นาโนเทคเผยทำได้แล้วใช้เทคโนโลยีจิ๋วเพิ่มค่าให้กระดาษสา ด้วย "เทฟลอนนาโน" ได้กระดาษกันน้ำ ด้านผู้ประกอบการจาก "บ่อสร้าง" ชี้กระดาษสาไทยยังสู่ญี่ปุ่นไม่ได้ เพราะประยุกต์ใช้งานได้น้อยกว่า ผลิตได้แค่ของชำร่วย อีกทั้งยอดขายปัจจุบันยังตกต่ำ เชื่อเทคนิคเคลือบอนุภาคนาโนช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติดีขึ้นและแข็งขันกับต่างชาติได้
ดร.อิสรา สระมาลา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เผยถึงการพัฒนากระดาษสาที่เคลือบด้วยอนุภาคนาโน โดยใช้อนุภาคนาโนของสาร PTFE หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า "เทฟลอน" มาบดเป็นผงให้ขนาดประมาณ 10 นาโนเมตรแล้วนำไปเคลือบบนกระดาษสาจนทำให้มีคุณสมบัติกันน้ำแต่ยังมีความแข็งแรงเช่นเดียวกับกระดาษทั่วไป และได้เปิดตัวตัวกระดาษสาดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ภายในงานสัมมนาการเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมไทยด้วยนาโนเทคโนโลยี ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส จ.เชียงใหม่
"คุณสมบัติของเทฟลอนโดยปกติไม่ชอบเกาะกับอะไรอยู่แล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเอาไปเคลือบกระทะ แต่ที่นำมาเคลือบกระดาษนี้เราก็นำมาทำให้เป็นผงซึ่งสามารถสังเคราะห์ได้ตั้งแต่ขนาด 10-100 นาโนเมตร แต่ที่นาโนเทคใช้ในครั้งนี้ประมาณ 10 นาโนเมตร ส่วนขนาดของอนุภาคจะต้องควบคุมให้ใกล้เคียงกันหรือไม่นั้น สำหรับกระดาษสาแล้วการคละไซส์จะดีกว่าเพราะจะให้ผิวที่ขรุขระ" ดร.อิศรากล่าว พร้อมทั้งอธิบายเหตุที่ต้องใช้อนุภาคเทฟลอนในขนาดนาโนเพราะต้องการคงลักษณะที่ขรุขระของกระดาษสาไว้ หากใช้เทฟลอนปกติจะได้เป็นแผ่นฟิล์มเคลือบกระดาษ
"ในการเคลือบกระดาษสานั้นทำได้ทั้งระหว่างขั้นตอนการผลิตกระดาษหรือเคลือบหลังกระบวนการผลิตแล้ว แต่ทางศูนย์ไม่มีหน่วยผลิตกระดาษเราจึงใช้การเคลือบไปในภายหลัง" ดร.อิศราซึ่งเป็นหนึ่งทีมวิจัยกระดาษสาที่นำโดย ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล นักวิจัยนาโนเทคเผย พร้อมทั้งระบุว่าได้ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 6 เดือนเพื่อพิสูจน์ว่าสามารถใช้สารนาโนเคลือบลงไปบนกระดาษสาได้ อีกทั้งยังเป็นความต้องการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกระดาษสาที่เรียกร้องให้นำนาโนเทคโนโลยีไปปรับปรุงคุณสมบัติต่างๆ ของกระดาษ
นอกจากอนุภาคนาโนของเทฟลอนที่นำมาเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำให้กระดาษสาได้แล้ว ยังอาจใช้พอลิเมอร์ประเภทอื่นๆ อาทิ PET และโพลีโพรพีลีน (Polypropylene) หรือ PP เป็นต้น โดย ดร.อิศราได้เสริมว่าเทฟลอนนั้นมีส่วนผสมของฟลูออรีน (F) ซึ่งเป็นสารที่ทำลายชั้นโอโซนจึงอาจถูกจำกัดทางการค้าในอนาคตได้ ส่วนการใช้พอลิเมอร์ทั้ง 2 ชนิดที่ยกตัวอย่างไปนั้นไม่น่าจะก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม เพราะใช้ในระดับที่บางมากและเมื่อโดนแสงแดดหรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมก็จะย่อยสลายได้โดยง่าย อย่างไรก็ดีทางศูนย์ยังไม่ได้ทดลองให้เห็นชัดเจนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากพอลิเมอร์ดังกล่าว
ไม่เพียงแค่คุณสมบัติกันน้ำเท่านั้นที่จะเพิ่มลงไปในกระดาษได้ แต่ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ อาทิ ใส่แคปซูลนาโนให้ความหอมที่จะค่อยๆ ปลดปล่อยความหอมในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้กระดาษคงกลิ่นหอมได้นานขึ้น หรือใส่สารช่วยลดการลามไฟหรือติดไฟ เป็นต้น อีกทั้งยังใช้นาโนเทคโนโลยีเพิ่มคุณสมบัติต่างๆ ให้กับกระดาษที่ใช้ในอุตสาหกรรมได้อีกด้วย
"ในโรงงานเบียร์หรือน้ำผลไม้จะมีกระดาษสำหรับกรอง ซึ่งเมื่อใช้แล้วก็จะเปื่อยยุ่ย วัสดุกรองพวกนี้ใช้แล้วทิ้ง ถ้ามีเทคโนโลยีที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็จะช่วยลดต้นทุนในการผลิตได้ หากใช้นาโนเทคโนโลยีเข้าไปช่วยอาจทำให้กระดาษไม่เปื่อยยุ่ยหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งหลักการแล้วไม่ยาก เป็นไปได้ แต่จะคุ้มทุนหรือเปล่า" ดร.อิศรากล่าวถึงแนวทางในการพัฒนากระดาษสำหรับอุตสาหกรรมที่นอกเหนือไปจากการพัฒนากระดาษสำหรับงานหัตถกรรมเช่นกระดาษสา
"หลักการเคลือบกระดาษสาด้วยอนุภาคนาโนนั้นเป็นหลักการคล้ายกับการเคลือบสิ่งทอและเส้นใยอื่นๆ เนื่องจากกระดาษก็เป็นเส้นใยชนิดหนึ่ง เพียงแต่มีเส้นใยขนาดสั้นและสานกันอย่างไม่เป็นระเบียบ ต่างจากสิ่งทอที่เส้นใยยาวและสานกันอย่างเป็นระเบียบ" ดร.อิศรากล่าว พร้อมทั้งแจงถึงเหตุผลที่นาโนเทคเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมเส้นใยเพราะมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่สุด เพราะไทยมีผู้ประกอบการหลายระดับ ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ รวมทั้งยังมีอุตสาหกรรมการออกแบบเสื้อผ้าซึ่งเป็นปลายทางของอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ในส่วนของ นายธนูพร สุภาษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอ็ม อินเทอร์เนชันนัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตสินค้าและของชำร่วยจากกระดาษสาที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านบ่อสร้าง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมกระดาษสาของไทยในปัจจุบันว่าไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมานั้นเป็นสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ต่างจากที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นอันดับหนึ่งในการผลิตกระดาษสาของโลกที่ประยุกต์ใช้กระดาษกับผลิตภัณฑ์ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น บรรจุภัณฑ์ กระเป๋าสตางค์ กระเป๋าถือ เป็นต้น และยังทนน้ำได้ดี
"ญี่ปุ่นเขาเคยมาสาธิตเอาน้ำยาเคลือบกระดาษสาให้กันน้ำได้ แต่หาซื้อที่เมืองไทยไม่ได้ ถ้าจะซื้อจากญี่ปุ่นก็ต้องซื้อเป็นตู้คอนเทรนเนอร์ซึ่งตกเป็นล้านกว่าบาท" นายธนพรกล่าว โดยบริษัทของเขาซึ่งมีบริษัทลูกผลิตกระดาษสาอยู่นอกตัวเมืองเชียงใหม่นั้นมีรายได้ตกปีละ 1 ล้านบาท แต่กิจการในช่วงปีนี้ย่ำแย่กว่าปีก่อนๆ ลูกค้าซึ่งมีทั้งจากยุโรป สหรัฐและเอเชียต่างลดจำนวนการสั่งซื้อลง บางรายที่เคยสั่งซื้อ 100% ก็ลดลงเหลือเพียง 20-25% ทั้งนี้เขาเข้าใจว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าจากการกระดาษไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่จะก็พยายามที่พัฒนาสินค้าให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันมากขึ้น
อย่างไรก็ดีจากการพัฒนากระดาษสากันน้ำของนาโนเทคนั้นนายธนูพรเชื่อจะช่วยให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ดีกว่า และเพียงเฉพาะคุณสมบัติที่กันน้ำได้ก็น่าจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่เป็นคู่แข่งของไทย หากแต่ยังมีอินเดียและเนปาลที่ผลิตกระดาษสาป้อนตลาดโลกเช่นกัน โดยผลิตกระดาษสาที่มีราคาถูกกว่าแต่คุณสมบัติกระดาษสาของประเทศทั้ง 2 ยังสู้ไทยไม่ได้
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000070594
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment