Thursday, June 21, 2007

“ขบคิดและค้นหา” เรียนและเล่นไปกับห้องเรียนวิทย์แนวใหม่

คงจะดีไม่น้อย หากห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในบ้านเราจะมีหน้าตาเปลี่ยนไป จากห้องเรียนสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เน้นการท่องจำ ไปเป็นห้องเรียนห้องใหญ่ที่เด็กๆ จะได้ฝึกกระบวนการคิดไปพร้อมๆ กับเรียนรู้เนื้อหาวิชาการที่คัดสรรและเรียงร้อยมาให้แบบชัดเจน เข้าใจง่าย จนเด็กๆ เกิดความรักและสนใจในวิทยาศาสตร์ขึ้นมาเอง และด้วยความต้องการนี้ “โครงการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ IN – STEP” จึงมีตัวตนขึ้นจริงในวันนี้

“น้องๆ ทราบไหมว่า วันนี้น้องๆ มาทำอะไรกัน ถ้าบอกว่ามาดูงานวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เห็นทีน้องๆ คงผิดหวังแล้ว เพราะวันนี้เราจะมาแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระหว่างกันค่ะ”

สิ้นน้ำเสียงใสๆ ใจดีของพี่เอ็ม “ดร.กิตติมา ศรีวัฒนกุล” รอง ผอ.ฝ่ายกลยุทธ์สัมพันธ์ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ทักทายกับน้องๆ แล้ว กิจกรรมห้องเรียนวิทยาศาสตร์ “จุดประกายฝัน...วันวิทยาศาสตร์” เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ณ โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” จ.พังงา ก็เริ่มขึ้นด้วยบรรยากาศสนุกสนาน เป็นกันเอง เพื่อเบิกโรงนำความรู้วิทยาศาสตร์ชั้น ม.ต้นให้เด็กๆ ได้เรียกน้ำย่อยกันก่อนได้เรียนจริงเต็มรูปแบบในห้องเรียน

กิจกรรมที่นำมา “เรียน” และ “เล่น” ครั้งนี้ เช่น กิจกรรม “พลังงานและการเคลื่อนที่” สำหรับเด็กๆ ชั้น ม.1 ด้วยรถพลังกับดักหนู พลังงานจากกับดักหนูที่ผลักให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า กิจกรรม “แสง” ของชั้น ม.2 พร้อมทั้งเกมสนุกๆ อย่างเกมจับผิดภาพเหมือนที่ต้องอาศัยความแม่นยำของสายตากับความสั้นยาวที่ต่างกันเพียงเล็กน้อยของสิ่งต่างๆ ในภาพ และกิจกรรม “โลกในอวกาศ” สำหรับชั้น ม.3 ที่บรรดาทีมงานต่างหอบหิ้วเอาชุดกิจกรรมและแบบจำลองระบบสุริยจักรวาลง่ายๆ มาให้เด็กๆ ได้สัมผัสกัน

นอกจากนี้ยังมี “สตาร์แล็บ” หรือท้องฟ้าจำลองเคลื่อนที่ขนาดย่อม ที่ให้เด็กๆ ได้เข้าไปนั่งแหงนหน้าดูดาวตอนกลางวันได้เต็มอิ่ม โดยแต่ละชุดกิจกรรม เด็กๆ จะได้รับคำอธิบายจากคุณครูทีมงานแบบเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ต้องเปิดตำรากันมากทั้งฝ่ายผู้สอนและผู้เรียน

อย่างไรก็ดี เป้าหมายที่แท้จริงของโครงการก็ไม่ได้อยู่ที่การจัดกิจกรรมเอาใจเด็กๆ ซึ่งไม่แตกต่างจากที่เห็นกันในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ดั้งเดิมของเรามากนัก ดร.กิตติมา บอกว่า เน้นการฝึกอบรม “ครูวิทยาศาสตร์ชั้น ม.ต้นในพื้นที่” ซึ่งได้จัดอบรมแล้ว 45 คนจาก 22 โรงเรียนนำร่อง เป็นเวลาประมาณ 30 ชั่วโมง ด้วยแนวทาง “การสืบเสาะหาความรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในอเมริกา และไทยเป็นประเทศแรกนอกสหรัฐฯ ที่ได้นำร่องโครงการนี้ที่ จ.พังงา หลังเกิดสึนามิ

“แนวการสอนใหม่จะแตกต่างจากการสอนแบบดั้งเดิมของไทย ที่เน้นเนื้อหามากกว่ากระบวนการคิด โดยแต่เดิมเราจะเน้นการให้ความรู้สาระวิชาจำนวนมากแก่เด็ก คล้ายกับการหาปลาให้เด็กกินมากกว่าการสอนกระบวนการคิดที่เหมือนกับสอนให้เด็กตกปลา ซึ่งการเรียนแนวใหม่นี้จะช่วยให้เนื้อหาในห้องเรียนน้อยลงได้ และเด็กก็จะมีเวลาว่างมากขึ้นเพื่อไปเรียนรู้สิ่งที่จำเป็นอื่นๆ” คุณครูเฉพาะกิจกล่าว

โครงการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ IN – STEP เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันของ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันคีนันแห่งเอเซีย และบริษัท เอสเอ็มดี (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ และให้ทุนรวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์ช่วยสอน

ส่วนความจำเป็นที่ต้องนำการสอนวิทยาศาสตร์แนวใหม่มาใช้กับเด็กไทยนั้น ดร.ประมวล ศิริผันแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสจาก สสวท. หนึ่งพันธมิตรโครงการให้ภาพว่า ปัจจุบัน เด็กไทยมีพื้นฐานความรู้วิทยาศาสตร์ที่อ่อนแอมากเมื่อเทียบกับเกณฑ์เฉลี่ยและกับเด็กต่างประเทศ แม้ว่าภาครัฐจะลงทุนไปมากแล้วก็ตาม โดยการสอบแข่งขันทั้งในประเทศและนอกประเทศ เด็กไทยมักทำคะแนนได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเสมอ จนเรียกได้ว่าสอบตกทีเดียว ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์ที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยเพียง 30% และคณิตศาสตร์มีค่าคะแนนเฉลี่ยเพียง 40% จึงเห็นว่าการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของไทยยังไปไม่ถึงมาตรฐาน

ขณะที่โครงการ IN- STEP นี้มองว่า น่าจะเป็นโครงการพัฒนาครูที่ช่วยให้เด็กไทยรักการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น และน่าจะปรับใช้กับห้องเรียนไทยได้ลงตัว ไม่มีปัญหาความแตกต่างอะไรระหว่างเด็กสหรัฐฯ และเด็กไทย ทั้งในส่วนของภาคปฏิบัติ การคิดเป็นระบบ มีเหตุผล มีจริยธรรม และประพฤติตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ โดย สสวท.ปรับปรุงเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่รับมาจากสหรัฐฯ ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยมากที่สุด เวลานี้ สพฐ.และ สสวท.ก็เริ่มนำรูปแบบการสอนในโครงการไปขยายผลยังทั่วประเทศบ้างแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น

ครูผู้เข้ารับการอบรม “พัชรี ประทีป” ครูวิทยาศาสตร์แกนนำ ชั้น ม.2 โรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” ผู้ยึดอาชีพแม่พิมพ์ของชาติมาตลอด 24 ปี เผยว่า หลังเข้ารับการอบรมแล้วก็นำสิ่งที่ได้มาปรับใช้ในห้องเรียนทันที จนผ่านมาแล้ว 1 ภาคการศึกษาพบว่าการสอนแนวใหม่ทำให้การเรียนการสอนในห้องเรียนสนุกขึ้น ฝ่ายผู้เรียนเองก็รู้สึกสนุกสนานเช่นเดียวกันกับผู้สอน

“เราจะพยายามให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่บอกว่าคำตอบเขาถูกหรือผิด แต่จะกระตุ้นให้ทำ ให้คิดต่อ เพื่อรู้ด้วยตัวเองว่าคำตอบนี้ถูกหรือผิด เด็กก็ตื่นเต้นที่เราสอนแนวใหม่ แต่เวลาใช้การสอนแนวใหม่นี้เราต้องไม่หวังผลแบบทันทีทันใด แต่ต้องรอคอยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งครูผู้สอนต้องกระตุ้นให้เด็กได้คิด ค้นคว้าด้วยตัวเอง ครูต้องใจกว้าง ไม่ยัดเยียดความคิดตัวเอง รับฟังเด็ก และไม่ด่วนตัดสินคำตอบที่เด็กตอบมาไม่ว่าคำตอบนั้นจะถูกหรือผิดก็ตาม

เสียงจากนักเรียนตัวน้อยในพื้นที่ซึ่งมาร่วมกิจกรรมในวันนั้น “อ๊อด” ด.ช.ฉัตรชัย เสวกสาคร ม.1 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เผยว่า ตามปกติแล้วที่โรงเรียนก็มีกิจกรรมวิทยาศาสตร์บ้างเหมือนกัน เช่น การทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนตัวกำลังสนใจเรื่องจรวดขวดน้ำอยู่ และได้อ่านหนังสือเรื่องการทำจรวดขวดน้ำมาบ้างแล้ว โดยสาเหตุที่สนใจจรวดขวดน้ำก็เพราะชอบเรียนวิทยาศาสตร์มากอยู่แล้วเพราะอยากค้นคว้าทดลอง และหวังด้วยว่าพอโตขึ้นแล้วจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์สมใจ

สุดท้าย เมื่อถามว่าได้ทำกิจกรรมตามแนวการสอนวิทยาศาสตร์แบบใหม่แล้วเป็นอย่างไรบ้าง อ๊อด ตอบว่า เป็นครั้งแรกที่มีกิจกรรมวิทยาศาสตร์มาลงในพื้นที่ เมื่อได้ทำกิจกรรมทุกฐานแล้วก็รู้สึกสนุกมาก โดยชอบกิจกรรมดูดาวในโดมสตาร์แล็บมากที่สุด เพราะทำให้ได้เห็นการฉายภาพดวงดาวมากมาย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000061006

No comments: