว็บ บราวเซอร์ อย่าง Netscape, IE Opera ผ่านรูปแบบเว็บไซต์ที่ง่ายต่อการเขียนอย่างภาษา HTML (Hypertext Language) ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมพื้นฐานง่ายๆ โดยใช้โปรแกรม โน้ตแพด ที่มากับวินโดว์ส หรือแม้กระทั้งโปรแกรมเวิร์ดของออฟฟิศก็สามารถเปลี่ยนเป็นนามสกุล html ก็สามารถนำขึ้นเว็บได้แล้ว

หน้าตาเว็บในยุคเว็บ 1.0 นำเสนอเพียงข้อมูลที่ผู้สร้างต้องการจะนำเสนอ ใครอยากรู้อะไรก็คลิกเข้าดู มีลูกเล่นเล็กๆ อย่างภาพเคลื่อนไหวบนเว็บ เล่นเกมผ่านหน้าเว็บ ดาวน์โหลดเพลง โปรแกรม เกม และใช้งานอีเมล การค้นหาเว็บไซต์ใหม่ๆ ของผู้ใช้อาศัยการกดลิงก์ไปยังเว็บอื่นๆ ตามที่มีคนสร้างมีการแลกลิงก์กันระหว่างเว็บ เนื่องจากระบบการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ยังไม่ทันสมัยเท่าปัจจุบัน ไม่มีการแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์มากนัก ทำให้โปรแกรมแชตอย่าง เพิร์ช และ ไอซีคิว เฟื่องฟูเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งปี 1999-2004 ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าเป็นยุคเว็บ 1.5 ก็ว่าได้ รูปแบบของเว็บไซต์ไดพัฒนามากขึ้น มีการสร้างระบบกระทู้ให้ผู้เข้าใช้บริการได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองขึ้นมา มีบริการสร้างฟรีโฮมเพจส่วนตัว เช่น Lycos และ Geocity เป็นต้น (คล้ายกับเว็บบล็อก แต่ผู้ใช้ต้องเขียนโปรแกรมและออกแบบเองทั้งหมด) เว็บไซต์สามารถนำข้อมูลภาพเคลื่อนไหวและเสียงสดๆ ขึ้นบนหน้าเว็บได้

เป็นผลพลอยได้ระหว่างการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และผลจากการนำโปรแกรมใหม่ๆ เข้ามาเว็บไซต์อย่าง Java, API, Dreamwaver และอีกมากมาย ซึ่งความเร็วและโปรแกรมเหล่านี้ทำให้หน้าตาของเว็บและการใช้งานเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

จนกระทั่งหลังปี 2004 จนถึงปัจจุบัน นับเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงจากเว็บ 1.0 เข้าสู่เว็บ 2.0 อย่างแท้จริง บางคนอาจไม่ได้สังเกตถึงการเปลี่ยนแปลง นั่นก็เพราะว่าบรรดาเว็บไซต์จะเปลี่ยนแปลงค่อยเป็นค่อยไปมาก่อนปี 2004 โดยเว็บที่สังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือ hotmail.com และวิกิพีเดีย และในประเทศก็คือ Mthai.com

สำหรับฮอทเมล เปลี่ยนแปลงโดยสร้างรูปแบบหน้าจอให้ง่ายต่อการใช้งาน และสนับสนุนการใช้งานผ่านระบบ IM (Instant Message) ให้แพร่หลาย นอกจากนี้ฮอทเมลยังเป็นเว็บแรกๆ ของโลกที่เปลี่ยนมาสู่ยุค 2.0 ก่อนใคร ในขณะที่วิกิพีเดียกลายเป็นคลังข้อมูลดิจิตอลที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว ส่วนเอ็มไทยนั้นพัฒนาจากเว็บรวมกระทู้ธรรมดาๆ กลายเป็นชุมชนออนไลน์ขนาดใหญ่ ที่มีบริการหลากหลายทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียงเพลง รวมทั้งรวบรวมข่าวสารที่น่าสนใจแทบทุกอย่างในประเทศไทย

เว็บ 2.0 จะมีลักษณะที่เรียกว่าเป็นชุมชน คือมีการพูดคุยตอบโต้ความคิดเห็นซึ่งกันและกันมากขึ้น การโต้ตอบหรือการติดต่อสื่อสาร 2 ทางนี้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการติดต่อซื้อขายผ่านเว็บไซต์อย่างอีเบย์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังเผยแพร่ข้อมูลไม่จำเป็น ต้องเป็นเจ้าของเว็บ อย่าง วิกีพีเดีย ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เขียนบทความที่มีสาระเข้าไปอย่างอิสระและมีการตรวจสอบกันเอง รวมทั้งการเกิดเว็บบล็อกก็เป็นแหล่งข้อมูลส่วนตัวของคนใช้อินเตอร์เน็ตที่เปิดกว้างมากขึ้น

เว็บ 2.0 มีความสามารถในการแชร์ไฟล์และข้อมูลร่วมกันมากขึ้น จุดนี้ไม่ได้หมายความถึง Bittorent ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ แต่เป้นการอัพข้อมูลขึ้นบนเว็บและให้ใครก็ได้สามารถเข้ามาโหลดข้อมูลนี้ไปใช้ ทั้งยังเน้นความสวยงาม ลูกเล่นแพรวพราว สบายตาน่าใช้

ขณะที่เว็บ 3.0 จะเป็นก้าวต่อไปของเว็บไซต์ที่พัฒนาจากเดิมมากมาย อย่างแรกที่บรรดานักออกแบบเว้บไซต์รวมทั้งผู้สร้างโปรแกรมเขียนเว็บได้พัฒนากันไว้คือเรื่องความฉลาดของเว็บโปรแกรมจะมีการโต้ตอบกับผู้ใช้หรือบันทึกสิ่งที่เขาชอบค้นหามากที่สุด จากนั้นมันจะช่วยค้นหาคำที่ต้องการรวมทั้งข้อมูลใกล้เคียงที่สามารถนำไปใช้ได้

มีระบบฐานข้อมูลอย่างละเอียดเช่นในข่าวที่เราค้นหาอาจจะมีชื่อคนที่ไม่คุ้นหู เว็บไซต์จะทำแถบลิงก์ชื่อของคนคนนั้นเพื่อนำไปสู่ข้อมูลบุคคลหรือข่าวที่เคยเกิดขึ้น เป็นต้น นอกจากความฉลาดและฐานข้อมูลขนาดมหึมาแล้ว กราฟิกของเว็บไซต์จะเป็นไปในรูปแบบ 3 มิติ หน้าตาเว็บไซต์จะไม่ได้ถูกจำกัดแค่การแสดงผลเหมือนหน้ากระดาษเท่านั้น แต่จะกลายเป็นเว็บที่มีมิติให้ผู้เข้าชมรู้สึกเหมือนเดินเข้าไปในสถานที่แห่งหนึ่งแล้วคลิกเลือกดูสิ่งสิ่งที่ต้องการได้ คล้ายๆ กับโปรแกรมเกม Second life ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในเวลานี้ โดยเว็บที่เริ่มพัฒนาเข้าข่าย 3.0 แต่ยังไม่เป็นโดยสมบูรณ์ก็มีเช่น google.com, live.com เป็นต้น

ปัจจุบันในต่างประเทศก็เริ่มมีเว็บไซต์แนวนี้กันมากขึ้นและเป็นการส่งสัญญาณแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแล้วว่า คอมพิวเตอร์สเปกต่ำๆ ที่เชื่อกันว่าใช้เล่นอินเตอร์เน็ต พิมพ์งาน รวมทั้งความเร็วในการเชื่อมต่อที่ 56 Kbbp คงไม่เพียงพอต่อการทำงานในอนาคต

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ Today

“ขบคิดและค้นหา” เรียนและเล่นไปกับห้องเรียนวิทย์แนวใหม่

คงจะดีไม่น้อย หากห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในบ้านเราจะมีหน้าตาเปลี่ยนไป จากห้องเรียนสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เน้นการท่องจำ ไปเป็นห้องเรียนห้องใหญ่ที่เด็กๆ จะได้ฝึกกระบวนการคิดไปพร้อมๆ กับเรียนรู้เนื้อหาวิชาการที่คัดสรรและเรียงร้อยมาให้แบบชัดเจน เข้าใจง่าย จนเด็กๆ เกิดความรักและสนใจในวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเอง และด้วยความต้องการนี้ “โครงการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ IN – STEP” จึงมีตัวตนขึ้นจริงในวันนี้

“น้องๆ ทราบไหมว่า วันนี้น้องๆ มาทำอะไรกัน ถ้าบอกว่ามาดูงานวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เห็นทีน้องๆ คงผิดหวังแล้ว เพราะวันนี้เราจะมาแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระหว่างกันค่ะ”

สิ้นน้ำเสียงใสๆ ใจดีของพี่เอ็ม “ดร.กิตติมา ศรีวัฒนกุล” รอง ผอ.ฝ่ายกลยุทธ์สัมพันธ์ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทักทายกับน้องๆ แล้ว กิจกรรมห้องเรียนวิทยาศาสตร์ “จุดประกายฝัน...วันวิทยาศาสตร์” เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” จ.พังงา ก็เริ่มขึ้นด้วยบรรยากาศสนุกสนาน เป็นกันเอง เพื่อเบิกโรงนำความรู้วิทยาศาสตร์ชั้น ม.ต้นให้เด็กๆ ได้เรียกน้ำย่อยกันก่อนได้เรียนจริงเต็มรูปแบบในห้องเรียน

กิจกรรมที่นำมา “เรียน” และ “เล่น” ครั้งนี้ เช่น กิจกรรม “พลังงานและการเคลื่อนที่” สำหรับเด็กๆ ชั้น ม.1 ด้วยรถพลังกับดักหนู พลังงานจากกับดักหนูที่ผลักให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า กิจกรรม “แสง” ของชั้น ม.2 พร้อมทั้งเกมสนุกๆ อย่างเกมจับผิดภาพเหมือนที่ต้องอาศัยความแม่นยำของสายตากับความสั้นยาวที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยของสิ่งต่างๆ ในภาพ และกิจกรรม “โลกในอวกาศ” สำหรับชั้น ม.3 ที่บรรดาทีมงานต่างหอบหิ้วเอาชุดกิจกรรมและแบบจำลองระบบสุริยจักรวาลง่ายๆ มาให้เด็กๆ ได้สัมผัสกัน

นอกจากนี้ยังมี “สตาร์แล็บ” หรือท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ขนาดย่อม ที่ให้เด็กๆ ได้เข้าไปนั่งแหงนหน้าดูดาวตอนกลางวันได้เต็มอิ่ม โดยแต่ละชุดกิจกรรม เด็กๆ จะได้รับคำอธิบายจากคุณครูทีมงานแบบเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ต้องเปิดตำรากันมากทั้งฝ่ายผู้สอนและผู้เรียน

อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่แท้จริงของโครงการก็ไม่ได้อยู่ที่การจัดกิจกรรมเอาใจเด็กๆ ซึ่งไม่แตกต่างจากที่เห็นกันในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ดั้งเดิมของเรามากนัก ดร.กิตติมา บอกว่า เน้นการฝึกอบรม “ครูวิทยาศาสตร์ชั้น ม.ต้นในพื้นที่” ซึ่งได้จัดอบรมแล้ว 45 คนจาก 22 โรงเรียนนำร่อง เป็นเวลาประมาณ 30 ชั่วโมง ด้วยแนวทาง “การสืบเสาะหาความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในอเมริกา และไทยเป็นประเทศแรกนอกสหรัฐฯ ที่ได้นำร่องโครงการนี้ที่ จ.พังงา หลังเกิดสึนามิ

“แนวการสอนใหม่จะแตกต่างจากการสอนแบบดั้งเดิมของไทย ที่เน้นเนื้อหามากกว่ากระบวนการคิด โดยแต่เดิมเราจะเน้นการให้ความรู้สาระวิชาจำนวนมากแก่เด็ก คล้ายกับการหาปลาให้เด็กกินมากกว่าการสอนกระบวนการคิดที่เหมือนกับสอนให้เด็กตกปลา ซึ่งการเรียนแนวใหม่นี้จะช่วยให้เนื้อหาในห้องเรียนน้อยลงได้ และเด็กก็จะมีเวลาว่างมากขึ้นเพื่อไปเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นอื่นๆ” คุณครูเฉพาะกิจกล่าว

โครงการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ IN – STEP เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันคีนันแห่งเอเซีย และบริษัท เอสเอ็มดี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ และให้ทุนรวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยสอน

ส่วนความจำเป็นที่ต้องนำการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่มาใช้กับเด็กไทยนั้น ดร.ประมวล ศิริผันแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสจาก สสวท. หนึ่งพันธมิตรโครงการให้ภาพว่า ปัจจุบัน เด็กไทยมีพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์ที่อ่อนแอมากเมื่อเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ยและกับเด็กต่างประเทศ แม้ว่าภาครัฐจะลงทุนไปมากแล้วก็ตาม โดยการสอบแข่งขันทั้งในประเทศและนอกประเทศ เด็กไทยมักทำคะแนนได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเสมอ จนเรียกได้ว่าสอบตกทีเดียว ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์ที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยเพียง 30% และคณิตศาสตร์มีค่าคะแนนเฉลี่ยเพียง 40% จึงเห็นว่าการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทยยังไปไม่ถึงมาตรฐาน

ขณะที่โครงการ IN- STEP นี้มองว่า น่าจะเป็นโครงการพัฒนาครูที่ช่วยให้เด็กไทยรักการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น และน่าจะปรับใช้กับห้องเรียนไทยได้ลงตัว ไม่มีปัญหาความแตกต่างอะไรระหว่างเด็กสหรัฐฯ และเด็กไทย ทั้งในส่วนของภาคปฏิบัติ การคิดเป็นระบบ มีเหตุผล มีจริยธรรม และประพฤติตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ โดย สสวท.ปรับปรุงเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่รับมาจากสหรัฐฯ ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยมากที่สุด เวลานี้ สพฐ.และ สสวท.ก็เริ่มนำรูปแบบการสอนในโครงการไปขยายผลยังทั่วประเทศบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น

ครูผู้เข้ารับการอบรม “พัชรี ประทีป” ครูวิทยาศาสตร์แกนนำ ชั้น ม.2 โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” ผู้ยึดอาชีพแม่พิมพ์ของชาติมาตลอด 24 ปี เผยว่า หลังเข้ารับการอบรมแล้วก็นำสิ่งที่ได้มาปรับใช้ในห้องเรียนทันที จนผ่านมาแล้ว 1 ภาคการศึกษาพบว่าการสอนแนวใหม่ทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนสนุกขึ้น ฝ่ายผู้เรียนเองก็รู้สึกสนุกสนานเช่นเดียวกันกับผู้สอน

“เราจะพยายามให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่บอกว่าคำตอบเขาถูกหรือผิด แต่จะกระตุ้นให้ทำ ให้คิดต่อ เพื่อรู้ด้วยตัวเองว่าคำตอบนี้ถูกหรือผิด เด็กก็ตื่นเต้นที่เราสอนแนวใหม่ แต่เวลาใช้การสอนแนวใหม่นี้เราต้องไม่หวังผลแบบทันทีทันใด แต่ต้องรอคอยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งครูผู้สอนต้องกระตุ้นให้เด็กได้คิด ค้นคว้าด้วยตัวเอง ครูต้องใจกว้าง ไม่ยัดเยียดความคิดตัวเอง รับฟังเด็ก และไม่ด่วนตัดสินคำตอบที่เด็กตอบมาไม่ว่าคำตอบนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม

เสียงจากนักเรียนตัวน้อยในพื้นที่ซึ่งมาร่วมกิจกรรมในวันนั้น “อ๊อด” ด.ช.ฉัตรชัย เสวกสาคร ม.1 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เผยว่า ตามปกติแล้วที่โรงเรียนก็มีกิจกรรมวิทยาศาสตร์บ้างเหมือนกัน เช่น การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนตัวกำลังสนใจเรื่องจรวดขวดน้ำอยู่ และได้อ่านหนังสือเรื่องการทำจรวดขวดน้ำมาบ้างแล้ว โดยสาเหตุที่สนใจจรวดขวดน้ำก็เพราะชอบเรียนวิทยาศาสตร์มากอยู่แล้วเพราะอยากค้นคว้าทดลอง และหวังด้วยว่าพอโตขึ้นแล้วจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์สมใจ

สุดท้าย เมื่อถามว่าได้ทำกิจกรรมตามแนวการสอนวิทยาศาสตร์แบบใหม่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง อ๊อด ตอบว่า เป็นครั้งแรกที่มีกิจกรรมวิทยาศาสตร์มาลงในพื้นที่ เมื่อได้ทำกิจกรรมทุกฐานแล้วก็รู้สึกสนุกมาก โดยชอบกิจกรรมดูดาวในโดมสตาร์แล็บมากที่สุด เพราะทำให้ได้เห็นการฉายภาพดวงดาวมากมาย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000061006

รู้คำตอบแล้วทำไมตุ๊กแกตีนกาว


ทีมวิจัยสหรัฐรู้คำตอบแล้วว่า ทำไมตีนตุ๊กแกถึงเหนียวหนึบไต่ผนังได้ ความรู้ที่ได้เอาไปประยุกต์ใช้ทำกาวประสิทธิภาพสูง และระบบเบรกรถยนต์

นักชีววิทยาจากวิทยาลัยลูอิสแอนด์คลาร์ก ซึ่งตั้งอยู่ในมลรัฐนโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่า ตีนตุ๊กแกมีขนเหนียวหนืด ที่เรียกว่า เซเต้ ขึ้นปกคลุมอยู่ตามนิ้วเท้า แต่พลังยึดเกาะของตีนตุ๊กแกต่างจากผลิตภัณฑ์กาวทั่วไป เช่น แผ่นโพสต์-อิท ที่เป็นกาวอ่อนๆ ปิดแล้วลอกออกได้ง่าย หรือจะเป็นกาวที่ติดแน่นทนนานอย่างเทปกาวปิดกล่อง เทียบกันแล้วตีนตุ๊กแกติดหนึบเหนียวแน่น แต่ลอกออกได้ง่าย

นักวิจัยได้พิสูจน์ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวของตุ๊กแกตีนกาว โดยวัดแรงที่ใช้ถอนตีนตุ๊กแกออกจากพื้นผิวที่มันเกาะอยู่ และดูว่าเวลาที่ตีนตุ๊กแกเหยียบลงบนพื้นที่มีมุมต่างกันมีผลต่อแรงยึดอย่างไร

พวกเขาพบว่า เมื่อเท้ากดลงบนพื้นผิวทำให้ขนที่ฝ่าเท้าทำมุม 30 องศากับแนวระนาบ เกิดเป็นแรงยึดเกาะมหาศาลขนาดยึดของหนัก 130 กิโลกรัมได้ ครั้นขนปรับทำมุม 90 องศา ผลปรากฏว่าสามารถถอนตีนตุ๊กแกออกจากพื้นผิวได้สบาย และเนื่องจากขนมีโครงสร้างที่แข่งแกร่งจึงไม่เสียหายง่ายๆ เมื่อต้องยกเท้าขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา

นักวิจัย บอกว่า การค้นพบนี้ช่วยแก้ปัญหาด้านวิศวกรรมได้อย่างน่าทึ่ง และคงไม่มีใครคาดถึงหากตุ๊กแกไม่มีวิวัฒนาการมหัศจรรย์นี้ และเป็นไปได้ว่าวิศวกรยานยนต์จะเอาคุณสมบัติพิเศษของตีนตุ๊กแกไปใช้พัฒนาระบบเบรกให้รถยนต์ และจากการคำนวณพบว่า ระบบเบรกตีนตุ๊กแกสามารถหยุดรถที่วิ่งด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้ระยะเบรกเพียง 5 เมตร ถึงกระนั้น นักวิจัย กล่าวว่า คงอีกนานกว่าจะมีวัสดุแบบนี้ใช้ในรถยนต์ เพราะยิ่งขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นยิ่งมีปัญหา

แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีทางออกเลย นักวิจัย กล่าวว่า ถ้าพัฒนาท่อนาโนที่มีความแกร่งและลวดซิลิกอนนาโนได้ ก็อาจนำมาใช้แทนขนตีนตุ๊กแกได้ และอาจผลิตเป็นสินค้าใช้งานได้ในอีก 10 ปี

ปีเตอร์ ฟอร์บส์ ผู้เขียนเรื่อง "ตีนตุ๊กแก" กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันยังไม่มีใครผลิตตีนตุ๊กแกสังเคราะห์ด้วยท่อนาโนแผ่นขนาดใหญ่ได้สำเร็จ เพราะการผลิตท่อนาโนเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนภายใต้อุณหภูมิที่ระดับสูง แต่อย่างน้อยตอนนี้มีทีมวิจัย 4 ทีม ที่ซุ่มทำเรื่องนี้อยู่ หนึ่งในนั้นคือ บริทิช แอโรสเปซ

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/21/WW54_5407_news.php?newsid=80219

'ไบโอเซ็นเซอร์'ตรวจวัณโรค1นาที


‘มศว ผนวกความรู้ด้านแพทยศาสตร์กับวิศวกรรมศาสตร์ ผลิตไบโอเซ็นเซอร์ตรวจเชื้อวัณโรค รู้ผลรวดเร็วใน 1 นาที เปิดกว้างรับเอกชนด้านเวชภัณฑ์ร่วมวิจัยต่อยอดทำเครื่องมือตรวจโรคติดเชื้ออื่นๆ

รศ.ดร.โกสุม จันทรศิริ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยี มศว อยู่ระหว่างพัฒนา "ไบโอเซ็นเซอร์" สำหรับตรวจวัดเชื้อวัณโรคชนิด มัยโคแบคทีเรียมทูเบอร์คุโลซิส และพยาธิเท้าช้างชนิด บรูเกีย มาลาไย จากนั้นจะขยายการพัฒนาไปยังโรคติดเชื้อสำคัญอื่นคือไข้เลือดออกและเอดส์

ศูนย์นาโนฯนำความรู้จาก 2 สาขาวิชามาทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาเป็นไบโอเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่ใช้งานในวงกว้าง ทั้งการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม การทหารและสิ่งแวดล้อม ส่วนประกอบหลักของไบโอเซ็นเซอร์คือ ตัวแปลงสัญญาณและไบโอรีเซฟเตอร์ ซึ่งเป็นโมโลกุลชีวภาพมีความสามารถ ในการจดจำเชื้อโรคหรือตัวถูกวิเคราะห์ได้อย่างเฉพาะเจาะจง ไบโอเซ็นเซอร์มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน

นักวิจัยของศูนย์นาโนฯ คิดค้นไบโอเซ็นเซอร์ที่วัดการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักของสารที่มาเกาะ ซึ่งไบโอเซ็นเซอร์ชนิดนี้เรียกว่า คิวซีเอ็ม เป็นงานที่พัฒนามาจากไบโอเซ็นเซอร์ที่มีใช้อยู่แล้ว ส่วนตัวตรวจจับนั้นนักวิจัยกำลังศึกษาและพัฒนาดีเอ็นเอโพโซเล็ก ไบโอเซ็นเซอร์ สำหรับตรวจวัดเชื้อวัณโรคและพยาธิเท้าช้างดังกล่าว ทั้งนี้ เครื่องมือที่ใช้ตรวจหาวัณโรคชนิดมัยโคแบคทีเรียมทูเบอร์คุโลซิส ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย

"โดยปกติการตรวจเชื้อวัณโรค อาศัยวิธีเพาะเลี้ยงเชื้อบนจานเลี้ยงเชื้อเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อจะพิสูจน์ว่าเป็นเชื้อชนิดใด บางครั้งถ้านำเชื้อไปเลี้ยงแล้วมีปัญหาเชื้อไม่ขึ้น ผลพิสูจน์ก็จะคลาดเคลื่อน ขณะที่อาการของผู้ป่วยได้ดำเนินไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้การดูแลรักษาไม่ทันท่วงที ด้วยระยะเวลานาน ทำให้การตัดสินใจทำการรักษาช้าไปด้วย ขณะที่ดีเอ็นเอโพโซเล็กไบโอเซ็นเซอร์ ที่นักวิจัยกำลังพัฒนานี้ จะร่นเวลาการวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคเหลือเพียง 1 นาที จากเดิมที่ต้องรอนานนับเดือน จึงจะทราบว่าเป็นวัณโรคชนิดมัยโคแบคทีเรียมทูเบอร์คุโลซิสหรือไม่" รศ.ดร.โกสุม กล่าว

อย่างไรก็ตามไบโอเซ็นเซอร์ที่กำลังพัฒนานี้ สามารถตรวจวัดเชื้อวัณโรคที่ยังไม่ดื้อยาเท่านั้น แต่ในอนาคตจะตรวจวัดเชื้อดื้อยาได้ด้วย ทั้งยังสามารถบอกได้ด้วยว่าดื้อยาตัวใด ขณะเดียวกันความรู้ที่ได้จากการทำวิจัย ยังนำไปพัฒนาเครื่องมือตรวจโรคอื่นๆ ได้ต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์นาโนฯ เปิดรับความร่วมมือจากภาคเอกชนด้านเวชภัณฑ์ยา ที่สนใจพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์ร่วมกัน

สำหรับศูนย์นาโนเทคโนโลยี มศว จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือลักษณะสหสาขาวิชาการ ของคณะแพทยศาสตร์กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยนำความรู้ด้านดีเอ็นเอ เอนไซม์ แอนติบอดี้ อณูชีววิทยา ซึ่งเป็นความรู้ทางชีวเคมีและจุลชีวะผนวกเข้ากับความรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์และฟิสิกส์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการพัฒนาอุปกรณ์วินิจฉัยโรค

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/21/WW54_5401_news.php?newsid=80198

ม.ขอนแก่นคิดอุปกรณ์ประหยัดเบนซิน


วิศวะขอนแก่นร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่น รับการสนับสนุนจากองค์กรทุนวิจัย คิดค้นอุปกรณ์ช่วยเครื่องยนต์เบนซินประหยัดน้ำมัน 15%

ผศ.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า อุปกรณ์ประหยัดน้ำมันเบนซิน “ICC.SYSTEM” เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์วิจัยและพัฒนาร่วมกับบริษัทโปรอาร์ กรุ๊ป จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และโครงงานอุตสาหกรรมสำหรับนักศึกษาปริญญาตรี (IRPUS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รวมประมาณ 6 แสนบาท ซึ่ง 50% เป็นทุนวิจัยจากภาคเอกชน

อุปกรณ์ดังกล่าวช่วยเครื่องยนต์เบนซินประหยัดน้ำมัน 10-15% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยซึ่งได้จากการทดสอบในรถยนต์ ที่ครอบคลุมเกือบทุกยี่ห้อรวม 10 กว่าคัน รวมทั้งดูสภาพการขับขี่ที่ต่างกัน ซึ่งแบ่งเป็นการขับขี่ในตัวเมืองและการขับขี่ทางไกลข้ามจังหวัด โดยเก็บข้อมูลเปรียบเทียบก่อนติดตั้งอุปกรณ์กับหลังติดตั้งอุปกรณ์ในรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค

“เราออกแบบการทดสอบ เพื่อดูประสิทธิภาพของอุปกรณ์ว่าช่วยให้เกิดการประหยัดน้ำมันได้เท่าไรในแต่ละรุ่นและแต่ละยี่ห้อ รวมทั้งลดปริมาณไอเสียได้เท่าไร โดยทดสอบที่ 3 ระดับความเร็วคือ 60, 90 และ110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ” นักวิจัย กล่าว

นักวิจัยออกแบบให้อุปกรณ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ ของเครื่องยนต์เบนซินให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเพิ่มปริมาณออกซิเจน ที่เข้าไปในห้องเผาไหม้เครื่องยนต์ตามความต้องการจริง เพื่อชดเชยปริมาณออกซิเจนที่ขาดหายไป ทำให้อัตราส่วนผสมระหว่างอากาศกับน้ำมันเชื้อเพลิงมีค่าใกล้เคียงกันในทุกระดับความเร็วรอบ มีผลให้น้ำมันสิ้นเปลืองน้อย อัตราการเร่งดีและไอเสียที่ปล่อยออกมาน้อย


ไอซีซี.ซิสเต็ม พัฒนาแล้วเสร็จและเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและอีสานเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันได้รับการติดตั้งใช้งานแล้วในรถยนต์ประมาณ 5 หมื่นคัน ส่วนโปรอาร์กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ประกอบการในจังหวัดขอนแก่น และเมื่อปี 2546 ได้เปิดตัวอุปกรณ์ช่วยเครื่องยนต์ดีเซลประหยัดน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันยอดจำหน่ายรวมประมาณ 4 แสนตัว ทั้งยังส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย

นายรุ่งศักดิ์ วิเศษศักดิ์ ประธานบริษัทโปรอาร์กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า นอกจากสิ่งประดิษฐ์ด้านอุปกรณ์ประหยัดน้ำมันแล้ว ขณะนี้บริษัทกำลังจะก้าวสู่สิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และงานช่างกล โดยอยู่ระหว่างวิจัยพัฒนาเครื่องต้นแบบอุปกรณ์ควบคุมถุงบริจาคโลหิต เครื่องฉีดธาตุเหล็กสำหรับผู้ป่วยโรคโลหิตจางและธาลัสซีเมีย และหัวอัดจาระบี ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์สำหรับงานช่างกล โดยทุกโครงการดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/21/WW54_5401_news.php?newsid=80194

"หลุมดำ" อาจไม่มีอยู่จริง


นิวส์ไซแอนทิสต์/สเปซเดลี/ยูเอสทูเดย์/ไทม์ออฟอินเดีย- ทีมนักฟิสิกส์สหรัฐเผยรายงานอาจไม่มีหลุมดำอยู่จริง เพราะขณะมวลยุบตัวก่อขอบฟ้าเหตุการณ์ทำให้ความหนาแน่นลดลงจนไม่อาจเกิดหลุมดำได้ แต่น่าจะมี "ดาวดำ" มากกว่า

จากการศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคส เวสเทิร์น รีเซิร์ฟ (Case Western Reserve University) ไอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ซึ่งรายงานผลการวิจัย "การสังเกตการก่อเกิดของหลุมดำและข้อมูลที่หายไป" (Observation of Incipient Black Holes and the Information Loss Problem) ในวารสารวิชาการฟิสิคัล รีวิว ดี (Physical Review D) เป็นไปได้ว่า "หลุมดำ" (Black Hole) อาจจะไม่มีอยู่จริง

"ไม่มีอะไรอย่างนั้น มีเพียงดวงดาวที่กำลังจะกลายเป็นหลุมดำแต่ก็ไม่ได้เป็น" คือข้อสรุปของทีมนักวิจัยจากเคส เวสเทิร์น รีเซิร์ฟ (Case Western Reserve University) ซึ่งประกอบไปด้วย แทนเมย์ วะชัสปาติ (Tanmay Vachaspati) นักวิจัยเชื้อสายอินเดีย, เดอแจน สตอจ์โกวิค (Dejan Stojkovic) และลอว์เรนซ์ เคราส์ (Lawrence Krauss) หลังจากที่พวกเขาใช้เวลาร่วมปีทำงานกับสูตรที่ซับซ้อนเพื่อคำนวณการก่อตัวของหลุมดำ ซึ่งภายในเอกสาร 13 หน้าที่รายงานไปนั้นอาจช่วยแก้ความขัดแย้งเกี่ยวกับ "ข้อมูลที่หายไป" (information loss) ซึ่งสร้างความ "งงงวย" ให้กับนักฟิสิกส์นานนับ 40 ปี

นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานว่า "ขอบฟ้าเหตุการณ์" (event horizon) เป็นขอบเขตที่ไม่สิ่งใดจะหลุดรอดจากแรงโน้มถ่วงของหลุมดำออกมาได้ ซึ่งตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปแล้วแม้แต่แสงก็ถูกกักขังภายในและไม่ข้อมูลใดๆ ที่หลุดเข้าไปในหลุมดำแล้วจะหนีออกมาได้ คล้ายกับว่าข้อมูลต่างๆ ได้หลุดหายไปจากเอกภพ สิ่งนี้ขัดแย้งกับสมการของกลศาสตร์ควอนตัมที่จะคงไว้ซึ่งข้อมูลเสมอ แล้วจะแก้ปัญหาที่ขัดแย้งนี้ได้อย่างไร?

คำถามที่เหล่านักฟิสิกส์ตั้งเป้าแก้ปัญหาคือ อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อบางสิ่งยุบตัวเข้าไปในหลุมดำ? หากข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับมวลที่ยุบตัวสูญหาย มันก็จะขัดแย้งกับกฎทางควอนตัมฟิสิกส์ ในปัจจุบันมีความคิดหนึ่งว่าสสารได้เปลี่ยนเป็นขอบฟ้าเหตุการณ์และก่อรูปเป็นหลุมดำ จากนั้นข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับสสารนั้นก็หายไป

ทีมวิจัยของวะชัสปาติพยายามที่จะคำนวณว่าอะไรเกิดขึ้นขณะหลุมดำก่อตัว โดยใช้สมการชโรดิงเจอร์ (Schrodinger equation) ในการแก้ปัญหา พวกเขามองทรงกลมของวัตถุว่าคล้ายกับมันยุบตัวลงไปและทำนายว่าระยะเท่าไหร่ที่ผู้สังเกตจะเห็นปรากฎการณ์ดังกล่าวได้

เหล่านักวิจัยจากเคส เวสเทิร์น รีเซิร์ฟพบว่าแรงโน้มถ่วงของมวลที่ยุบตัวไปนั้นได้รบกวนสุญญากาศควอนตัม และทำให้เกิด "การแผ่รังสีฮอว์กิงเบื้องต้น" (pre-Hawking radiation) ซึ่งการสูญเสียจากการแผ่รังสีที่ลดมวล-พลังงานทั้งหมดของวัตถุทำให้ไม่มีความหนาแน่นเพียงพอที่ก่อขอบฟ้าเหตุการณ์และหลุมดำของจริงได้ แม้ดวงดาวจะเริ่มต้นก่อตัวเป็นหลุมดำแต่ที่สุดก็ไม่สามารถเป็นได้

"หากคุณนิยามว่าหลุมดำคือสถานที่บางแห่งที่ทำให้คุณสูญเสียวัตถุต่างๆ ไป ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีสิ่งที่ว่าเพราะหลุมดำจะหายไปก่อนที่จะมีอะไรหลุดเข้าไป" วะชัสปาติกล่าว โดยเขาเชื่อว่าจะมีสิ่งที่เรียกว่า "ดาวดำ" (Black star) มากกว่าที่จะมีหลุมดำ

ตามหลักการแผ่รังสีฮอว์กิงเบื้องต้นที่เป็นการแผ่รังสีในเชิงไม่ใช่ความร้อน (Non-thermal radiation) ทำให้การหดสั้นลงของมวลจะไม่ยุบตัวลงไปในขอบฟ้าเหตุการณ์ และจากการคำนวณด้วยสมการชโรดิงเจอร์ทีมวิจัยระบุว่าข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานจากการแผ่รังสีจะสลายไปก่อนที่ขอบฟ้าเหตุการณ์จะก่อตัว

"การแผ่รังสีในเชิงที่ไม่ใช่ความร้อนจะเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ได้ ไม่เหมือนการแผ่รังสีเชิงความร้อน (thermal radiation) สิ่งนี้หมายความว่าห่างจากผู้สังเกตที่กำลังจับตาดูวัตถุยุบตัวจะเห็นการดูดกลืนรังสีในเชิงที่ไม่ใช่ความร้อนกลับคืนและสามารถสร้างข้อมูลขึ้นภายในวัตถุ ดังนั้นข้อมูลก็จะไม่สูญหายไปไหน" ทีมวิจัยระบุ

อย่างไรก็ดีมีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขา เจอราร์ด ฮุฟท์ (Gerard 't Hooft) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลจากมหาวิทยาลัยอูเทรคชท์ (Utrecht University) ในเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่ากระบวนการเกิดหลุมดำไม่มีทางที่ผลิตการแผ่รังสีอย่างเพียงพอที่จะทำให้หลุมดำหายไปอย่างรวดเร็วเช่นที่ทีมวิจัยระบุ เพราะขอบฟ้าจะก่อตัวนานก่อนที่ตัวหลุมจะหายไป

ขณะที่สตีฟ กิดดิงส์ (Steve Giddings) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาบาร์บารา (University of California in Santa Barbara) สหรัฐอเมริกา ก็เป็นอีกคนที่เคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่ทีมวิจัยจากเคส เวสเทิร์น รีเสิร์ฟ ค้นพบโดยระบุว่ามีสิ่งที่ขัดแย้งอย่างชัดเจนในสิ่งที่พวกเขาค้นพบ

"สำหรับความรู้ของผม มันไม่มีความมุ่งหมายที่จะเข้าใจว่าพวกเขาได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างจากการคำนวณเหล่านี้อย่างไร ทั้งนี้อาจจะเป็นก้าวสำคัญที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ชัดแจ้ง" กิดดิงส์กล่าว

ทั้งนี้อาจมีวิธีที่จะพิสูจน์ทฤษฎีใหม่ของทีมวะชัสปาติซึ่งอาจจะเป็นเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ "แอลเอชซี" (Large Hadron Collider: LHC) ของเซิร์น (CERN) ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยอุปกรณ์ดังกล่าวอาจสร้างหลุมดำขนาดจิ๋วขึ้นมาได้ หรืออาจจะเป็นดาวดำอย่างที่วัชปาติบอกหากว่าทฤษฎีของเขาถูก แต่หลุมดำจิ๋วจะสลายไปอย่างรวดเร็วต่างจากหลุมดำขนาดใหญ่ที่คงอยู่ได้นานในอวกาศ ถึงอย่างนั้นการแผ่ขยายพลังงานอาจเผยให้เห็นการก่อตัวของขอบฟ้าเหตุการณ์ ขณะเดียวกันก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น

ทางอีกหนึ่งที่จะพิสูจน์ได้คือการชนกันของดาวดำในอวกาศอาจจะเผยตัวตนออกมา ซึ่งตามที่วัชปาติระบุดาวดำเหล่านั้นจะไม่ปลดปล่อยเพียงแค่คลื่นโน้มถ่วงออกมา หากแต่ยังปลดปล่อยรังสีแกมมาออกมาด้วย โดยทีมวิจัยกล่าวว่านักดาราศาสตร์สามารถตรวจวัดการระเบิดของรังสีแกมมาได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/S
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000071853

เปิดเทคนิคแชมป์ ‘ABU Robot 2007’


สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ บริษัท อสมท จำกัด (มหา ชน) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) จัดแข่งขัน ABU Robot Contest Thailand Championship 2007 รอบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ภายใต้ชื่อ “มหัศจรรย์ ฮาลองเบ” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผลปรากฏว่า “มะ พร้าวอ่อน 3” จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา โค่นแชมป์เก่า “หอยหลอด” จากวิทยา ลัยเทคนิคสมุทรสงคราม คว้าโล่จากนายกรัฐมนตรีและเงินรางวัลมาครอง เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ “ABU Robocon 2007” ที่ ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้

อาจารย์บรรณพต จันทร์แดง อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมมะพร้าวอ่อน 3 ซึ่งประกอบด้วย นายวัชรพงษ์ จันทา, นายจักรกฤษ วรางกูร และนายอาทิตย์ เจนสัญญายุทธ นักเรียนสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ที่นอกจากได้รับรางวัลชนะเลิศแล้ว ยังได้รับรางวัลเพื่อการพัฒนาหุ่นยนต์ จากฮอนด้า จำนวน 1 แสนบาท พร้อมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีการคิดค้นหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ “อาซิโม” กล่าวว่า จุดเด่นของทีมอยู่ที่หุ่นยนต์ออโต้ซึ่งมีโปรแกรมที่หลากหลาย สามารถพลิกแพลงปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของสถาน การณ์ได้ ทั้งยังสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากตัวเซ็นเซอร์สำหรับอ่านเส้นนักเรียนทำขึ้นเอง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียน

“หุ่นยนต์ออโต้ทั้ง 3 ตัว จะมีโปรแกรมให้เลือกใช้งานอย่างน้อยตัวละ 12-13 โปรแกรม ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะเขียนจากการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า และก่อนที่จะไปแข่ง ขันที่เวียดนามจะเขียนโปรแกรมเพิ่มอย่างน้อยอีกตัวละ 5 โปรแกรม พร้อมปรับปรุงโครงสร้างให้แข็งแรงกว่าเดิม”อาจารย์บรรณพต กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ไม่ห่วงว่าอุปกรณ์ในการสร้างหุ่นยนต์จะด้อยกว่าต่างชาติ เพราะไอซีทีมีเงินอัดฉีดให้ถึง 9 แสนบาทเพื่อพัฒนาต่อยอดก่อนไปชิงชัยที่เวียดนาม ที่สำคัญการที่จะชนะได้ขึ้นอยู่กับการแก้เกมและเทคนิคซึ่งทีมไทยทำได้ดี พร้อมมองว่าในเชิงของนโยบายภาครัฐควรที่จะเปิดเวทีแข่งขันในลักษณะนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กไทยได้ฝึกฝนฝีมือ

สำหรับกติกาการแข่งขัน แต่ละทีมจะมีสมาชิก 4 คน แบ่งเป็นนักเรียน/นักศึกษา 3 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน ออกแบบหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ 1 ตัว และหุ่นยนต์อัตโนมัติไม่เกิน 3 ตัว น้ำหนักรวมไม่เกิน 50 กิโลกรัม ซึ่งแต่ละทีมต้องนำวัตถุรูปทรงกระบอกที่เปรียบเสมือนไข่มุก ไปสร้างเกาะซึ่งเสมือน เมืองฮาลอง และเมืองไบตูลองของประเทศเวียดนาม ทีมที่สร้าง “Victory Islands” ที่มีลักษณะเป็น รูปตัววีเสร็จก่อนจะเป็นผู้ชนะ หรือถ้าสร้างไม่เสร็จก็จะใช้การนับคะแนนตัดสิน การแข่งขันจะใช้เวลา 3 นาที แบ่งเป็นทีมสีเขียวและสีแดง

ส่วนรางวัลอื่น ๆ อาทิ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งและรางวัลหุ่นยนต์อัตโนมัติยอดเยี่ยมเป็นของทีมหอยหลอด, รางวัลรองชนะเลิศอันดับสองเป็นของทีม MEC-CARLA มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ และทีม iRAP THE UPPERCUT สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=131140&NewsType=1&Template=1

Wednesday, June 20, 2007

ผวาปัญหาโลกร้อนหลังจีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกแซงสหรัฐฯ

ผวาปัญหาโลกร้อนหลังจีนกลายเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก แซงหน้าแชมป์เก่าหลายสมัยอย่างสหรัฐ เร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้

(20มิย.) สำนักงานประเมินด้านสิ่งแวดล้อมของเนเธอร์แลนด์ เปิดเผยตัวเลขล่าสุดเมื่อวานนี้ พบว่าเมื่อปีที่แล้ว จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 6,200 ล้านตัน เทียบกับ 5,800 ล้านตันที่สหรัฐปล่อย กล่าวคือปริมาณการปล่อยก๊าซของจีนเพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับ 1.4% ของสหรัฐทั้งๆที่เมื่อปี 2548 จีนปล่อยก๊าซที่ว่านี้น้อยกว่าสหรัฐถึง 2% ซึ่งก็ถือเป็นครั้งแรกที่จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แซงหน้าสหรัฐ ซึ่งครองอันดับหนึ่งมานานติดต่อกันหลายปี

แต่ตัวเลขล่าสุดนี้คำนวณเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการผลิตซีเมนต์และการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากซากพืชซากสัตว์โดยเฉพาะจากถ่านหินเท่านั้น โดยยังไม่ได้รวมส่วนที่มีที่มาอื่นทั้งยังไม่รวบถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น อย่างเช่น ก๊าซมีเธนจากการทำการเกษตร และไนตรัสออกไซด์จากอุตสาหกรรม
แม้จีนจะแซงหน้าสหรัฐเป็นครั้งแรก แต่เมื่อเทียบปริมาณการปล่อยก๊าซของประชากรต่อหัวแล้วอัตราการสร้างมลภาวะของคนจีนยังต่ำกว่าคนสหรัฐ 5-6 เท่า

การที่จีนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แซงหน้าสหรัฐ ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย หากแต่เร็วกว่าที่คิด เพราะหลายคนคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นในปีหน้า และเรื่องนี้ก็ทำให้หลายฝ่ายหวั่นวิตกมากขึ้น ต่อปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ และอาจเพิ่มแรงกดดันให้ต้องเร่งผลักดันข้อตกลงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกที่จะมาใช้แทนพิธีสารเกียวโตซึ่งกำลังจะหมดอายุในปี 2555

ที่ผ่านมา พิธีสารเกียวโตไม่มีความคืบหน้ามากนักเนื่องจากสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกติดต่อกันหลายปี ไม่ยอมให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโตเนื่องจากพิธีสารฉบับนี้ไม่ได้เรียกร้องให้จีนและประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างอินเดียและบราซิลต้องตัดลดการปล่อยก๊าซ

เมื่อต้นเดือน รัฐบาลจีนได้ประกาศวาระแห่งชาติเกี่ยวกับการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน เป็นครั้งแรกโดยตั้งเป้าลดการใช้พลังงานลง 20% ภายในปี 2553 และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ แต่ไม่กำหนดตัวเลขเป้าหมายการตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

พลูโตกินแห้วอีก ไม่ได้เป็นพี่เบิ้มดาวเคราะห์แคระ

ชะตากรรมดาวพลูโตยังไม่สิ้นเคราะห์ ถูกลดชั้นให้เป็นดาวเคราะห์แคระแล้วยังไม่พอ ล่าสุดนักดาราศาสตร์ยังพบว่า ดาวพลูโตมีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์แคระด้วยกันเอง

ปีที่แล้ว สมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือไอเอยู ได้จัดระบบดาวเคราะห์ในระบบสุริยะใหม่ โดยลดชั้นดาวพลูโตจากดาวเคราะห์เป็นดาวเคราะห์แคระ ร่วมกับดาวเคราะห์แคระอีก 2 ดวง ได้แก่ ซีเรส และอีริส ซึ่งการค้นพบดาวเคราะห์แคระอีริส หรืออีกชื่อหนึ่งคือ 2003 ยูบี 313 เมื่อปี 2548 ถือเป็นจุดอวสานของดาวพลูโตในฐานะดาวเคราะห์ที่อยู่ไกลสุดของระบบสุริยะ

ไมค์ บราวน์ นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ค้นพบว่า แท้จริงแล้ว ดาวเคราะห์แคระนามอีริสที่อยู่ไกลออกไปนั้น มีมวลใหญ่กว่าพลูโต ทำให้พลูโตดำรงตำแหน่งเป็นน้องคนกลางของครอบครัวดาวเคราะห์แคระ และมีดาวซีเรสเป็นน้องคนสุดท้อง

นักดาราศาสตร์ยังใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลคำนวณมวลของดาวอีริสยืนยันว่ามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่าพลูโตจริง อีริสอยู่ห่างจากโลกราว 14.5 พันล้านกิโลเมตร ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบกินเวลา 560 ปี

อีริสมีดวงจันทร์บริวารชื่อว่า ไดสโนเมีย นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้มวลของดวงจันทร์ดวงนี้พร้อมกับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์เค็กที่ตั้งอยู่บนเกาะฮาวาย และกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิลคำนวณมวลของอีริส ดาวเคราะห์แคระดวงนี้ไม่ได้มีขนาดใหญ่สุดในบรรดาดาวเคราะห์แห่งสามดวงในระบบสุริยะเท่านั้น แต่ยังมีขนาดใหญ่สุดในบรรดาดาวเคราะห์แคระทั้งหมดที่เคยพบ

ส่วนดาวเคราะห์แคระซีเรส ถูกค้นพบมานานกว่า 200 ปีแล้ว โดยพระและนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลี ซีเรสเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "เข็มขัดอุกกาบาต" เป็นกลุ่มอุกกาบาตที่โคจรคั่นอยู่ระหว่างดาวอังคารกับดาวพฤหัส

ก่อนหน้านี้ อีริสเคยถูกจัดอันดับให้เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 10 ของระบบสุริยะ แต่ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาตลอด จนสุดท้ายไอเอยูได้นิยามดาวเคราะห์แคระบนเงื่อนไข 4 ประการ ได้แก่ โคจรรอบดาวฤกษ์ แต่ตัวมันเองไม่ใช่ดาวฤกษ์ มีมวลพอเพียงที่จะมีแรงโน้มถ่วงของตัวเองและมีทรงกลมสมบูรณ์ ไม่สามารถควบคุมแรงดึงดูดและวงโคจรของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบวงโคจรของมัน และไม่ใช่ดวงจันทร์บริวาร

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

แข่งหุ่นยนต์...


โยชิอากิ ฮากิวาระ วิศวกรชาวญี่ปุ่น โชว์หุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ “มิยาโนอิ” (Miyanoi) ที่ใช้วิทยุควบคุมเพื่อ
เดินเป็นระยะทาง 5 เมตร ระหว่างการแข่งขัน “เกียวโช คอร์ป แอต เลติกส์ ฮิวมานอยด์ คัพ” โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวสามารถเดิน ยกแขน และเคลื่อนไหวท่าพื้นฐานได้ ซึ่งงานนี้มีผู้ส่งหุ่นยนต์เข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=131038&NewsType=1&Template=1

Tuesday, June 19, 2007

ยานอวกาศสะท้อนแสงอาทิตย์


ดร.โรเจอร์ แองเจล แห่งหอดูดาวสจ๊วร์ต รัฐอาริโซนา สหรัฐ เสนอแนวทางหลุดโลกในการร่วมแก้ปัญหา "โลกร้อน" ซึ่งเชื่อกันว่า ในอนาคตอันใกล้อีก 100 ปีนับจากนี้ จะทำให้สภาพอากาศโลกแปรปรวน เกิดภัยแล้ง น้ำท่วมอย่างหนัก พืชและสิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจถึงคราวดับสูญ

แองเจล เสนอทฤษฎีใหม่ว่า ถ้าเราสร้างกลุ่มยานอวกาศขนาดเล็กขึ้นไปโคจรนอกโลกระดับ "แอล-1" เพื่อคอยสะท้อนแสงและความร้อนจาก "ดวงอาทิตย์" ออกจากโลกไป 1.8 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยให้อุณหภูมิโลกเย็นลงไม่มากก็น้อย ล่าสุด โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานอวกาศสหรัฐ (นาซ่า) เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์หลายสำนัก เช่น ดร.ริชาร์ด อัลเลย์ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย แย้งว่า สาเหตุที่แท้จริงของภัยโลกร้อนน่าจะอยู่ที่ปริมาณ "ก๊าซเรือนกระจก" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์" ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศเสียมากกว่าจะเกิดจากดวงอาทิตย์โดยตรง

คำถามที่ต้องตอบ คือ ถ้าเราสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชหรือไม่ เพราะพืชเป็นอาหารหลักของมนุษย์ นอกจากนั้น ถ้ากลุ่มยานอวกาศเกิดเสียและหลุดจากวงโคจรไปกะทันหัน จะส่งอย่างไรบ้างต่ออุณหภูมิโลก

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec11190650&day=2007/06/19§ionid=0326

หุ่นยนต์นักฆ่า

รัฐบาลเกาหลีใต้และบริษัทซัมซุง เทควิน เปิดตัวหุ่นยนต์นักฆ่า "เอสจีอาร์-เอ 1" มันเป็นหุ่นยนต์ติดอาวุธหนัก มีระบบกล้องอินฟราเรด และเซ็นเซอร์ติดตามค้นหาศัตรูผู้บุกรุกโดยอัตโนมัติในรัศมี 4 กิโลเมตร ใครก็ตามที่พบ "เอสจีอาร์-เอ 1" แล้วพูดไม่เข้าหูมัน (หมายความว่าพูดแล้วระบบวิเคราะห์เสียงพบว่าไม่ใช่เสียงพวกเดียวกัน) หรือ พูดรหัสลับไม่ถูกต้อง จะถูกยิงด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา หรือร้ายแรงที่สุดก็คือ กระสุนจริง โดยไม่มีการปราณีปราศรัย

รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนส่งหุ่นนักฆ่าเหล่านี้เข้าประจำการตามแนวชายแดนติดกับประเทศคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือภายในปี 2551 สาเหตุเพราะทางเทคนิคแล้วทั้งสองชาติยังอยู่ในภาวะสงคราม แม้ "ปัญญาประดิษฐ์" ของหุ่นยนต์จะได้รับการพัฒนาสูงส่งเพียงใด แต่มนุษย์ก็ยังทำใจลำบากที่ต้องฝากชีวิตเอาไว้ในมือของหุ่นยนต์ ไม่มีใครมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า ระบบการทำงานของมันจะไม่มีวันรวนและหันมายิงถล่มพวกเดียวกัน!

ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec10190650&day=2007/06/19§ionid=0326

กระดาษนาโนกันน้ำเลียนแบบใบบัว


ศูนย์นาโนเทคประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจิ๋วเคลือบกระดาษสา สร้างคุณสมบัติกันน้ำ เชื้อราและแบคทีเรีย เลียนแบบใบบัวตามธรรมชาติ

ดร.อิศรา สระมาลา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กล่าวว่า ทีมงานประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนกับการเพิ่มมูลค่ากระดาษสา ให้สามารถกันน้ำ เชื้อราและแบคทีเรีย โดยนำอนุภาคขนาดนาโนของสารจำพวกพลาสติกหรือโพลีเมอร์ เคลือบบนพื้นผิวกระดาษสา และอบในความร้อนที่เหมาะสม เพื่อให้พื้นผิวมีลักษณะคล้ายใบบัว ที่น้ำสามารถกลิ้งอยู่ได้โดยไม่เปียก

"งานวิจัยเริ่มจากศึกษาลักษณะพื้นผิวของวัสดุธรรมชาติที่ป้องกันน้ำได้ เช่น ใบบัว ดอกจอก และขนสัตว์บางชนิด เช่น เป็ด ไก่ พบว่าคุณสมบัติดังกล่าวเกิดจากสภาพผิวที่ค่อนข้างขรุขระ เป็นหนามหรือหลุมขนาดเล็ก เช่น ใบบัวที่มีทั้งขนขนาดเล็กและใหญ่ซ้อนกันอยู่บนผิวใบ รวมทั้งมีไขเคลือบ ทำให้อากาศแทรกตัวอยู่ตามพื้นผิว จนน้ำกลิ้งอยู่ได้โดยไม่เปียก" ดร.อิศรา กล่าว

ทีมงานใช้เวลาค้นคว้าประมาณ 3 เดือนในระดับห้องปฏิบัติการ โดยนำกระดาษสา ซึ่งทำมาจากเส้นใยปอพันธุ์สา ลักษณะเส้นใยไม่เป็นระเบียบ และสั้นกว่าเส้นใยของผ้า มาเป็นตัวทดลอง พบว่าหลังเคลือบสารโพลีเมอร์หรือพลาสติกแล้ว เส้นใยสามารถป้องกันน้ำได้ 100% หยดน้ำกลิ้งบนกระดาษในรูปทรงเป็นวงรี มีองศาวัดจากแผ่นกระดาษได้ 120 องศา เมื่อเทียบกับใบบัวที่น้ำกลิ้งได้แบบอิสระ และหยดน้ำมีลักษณะกลม 360 องศา

“เทคโนโลยีการผลิตกระดาษสากันน้ำนี้ จะเกิดความคุ้มทุนหากนำไปปรับใช้ในการผลิตกระดาษตั้งแต่ขั้นตอนแรก เพราะเส้นใยของกระดาษจะได้รับสารเคลือบอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะนำไปส่งออกหรือแปรรูปเป็นสินค้าชนิดอื่น” ดร.อิศรา กล่าวและว่า

นอกจากเทคโนโลยีอนุภาคนาโนจะเพิ่มมูลค่ากระดาษสาได้แล้ว ยังสามารถนำวิธีการไปประยุกต์ใช้กับเส้นใยชนิดอื่น ทั้งจากธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้แก่ชิ้นงาน หรือเพิ่มมูลค่าในระยะยาวได้อีกด้วย

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย คาดว่าจะวิจัยต่อยอดโดยนำเทคโนโลยีที่ได้ ไปประยุกต์ใช้กับวัสดุอื่นต่อไป เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ประกอบการ ให้มีความสามารถทัดเทียมประเทศคู่ค้าในอนาคต

นายธนูพร สุภาษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอ็มไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกกระดาษสาในปีที่ผ่านมาลดลงมาก เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นสามารถผลิตกระดาษกันน้ำได้ก่อนไทย โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกัน อีกทั้งเนื้อกระดาษของญี่ปุ่นมีความละเอียดติดอันดับ 1 ของโลก ส่งผลให้ธุรกิจกระดาษสาไทยต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพตามไปด้วย

“หากมีเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาคุณสมบัติของกระดาษ ให้สามารถใช้งานได้มากกว่าประโยชน์ด้านบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม อนาคตกระดาษสาอาจจะเป็นกระเป๋าหิ้ว รองเท้าหรือสินค้าแปรรูปชนิดอื่น เพราะเมื่อเทียบกับถุงพลาสติกหรือกล่องเหล็กแล้ว วัสดุที่ทำจากกระดาษสาไม่ทำลายสภาพแวดล้อม” นายธนูพร กล่าว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/19/WW54_5401_news.php?newsid=79806

กระดาษสานาโนกันน้ำ นักวิจัยสร้างเลียนแบบน้ำกลิ้งบนใบบัว

ศูนย์นาโนเทคพัฒนากระดาษสาโฉมใหม่ ไม่เปียกน้ำ ไม่เปื่อยยุ่ยและไม่ขึ้นรา เผยเคลือบผิวหน้าด้วยพลาสติกสุดจิ๋วระดับนาโน นอกจากจะไม่เปียกแล้ว หยดน้ำยังสามารถกลิ้งบนกระดาษไม่ต่างจากน้ำกลิ้งบนใบบัว

ดร.อิศรา สระมาลา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทีมงานประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนกับการเพิ่มมูลค่ากระดาษสาให้สามารถกันน้ำ เชื้อรา และแบคทีเรีย โดยนำอนุภาคขนาดนาโนของสารจำพวกพลาสติกหรือโพลีเมอร์ เคลือบบนพื้นผิวกระดาษสา และอบในความร้อนที่เหมาะสม เพื่อให้พื้นผิวมีลักษณะคล้ายใบบัว ที่น้ำสามารถกลิ้งอยู่ได้โดยไม่เปียก

"งานวิจัยเริ่มจากศึกษาลักษณะพื้นผิวของวัสดุธรรมชาติที่ป้องกันน้ำได้ เช่น ใบบัว ดอกจอก และขนสัตว์บางชนิด เช่น เป็ด ไก่ พบว่าคุณสมบัติดังกล่าวเกิดจากสภาพผิวที่ค่อนข้างขรุขระ เป็นหนามหรือหลุมขนาดเล็ก เช่น ใบบัวที่มีทั้งขนขนาดเล็กและใหญ่ซ้อนกันอยู่บนผิวใบ รวมทั้งมีไขเคลือบ ทำให้อากาศแทรกตัวอยู่ตามพื้นผิว จนน้ำกลิ้งอยู่ได้โดยไม่เปียก" ดร.อิศรา กล่าว

ทีมงานใช้เวลาค้นคว้าประมาณ 3 เดือนในระดับห้องปฏิบัติการ โดยนำกระดาษสา ซึ่งทำมาจากเส้นใยปอพันธุ์สา ลักษณะเส้นใยไม่เป็นระเบียบ และสั้นกว่าเส้นใยของผ้า มาเป็นตัวทดลอง พบว่าหลังเคลือบสารโพลีเมอร์หรือพลาสติกแล้ว เส้นใยสามารถป้องกันน้ำได้ 100% หยดน้ำกลิ้งบนกระดาษในรูปทรงเป็นวงรี เมื่อเทียบกับใบบัวที่น้ำกลิ้งได้แบบอิสระ และหยดน้ำมีรูปทรงกลม

นอกจากเทคโนโลยีอนุภาคนาโน จะเพิ่มมูลค่ากระดาษสาได้แล้ว ยังสามารถนำวิธีการไปประยุกต์ใช้กับเส้นใยชนิดอื่น ทั้งจากธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้แก่ชิ้นงาน หรือเพิ่มมูลค่าในระยะยาวได้อีกด้วย ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

นายธนูพร สุภาษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอ็ม ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ประกอบการส่งออกกระดาษสา กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกกระดาษสาในปีที่ผ่านมาลดลงมาก เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นสามารถผลิตกระดาษกันน้ำได้ก่อนไทย โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกัน อีกทั้งเนื้อกระดาษของญี่ปุ่นมีความละเอียดติดอันดับ 1 ของโลก

"หากมีเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาคุณสมบัติของกระดาษ ให้สามารถใช้งานได้มากกว่าประโยชน์ด้านบรรจุภัณฑ์ อนาคตกระดาษสาอาจจะเป็นกระเป๋าหิ้ว รองเท้า หรือของใช้อื่นๆ ที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม" นายธนูพร กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดบึก

กันน้ำให้กระดาษสาด้วย "เทฟลอนนาโน"

นาโนเทคเผยทำได้แล้วใช้เทคโนโลยีจิ๋วเพิ่มค่าให้กระดาษสา ด้วย "เทฟลอนนาโน" ได้กระดาษกันน้ำ ด้านผู้ประกอบการจาก "บ่อสร้าง" ชี้กระดาษสาไทยยังสู่ญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะประยุกต์ใช้งานได้น้อยกว่า ผลิตได้แค่ของชำร่วย อีกทั้งยอดขายปัจจุบันยังตกต่ำ เชื่อเทคนิคเคลือบอนุภาคนาโนช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติดีขึ้นและแข็งขันกับต่างชาติได้

ดร.อิสรา สระมาลา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เผยถึงการพัฒนากระดาษสาที่เคลือบด้วยอนุภาคนาโน โดยใช้อนุภาคนาโนของสาร PTFE หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "เทฟลอน" มาบดเป็นผงให้ขนาดประมาณ 10 นาโนเมตรแล้วนำไปเคลือบบนกระดาษสาจนทำให้มีคุณสมบัติกันน้ำแต่ยังมีความแข็งแรงเช่นเดียวกับกระดาษทั่วไป และได้เปิดตัวตัวกระดาษสาดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ภายในงานสัมมนาการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมไทยด้วยนาโนเทคโนโลยี ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่

"คุณสมบัติของเทฟลอนโดยปกติไม่ชอบเกาะกับอะไรอยู่แล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเอาไปเคลือบกระทะ แต่ที่นำมาเคลือบกระดาษนี้เราก็นำมาทำให้เป็นผงซึ่งสามารถสังเคราะห์ได้ตั้งแต่ขนาด 10-100 นาโนเมตร แต่ที่นาโนเทคใช้ในครั้งนี้ประมาณ 10 นาโนเมตร ส่วนขนาดของอนุภาคจะต้องควบคุมให้ใกล้เคียงกันหรือไม่นั้น สำหรับกระดาษสาแล้วการคละไซส์จะดีกว่าเพราะจะให้ผิวที่ขรุขระ" ดร.อิศรากล่าว พร้อมทั้งอธิบายเหตุที่ต้องใช้อนุภาคเทฟลอนในขนาดนาโนเพราะต้องการคงลักษณะที่ขรุขระของกระดาษสาไว้ หากใช้เทฟลอนปกติจะได้เป็นแผ่นฟิล์มเคลือบกระดาษ

"ในการเคลือบกระดาษสานั้นทำได้ทั้งระหว่างขั้นตอนการผลิตกระดาษหรือเคลือบหลังกระบวนการผลิตแล้ว แต่ทางศูนย์ไม่มีหน่วยผลิตกระดาษเราจึงใช้การเคลือบไปในภายหลัง" ดร.อิศราซึ่งเป็นหนึ่งทีมวิจัยกระดาษสาที่นำโดย ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล นักวิจัยนาโนเทคเผย พร้อมทั้งระบุว่าได้ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 6 เดือนเพื่อพิสูจน์ว่าสามารถใช้สารนาโนเคลือบลงไปบนกระดาษสาได้ อีกทั้งยังเป็นความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกระดาษสาที่เรียกร้องให้นำนาโนเทคโนโลยีไปปรับปรุงคุณสมบัติต่างๆ ของกระดาษ

นอกจากอนุภาคนาโนของเทฟลอนที่นำมาเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำให้กระดาษสาได้แล้ว ยังอาจใช้พอลิเมอร์ประเภทอื่นๆ อาทิ PET และโพลีโพรพีลีน (Polypropylene) หรือ PP เป็นต้น โดย ดร.อิศราได้เสริมว่าเทฟลอนนั้นมีส่วนผสมของฟลูออรีน (F) ซึ่งเป็นสารที่ทำลายชั้นโอโซนจึงอาจถูกจำกัดทางการค้าในอนาคตได้ ส่วนการใช้พอลิเมอร์ทั้ง 2 ชนิดที่ยกตัวอย่างไปนั้นไม่น่าจะก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะใช้ในระดับที่บางมากและเมื่อโดนแสงแดดหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมก็จะย่อยสลายได้โดยง่าย อย่างไรก็ดีทางศูนย์ยังไม่ได้ทดลองให้เห็นชัดเจนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากพอลิเมอร์ดังกล่าว

ไม่เพียงแค่คุณสมบัติกันน้ำเท่านั้นที่จะเพิ่มลงไปในกระดาษได้ แต่ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อาทิ ใส่แคปซูลนาโนให้ความหอมที่จะค่อยๆ ปลดปล่อยความหอมในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้กระดาษคงกลิ่นหอมได้นานขึ้น หรือใส่สารช่วยลดการลามไฟหรือติดไฟ เป็นต้น อีกทั้งยังใช้นาโนเทคโนโลยีเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ ให้กับกระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรมได้อีกด้วย

"ในโรงงานเบียร์หรือน้ำผลไม้จะมีกระดาษสำหรับกรอง ซึ่งเมื่อใช้แล้วก็จะเปื่อยยุ่ย วัสดุกรองพวกนี้ใช้แล้วทิ้ง ถ้ามีเทคโนโลยีที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ หากใช้นาโนเทคโนโลยีเข้าไปช่วยอาจทำให้กระดาษไม่เปื่อยยุ่ยหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งหลักการแล้วไม่ยาก เป็นไปได้ แต่จะคุ้มทุนหรือเปล่า" ดร.อิศรากล่าวถึงแนวทางในการพัฒนากระดาษสำหรับอุตสาหกรรมที่นอกเหนือไปจากการพัฒนากระดาษสำหรับงานหัตถกรรมเช่นกระดาษสา

"หลักการเคลือบกระดาษสาด้วยอนุภาคนาโนนั้นเป็นหลักการคล้ายกับการเคลือบสิ่งทอและเส้นใยอื่นๆ เนื่องจากกระดาษก็เป็นเส้นใยชนิดหนึ่ง เพียงแต่มีเส้นใยขนาดสั้นและสานกันอย่างไม่เป็นระเบียบ ต่างจากสิ่งทอที่เส้นใยยาวและสานกันอย่างเป็นระเบียบ" ดร.อิศรากล่าว พร้อมทั้งแจงถึงเหตุผลที่นาโนเทคเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเส้นใยเพราะมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่สุด เพราะไทยมีผู้ประกอบการหลายระดับ ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ รวมทั้งยังมีอุตสาหกรรมการออกแบบเสื้อผ้าซึ่งเป็นปลายทางของอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ในส่วนของ นายธนูพร สุภาษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอ็ม อินเทอร์เนชันนัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าและของชำร่วยจากกระดาษสาที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบ่อสร้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมกระดาษสาของไทยในปัจจุบันว่าไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมานั้นเป็นสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ต่างจากที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในการผลิตกระดาษสาของโลกที่ประยุกต์ใช้กระดาษกับผลิตภัณฑ์ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ เป็นต้น และยังทนน้ำได้ดี

"ญี่ปุ่นเขาเคยมาสาธิตเอาน้ำยาเคลือบกระดาษสาให้กันน้ำได้ แต่หาซื้อที่เมืองไทยไม่ได้ ถ้าจะซื้อจากญี่ปุ่นก็ต้องซื้อเป็นตู้คอนเทรนเนอร์ซึ่งตกเป็นล้านกว่าบาท" นายธนพรกล่าว โดยบริษัทของเขาซึ่งมีบริษัทลูกผลิตกระดาษสาอยู่นอกตัวเมืองเชียงใหม่นั้นมีรายได้ตกปีละ 1 ล้านบาท แต่กิจการในช่วงปีนี้ย่ำแย่กว่าปีก่อนๆ ลูกค้าซึ่งมีทั้งจากยุโรป สหรัฐและเอเชียต่างลดจำนวนการสั่งซื้อลง บางรายที่เคยสั่งซื้อ 100% ก็ลดลงเหลือเพียง 20-25% ทั้งนี้เขาเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าจากการกระดาษไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่จะก็พยายามที่พัฒนาสินค้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น

อย่างไรก็ดีจากการพัฒนากระดาษสากันน้ำของนาโนเทคนั้นนายธนูพรเชื่อจะช่วยให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีกว่า และเพียงเฉพาะคุณสมบัติที่กันน้ำได้ก็น่าจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่เป็นคู่แข่งของไทย หากแต่ยังมีอินเดียและเนปาลที่ผลิตกระดาษสาป้อนตลาดโลกเช่นกัน โดยผลิตกระดาษสาที่มีราคาถูกกว่าแต่คุณสมบัติกระดาษสาของประเทศทั้ง 2 ยังสู้ไทยไม่ได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000070594

ความก้าวหน้าของเซลล์เชื้อเพลิงฝีมือไทย พัฒนาวัสดุเองได้ ช่วยลดต้นทุน

...หลังจากที่เคยได้ยินเรื่องราวของงานวิจัยไทยเกี่ยวกับเซลล์เชื้อเพลิง แหล่งพลังงานแห่งอนาคตเมื่อ 6-7 ปีก่อนหน้านี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่วันนี้...เราสามารถบอกได้อย่างเต็มปาก ว่า การพัฒนาเทคโนโลยี เซลล์เชื้อเพลิงนี้ เราไม่น้อยหน้าใครในโลก

ปัจจุบัน..นักวิจัยไทยได้พัฒนาวัสดุใหม่สำหรับผลิตเซลล์เชื้อเพลิง ที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตพลังงานถูกลง ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย

“ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ” นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. บอกว่า เซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel cell เป็นเซลล์ไฟฟ้าเคมีอย่างหนึ่งคล้ายกับแบตเตอรี่ ที่เปลี่ยนเชื้อเพลิงให้เป็นกระแสไฟฟ้า อาศัยก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนเป็นสารตั้งต้น

เทคโนโลยีนี้ถูกจับตามองว่าเป็น
ทางเลือกที่ดีสำหรับการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงและปราศจากมลพิษ แต่ยังเป็นที่กังวลถึงที่มาของก๊าซไฮโดรเจนที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งกว่าจะได้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์นั้นต้องใช้พลังงานในการผลิตเป็นจำนวนมาก ทำให้มีราคาแพง และเพื่อขจัดปัญหาข้อกังวลดังกล่าว โครงการจึงเลือกทำการวิจัยเซลล์เชื้อเพลิงประเภทออกไซด์ของแข็งแบบท่อ ที่ทำงานในสภาวะอุณหภูมิ 800-1,000 องศาเซล เซียส โดยใช้สารประกอบเซรามิกเป็นอิเล็กโทรไลต์

และสารประกอบเซรามิกนี้เองที่นักวิจัยไทย โดย สวทช. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเซาธ์ แคโรไลน่า (สหรัฐอเมริกา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัทเฮนสัน เซรามิคส์ ประเทศอังกฤษ และบริษัทไฮเจน เพาเวอร์ ประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการพัฒนาให้เป็นวัสดุใหม่สำหรับผลิตเซลล์เชื้อเพลิง

สำหรับข้อดีของการใช้เซรามิกเป็นอิเล็กโทรไลต์ ดร.ภาวดีบอกว่า เซรามิกทนต่อความร้อนสูง ดังนั้นสารตั้งต้นหรือเชื้อเพลิงที่นำมาใช้จึงไม่จำเป็นต้องเป็นก๊าซไฮโดรเจน บริสุทธิ์ที่มีราคาแพงเหมือนการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงแบบอื่น ๆ เราสามารถนำสารที่มีไฮโดรเจนเป็น องค์ประกอบ เช่น ก๊าซธรรมชาติ เอทานอล เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเมทิลแอลกอฮอล์มาเป็นเชื้อเพลิงในระบบได้ ซึ่งเชื้อเพลิงเหล่านี้สามารถหาได้ง่ายในเมืองไทยและมีราคาถูก

แต่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องของการทำงานในอุณหภูมิที่สูง ทำให้เซลล์เชื้อเพลิงประเภทออกไซด์ของแข็งนี้เหมาะสำหรับการใช้งานอยู่กับที่เช่นในอาคาร บ้านเรือนหรือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชน

ดร.ภาวดี กล่าวอีกว่า จากการวิจัยที่มีอยู่แบบครบวงจรของนักวิจัยไทย พบว่าเราสามารถผลิตเซลล์เชื้อเพลิงได้แล้วและสามารถทำได้ราคาที่ถูกกว่าต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งจากการทดลองผลิตโดยใช้วัสดุเดียวกันทั่วโลกสามารถผลิตเซลล์เชื้อเพลิงได้ในราคาเฉลี่ย 140 บาทต่อวัตต์ แต่ไทยสามารถทำได้ ในราคาเพียง 100 บาทต่อวัตต์เท่านั้น เนื่อง จากมีความร่วมมือในการวิจัยที่เป็นเครือข่าย ประกอบกับค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณูปโภค ค่าพลังงานรวมถึงค่าแรงงานต่าง ๆ ทำให้ไทยมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

เมื่อเทียบราคากับเชื้อเพลิงอื่น ๆ ในปัจจุบันแล้ว พบว่า เซลล์เชื้อเพลิงยังมีราคาสูงกว่าพลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน) หรือถ่านหิน แต่เมื่อเทียบกับโซลาร์เซลล์หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์แล้ว นักวิจัยบอกว่าเทียบเท่าและบางทีอาจถูกกว่าเมื่อผลิตจำนวนมาก แถมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าด้วย

ปัจจุบันคณะวิจัยอยู่ระหว่างการทำวิจัยและพัฒนาหน่วยต้นแบบการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 1-3 กิโลวัตต์สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในบ้านเรือนหรือชุมชน ซึ่งขณะนี้สามารถผลิตต้นแบบขนาด 80 วัตต์ได้แล้ว และจะมีการส่งมอบต้นแบบการผลิตในระดับ 1 กิโลวัตต์จำนวน 2 ชุดได้ภายในสิ้นปีนี้

และหากโครงการวิจัยนี้สำเร็จ ขั้นตอนต่อไป ก็จะสามารถสร้างต้นแบบในการสร้างหน่วยผลิตไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 100-250 กิโลวัตต์ เพื่อใช้งานในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต

ผลงานวิจัยดังกล่าวได้เป็นที่สนใจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือ กฟผ. ที่ต้องการนำไปใช้ในชุมชนห่างไกลไม่สามารถดึงสายไฟฟ้าเข้าไปได้ โดยมีเป้าหมาย เซลล์ผลิตไฟฟ้าขนาด 10 กิโลวัตต์ ภายในปี 2553 นี้

...นี่ก็คือความก้าวหน้าของงานวิจัยไทย กับเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนา และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องนำมาใช้ ไทยสู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศได้แน่นอน!!!.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=130904&NewsType=1&Template=1

ความก้าวหน้าของเซลล์เชื้อเพลิงฝีมือไทย พัฒนาวัสดุเองได้ ช่วยลดต้นทุน

...หลังจากที่เคยได้ยินเรื่องราวของงานวิจัยไทยเกี่ยวกับเซลล์เชื้อเพลิง แหล่งพลังงานแห่งอนาคตเมื่อ 6-7 ปีก่อนหน้านี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับความสำเร็จของนักวิจัยไทยที่วันนี้...เราสามารถบอกได้อย่างเต็มปาก ว่า การพัฒนาเทคโนโลยี เซลล์เชื้อเพลิงนี้ เราไม่น้อยหน้าใครในโลก

ปัจจุบัน..นักวิจัยไทยได้พัฒนาวัสดุใหม่สำหรับผลิตเซลล์เชื้อเพลิง ที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตพลังงานถูกลง ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ได้ยื่นจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อย

“ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ” นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. บอกว่า เซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel cell เป็นเซลล์ไฟฟ้าเคมีอย่างหนึ่งคล้ายกับแบตเตอรี่ ที่เปลี่ยนเชื้อเพลิงให้เป็นกระแสไฟฟ้า อาศัยก๊าซไฮโดรเจนและออกซิเจนเป็นสารตั้งต้น

เทคโนโลยีนี้ถูกจับตามองว่าเป็น
ทางเลือกที่ดีสำหรับการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงและปราศจากมลพิษ แต่ยังเป็นที่กังวลถึงที่มาของก๊าซไฮโดรเจนที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งกว่าจะได้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์นั้นต้องใช้พลังงานในการผลิตเป็นจำนวนมาก ทำให้มีราคาแพง และเพื่อขจัดปัญหาข้อกังวลดังกล่าว โครงการจึงเลือกทำการวิจัยเซลล์เชื้อเพลิงประเภทออกไซด์ของแข็งแบบท่อ ที่ทำงานในสภาวะอุณหภูมิ 800-1,000 องศาเซล เซียส โดยใช้สารประกอบเซรามิกเป็นอิเล็กโทรไลต์

และสารประกอบเซรามิกนี้เองที่นักวิจัยไทย โดย สวทช. ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเซาธ์ แคโรไลน่า (สหรัฐอเมริกา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัทเฮนสัน เซรามิคส์ ประเทศอังกฤษ และบริษัทไฮเจน เพาเวอร์ ประเทศไทย ประสบความสำเร็จในการพัฒนาให้เป็นวัสดุใหม่สำหรับผลิตเซลล์เชื้อเพลิง

สำหรับข้อดีของการใช้เซรามิกเป็นอิเล็กโทรไลต์ ดร.ภาวดีบอกว่า เซรามิกทนต่อความร้อนสูง ดังนั้นสารตั้งต้นหรือเชื้อเพลิงที่นำมาใช้จึงไม่จำเป็นต้องเป็นก๊าซไฮโดรเจน บริสุทธิ์ที่มีราคาแพงเหมือนการผลิตเซลล์เชื้อเพลิงแบบอื่น ๆ เราสามารถนำสารที่มีไฮโดรเจนเป็น องค์ประกอบ เช่น ก๊าซธรรมชาติ เอทานอล เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเมทิลแอลกอฮอล์มาเป็นเชื้อเพลิงในระบบได้ ซึ่งเชื้อเพลิงเหล่านี้สามารถหาได้ง่ายในเมืองไทยและมีราคาถูก

แต่เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องของการทำงานในอุณหภูมิที่สูง ทำให้เซลล์เชื้อเพลิงประเภทออกไซด์ของแข็งนี้เหมาะสำหรับการใช้งานอยู่กับที่เช่นในอาคาร บ้านเรือนหรือเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชน

ดร.ภาวดี กล่าวอีกว่า จากการวิจัยที่มีอยู่แบบครบวงจรของนักวิจัยไทย พบว่าเราสามารถผลิตเซลล์เชื้อเพลิงได้แล้วและสามารถทำได้ราคาที่ถูกกว่าต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งจากการทดลองผลิตโดยใช้วัสดุเดียวกันทั่วโลกสามารถผลิตเซลล์เชื้อเพลิงได้ในราคาเฉลี่ย 140 บาทต่อวัตต์ แต่ไทยสามารถทำได้ ในราคาเพียง 100 บาทต่อวัตต์เท่านั้น เนื่อง จากมีความร่วมมือในการวิจัยที่เป็นเครือข่าย ประกอบกับค่าใช้จ่ายในด้านสาธารณูปโภค ค่าพลังงานรวมถึงค่าแรงงานต่าง ๆ ทำให้ไทยมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

เมื่อเทียบราคากับเชื้อเพลิงอื่น ๆ ในปัจจุบันแล้ว พบว่า เซลล์เชื้อเพลิงยังมีราคาสูงกว่าพลังงานจากฟอสซิล (น้ำมัน) หรือถ่านหิน แต่เมื่อเทียบกับโซลาร์เซลล์หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์แล้ว นักวิจัยบอกว่าเทียบเท่าและบางทีอาจถูกกว่าเมื่อผลิตจำนวนมาก แถมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าด้วย

ปัจจุบันคณะวิจัยอยู่ระหว่างการทำวิจัยและพัฒนาหน่วยต้นแบบการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 1-3 กิโลวัตต์สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในบ้านเรือนหรือชุมชน ซึ่งขณะนี้สามารถผลิตต้นแบบขนาด 80 วัตต์ได้แล้ว และจะมีการส่งมอบต้นแบบการผลิตในระดับ 1 กิโลวัตต์จำนวน 2 ชุดได้ภายในสิ้นปีนี้

และหากโครงการวิจัยนี้สำเร็จ ขั้นตอนต่อไป ก็จะสามารถสร้างต้นแบบในการสร้างหน่วยผลิตไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นถึง 100-250 กิโลวัตต์ เพื่อใช้งานในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ใหญ่ขึ้นได้ในอนาคต

ผลงานวิจัยดังกล่าวได้เป็นที่สนใจของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือ กฟผ. ที่ต้องการนำไปใช้ในชุมชนห่างไกลไม่สามารถดึงสายไฟฟ้าเข้าไปได้ โดยมีเป้าหมาย เซลล์ผลิตไฟฟ้าขนาด 10 กิโลวัตต์ ภายในปี 2553 นี้

...นี่ก็คือความก้าวหน้าของงานวิจัยไทย กับเทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่ทั่วโลกกำลังแข่งขันกันพัฒนา และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องนำมาใช้ ไทยสู้เทคโนโลยีจากต่างประเทศได้แน่นอน!!!.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=130904&NewsType=1&Template=1

Monday, June 18, 2007

ส่ง "ฉลาดล้ำโลก" ฉายแทน "เมก้าเคลฟเวอร์" เริ่ม 14 มิย.นี้

ก.วิทย์-สวทช.-อสมท.ดึงรายการ "ฉลาดล้ำโลก" จากเกาะอังกฤษลงจอเริ่ม 14 มิ.ย. แทนรายการ "เมก้าเคลฟเวอร์" ทื่ลาจอไปเมื่อสัปดาห์ก่อน หลังซื้อลิขสิทธิ์เยอรมันมาฉายร่วม 50 ตอน พร้อมเสริมรายการ "วันละนิด วิทย์เทคโน" นำเสนอวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของคนไทยยาว 1 นาทีครึ่งทุกวันจันทร์-ศุกร์

หลังสร้างปรากฏการณ์ทางจอโทรทัศน์ช่อง 9 "โมเดิร์นไนน์" ได้ร่วมปี "เมก้าเคลฟเวอร์-ฉลาดสุดๆ" รายการเกมโชว์แนววิทยาศาสตร์ก็ถึงเวลาลาจอ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จึงได้นำรายการ "ฉลาดล้ำโลก" ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์จากรายการ "บียอนด์ทูมอร์โรว์" (Beyond Tomorrow) จากอังกฤษมาฉายทุกวันพฤหัสบดี เวลา 20.30 น. โดยมี “อาร์ม” พิพัฒน์ วิทยาปัญญานันท์ เป็นผู้ดำเนินรายการและเริ่มฉายตอนแรกวันที่ 14 มิ.ย.นี้

สำหรับรูปแบบรายการนั้น รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. เผยว่าเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลก อาทิ จักรยานยนต์พับได้ หุ่นยนต์ เป็นต้น และมีนักวิทยาศาสตร์จาก สวทช.มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่นำเสนอในรายการ ทั้งนี้ทางสำนักงานมีบทบาทในการคัดเลือกรายการที่จะมาทดแทน "เมก้าเคลฟเวอร์" ซึ่งได้ซื้อลิขสิทธิ์รายการจากเยอรมนีร่วม 52 ตอนและกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการผลิตรายการตอนใหม่ๆ จึงยังไม่สามารถขายลิขสิทธิ์ตอนต่อๆ ไปให้กับไทยได้ อย่างไรก็ดีได้จัดคณะทำงานไว้ชุดหนึ่งเพื่อให้ข้อมูลโปรดิวเซอร์สำหรับการทำรายการใหม่นี้ด้วย

"นอกจากการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยวิทยาศาสตร์แล้ว สวทช.ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ารายการเมก้าเคลฟเวอร์เป็นรายการที่เยาวชนให้ความสนใจเป็นอันดับ 3 รองจากรายการแดนสนธยาและสำรวจโลก ทำให้เห็นว่ารายการแนววิทยาศาสตร์ก็ได้รับความสนใจจากสังคมและสื่อทีวีมีอิทธิพลสูง เชื่อว่าจะกระตุ้นสังคมให้เป็นสังคมแห่งความรู้ได้" รศ.ดร.ศักรินทร์กล่าว

ทางด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท.กล่าวว่า รายการเมก้าเคลฟเวอร์ได้สร้างความรู้ความเข้าใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและได้กระแสตอบรับที่ดี ก่อให้เกิดการตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เยาวชนตั้งคำถามต่อสิ่งใกล้ตัวและไกลตัว และเมื่อพิจารณารายการใหม่แล้วเชื่อว่ารายการฉลาดล้ำโลกจะสร้างปรากฏการณ์ตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกครั้ง

พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เสริมว่านอกจากรายการที่ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาแล้วยังมีรายการที่แสดงความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของไทยคือรายการ "วันละนิด วิทย์เทคโน" ซึ่งฉายทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 19.30 น. ด้วยความยาว 1 นาทีครึ่ง ซึ่งจะเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วไปหรือเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยมีส่วนร่วม

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000068619

เฟ้นหายอดนักสื่อสาร “แรงบันดาลใจจากธรรมชาติสู่เทคโนโลยี”

ด้วยความฝันอยากบินได้เหมือนนกเราจึงมีเครื่องบิน เพราะเห็นต่อสร้างรังเราจึงมีกระดาษที่ผลิตจากไม้ ด้วยปรากฏการณ์น้ำกลิ้งบนใบบัวเราจึงมีเสื้อนาโนกันน้ำ ธรรมชาติกลายเป็นแรงบันดาลให้เกิดนวัตกรรมมากมายบนโลกใบนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ทางชีววิทยาและเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ไบโอนิก” ซึ่งเป็นหัวข้อประกวดการสื่อสารวิทยาศาสตร์ประจำปีนี้

“ไบโอนิก” (Bionik) เป็นสาขาวิชาที่รวบหลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยนำชีววิทยาเชื่อมเข้ากับวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อนำวิธีแก้ปัญหาจากเทคนิคต่างๆ ที่พบในธรรมชาติมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ แต่ไม่ใช่การลอกเลียนธรรมชาติทั้งดุ้น เพราะหลายหลักการไม่สามารถนำไม่ใช้ได้โดยตรงหากไม่ปรับเทคโนโลยีให้เหมาะสมเสียก่อน

กว่าจะมีเครื่องบินมนุษย์ต้องศึกษาการบินและธรรมชาติของนกโดยละเอียด และที่สุดเราจึงเข้าใจว่าสิ่งบางเบาอย่าง “อากาศ” คือตัวพยุงให้นกหรือแม้แต่เครื่องยนต์กลไกที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเคลื่อนไหวอยู่กลางอากาศได้ เป็นแรงบันดาลใจจากธรรมชาติสู่เทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่เรานำไปสอนลูกหลานได้อีกหลายรุ่น

“ผมเข้าใจว่าเจ้าตัวต่อสามารถดึงด้ายจากไม้และทำรังกระดาษได้โดยที่มันเคี้ยวเนื้อไม้จนละเอียด แล้วยาติดกันด้วยน้ำลาย” ข้อสังเกตของเรเน อองตวน แฟร์โชส์ เดอ โรเมอร์ นักค้นคว้าวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ให้ไว้เมื่อปี 1719 เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การผลิตกระดาษจากไม้ ซึ่งเดิมนั้นใช้ปอ ลินินและฝ้ายเป็นวัตถุดิบ

หลากหลายแรงบันดาลใจที่มนุษย์ได้จากธรรมชาติจนเกิดเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย ได้กลายเป็นหัวข้อในการประกวดรางวัลการสื่อสารวิทยาศาสตร์ประจำปี 2007 นี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันเกอเธ่, บริษัท เบเยอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, เนชันมัลติมีเดียกรุ๊ป, ภัทราวดีเธียเตอร์ ทีเคปาร์ก และแลนเดสมูเซอุม เฟอร์ เทคนิค อุนด์ อาร์ไบรต์ อิน มันน์ไฮม (Landesmuseum für Technik und Arbeit in Mannheim)

ทั้งนี้เป็นการประกวดการสื่อสารวิทยาศาสตร์ใน 4 สาขาได้แก่ สื่อคอมพิวเตอร์และมัลติมีเดีย สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อภาพยนตร์และแอนนิเมชัน และสื่อการแสดงสดบนเวที โดยจะรับคัดเลือกผู้เข้าประกวดที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรี-เอก ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีอายุระหว่าง 18-28 ปี ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลมูลค่า 20,000 บาท พร้อมโอกาสคัดเลือกรับรางวัลใหญ่ซึ่งมีมูลค่า 40,000 บาท กับตั๋วเครื่องบินและโปรแกรมดูงานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ประเทศเยอรมนี โดยจะประกาศรางวัลในงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ปลายปีนี้

นางอาจณา เซาเรอร์ ผู้จัดการโครงการเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ สถาบันเกอเธ่ กล่าวว่าแนวคิดในการนำ “ไบโอนิก” มาใช้ในการประกวดการสื่อสารวิทยาศาสตร์ครั้งนี้เกิดจากความต้องการของ นายวิลฟรีด เอ็กชไตนน์ ผอ.สถาบันเกอเธ่ ที่อยากให้สื่อวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องไม่หนักเกินไป โดยนำธรรมชาติมาเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยี และอยากให้เยาวชนเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว และอยากให้ทุกคนมีเหตุมีผล ไม่งมงาย

ทางด้าน นายสันติ ต่อวิวรรธน์ ลูกจ้างอิสระ สวทช. และผู้รับผิดชอบในการอบรมเชิงปฏิบัติการในการประกวดครั้งนี้ กล่าวว่าปีนี้การอบรมจะต่างจากปีที่แล้วซึ่งผู้เข้าประกวดจะเข้าอบรมการสื่อสารในทุกสาขา แต่สำหรับปีนี้จะอบรมเฉพาะทางในแต่ละด้าน ดังนั้นคนที่เข้าประกวดทำหนังสั้นก็จะได้นำกล้องออกไปถ่ายทำได้เลย ส่วนคนที่สนใจทำหนังสือพิมพ์ก็จะมีโอกาสได้ทดลองเขียนงานในสำนักพิมพ์จริง

ทั้งนี้นายสันติเคยได้รับรางวัลที่ 1 ในการแข่งขันรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย สาขาสื่อสารวิทยาศาสตร์-ละครเวทีเมื่อปี 2545 และได้ร่วมทำโครงการประกวดการสื่อสารวิทยาศาสตร์นี้ทั้ง 2 ปี ซึ่งเขากล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการทำงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ว่าทำให้เขาชอบวิทยาศาสตร์มากขึ้นจากที่ไม่เคยชอบเลย

“เมื่อก่อนคิดแต่จะทำละครที่เป็นศิลปะจริงๆ เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้เริ่มคิดที่จะทำละครเพื่อสื่อสารวิทยาศาสตร์มากขึ้น” นายสันติกล่าว และเผยอีกว่าในปีนี้เขาได้ทำละครเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนซึ่งจะแสดงภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และจากนั้นจะนำมาแสดงอีกครั้งที่ทีเคปาร์กวันละ 3 รอบในวันที่ 21-24 ส.ค.นี้ด้วย

ผู้สนใจเข้าประกวดโครงการดังกล่าวสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 15 ก.ค.นี้ และจะมีการคัดเลือกผู้สมัคร 20 คนจาก 4 สาขาเข้ารอบที่ 2 เพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการและส่งผลงานเข้าประกวดอีกครั้งในวันที่ 20 ต.ค. สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ฝ่ายพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทร.0-2564-7000 ต่อ 1402 หรือที่ www.scicomm.info

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000070018