Wednesday, June 13, 2007

มช.โชว์ชุดดีเอ็นเอหนุนงานนิติเวช

นิติเวชเชียงใหม่เปิดตัวน้ำยาและซอฟต์แวร์ตรวจดีเอ็นเอรายแรกของประเทศ ต้นทุนถูกกว่านำเข้า 13 เท่าตัว เตรียมระดมทุนปรับปรุงซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล เปิดให้หน่วยงานนิติเวชดาวน์โหลดฟรี
ศ.นพ.ธานินทร์ ภู่พัฒน์ หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า ทีมวิจัยได้พัฒนาน้ำยาตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ลักษณะบุคคล หรือดีเอ็นเอเป็นผลสำเร็จ และยังสร้างซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล เพื่อใช้ตรวจเทียบเคียงดีเอ็นเอของบุคคล ถือเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศ
การคิดค้นดังกล่าวส่งผลให้การตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ลักษณะบุคคลสะดวก และประหยัดขึ้นมาก โดยค่าใช้จ่ายในการตรวจต่ำกว่า 300 บาทต่อ 1 ตัวอย่าง ขณะที่การตรวจแบบเดิมซึ่งใช้น้ำยานำเข้า ค่าใช้จ่ายสูงถึง 4,000 บาทต่อ 1 ตัวอย่าง
การตรวจหาดีเอ็นเอเพื่อพิสูจน์ลักษณะบุคคล สามารถสกัดหาดีเอ็นเอจากเลือด หรืออสุจิ รากผม เซลล์กระพุ้งแก้ม คราบน้ำลาย ตัวอย่างที่ได้จะถูกนำไปผสมในน้ำยาชุดตรวจ และใส่ในเครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม หรือพีซีอาร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเฉพาะที่ปัจจุบันยังต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ
ในเวลา 3 ชั่วโมง ตัวอย่างดีเอ็นเอจากตัวอย่างจะถูกเพิ่มจำนวนนับ 1,000 ล้านเท่า จากนั้นนำเข้าสู่ขั้นตอนของการแยกชั้นดีเอ็นเอโดยใช้เครื่องแยกดีเอ็นเอ
เมื่อได้วุ้นดีเอ็นเอแล้ว จึงนำไปย้อมสีจะได้ออกมาเป็นลักษณะของแถบดีเอ็นเอ เพื่อนำมาอ่านค่าเป็นตัวเลข ค่าที่ได้จะถูกป้อนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อประมวลผลผ่านซอฟต์แวร์และเทียบเคียงว่า ดีเอ็นเอที่เก็บมาได้จากตัวอย่างดังกล่าว มีลักษณะตรงกับบุคคลใดในฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้ว และยังใช้ระบุความสัมพนธ์ทางเครือญาติได้ด้วย โดยใช้เวลาในการตรวจจนจบกระบวนการทราบผลได้ในระยะเวลาเพียง 36 ชั่วโมง
ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวด้วยว่า แม้ต้นทุนในการตรวจหาดีเอ็นเอจากกระบวนการดังกล่าวจะประหยัดลง แต่ประสิทธิภาพและความแม่นยำของผลการตรวจไม่ได้น้อยลง เนื่องจากการใช้น้ำยาตรวจหาดีเอ็นเอร่วมกับชุดเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ยังให้ความแม่นยำในผลตรวจมีค่าความเชื่อมั่นสูงสุดถึง 99.9% ซึ่งอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ สามารถนำชุดตรวจพร้อมอุปกรณ์เคลื่อนที่ ออกไปตรวจหาดีเอ็นเอในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก
เทคโนโลยีการตรวจหาดีเอ็นเอดังกล่าว ส่งผลให้ภาควิชาฯ สามารถให้บริการตรวจดีเอ็นเอ เพื่อหาลักษณะบุคคลในคดีความต่างๆ รวมถึงการตรวจเทียบเคียงความเป็นพ่อแม่ลูกกัน โดยปัจจุบันมีชาวเขาที่ไร้สัญชาติและบุคคลทั่วไป มารับบริการตรวจเทียบเคียงดีเอ็นเอเฉลี่ยปีละเกือบ 1,000 ราย
นอกจากนี้ ภาควิชาฯ มีแผนการพัฒนาโปรแกรมใช้งานดีเอ็นเอทางนิติเวชให้สมบูรณ์และหลากหลายมากขึ้น เพื่อจะนำซอฟต์แวร์ดังกล่าวขึ้นบนเวบไซต์ เปิดโอกาสให้หน่วยงานด้านการตรวจหาดีเอ็นเอ สามารถดาวน์โหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/13/WW54_5401_news.php?newsid=78742

No comments: