ด้วยความฝันอยากบินได้เหมือนนกเราจึงมีเครื่องบิน เพราะเห็นต่อสร้างรังเราจึงมีกระดาษที่ผลิตจากไม้ ด้วยปรากฏการณ์น้ำกลิ้งบนใบบัวเราจึงมีเสื้อนาโนกันน้ำ ธรรมชาติกลายเป็นแรงบันดาลให้เกิดนวัตกรรมมากมายบนโลกใบนี้ เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ทางชีววิทยาและเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ไบโอนิก” ซึ่งเป็นหัวข้อประกวดการสื่อสารวิทยาศาสตร์ประจำปีนี้
“ไบโอนิก” (Bionik) เป็นสาขาวิชาที่รวบหลากหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยนำชีววิทยาเชื่อมเข้ากับวิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อนำวิธีแก้ปัญหาจากเทคนิคต่างๆ ที่พบในธรรมชาติมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ แต่ไม่ใช่การลอกเลียนธรรมชาติทั้งดุ้น เพราะหลายหลักการไม่สามารถนำไม่ใช้ได้โดยตรงหากไม่ปรับเทคโนโลยีให้เหมาะสมเสียก่อน
กว่าจะมีเครื่องบินมนุษย์ต้องศึกษาการบินและธรรมชาติของนกโดยละเอียด และที่สุดเราจึงเข้าใจว่าสิ่งบางเบาอย่าง “อากาศ” คือตัวพยุงให้นกหรือแม้แต่เครื่องยนต์กลไกที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเคลื่อนไหวอยู่กลางอากาศได้ เป็นแรงบันดาลใจจากธรรมชาติสู่เทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่เรานำไปสอนลูกหลานได้อีกหลายรุ่น
“ผมเข้าใจว่าเจ้าตัวต่อสามารถดึงด้ายจากไม้และทำรังกระดาษได้โดยที่มันเคี้ยวเนื้อไม้จนละเอียด แล้วยาติดกันด้วยน้ำลาย” ข้อสังเกตของเรเน อองตวน แฟร์โชส์ เดอ โรเมอร์ นักค้นคว้าวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ให้ไว้เมื่อปี 1719 เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การผลิตกระดาษจากไม้ ซึ่งเดิมนั้นใช้ปอ ลินินและฝ้ายเป็นวัตถุดิบ
หลากหลายแรงบันดาลใจที่มนุษย์ได้จากธรรมชาติจนเกิดเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย ได้กลายเป็นหัวข้อในการประกวดรางวัลการสื่อสารวิทยาศาสตร์ประจำปี 2007 นี้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันเกอเธ่, บริษัท เบเยอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, เนชันมัลติมีเดียกรุ๊ป, ภัทราวดีเธียเตอร์ ทีเคปาร์ก และแลนเดสมูเซอุม เฟอร์ เทคนิค อุนด์ อาร์ไบรต์ อิน มันน์ไฮม (Landesmuseum für Technik und Arbeit in Mannheim)
ทั้งนี้เป็นการประกวดการสื่อสารวิทยาศาสตร์ใน 4 สาขาได้แก่ สื่อคอมพิวเตอร์และมัลติมีเดีย สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อภาพยนตร์และแอนนิเมชัน และสื่อการแสดงสดบนเวที โดยจะรับคัดเลือกผู้เข้าประกวดที่ศึกษาในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรี-เอก ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีอายุระหว่าง 18-28 ปี ซึ่งผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลมูลค่า 20,000 บาท พร้อมโอกาสคัดเลือกรับรางวัลใหญ่ซึ่งมีมูลค่า 40,000 บาท กับตั๋วเครื่องบินและโปรแกรมดูงานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ประเทศเยอรมนี โดยจะประกาศรางวัลในงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ปลายปีนี้
นางอาจณา เซาเรอร์ ผู้จัดการโครงการเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ สถาบันเกอเธ่ กล่าวว่าแนวคิดในการนำ “ไบโอนิก” มาใช้ในการประกวดการสื่อสารวิทยาศาสตร์ครั้งนี้เกิดจากความต้องการของ นายวิลฟรีด เอ็กชไตนน์ ผอ.สถาบันเกอเธ่ ที่อยากให้สื่อวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเรื่องไม่หนักเกินไป โดยนำธรรมชาติมาเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยี และอยากให้เยาวชนเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว และอยากให้ทุกคนมีเหตุมีผล ไม่งมงาย
ทางด้าน นายสันติ ต่อวิวรรธน์ ลูกจ้างอิสระ สวทช. และผู้รับผิดชอบในการอบรมเชิงปฏิบัติการในการประกวดครั้งนี้ กล่าวว่าปีนี้การอบรมจะต่างจากปีที่แล้วซึ่งผู้เข้าประกวดจะเข้าอบรมการสื่อสารในทุกสาขา แต่สำหรับปีนี้จะอบรมเฉพาะทางในแต่ละด้าน ดังนั้นคนที่เข้าประกวดทำหนังสั้นก็จะได้นำกล้องออกไปถ่ายทำได้เลย ส่วนคนที่สนใจทำหนังสือพิมพ์ก็จะมีโอกาสได้ทดลองเขียนงานในสำนักพิมพ์จริง
ทั้งนี้นายสันติเคยได้รับรางวัลที่ 1 ในการแข่งขันรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย สาขาสื่อสารวิทยาศาสตร์-ละครเวทีเมื่อปี 2545 และได้ร่วมทำโครงการประกวดการสื่อสารวิทยาศาสตร์นี้ทั้ง 2 ปี ซึ่งเขากล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการทำงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ว่าทำให้เขาชอบวิทยาศาสตร์มากขึ้นจากที่ไม่เคยชอบเลย
“เมื่อก่อนคิดแต่จะทำละครที่เป็นศิลปะจริงๆ เท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้เริ่มคิดที่จะทำละครเพื่อสื่อสารวิทยาศาสตร์มากขึ้น” นายสันติกล่าว และเผยอีกว่าในปีนี้เขาได้ทำละครเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนซึ่งจะแสดงภายในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และจากนั้นจะนำมาแสดงอีกครั้งที่ทีเคปาร์กวันละ 3 รอบในวันที่ 21-24 ส.ค.นี้ด้วย
ผู้สนใจเข้าประกวดโครงการดังกล่าวสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 15 ก.ค.นี้ และจะมีการคัดเลือกผู้สมัคร 20 คนจาก 4 สาขาเข้ารอบที่ 2 เพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการและส่งผลงานเข้าประกวดอีกครั้งในวันที่ 20 ต.ค. สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ฝ่ายพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทร.0-2564-7000 ต่อ 1402 หรือที่ www.scicomm.info
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000070018
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment