Thursday, June 21, 2007

'ไบโอเซ็นเซอร์'ตรวจวัณโรค1นาที


‘มศว ผนวกความรู้ด้านแพทยศาสตร์กับวิศวกรรมศาสตร์ ผลิตไบโอเซ็นเซอร์ตรวจเชื้อวัณโรค รู้ผลรวดเร็วใน 1 นาที เปิดกว้างรับเอกชนด้านเวชภัณฑ์ร่วมวิจัยต่อยอดทำเครื่องมือตรวจโรคติดเชื้ออื่นๆ

รศ.ดร.โกสุม จันทรศิริ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยี มศว อยู่ระหว่างพัฒนา "ไบโอเซ็นเซอร์" สำหรับตรวจวัดเชื้อวัณโรคชนิด มัยโคแบคทีเรียมทูเบอร์คุโลซิส และพยาธิเท้าช้างชนิด บรูเกีย มาลาไย จากนั้นจะขยายการพัฒนาไปยังโรคติดเชื้อสำคัญอื่นคือไข้เลือดออกและเอดส์

ศูนย์นาโนฯนำความรู้จาก 2 สาขาวิชามาทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาเป็นไบโอเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่ใช้งานในวงกว้าง ทั้งการแพทย์ การเกษตร อุตสาหกรรม การทหารและสิ่งแวดล้อม ส่วนประกอบหลักของไบโอเซ็นเซอร์คือ ตัวแปลงสัญญาณและไบโอรีเซฟเตอร์ ซึ่งเป็นโมโลกุลชีวภาพมีความสามารถ ในการจดจำเชื้อโรคหรือตัวถูกวิเคราะห์ได้อย่างเฉพาะเจาะจง ไบโอเซ็นเซอร์มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน

นักวิจัยของศูนย์นาโนฯ คิดค้นไบโอเซ็นเซอร์ที่วัดการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักของสารที่มาเกาะ ซึ่งไบโอเซ็นเซอร์ชนิดนี้เรียกว่า คิวซีเอ็ม เป็นงานที่พัฒนามาจากไบโอเซ็นเซอร์ที่มีใช้อยู่แล้ว ส่วนตัวตรวจจับนั้นนักวิจัยกำลังศึกษาและพัฒนาดีเอ็นเอโพโซเล็ก ไบโอเซ็นเซอร์ สำหรับตรวจวัดเชื้อวัณโรคและพยาธิเท้าช้างดังกล่าว ทั้งนี้ เครื่องมือที่ใช้ตรวจหาวัณโรคชนิดมัยโคแบคทีเรียมทูเบอร์คุโลซิส ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย

"โดยปกติการตรวจเชื้อวัณโรค อาศัยวิธีเพาะเลี้ยงเชื้อบนจานเลี้ยงเชื้อเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อจะพิสูจน์ว่าเป็นเชื้อชนิดใด บางครั้งถ้านำเชื้อไปเลี้ยงแล้วมีปัญหาเชื้อไม่ขึ้น ผลพิสูจน์ก็จะคลาดเคลื่อน ขณะที่อาการของผู้ป่วยได้ดำเนินไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้การดูแลรักษาไม่ทันท่วงที ด้วยระยะเวลานาน ทำให้การตัดสินใจทำการรักษาช้าไปด้วย ขณะที่ดีเอ็นเอโพโซเล็กไบโอเซ็นเซอร์ ที่นักวิจัยกำลังพัฒนานี้ จะร่นเวลาการวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคเหลือเพียง 1 นาที จากเดิมที่ต้องรอนานนับเดือน จึงจะทราบว่าเป็นวัณโรคชนิดมัยโคแบคทีเรียมทูเบอร์คุโลซิสหรือไม่" รศ.ดร.โกสุม กล่าว

อย่างไรก็ตามไบโอเซ็นเซอร์ที่กำลังพัฒนานี้ สามารถตรวจวัดเชื้อวัณโรคที่ยังไม่ดื้อยาเท่านั้น แต่ในอนาคตจะตรวจวัดเชื้อดื้อยาได้ด้วย ทั้งยังสามารถบอกได้ด้วยว่าดื้อยาตัวใด ขณะเดียวกันความรู้ที่ได้จากการทำวิจัย ยังนำไปพัฒนาเครื่องมือตรวจโรคอื่นๆ ได้ต่อไป ทั้งนี้ ศูนย์นาโนฯ เปิดรับความร่วมมือจากภาคเอกชนด้านเวชภัณฑ์ยา ที่สนใจพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์ร่วมกัน

สำหรับศูนย์นาโนเทคโนโลยี มศว จัดตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือลักษณะสหสาขาวิชาการ ของคณะแพทยศาสตร์กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยนำความรู้ด้านดีเอ็นเอ เอนไซม์ แอนติบอดี้ อณูชีววิทยา ซึ่งเป็นความรู้ทางชีวเคมีและจุลชีวะผนวกเข้ากับความรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์และฟิสิกส์ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการพัฒนาอุปกรณ์วินิจฉัยโรค

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/21/WW54_5401_news.php?newsid=80198

No comments: