Monday, June 11, 2007

สหรัฐชูเรดาร์ตรวจสึนามิ ยิงคลื่นวิทยุเช็คระดับผิวน้ำไกลกว่า 300 กม.

เอกชนสหรัฐเสนอเทคนิคใหม่เฝ้าระวังคลื่นยักษ์ แนะตั้งหอส่งสัญญาณเรดาร์ยิงคลื่นวิทยุเช็คระดับผิวน้ำ ชี้จุดเด่นอุปกรณ์อยู่บนบก บำรุงรักษาง่ายกว่าระบบอื่นที่อุปกรณ์แช่ในทะเล ขณะที่สัญญาณคลื่นส่งได้ไกลกว่า 300 กม.

ดร.แอนตัน จี เจลาส ประธานบริษัทคอดาร์นอร์ จากสหรัฐ เสนอระบบเรดาห์ชายฝั่งช่วยเสริมการเฝ้าระวังภัยพิบัติให้แก่กรมอุตุนิยมวิทยาไทย ระบบดังกล่าวใช้หอเรดาร์ยิงคลื่นวิทยุความถี่สูงแบบเอชเอฟ 4-50 เมกะเฮริตช์ ตรวจกระแสน้ำบริเวณผิวทะเล เพื่อดูความเร็วและทิศทางการไหลที่ก่อให้เกิดคลื่นและและคลื่นยักษ์ สามารถติดตั้งได้บริเวณชานฝั่งทะเลโดยไม่ต้องลงไปในทะเล

“ระบบเรดาร์คลื่นวิทยุความถี่สูง ทำงานเหมือนเครื่องตรวจจับความเร็วรถที่ตำรวจจราจรของไทยใช้ แต่ระบบนี้สามารถตรวจได้ 360 องศา และควบคุมทางไกลได้กว่า 340 กิโลเมตร จากบริเวณชายฝั่ง ทำให้ดัดแปลงห้องควบคุมได้หลากหลาย เช่น อเมริกา ใช้รถยนต์เสมือนห้องควบคุมหรือเกาหลีใต้ ที่นำอุปกรณ์ติดตั้งแถบชายหาดและใช้การควบคุมระยะไกลผ่านจีพีอาร์เอส ไทยก็อาจนำไปติดตั้งบนหลังคาบ้านได้” ดร. กล่าว

เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถแสดงผลตรวจวัดคลื่นต่อเนื่อง และยังพัฒนาให้ส่งสัญญาณเตือนภัยได้ด้วย เช่น ในอินเดีย ที่พัฒนาระบบให้สามารถส่งข้อความเตือนไปยังศูนย์ควบคุมที่เมืองเชนไน หากพบคลื่นสูงผิดปกติ ช่วยให้ประกาศเตือนประชาชนได้ทันเวลา ปัจจุบัน ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็ใช้ระบบนี้ในการตรวจวัดคลื่นผิวน้ำเพื่อเฝ้าระวังการเกิดสึนามิ

ด้านนายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงษ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาเปิดกว้างสำหรับวิทยาการใหม่ เพื่อเฝ้าระวังภัยธรรมชาติรวมถึงคลื่นยักษ์ โดยจำเป็นต้องมีหลายเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านดาวเทียม คลื่นวิทยุความถี่สูง และอื่นๆ สำหรับศึกษาการเปลี่ยนแปลงของคลื่น ให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น แต่การเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ ยังต้องพิจารณาถึงงบประมาณ รวมถึงประสิทธิภาพและประโยชน์ที่ได้รับ

ปลายปีที่แล้ว รัฐบาลไทยและสหรัฐร่วมกันปล่อย “ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิแบบทุ่นลอย” ในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อตรวจคลื่นที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล เมื่อเซ็นเซอร์ใต้น้ำตรวจพบแรงเคลื่อนไหวของน้ำผิดปกติ สัญญาณจะถูกส่งไปยังทุ่นผิวน้ำ ซึ่งจะส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาแจ้งเตือนภัยยังผู้อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่ง

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: