Sunday, June 24, 2007

อังกฤษออกกฎคุมสร้างบ้านลด "โลกร้อน" แล้วไทยล่ะ?


ลำพังคนๆ เดียวปั่นจักรยานไปทำงาน ปิดน้ำ-ปิดไฟ ลดใช้พลังงาน จะช่วยลดต้นตอของปัญหา "โลกร้อน" ได้มากแค่ไหน แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าวิถีชีวิตของเรานี่แหละที่เป็นปัจจัยหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อม คงมีหลายคนตั้งคำถามทำนองนี้ แต่สำหรับ "ทิม ฟอร์ซิธ" อาจารย์สิ่งแวดล้อมจากอังกฤษแจงว่าแนวทางหนึ่งที่จะช่วยได้คือต้องเริ่มจากนโยบาย

"แสงสว่างจากหลอดไฟนี่มาจากไหน มาจากพลังงานที่ผลิตจากถ่านหิน แล้วเรามีทางเลือกอื่นไหม...ไม่"

คำพูดของ ดร.ทิม ฟอร์ซิธ (Dr.Tim Forsyth) จากสถาบันเศรษฐศาสตร์และการเมืองลอนดอน (London Schools of Economics and Political Science) มหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London) สะกิดให้เรารู้ว่าบางสาเหตุของภาวะโลกร้อนก็ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกำลังเล็กๆ ของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่การแก้ไขต้องเริ่มมาจากการวางนโยบายว่าจะให้อะไรเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับประเทศ

ทั้งนี้ ดร.ฟอร์ซิธเป็นอาจารย์อาวุโสของภาควิชาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา สถาบันเศรษฐศาสตร์และการเมืองลอนดอน ได้เดินทางมาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ บาร์ บริติชเคาน์ซิล สยามแควร์ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ก็มีโอกาสพูดคุยกับเขาในวาระนี้ด้วย

อดีตนักข่าวเอพีประจำประเทศไทยและนักข่าวหนังสือพิมพ์ "เอเชีย อิงค์" (Asia Inc.) เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วผู้นี้ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจโตเร็ว จึงจำเป็นต้องมีนโยบายด้านพลังงานออกมา แต่ปัญหาสำคัญของไทยคือสังคมในเมืองหลวงกับต่างจังหวัดมีความแตกต่างกันมากซึ่งจะมีผลต่อการออกนโยบายที่ครอบคลุม

อย่างไรก็ดีหากไทยมีนโยบายช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนออกมาจริงๆ ทางสหประชาชาติประเมินว่าไทยจะช่วยลดการใช้พลังงานของทั้งโลกได้ถึง 0.5% แต่ทั้งนี้ทุกประเทศต้องมีส่วนช่วยแก้ปัญหาบ้าง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีใครทำอะไรเลย

ในส่วนของสหราชอาณาจักรได้มีกฎหมายหรือนโยบายใดออกมารองรับต่อปัญหาภาวะโลกร้อนหรือไม่นั้น ดร.ฟอร์ซิธกล่าวว่าขณะนี้มีกฎหมายด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรการก่อสร้างอาคาร เช่น การสร้างบ้านใหม่ที่ใช้บานกระจกเป็นผนังหรือหน้าต่างต้องใช้ระจก 2 ชั้นเพื่อกักเก็บความอบอุ่นไว้ในตัวบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น กังหันลม ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นด้วย และอนาคตอาจมีกฎหมายที่เฉพาะบุคคลมากขึ้นโดยอาจกำหนดให้แต่ละคนลดการใช้พลังงานด้วย

อย่างไรก็ดีตาม ดร.ฟอร์ซิธอาจารย์สิ่งแวดล้อมผู้ทำงานเกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสะอาดและเคยทำงานอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้เป็นเวลา 6 ปี กล่าวว่าสิ่งสำคัญสำหรับประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกคือการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด

ทั้งนี้หากแต่ละประเทศมีนโยบายตั้งรับกับปัญหาโลกร้อนจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีการใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000072839

No comments: