Thursday, June 7, 2007

ม.ฟลอริดาสร้างพายุเฮอร์ริเคนจำลอง

วิศวกรจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ประดิษฐ์เครื่องจำลองพายุฝนขนาดใหญ่ หมุนความเร็วกว่า 200 กม./ชม. ทดลองพัดบ้านให้กระจุยเพื่อดูความเสียหายจากฤทธานุภาพของพายุ

เครื่องสร้างพายุจำลองออกแบบมาให้สามารถติดตั้งไปกับรถพ่วง ปั่นพัดลมด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 2,800 แรงม้า ระบายความร้อนเครื่องยนต์ด้วยน้ำที่ต่อจากถังขนาด 5,000 แกลลอนที่บรรทุกอยู่บนรถพ่วง

วิศวกรตั้งเป้าว่าจะใช้เครื่องสร้างพายุจำลองผลิตกระแสลมความเร็วกว่า 200 กม./ชม. ซึ่งจัดเป็นเฮอร์ริเคนระดับ 3 (จากทั้งหมด 5 ระดับ โดยระดับที่ 5 เป็นพายุหมุนด้วยความเร็ว 250 กม./ชม.) พร้อมกับใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงเลียนแบบพายุฝน เพื่อดูว่าเฮอร์ริเคนระดับดังกล่าวสร้างความเสียหายให้บ้านเรือนได้อย่างไร แล้วนำข้อมูลไปปรับปรุงการออกแบบบ้านเรือนให้ปลอดภัยขึ้น

"เราต้องการทดลองเพื่อประเมินความเสียหายที่บ้านเรือนในชุมชนได้รับจากเฮอร์ริเคน เพื่อนำไปปรับปรุงวัสดุก่อสร้างบ้านรุ่นใหม่ป้องกันวาตภัย" ฟอร์เรสต์ มาสเตอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมพลเรือนและชายฝั่ง ซึ่งรับผิดชอบเป็นหัวหน้าโครงการ กล่าว

เครื่องสร้างพายุจำลองรุ่นนี้ใช้ระบบไฮโดรลิกแทนโซ่ หรือสายพานเพื่อถ่ายกำลังจากเครื่องยนต์มาที่ตัวพัดลม เครื่องยนต์ดีเซลทำหน้าที่ปั่นปั๊มไฮโดรลิกเพื่อดันน้ำผ่านมอเตอร์ที่ซ่อนอยู่ในเสื้อพัดลม ทำให้เครื่องมีน้ำหนักเบาลง ไม่ใหญ่เทอะทะ และปลอดภัยกว่าระบบส่งผ่านกำลังแบบเดิม

เมื่อเดินเครื่องเต็มกำลัง พัดลมจะหมุนด้วยความเร็ว 1,800 รอบต่อนาที ผลิตกระแสลมความเร็วเกือบ 160 กม./ชม. เจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องสามารถบังคับทิศทางลมได้ด้วยคันโยกสำหรับปรับครีบเบี่ยงทางลม ในแผ่นครีบติดตั้งปีนฉีดน้ำแรงสูงเพื่อให้เป็นพายุฝนสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น โดยวัดปริมาณฝนได้ 35 นิ้วต่อชั่วโมง ขณะที่ปริมาณฝนตกทั่วไปอยู่ประมาณ 8 นิ้วต่อชั่วโมง

เจ้าหน้าที่ฝ่ายโยธามลรัฐฟลอริดา กล่าวว่า รัฐบาลได้นำผลวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยการก่อสร้างอาคารหลังฟลอริดาถูกเฮอร์ริเคนแอนดรูว์ถล่มสร้างความเสียหายหนักเมื่อปี 2535 เห็นได้ว่าพายุที่หวนมาถล่มฟลอริดาอีกครั้งในปี 2547 บ้านหลายหลังสามารถรอดพ้นจากความเกรี้ยวกราดของพายุได้ แต่ยังจำเป็นต้องวิจัยเพื่อออกแบบป้องกันหน้าต่าง ประตู หลังคา และส่วนประกอบอื่นให้ดีขึ้น

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/2
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/07/WW54_5407_news.php?newsid=77805

No comments: