ศูนย์ซินโครตรอนลงนามร่วมกับนาโนเทคเตรียมขยายสถานีทดลองพลังงานสูงเพื่อศึกษาโครงสร้างระดับนาโนสู่การพัฒนายาและสารออกฤทธิ์สำหรับผลิตเครื่องสำอาง แจงช่วยร่นระยะเวลาทำวิจัยเพราะไม่ต้องต่อคิวกับอีก 30 สถาบัน ด้านนาโนเทคพร้อมขยายการทดลองแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ 32 เครื่องที่ทำงานขนานกัน
ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติ (ศซ.) หรือศูนย์ซินโครตรอนลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ในการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนเพื่อการพัฒนางานวิจัยระดับไมโคร-นาโน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.50 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนแห่งชาติและปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้ลงนาม
ทางด้าน ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคเผยว่าความร่วมมือครั้งนี้มีระยะเวลา 5 ปีระหว่าง 2550-2554 โดยช่วง 3 ปีแรกเป็นความร่วมมือในการใช้เครื่องมือวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัยของ 2 หน่วยงานเพื่อ "รวมทรัพยากรและลดความซ้ำซ้อน" โดยจะมีการสร้างสถานีทดลองลำเลียงแสงซินโครตรอนพลังงานสูงเพื่อใช้งานสำหรับการวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีโดยเฉพาะ และในส่วนของนาโนเทคเองจะได้ขยายการทดลองที่จำลองด้วยคอมพิวเตอร์คลัสเตอร์ 32 ซีพียู (CPU) ที่ทำงานแบบขนาน ไปยังศูนย์ซินโครตรอน ซึ่งช่วยลดระยะเวลาในการทดลองจริงและทำให้งานวิจัยมีความรวดเร็วขึ้น
อีก 2 ปีหลัง ศ.ดร.วิวัฒน์คาดว่าจะมีงานวิจัยซึ่งเป็นผลจากความร่วมมือนี้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 5 ชิ้นต่อปี โดยที่ผ่านมา ดร.สิรพัฒน์ ประโทนเทพ นักวิจัยนาโนเทคได้ร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดลศึกษาโครงสร้างโปรตีนโดยใช้แสงซินโครตรอนซึ่งทำให้ทราบพฤติกรรมของสารต่างๆ และสามารถพัฒนาต่อไปเป็นยาหรือเครื่องสำอางได้ พร้อมกันนี้จะได้ออกแบบสถานีทดลองที่ใช้รังสีอินฟราเรด (IR Spectroscopy/Imaging Beamline) เพื่อใช้ในการศึกษาหมู่ฟังก์ชัน (Function Group) ของสารเคมีสำหรับการพัฒนายาและเครื่องสำอาง ซึ่งเป็นการศึกษาที่ต่อยอดจากการดูโครงสร้างของสารด้วย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทางด้านเภสัชกรรมของ ดร.อุรชา รังสาดทอง นักวิจัยนาโนเทคอีกคนที่ศึกษาการของออกฤทธิ์ของสารต่างๆ ในสมุนไพร เนื่องจากในสมุนไพรนั้นมีสารหลายร้อยชนิดจึงต้องดูว่าสารตัวใดที่เป็นสารหลักในการออกฤทธิ์และมีสัดส่วนอยู่เท่าไหร่ และอนาคตหากมีความต้องการมากก็จะได้สังเคราะห์สารดังกล่าวขึ้นด้วยกระบวนการทางเคมี ซึ่งบริษัทยาทั่วโลกต่างก็ใช้วิธีนี้ แต่ ศ.ดร.วิวัฒน์กล่าวว่าจะเน้นไปสู่การพัฒนาเป็นเครื่องสำอางมากกว่าพัฒนาเป็นตัวยาเพราะมีความยุ่งยากน้อยกว่า โดยการผลิตยาต้องใช้เวลาในการทดสอบที่ยากและค่อนข้างนานกว่าจะนำมาใช้กับคนได้
ศ.ดร.วิวัฒน์เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้งานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีมีความรวดเร็วขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมานักวิจัยนาโนเทคต้องต่อคิวใช้สถานีทดลองกับนักวิจัยจากสถาบันต่างๆ กว่า 30 สถาบัน ทำให้ต้องใช้เวลารอเพื่อจะทำวิจัย แต่ความร่วมมือในครั้งนี้จะคัดเฉพาะคลื่นแสงที่จำเป็นต่อการศึกษาโครงสร้างนาโน โดยดัดแปลงเครื่องมือเพียงเล็กน้อย ขณะเดียวกันก็ยังมีการเสนอร่างโครงการจัดตั้งสถานร่วมวิจัยแสงซินโครตรอน-นาโนเทคโนโลยีระหว่างนาโนเทค ศูนย์ซินโครตรอนและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ด้วยงบประมาณจากทั้ง 3 หน่วยงานราว 15-20 ล้านบาท
ส่วน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ซินโครตรอนกล่าวถึงความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นหลังการลงนามครั้งนี้ว่า ปัจจุบันศูนย์ฯ มี 3 สถานีทดลองสำหรับให้บริการเพื่องานวิจัย โดยมี 2 สถานีที่ผลิตแสงซินโครตรอนรองรับงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งงานวิจัยนาโนนั้นต้องใช้แสงซินโครตรอนพลังงานสูงเพื่อให้ได้ความยาวคลื่นที่สั้นเพื่อศึกษาโครงสร้างขนาดเล็กระดับนาโนได้ และงานทางด้านวัสดุศาสตร์ก็สามารถใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนนี้ได้
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000065100
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment