Tuesday, January 27, 2009

หุ่นปัญญาประดิษฐ์ติดหล่มภาษาไทย


การพัฒนาหุ่นยนต์เดินสองขาเหมือนมนุษย์หรือฮิวแมนนอยด์ ไม่ใช่เรื่องยากแล้วยุคนี้ หรืออาจไม่สำคัญด้วยซ้ำเมื่อหุ่นยนต์ล้อขับเคลื่อนอิสระเดินทางได้ทุกสภาพพื้นผิวได้ดีกว่า

ที่ยากเย็นแสนสาหัสสำหรับนักพัฒนาหุ่นยนต์ไทยรวมถึงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ คือ ทำอย่างไรหุ่นยนต์จะฟังคำสั่งภาษาไทยรู้เรื่อง อุปสรรคที่สำคัญไม่ใช่อื่นไกล ก็ภาษาไทยที่เขียนกันเป็นพรืดนี่แหละ แม้แต่สมองกลยังศิโรราบ

ที่ผ่านมานักวิจัยภาษาหุ่นยนต์ต่างคนต่างคิดหากลวิธีทำให้สมองกลเข้าใจภาษาไทย ทำให้มาตรฐานการแบ่งคำ ตัดคำแตกต่างกันไปของใครของมัน และยังทำให้งานวิจัยด้านสมองกลอัจฉริยะของไทยไม่คืบหน้าด้วย

ดร.กฤษณ์โกสวัสดิ์ นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษาศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ยอมรับสภาพว่า ตอนนี้เราต้องถอยหลังกลับไปเริ่มตั้งแต่การแบ่งคำแบ่งวลี และประโยคในที่สุด

นี่คือที่มาของโครงการการวัดเปรียบเทียบสมรรถนะเพื่อพัฒนามาตรฐานการประมวลผลภาษาไทย(Benchmark for Enhancing the Standard of Thai language porcessing : BEST) ที่เนคเทคประกาศหาสุดยอดโปรแกรมเมอร์มาร่วมแข่งขัน

การแข่งขันเปิดสำหรับ2 ประเภท ได้แก่ นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ปีนี้เป็นการแข่งขันครั้งแรก ในหัวข้อ การแบ่งคำไทย มีผู้สนใจเข้าร่วมแข่งทั้งหมด 20 ทีมทั่วประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา 12 ทีม และประชาชนทั่วไปอีก 8 ทีม

แต่ละทีมจะได้รับร่างหลักเกณฑ์ที่ผู้เชี่ยวชาญจัดทำขึ้นและฐานข้อมูลคำ 5 ล้านคำ ที่จะเปิดให้ดาวน์โหลดเป็นชุดจำนวน 6 ชุดคำ และต้องพัฒนาโปรแกรมให้สามารถตัดแบ่งข้อความภาษาไทยออกเป็นคำๆ ให้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อาจจะใช้หรือไม่ใช้คลังข้อความที่ได้เตรียมไว้ให้ก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถสรรหาทรัพยากรอื่นๆ มาเพิ่มเติมได้เอง เช่น กฎการสะกดคำไทย รายการคำศัพท์และชนิดของคำจากพจนานุกรม เป็นต้น เพื่อให้ได้ซอฟต์แวร์แบ่งคำภาษาไทยที่ดีที่สุด

เราคาดว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะสร้างมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ดร.ชัยวุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยวิทยาการมนุษยภาษากล่าว ก่อนเสริมว่า การแข่งขันแบ่งคำไทยนี้ อาจจะมีขึ้นอย่างน้อย 2-3 ครั้ง เพื่อให้มาตรฐานมีความแม่นยำ น่าเชื่อถือ จากนั้นจึงขยับไปสู่ขั้น นิพจน์ระบุนาม

นิพจน์ระบุนามหรือคำเฉพาะที่ระบุสถานที่ ชื่อเฉพาะ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่มีในพจนานุกรม และชื่อเฉพาะหรือศัพท์ใหม่เกิดขึ้นมาตลอดเวลา เช่นซานติก้า ที่หลายคนไม่เคยได้ยิน ก็กลายเป็นศัพท์ที่ถูกสืบค้นมากเป็นอันดับ 1 ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา และระบบแบ่งคำที่มีอยู่ก็จะไม่สามารถแบ่งได้ เนื่องจากไม่รู้จัก และจะแบ่งรหัสที่ระบุไว้คือ ซา-น-ติ-ก้-า

ความซับซ้อนของภาษาไทยไม่ใช่เป็นปัญหาเดียวในโลกเพราะแต่ละภาษามีความซับซ้อนเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นภาษาลาว ที่มีรากฐานของภาษาแบบเดียวกับภาษาไทยนั้น มีการใช้เครื่องหมายคอมมา (,) และฟูลสต็อป (.) เพื่อแบ่งคำและประโยค ในขณะที่พม่าและภูฏาน ก็มีการแบ่งพยางค์ชัดเจน ทำให้การพัฒนาเทคนิคการแบ่งคำทำได้ง่ายกว่า

ไม่เฉพาะแต่ภาษาไทยที่หินภาษาที่ซับซ้อนกว่าก็มีให้เห็น เช่น ภาษาอาหรับ ที่มีทั้งการละบางคำทิ้ง หรือการเปลี่ยนรูปคำไปตามบริบท ทำให้แบ่งคำได้ยาก หรือภาษาเขมรที่มีความกำกวม ไม่มีการแบ่งพยางค์ หรือคำที่แน่นอน แต่ก็มีตัวจบประโยคปรากฏให้เห็น
ตัดให้ดีมีชัยสู่สมองกล

เราพัฒนามาเกิน10 ปีแล้ว แต่ท้ายที่สุดเราก็ต้องกลับมาสู่โครงการเบสต์ มาเริ่มตั้งไข่แบ่งคำใหม่ ซึ่งจากฐานข้อมูลคำที่มีมากขึ้น รวมถึงเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น จะช่วยให้โครงการวิจัยของเราก้าวหน้า เช่น โปรแกรมแปลภาษา โปรแกรมสืบค้นข้อมูล การสั่งงานด้วยเสียง และการสังเคราะห์เสียง ดร.ชัยกล่าว

โปรแกรมแปลภาษาไทย-อังกฤษและอังกฤษ-ไทย ที่ปัจจุบัน ความแม่นยำอยู่ที่ 60% แปลอังกฤษเป็นไทยได้ แต่ไม่สามารถแปลไทยเป็นอังกฤษได้ เนื่องจากยังตัดคำได้ไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับโปรแกรมสืบค้นในขณะที่ซอฟต์แวร์การสั่งงานด้วยเสียงก็ไม่สามารถทำงานได้สำเร็จเ หมือนเวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ ที่ปัจจุบันทำได้แล้ว การสังเคราะห์เสียงภาษาไทยยังผิดเพี้ยน ผิดความหมาย

หากเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานเช่นนี้สำเร็จก็จะทำให้การวิจัยสมองกลอัจฉริยะเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว ดังเช่นเนคเทคที่จะมี 2 เทคโนโลยีใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา คือ อับดุล ที่วิเคราะห์คำได้ดีขึ้น และการสรุปความอัตโนมัติ (Summarization) ทำหน้าที่สรุปใจความสำคัญไม่ว่าจะเป็นอีเมลหรือข่าว แต่มีความยากในระดับสูง เพราะต้องตัดทั้งคำ วลี ประโยคและต้องเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดก่อนที่จะสรุป ดร.ชัยกล่าว

นอกเหนือจากองค์ความรู้ใหม่และเทคนิคใหม่ ผู้แข่งขันยังมีส่วนร่วมในการพัฒนามาตรฐานการประมวลผลการแบ่งคำ จากร่างหลักเกณฑ์ที่นำไปใช้ ซึ่งทางผู้จัดจะได้รับรู้ข้อดี ข้อเสีย และหาวิธีการแก้ไข

นอกจากนี้เนคเทคยังมีแผนจะจัดแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยใช้ภาษาไทยเป็นโจทย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติหรือนักศึกษาไทยในต่างประเทศได้เข้าร่วม โดยตั้งเป้าจัดการแข่งขันขึ้นภายในงาน Symposium on Natural Language Processing (SNLP) ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2552 นี้

สาลินีย์ทับพิลา

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2009/01/27/x_it_h001_333738.php?news_id=333738

Monday, January 26, 2009

“สุริยุปราคา” ที่ท้องฟ้ากรุงเทพฯ


ชมภาพปรากฎการณ์ “สุริยุปราคา” เหนือท้องฟ้ากรุงเทพฯ ที่ได้เห็นแค่เพียงบางส่วน ตั้งแต่เวลา 15.53 น.โดยช่วงที่กินลึกที่สุดที่บ้านเราจะมองเห็นได้คือ เวลา 16.52 น.และจะค่อยๆ เคลื่อนออก ซึ่งเราไม่สามารถสังเกตได้จนจบปรากฎการณ์ เพราะพระอาทิตย์ชิงตกดินไปเสียก่อน

แม้ว่า สุริยุปราคาแบบวงแหวน (Annular Solar Ecplise) ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ม.ค.52 นี้ ในส่วนของประเทศไทย จะได้เห็นแค่เพียงบางส่วนของปรากฏการณ์ แต่การได้สังเกตปรากฏการณ์ที่ผิดแปลกไปจากทุกวัน ก็ยังสร้างความตื่นเต้นให้ไม่น้อยอยู่เนืองๆ

ทั้งนี้ ภาพที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTVผู้จัดการออนไลน์" นำมาเป็นภาพแรก คือ ภาพการกินดวงลึกที่สุดของปรากฏการณ์ เทาที่สังเกตได้ที่ประเทศไทย โดยบันทึกเมื่อเวลา 16.52 น.ที่ท้องฟ้าบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (ลีซา) ที่จัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องสุริยุปราคาอยู่บริเวณนั้น

ถัดมาอีก 8 ภาพ บันทึกเมื่อเวลา 16.00 น.เป็นต้นไป โดยเริ่มตั้งแต่ส่วนแรกของปรากฏการณ์ที่สังเกตได้ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ที่จัดกิจกรรมสุริยุปราคาแรกแห่งปีรับปีดาราศาสตร์สากล โดยตั้งกล้อง ณ ชั้น 8 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทว่าในการตั้งกล้องนั้น ทำมุมในองศาที่ต่างออกไป จึงทำให้มุมที่ดวงอาทิตย์เว้นแหว่งแตกต่างไปจากภาพอื่นๆ

สำหรับ 3 ภาพสุดท้าย บันทึกโดยช่างภาพ ASTVผู้จัดการ เมื่อเวลาประมาณ 17.20 น.หลังช่วงคราสกินดวงลึกที่สุด ที่บริเวณท้องฟ้าเหนือรัฐสภา

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000009132

ว้าว!! ในที่สุดก็ได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ”


ในที่สุด ก็ได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ” ปรากฏขึ้นระหว่างการเกิดสุริยุปราคา ที่ท้องฟ้าเหนือเกาะชวา เตือนไว้นิดว่าอย่าเพ่งนาน เพราะแม้ว่าจะเป็นภาพถ่าย แต่ก็ร้อนแรงไม่แพ้แสงอาทิตย์

สุริยุปราคา ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ม.ค.2552 นี้ แม้ว่าจะสังเกตกันได้ในหลายพื้นที่ แต่มีผู้โชคดีเพียงน้อยนิด ที่จะได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ” (Ring of fire) ซึ่งเป็นอีกชื่อเรียกของ “สุริยุปราคาแบบวงแหวน” (Annular Solar Ecplise) โดยในช่วงกลางของอุปราคา ดวงอาทิตย์จะถูกบังด้วยดวงจันทร์ทั้งดวง แต่ไม่ทาบสนิท จึงเห็นเป็นรูปวงแหวน

สุริยุปราคาแบบวงแหวนนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้สังเกตอยู่ในตำแหน่งเงามืดพาดลงบนพื้นโลก แต่ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกมาก จนเงามืดทอดยาวไม่ถึงโลก ทำให้เห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์

สำหรับผู้ที่คาดว่าจะโชคดีทีได้เห็น “วงแหวนแห่งไฟ” ก็คือ ผู้ที่อยู่ในแถบมหาสมุทรอินเดีย โดยสามารถสังเกตสุริยุปราคาวงแหวนนานที่สุดถึง 7 นาที 56 วินาที แต่ภาพนี้ก็ได้รับการบันทึกที่เมืองบันดาร์ ลัมปุง (Bandar Lampung) บนเกาะชวา ห่างจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไปนิดเดียว

ส่วนผู้ที่อยู่ในบริเวณอื่นๆ อย่าง แอฟริกา มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย อินเดียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทย ก็ได้เห็นเป็นเพียงสุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) ที่ผู้สังเกตอยู่ในตำแหน่งเงามัว จึงเห็นดวงอาทิตย์สว่างเป็นเสี้ยว อย่างที่ได้ชมผ่านตาไปแล้ว

อย่างไรก็ดี คราสครั้งสำคัญอีกครั้งในปีนี้ คือ “สุริยุปราคาเต็มดวง” ในเดือน ก.ค.2552 ซึ่งพื้นที่ที่จะสังเกตเห็นได้ทั้งหมดของปรากฏการณ์ คือ อินเดีย และ จีน (ทั้งคู่นับเป็นประเทศที่มีประชากรมากอันดับสูงสุดของโลก -- ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่า สุริยคราสครั้งนี้ น่าจะมีผู้ได้ชมมากที่สุดไปด้วย) อีกทั้งยังเป็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานกว่า 6 นาที นับว่ายาวนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21

ระหว่างรอปรากฏการณ์ใหญ่แห่งศตวรรษ ก็ยังมีจันทรุปราคาเงามัว 2 ครั้ง เรียกน้ำย่อยกันไปก่อน คือ วันที่ 9 ก.พ.2552 ระหว่างเวลา 19.39-23.38 น.และอีกครั้งในวันที่ 7 ก.ค.2552 ระหว่างเวลา 15.38-17.39 น. โดยไม่เห็นในประเทศไทย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000009238

Wednesday, January 14, 2009

“ซอฟต์แวร์โรงพยาบาล” ความสุขของชุมชน

หัวใจสำคัญของโรงพยาบาลชุมชนไม่ได้มีแค่หมอ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย พยาบาล เวชภัณฑ์ แต่เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอทีก็สำคัญ จะไม่สำคัญได้อย่างไร ถ้าไม่มีระบบข้อมูลสั่งจ่ายยา และเขียนรายงานส่งกระทรวงสาธารณสุขเบิกค่ารักษา ค่ายา และจิปาถะ

ถ้าจะให้โรงพยาบาลชุมชนเจียดงบประมาณไปซื้อระบบบริหารจัดการโรงพยาบาลมาใช้กันทั่วประเทศ งบประมาณที่ใช้คงมหาศาล พอคิดได้อย่างนั้น บรรดาหมอที่สนใจและมีฝีมือด้านการเขียนโปรแกรมจึงจับมือกันพัฒนาระบบโฮสพิทัลโอเอส (Hospital-OS)
ตัวแกนนำพันธมิตรหมอโปรแกรมเมอร์คือ นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเก็ต และยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท โอเพ่นซอร์ส เทคโนโลยี จำกัด ด้วย โดยมีเพื่อนหมอมาช่วยกันจนคลอดออกมาเป็นโปรแกรมใช้งานตามโรงพยาบาลชุมชุนราว 80 แห่งทั่วประเทศ

โปรแกรมดังกล่าวพัฒนาให้รองรับการทำงานในส่วนลงทะเบียนผู้ป่วยและงานเอกสาร รวมถึงงานบริหารจัดการที่ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานบริการผู้ป่วย และเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่โรงพยาบาล

ตอนเริ่มพัฒนาโปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว "หมอก้อง" สร้างเว็บไซต์ www.Hospital-OS.com ให้เป็นชุมชนสำหรับสมาชิกมาแสดงความคิดเห็น และทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แบ่งปันความรู้ รวบรวมความคิดเห็นจากชุมชนเว็บจนเรียกได้ว่า โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสสำเร็จลุล่วงได้ด้วยพลังของชุมชนอย่างแท้จริง

โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสจึงสนองตอบชุมชนโดยพัฒนาซอฟท์แวร์ในรูปแบบโอเพ่นซอร์ส หรือซอฟท์แวร์เปิด ที่ว่าเปิดหมายความว่า เปิดเผย "ซอร์สโค้ด" หรือเนื้อหาข้อมูลโปรแกรมทุกบรรทัด เผื่อใครมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมสามารถเอาไปพัฒนาต่อ หรือดัดแปลงให้เหมาะกับการใช้งานของโรงพยาบาลได้ฟรี

ถึงได้โปรแกรมบริหารจัดการโรงพยาบาลมาแล้วก็ใช่ว่านำไปใช้งานได้เลย ขั้นต่อไปคือ ต้องจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรู้จักการใช้งาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปรากฏว่า สุดท้ายเจ้าหน้าที่ดูแลระบบโปรแกรมมีตั้งแต่เภสัชกรไปจนถึงคนขับรถ

"ผู้ดูแลระบบของเราตามโรงพยาบาลต่างๆ มีตั้งแต่คนขับรถ พนักงานห้องบัตร ผู้ช่วยเภสัชกร หรือแม้แต่เป็นพ่อบ้านที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์มาก่อนก็ทำได้ เราสอนเขาจนดูแลระบบได้" หมอก้องเล่า

นพ.ก้องเกียรติ กล่าวว่า โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการลงทะเบียนคนไข้ไปถึงงานรักษาในโรงพยาบาล แทนที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลแล้วต้องมาที่แผนกเวชทะเบียนเพื่อลงประวัติ จากนั้นคนไข้หรือเจ้าหน้าที่ค่อยถือบัตรไปหน้าห้องตรวจ เพื่อให้หมอดูอาการและสั่งยา แต่ระบบนี้ไม่ต้องใช้กระดาษ เพียงคนไข้กรอกประวัติผ่านคอมพิวเตอร์ ระบบก็จะทำงาน ทำให้แพทย์สามารถสั่งยาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้

“โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสช่วยอุดช่องว่างได้ โรงพยาบาลบางแห่งไกลมาก ไม่มีใครอยากไปขายซอฟต์แวร์หรือบางโรงพยาบาลอยากใช้ซอฟต์แวร์แต่ไม่มีงบประมาณ ก็จะอุดช่องว่างตรงนี้เป็นภาวะพึ่งพากัน" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเก็ต กล่าว

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเปิดให้ดาวน์โหลดนำไปใช้งานได้ฟรี ไม่เฉพาะแต่โรงพยาบาลไทยเท่านั้น ยังมีต่างประเทศเข้ามาดาวน์โหลดโปรแกรมดังกล่าวไปทดลองนำใช้ เช่น ประเทศแถบแอฟริกาติดต่อเข้ามาเพื่อนำไปช่วยในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโรคเอดส์ 200 กว่าแห่ง แต่ขาดงบประมาณรวมถึงข้อจำกัดอื่น

หมอก้องกล่าวว่า สำหรับเมืองไทยยังมีโอกาสที่ดีและเป็นสังคมเปิด ทุกคนมีทางเลือก บางโรงพยาบาลไม่มีเงินก็สามารถใช้ระบบปฏิบัติการที่เปิดให้ใช้ได้ฟรี และการพัฒนาโปรแกรมพยายามเติมเต็มสำหรับกลุ่มที่ยังขาดโอกาสให้มากที่สุด

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เสริมความเห็นว่า ซอฟต์แวร์พาร์คมีความยินดียิ่งในการเปิดโอกาสให้มีการนำโปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะทางการแพทย์ที่บ้านเรายังขาดแคลนระบบสารสนเทศที่มีการปรับใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมการทำงานอย่างตรงจุด ซอฟต์แวร์พาร์คจึงร่วมสนับสนุนทุนให้การอบรมแก่บุคลากรของโรงพยาบาลทั่วประเทศและนำไปมอบเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะผ่านโครงการซอฟต์แวร์เพื่อสังคม

"โครงการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสและสร้างศักยภาพของบุคลากรที่แม้ไม่ได้เป็นคนไอทีก็สามารถนำระบบสารสนเทศมาใช้งานได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดได้" ผอ.ซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าว

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2009/01/14/x_it_h001_330845.php?news_id=330845

ไอทีโซน-วินโดว์ส 7 ท้องแก่ใกล้คลอดแล้ว

ระบบปฏิบัติการวินโดว์ส 7 ของไมโครซอฟท์ใกล้คลอดเต็มแก่แล้วครับ

สตีฟ บอลเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของไมโครซอฟท์ประกาศชัดเจนกลางเวทีอินเตอร์เนชั่นแนล คอนซูเมอร์ อิเล็กทรอนิกส์ โชว์ 2009 หรือ ซีอีเอส ซึ่งนับเป็นงานแรกที่บอลเมอร์ มาทำหน้าที่แทนบิลล์ เกตส์ ที่เกษียณตัวเองจากตำแหน่งไปเมื่อปีที่แล้ว

สุนทรพจน์ครั้งนี้ บอลเมอร์ มาพร้อมกับการความหวังว่าระบบปฏิบัติการวินโดว์สยังเป็นที่รักของคนส่วนใหญ่ โปรแกรมไลฟ์เสิร์ชLive Search) จะไม่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และยังประกาศเปิดตัวฟอร์ด-ซิง (Ford Sync) เทคโนโลยีบันเทิงในรถที่มาพร้อมกับบริการบอกทางเทลมี (Tell Me) สั่งงานด้วยเสียงด้วย

เริ่มต้น เขาบอกกับมิตรรักไมโครซอฟท์ว่า ยุคเศรษฐกิจถดถอยพลอยทำให้คนคาดหวังน้อยลง มองโลกแง่ดีน้อยลง และเลิกฝันทะเยอทะยาน แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดกับเศรษฐกิจ หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะยืดยาวไปสักแค่ไหน เขามั่นใจว่าชีวิตดิจิทัลยังโกยเงินไม่หยุด สำหรับไมโครซอฟท์เองยังคงลงทุนวิจัยและพัฒนาสูงกว่าคู่แข่ง พอมาถึงช่วงพูดถึงวินโดว์ส 7 รุ่นทดสอบใช้งานหรือเบต้า เขาบอกว่าพร้อมเปิดให้ดาวน์โหลดสำหรับผู้ใช้พีซีวันศุกร์ที่แล้ว (9 ม.ค.)

ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ ยังคงใช้เทคโนโลยีหลักเหมือนกับโอเอสตัวก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นวินโดว์ส เอ็กซ์พี และวิสต้า หรือพูดอีกอย่างว่ากลายพันธุ์มาจากวิสต้า เพียงแต่ปรับจูนแก้ปัญหาที่ผู้ใช้เคยปวดกบาลกับวิสต้า ยกตัวอย่าง ไมโครซอฟท์สัญญาว่าจะทำให้มันใช้งานติดตั้งไดรเวอร์กับอุปกรณ์พ่วงต่ออื่นง่ายขึ้น และมีกล่องแสดงแจ้งเตือนบอกนั่นบอกนี่ให้น้อยลง บอลเมอร์ยังรับประกันด้วยว่าวินโดว์ส 7 ทำงานได้เร็วขึ้น และค่อยๆ จิบแบตเตอรี่โน้ตบุ๊ก

"ผมเชื่อว่าวินโดว์สยังคงเป็นศูนย์กลางระบบสุริยะของชาวเทคโนโลยี ผมเอาส่วนผสมที่ลงตัวมาปรุงให้กลมกล่อม เรียบง่าย วางใจได้ และเร็ว เราทุ่มเทกันอย่างหนักเพื่อให้ถูกใจ และใช้ได้เลย"

บอลเมอร์ยังหวังว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้เครื่องมือสืบค้นไลฟ์เสิร์ชให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้ยังเป็นรองกูเกิ้ลอยู่หลายขุม ที่ผ่านมาได้เจรจากับผู้ผลิตพีซีอย่างเดลล์ อิงค์ ให้ติดตั้งโปรแกรมไลฟ์เสิร์ช และวินโดว์สไลฟ์ รวมถึงโปรแกรมแชท และอีเมลของไมโครซอฟท์ในเครื่องพีซีสำหรับสำนักงานและลูกค้าทั่วไปที่ส่งจำหน่ายไปทั่วโลก ไมโครซอฟท์ยังจับมือกับเวอริซอน เพื่อติดตั้งไลฟ์เสิร์ชลงบนโทรศัพท์มือถือของเวอริซอนที่ใช้ในสหรัฐด้วย

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2009/01/14/x_it_h001_330843.php?news_id=330843

โค้งสุดท้ายการแข่งขันหุ่นยนต์ ด้วย Robocode ประจำปี 2009

วิชาการดอทคอม - นายบุญญฤทธิ์ อุยยานนวาระ ผู้บริหาร บริษัท วิชาการดอทคอม เปิดเผยว่า ตามที่ วิชาการดอทคอม ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการแข่งขัน Robocode Thailand Contest 2009 เพื่อค้นหาสุดยอดทีมกับสุดยอดหุ่นยนต์ประจำปีนี้นั้น ขณะนี้เหลือเวลาเพียง 7 วัน ก่อนที่จะหมดเขตส่งแพ็กเกจหุ่นยนต์สำหรับรอบเข้าคัดเลือก

ผู้ที่จัดทำเสร็จแล้ว ต้องการจะส่งหุ่นยนต์ สามารถเข้าไปส่งได้เลยที่ http://www.vcharkarn.com/robocode/submit.php

ตามกฏกติกา สามารถ Upload แพ็กเกจหุ่นยนต์ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง เวลาเที่ยงคืน (0.00 น.) ของคืนวันที่ 20 มกราคม 2552(เช้าวันที่ 21 มกราคม 2552) และสามารถ Upload แพ็กเกจหุ่นยนต์ทับซ้ำได้เรื่อยๆ จนถึงเวลาปิดรับ จึงขอแนะนำให้ Upload แพ็กเกจหุ่นยนต์ขึ้นมาก่อน ในกรณีที่ไฟล์หาย หรือมีปัญหา สามารถ download หุ่นยนต์ล่าสุดของตนเองมาแก้ไขได้ตลอด ตรงแถบด้านขวาของหน้า http://www.vcharkarn.com/robocode/ (อย่าลืม login ก่อน)

สำหรับวิธีการทำแพ็กเกจหุ่นยนต์อย่างถูกต้องและวิธีการ Upload แพ็กเกจหุ่นยนต์ สามารถเข้าไปอ่านได้จากบทความ http://www.vcharkarn.com/varticle/38351 นี้

สำหรับท่านที่ยังเขียนหุ่นยนต์ไม่เสร็จ บทความการสอนเขียนหุ่นยนต์ Robocode และเอกสารประกอบคำบรรยายการเขียน Robocode ของวันที่ 27 ธันวาคมที่ SIIT, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถูก Upload ขึ้นครบแล้ว สามารถดาวน์โหลดมาชมได้ที่ http://www.vcharkarn.com/robocode/tutorial.php

สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบกฎกติกาการแข่งขันสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.vcharkarn.com/robocode/rule.php

หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อทีมงานวิชาการดอทคอมที่ โทร. 02 583 2802

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000004064

ดักจับดีเอ็นเอด้วยลำแสงนาโน เทคนิคใหม่ทำไบโอเซนเซอร์ความไวสูง


นักวิจัยมะกัน พัฒนาท่อนำแสง ทำแสงให้มีขนาดนาโน ช่วยดักจับดีเอ็นเอและอนุภาคนาโนในของไหลได้ดี พร้อมนำส่งไปยังทิศทางที่ต้องการได้สะดวก อนาคตเห็นทางทำไบโอเซนเซอร์ตรวจโรคแม่นยำสูง

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) สหรัฐฯ ค้นพบวิธีดักจับดีเอ็นเอและอนุภาคนาโนในสารละลายไหล โดยใช้ลำแสงขนาดนาโน ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารเนเจอร์ (Nature) ตามที่ระบุในไซน์เดลี โดยนักวิจัยหวังว่าเทคนิคดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาเป็นไบโอเซนเซอร์ความแม่นยำสูง หรือประยุกต์ใช้ในการคัดเลือกและนำส่งอนุภาคนาโน

วิลเลียม ชูลทส์ มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ สหรัฐฯ (National Science Foundation: NSF) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนโครงการวิจัยนี้ระบุว่า งานวิจัยดังกล่าวสามารถต่อยอดนำไปใช้ได้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในงานด้านวิศวกรรมในการจัดการกับวัตถุระดับโมเลกุลและอะตอม โดยเฉพาะวัตถุที่บรรจุอยู่ในของเหลว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการใช้ประโยชน์จากแสงในการจัดการกับเซลล์และวัตถุขนาดนาโนอยู่แล้ว ทว่าเทคนิคใหม่ที่ว่านี้นี้ช่วยให้นักวิจัยทำงานดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมและยาวนานขึ้น

ด้าน เดวิด อีริคสัน (David Erickson) วิศวกร คอร์เนล กล่าวว่า เรามองแสงเป็นชุดของอนุภาคที่ไม่มีมวลโดยเรียกว่าโฟตอน (photon) ซึ่งพวกเขาได้ทดลองหาวิธีรวมอนุภาคโฟตอนเหล่านั้นเข้ามาอยู่ในพื้นที่ขนาดเล็กมาก แล้วทำให้ส่องผ่านไปตามท่อนำคลื่น (waveguide) ชนิดพิเศษ ซึ่งคล้ายกับเส้นใยแก้วนำแสงขนาดนาโน เมื่อชิ้นส่วนของวัตถุใด ซึ่งอาจจะเป็นดีเอ็นเอ หรืออนุภาคนาโน ลอยเข้ามาใกล้กับลำแสงโฟตอนดังกล่าว จะถูกดูดเข้ามาข้างในและไหลไปตามลำแสง

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้พัฒนาท่อนำคลื่นเพื่อทำให้แสงกลายเป็นลำแสงขนาดเล็ก และพัฒนาต่อไปเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในกับดักจับดีเอ็นเอ หรือวัตถุอื่นที่มีขนาดเล็กในระดับนาโนเมตรที่ไหลอยู่ในของเหลวได้ดียิ่งขึ้น โดยท่อเล็กๆ แต่ละท่อที่อยู่ภายในท่อนำคลื่นนั้นมีความกว้างเพียง 60-120 นาโนเมตร เท่านั้น ซึ่งบางกว่าความยาวคลื่นของแสงเลเซอร์อินฟราเรดที่มีขนาด 1,500 นาโนเมตร ความสำเร็จครั้งนี้ช่วยขจัดข้อจำกัดที่มีอยู่เดิมอันเกิดจากการกระจายของลำแสงเมื่อเจอสิ่งกีดขวาง และท่อขนาดนาโนภายในท่อนำแสงดังกล่าวยังช่วยให้ใช้แสงในการดักจับหรือขนส่งวัตถุนาโนได้ดียิ่งขึ้นด้วย

นักวิจัยทดลองโดยนำสารละลายที่มีดีเอ็นเอหรืออนุภาคนาโน มาชะให้ไหลผ่านไปตามท่อนำแสงที่มีช่องแสงผ่านขนาดไมโครเมตร ด้วยความเร็ว 80 ไมโครเมตรต่อวินาที ผลปรากฏว่าระบบดังกล่าวสามารถดักจับดีเอ็นเอหรืออนุภาคนาโนเข้ามาภายในลำแสงได้ไม่ถึง 1 ใน 4 ส่วนของอนุภาคทั้งหมด ทว่าเมื่อทดลองใช้ท่อนำแสงที่มีช่องแสงขนาดเล็กลง อัตราการไหลช้าลง และลำแสงมีพลังงานสูงกว่า ปริมาณอนุภาคที่ดักจับได้ก็มีอัตราเพิ่มขึ้น

"สิ่งที่เรากำลังหวังจะทำในตอนนี้ คือทำความเข้าใจกับหลักการทางฟิสิกส์ให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้เห็นอะไรก็ตาม ที่อาจเป็นไปได้เข้าใกล้ความเป็นจริงยิ่งขึ้น ครั้งท้ายสุดเรานึกถึงการพัฒนาอุปกรณ์ทางด้านแสงที่มีความรวดเร็ว ฉับไว และประสิทธิภาพสูง สำหรับใช้ในการสื่อสารและงานอื่นๆ ในช่วงตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และมีการประยุกต์นำไปใช้ทางด้านระบบนาโน ซึ่งความหวังในอนาคตของเราคือสามารถขนส่งผ่านแต่ละสายของดีเอ็นเอได้คล้ายกับการขนส่งผ่านแสงที่ทำได้แล้วในปัจจุบัน" อีริคสัน กล่าว

อีกทั้งในอนาคตอาจมีการนำเทคโนโลยีในไปใช้ในการดักจับ หรือนำส่งดีเอ็นเอหรืออนุภาคอื่นให้ไปยังทิศทางและเป้าหมายที่ถูกต้องได้ อาทิ ใชัในการพัฒนาเซนเซอร์ตรวจวินิจฉัยต่างๆ หรือสำหรับรวบรวมอนุภาคที่มีโครงสร้างตามที่ต้องการ.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000003841

นาซาส่ง "สุดยอดบอลลูน" แตะขอบอวกาศเหนือแอนตาร์กติกา



"นาซา" จับมือมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ทำต้นแบบ "สุดยอดบอลลูนความดันสูง" ทดสอบสำเร็จเหนือแอนตาร์กติกา เปิดศักราชใหม่สำหรับการวิจัยวิทยาศาสตร์ ในชั้นบรรยากาศสูงๆ โดยบอลลูนต้นแบบสามารถนำการทดลองขึ้นไปแตะขอบอวกาศได้นานถึง 100 วันหรือมากกว่า

ไซน์เดลีรายงานว่า องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) และมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐฯ (National Science Foundation : NSF) ได้ร่วมกันพัฒนา "สุดยอดบอลลูนความดันสูง" (super-pressure balloon) ปริมาตรเกือบ 2 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นบอลลูนที่มีความดันยิ่งยวดและมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปล่อยลอยขึ้นฟ้า โดยมีการทดสอบไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.51 ที่ผ่านมา ณ สถานีแมคมัวร์ดู (McMurdo Station) ซึ่งเป็นศูนย์ในการขนส่งของมูลนิธิวิทยาศาสตร์ที่แอนตาร์กติกา

จากการทดลองสุดยอดบอลลูนฯ ลอยขึ้นฟ้าได้สูงกว่า 33,800 เมตร และรักษาระดับการบินได้นานถึง 11 วัน ซึ่งการทดลองดังกล่าวเป็นการทดสอบความแข็งแรงและการทำงานของบอลลูนรูปฟักทองที่มีเพียงหนึ่งเดียว และได้ใช้วัสดุพิเศษเป็นแผ่นฟิล์มโพลีเอธีลีนที่มีความหนาพอๆ กับพลาสติกห่ออาหารทั่วไป และหากการพัฒนาสิ้นสุดนาซาจะได้บอลลูนที่มีปริมาตรกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งขนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สู่ระดับความสูงเดียวกันนี้ อันเป็นระดับที่สูงกว่าระดับการโดยสารเครื่องบิน 3-4 เท่า

"การปล่อยบอลลูนเที่ยวทดสอบนี้ นับเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความสามารถใหม่แก่บอลลูน เพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่บนพื้นฐานวิศวกรรมทางเสียงและการพัฒนาเชิงปฏิบัติการ โดยทีมพัฒนาได้ทำให้สุดยอดบอลลูนยกเครื่องมือที่หนักถึง 1 ตันขึ้นสู่ความสูง 33,800 เมตรได้และทำให้เห็นว่าพวดเขามาถูกทางแล้ว" ดับเบิลยู เวอร์นอน โจนส์ (W. Vernon Jones) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของนาซาด้านงานวิจัยใต้วงโคจรแห่งสำนักงานใหญ่ในวอชิงตันกล่าว

สำหรับการทดลองที่ใช้บอลลูนซึ่งมีความทนทานยาวนานเป็นพิเศษนั้นมีตุ้นทุนถูกกว่าใช้ดาวเทียม และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ส่งขึ้นไปนั้นสามารถกู้กลับคืนมาได้แล้วนำส่งขึ้นไปใหม่ ทำให้ทีมวิจัยคิดถึงสถานีสำหรับการทดลองที่ระดับสูงๆ

"ทีมพัฒนาบอลลูนของเรา ภูมิใจอย่างยิ่งกับความสำเร็จครั้งใหญ่ในเที่ยวทดสอบนี้ และพวกเขาต่างมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าการพัฒนาความสามารถของบอลลูนให้ลอยได้นานขึ้นเป็นเดือน เพื่อรองรับการสังเกตการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจากเที่ยวทดสอบฉายภาพให้เห็นว่าเที่ยวบิน 100 วันของการบรรทุกสัมภาระปริมาณมากๆ คือเป้าหมายที่แท้จริง" เดวิด เพียซ (David Pierce) หัวหน้าสำนักงานโครงการบอลลูน (Balloon Program Office) ในเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ของนาซากล่าว

นอกจากสุดยอดบอลลูนเที่ยวทดสอบนี้ ยังมีการทดลองบอลลูนที่มีความทนทานอื่นๆ อีก 2 เที่ยวในช่วงปี 2551-2552 ได้แก่ บอลลูนของมหาวิทยาลัยฮาวายที่มานัว (University of Hawaii Manoa) สหรัฐฯ ซึ่งส่งบอลลูนขึ้นไปพร้อมกล้องโทรทรรศน์วิทยุเมื่อ 21 ธ.ค.51 ที่ผ่านมาเพื่อสำรวจร่องรอยของอนุภาคนิวทริโนพลังงานสูงที่อาจจมาจากนอกกาแลกซีทางช้างเผือกของเรา

และบอลลูนของมหาวิทยาลัยแมร์รีแลนด์ (University of Maryland) สหรัฐฯ ที่ส่งขึ้นไปเมื่อ 19 ธ.ค.51 และกลับเพิ่งลงมาเมื่อ 6 ม.ค.52 นี้ เพื่อวัดอนุภาคที่ให้รังสีคอสมิคซึ่งส่งมายังโลกโดยตรง หลังการระเบิดซูเปอร์โนวาสักแห่งในทางช้างเผือกของเราเอง

สำหรับสุดยอดบอลลูนความดันสูงนี้ นับเป็นไฮไลท์ของสภาวิจัยแห่งสหรัฐฯ ในการสำรวจแห่งทศวรรษเรื่อง "ดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในสหัสวรรษใหม่" (Astronomy and Astrophysics in the New Millennium) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการเข้าถึงสภาพแวดล้อมใกล้อวกาศเพื่องานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในราคาไม่แพง

ทั้งนี้นาซาและมูลนิธิวิทยาศาสตร์ได้นำทดสอบบอลลูนเพื่อการทดลองวิทยาศาสตร์ระหว่างฤดูร้อนของแอนตาร์ติก โดยมูลนิธิวิทยาศาสตร์รับผิดชอบในการจัดการโครงการแอนตาร์กติกของสหรัฐฯ และสนับสนุนด้านการขนส่งเพื่องานด้านวิทยาศาสตร์ในแอนตาร์กติกาทั้งหมดของสหรัฐฯ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000003859

Thursday, January 8, 2009

เปิดแล้ว "ถนนสายวิทยาศาสตร์" ปี 3


ชมภาพบรรยากาศงาน "ถนนสายวิทยาศาสตร์" เปิดอย่างเป็นทางการรับวันเด็กแห่งชาติ โดยมีกิจกรรมให้ร่วมกว่า 100 กิจกรรมใน 33 สถานี

งาน "ถนนสายวิทยาศาสตร์" รับวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2552 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ม.ค. เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เป็นประธานเปิดงานในช่วงเช้าวันที่ 8 ม.ค. ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซ.โยธี ถ.พระราม 6 ซึ่งภายในงานจัดแบ่งนิทรรศการออกเป็นสถานีต่างๆ 33 สถานี รวมกว่า 100 กิจกรรม ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" รวบรวมภาพบรรยากาศมาฝาก

อาทิ "สถานีนักสำรวจน้อย" เปิดให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ด้วยตนเองในการค้นหาสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน้ำจืด รวมถึงธรรมชาติของพืชและสัตว์และการดำรงชีวิตในแหล่งน้ำ "สถานีตะลุยโลกวิทย์" มีกิจกรรมให้ทดลองทำนาฬิกาแดด "สถานีการแข่งขันรูบิก อพวช." ที่คัดเลือกผู้เข้าแข่งขันระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค. และชิงชนะเลิศในวันที่ 10 ม.ค. "สถานีครอบครัวอะตอม" จัดนิทรรศการสร้างความตระหนักด้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ความปลอดภัยการใช้รังสีอย่างปลอดภัย

"สถานีสนุกกับกล้องดูดาว" มีกิจกรรมค้นหาดาวเคราะห์ดวงใหม่ ประกอบกล้องดูดาวและทรงกลมท้องฟ้าจำลอง และทำแว่นตาสำหรับดูสุริยุปราคา ในวันที่ 26 ม.ค. เวลา 16.00 น. "สถานี Science Lab วศ.ห้องทดลองนักวิทยาศาสตร์น้อย" เปิดให้ทำการทดลองหลากหลาย เช่น ทดสอบน้ำกระด้าง หาแอมโมเนียในตู้ปลา และหาด่างในผงซักฟอก "สถานีผจญภัยในบ้านวิทย์ มหิดล" จัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เช่น ผจญภัยไปกับนกเงือก Walk Rally โลกล้านปี โคนัน 2009 ให้ช่วยกันลำดับการเกิดเหตุและจับตัวผู้ร้ายโดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ สถานีวัดพลังมนุษย์ สำหรับทดสอบสมรรถนะร่างกาย เป็นต้น

งานถนนสายวิทยาศาสตร์ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 นี้ เปิดให้เข้าร่วมงานได้ตั้งแต่ 9.00-18.00 น. ระหว่างวันที่ 8-10 ม.ค.52 ณ กระทรวงิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซ.โยธี ถ.พระราม 6 และพื้นที่ของหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กระทรวงทรัพยากรณี และอาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ องค์การเภสัชกรรม โดยเมื่อลงทะเบียนเข้าร่วมงานจะได้รับ "พาสปอร์ต" สำหรับแสตมป์ตราสถานีที่เข้าร่วมเพื่อแลกของรางวัล ซึ่งเป็นแผนที่และคู่มือในการชมงานด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเดินทางมาเที่ยวชมงานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ตั้งแต่วันที่ 8–10 ม.ค.52 วลา 09.00 – 18.00 น. โดยสามารถเดินทางได้ทั้งรถโดยสารประจำทางสาย 8, 44, 67, 92, 97, ปอ.44, ปอ.157, ปอ.171, ปอ.509, ปอ.538 ตลอดจนรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เตรียมรถ Shuttle Bus ไว้รับ-ส่ง ณ สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเที่ยวชมงานให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม หรือโรงเรียนสามารถติดต่อเพื่อเข้าร่วมงาน กรุณาสอบถามได้ที่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2577-9999 ต่อ 1829 และ 1830

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000001851

Wednesday, January 7, 2009

"ทางช้างเผือก" ใหญ่กว่าที่คิด จะชนกาแลกซีเพื่อนบ้านเร็วขึ้นใน 2-3 พันล้านปี


นักวิทยาศาสตร์ทำแผนที่ 3 มิติของ "กาแลกซีทางช้างเผือก" พบมีมวลมากกว่าที่คิด 50% และกว้างกว่าเดิม 15% ล้างความเชื่อกาแลกซีบ้านเกิดของเราเล็กกว่า "แอนโดรมีดา" กาแลกซีเพื่อนบ้าน แต่ขนาดที่ใหญ่ขึ้น เร่งให้กาแลกซีทั้งสองชนกันเร็วขึ้น ภายใน 2-3 พันล้านปีนี้

ในอดีตนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ากาแลกซีทางช้างเผือก (Milky Way) ที่เราอาศัยอยู่นั้นเป็นกาแลกซีขนาดเล็กกว่ากาแลกซีแอนโดรมีดา (Andromeda) ที่อยู่ใกล้กาแลกซีของเรามากที่สุด แต่ล่าสุดเอพีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ทำแผนที่ 3 มิติของทางช้างเผือก แล้วพบว่ากาแลกซีของเรานั้นกว้างกว่าที่คิด 15% และที่สำคัญมีความหนาแน่นมากกว่าข้อมูลเดิม และมีมวลมากกว่าเดิม 50% ซึ่งการค้นพบใหม่นี้ได้นำเสนอเมื่อต้นสัปดาห์ภายในการประชุมของสมาคมดาราศาสตร์สหรัฐฯ (American Astronomical Society) ที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ

มาร์ค เรียด (Mark Reid) จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาวาร์ดสมิธโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) สหรัฐฯ ซึ่งศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่าเป็นความแตกต่างจากเดิมอย่างมาก และเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าเหมือนตัวเขาเองซึ่งสูง 165 และหนัก 63 กิโลกรัม โตขึ้นอย่างฉับพลันกลายเป็นคนที่สูง 190 เซนติเมตรและหนัก 95 กิโลกรัม ซึ่งพอๆ กับนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล

"ก่อนหน้านี้เราคิดว่าแอนโดรมีดามีอิทธิพลเหนือกว่าเรา และเราก็เป็นเหมือนน้องสาวคนเล็กของแอนโดรมีดา แต่ตอนนี้ดูคล้ายว่า เราเป็นเหมือนพี่น้องฝาแฝดกัน" เรียดกล่าว

ด้านสเปซดอทคอมระบุว่า ทีมวิจัยอาศัยกล้องโทรทรรศน์วิทยุเวรีลองเบสไลน์อาร์เรย์ (Very Long Baseline Array: VLBA) ของมูลนิธิวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ (National Science Foundation) จำนวน 10 ตัว ที่ตั้งกระจายอยู่หลายพื้นที่ ตั้งแต่ฮาวายถึงนิวอิงแลนด์ และทะเลคาริบเบียน เพื่อผลิตภาพโครงสร้างกาแลกซีของเราที่มีรายละเอียดสูง รวมถึงวัดระยะทางและการเคลื่อนที่ของพื้นที่ต่างๆ ในทางช้างเผือก

ผลจากการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุศึกษาข้อมูลดังกล่าว พบว่ามวลของทางช้างเผือกตามข้อมูลใหม่นี้มากกว่ามวลของดวงอาทิตย์เรา 3 แสนล้านเท่า ซึ่งทำให้เกิดแรงดึงดูดจากแรงโน้มถ่วงมากขึ้นและดึงให้กาแลกซีเพื่อนบ้านและกาแลกซีขนาดเล็กเข้ามาชนกันเร็วขึ้น และยังพบอีกว่าระบบสุริยะของเราซึ่งห่างจากใจกลางกาแลกซีประมาณ 28,000 ปีแสงมีความเร็วที่มากกว่าความเร็วที่เคยคาดไว้ถึง 160,000กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีความเร็วอยู่ที่ 970,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ข่าวนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องดีนักเพราะขนาดทางช้างเผือกที่ใหญ่ขึ้นหมายความว่า กาแลกซีของเรามีโอกาสชนเข้ากับกาแลกซีเพื่อนบ้านอย่างแอนโดรมีดาได้เร็วกว่าที่คาดกันไว้ ทั้งนี้เรียดกล่าวว่าการเป็นกาแลกซีที่ใหญ่ขึ้นทำให้แรงดึงดูดระหว่างทางช้างเผือกและแอนโดรมีดาเข้มขึ้น

อย่างไรก็ดีเขาให้ความเห็นต่อว่าไม่ต้องกังวล เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 พันล้านปี

พร้อมกันนี้สเปซดอทคอมระบุด้วยว่า ทีมวิจัยได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุศึกษาพื้นที่ซึ่งมีการก่อตัวของดวงดาวในทางช้างเผือก โดยพบว่า โมเลกุลของก๊าซในพื้นที่ดังกล่าวจะเสริมพลังให้กับคลื่นวิทยุที่ปลดปล่อยออกมาโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับแสงเลเซอร์ที่เพิ่มความเข้มให้กับแสงธรรมชาติ

ทีมนักดาราศาสตร์ติดตามสังเกตพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเรียกว่า "คอสมิคเมเซอร์" (cosmic masers) เมื่อโลกอยู่ในตำแหน่งตรงกันข้ามของวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ของตัวเอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของแสงเปรียบเทียบกับวัตถุที่อยู่ไกลกว่า โดยแทนข้อมูลของตำแหน่งและการเคลื่อนที่ด้วยหลักคณิตศาสตร์ชั้นสูง

เรียดอธิบายว่า ทีมวิจัยยังพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับโครงสร้างของกาแลกซีทางช้างเผือกที่เชื่อกันว่าเป็นกาแลกซีกังหัน 2 แขน แต่ข้อมูลใหม่ชี้ว่ากาแลกซีของเราเป็นกังหัน 4 แขน โดยพื้นที่ซึ่งมีการก่อตัวของดวงดาวมากที่สุดไม่ได้มีเส้นทางเป็นวงกลมเหมือนที่โคจรรอบกาแลกซี แต่เคลื่อนที่เป็นรูปวงรีและยังเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งการโคจรเป็นวงรีนั้นทำให้กาแลกซีมีโครงสร้างเป็นก้นหอย

"การศึกษาครั้งนี้บ่งชี้ว่ากาแลกซีของเราน่าจะมี 4 แขน ไม่ใช่ 2 โดยแขนที่ยืนออกมาเป็นก๊าซและฝุ่นที่กำลังรวมตัวกันเป็นดวงดาว" เรียดกล่าว

อีกทั้งจากการบันทึกภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) บ่งชี้ว่า ดวงดาวเก่าๆ ก่อตัวขึ้นจากเพียง 2 แขนของกาแลกซี ซึ่งยังคงมีคำถามว่าทำไมจึงไม่มีการก่อตัวของดาวในแขนอื่นๆ และนักวิทยาศาสตร์ยังต้องการการวัดและการสำรวจมากกว่านี้.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000000843

Tuesday, January 6, 2009

จุฬาฯ พัฒนาโปรแกรมอ่านหน้าจอหนุนผู้พิการสายตาเป็น"คอลเซ็นเตอร์"


ธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่อยากมัดใจลูกค้าได้ต้องมี "ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์" หรือที่เรียกว่า คอลเซ็นเตอร์ ยิ่งบริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดยิ่งดี เพราะปัญหาของลูกค้าเกิดขึ้นได้ทุกนาที

เป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเปิดโอกาสรับผู้พิการทางสายตาเป็นพนักงานให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ 2 คน โดยมีโปรแกรมอ่านหน้าจอภาษาไทย ช่วยให้ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว

ซอฟต์แวร์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ"ไอไซท์ แล็บ" ที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) สนับสนุนให้นักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาขึ้น เพื่อเปิดโอกาสผู้พิการทางสายตาเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ

ดร.อติวงศ์สุชาโต ผู้ช่วยคณบดีด้านสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงโปรแกรมดังกล่าวว่า ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสื่อสารและค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงใช้คอมพิวเตอร์ได้โดยลำพัง ไม่ต้องอาศัยผู้ช่วย ในต่างประเทศมีโปรแกรมลักษณะนี้ใช้กันอย่างแพร่หลาย หากไทยต้องการใช้จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ซึ่งราคาแพง ทำให้ผู้พิการส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพ

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสนับสนุนครบทั้งอุปกรณ์วิจัยเทคโนโลยี และงบประมาณปีละ 3 หมื่นดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 สิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายน 2553 ปัจจุบันโปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอพัฒนาแล้วเสร็จ พร้อมทั้งปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานในศูนย์ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ โดยมีพนักงานที่พิการทางสายตา 2 คน เริ่มทดลองงานใช้งานโปรแกรม

โปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอพัฒนาขึ้นจากโปรแกรมระบบเปิดหรือ โอเพ่น ซอร์ส โดยใช้ชื่อโปรแกรมว่า เอ็นวีดีเอ (Non Visaul Desktop Access) ทำหน้าที่มองจอภาพแทนตา และส่งสัญญาณเสียงตอบกลับว่า บนหน้าจอมีลักษณะอย่างไร มีข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้พิการสามารถป้อนคำสั่งที่ต้องการผ่านคีย์บอร์ดได้ทันที ในรูปแบบแปลงตัวอักษรเป็นเสียงพูด (Text to Speech)
"เมื่อผู้พิการกดแป้นแท็บ (Tab) บนแป้นพิมพ์จะมีสัญญาณเสียงบอกให้ทราบตำแหน่งที่เคอร์เซอร์กะพริบอยู่ เช่น คอมพิวเตอร์ของฉัน ( My Computer) เอกสารของฉัน (My Document) ถังขยะ หรือขณะที่ผู้พิการคลิกเปิดโฟลเดอร์ ก็จะมีเสียงแจ้งว่า "กำลังเปิดเอกสารของฉันเป็นต้น" ดร.อติวงศ์ หนึ่งในทีมพัฒนาโปรแกรม กล่าว

การพัฒนาโปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอสำหรับผู้พิการทางสายตาได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กร โดยเฉพาะสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และสมาคมคนตาบอดเพื่อการวิจัย ที่ร่วมทดสอบโปรแกรมตลอดจนพัฒนาแก้ไข กระทั่งสามารถใช้งานได้สูงสุด ตรงความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

"การติดตั้งใช้งานโปรแกรมในธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จะนำร่องให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพของโปรแกรมว่า สามารถใช้งานได้จริง ก่อนที่จะพัฒนาต่อให้มีความแม่นยำ ตลอดจนพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติม ให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละประเภท ในลักษณะโปรแกรมเสริมต่อไป" นักพัฒนาโปรแกรม กล่าว

ด้านนายแอชลีย์วีซีย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสารสนเทศและปฏิบัติการ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารพิจารณาถึงประโยชน์ของโครงการดังกล่าว เนื่องจากโปรแกรมช่วยอ่านของภาคเอกชนที่จำหน่ายในตลาด มีราคาแพงและยังไม่มีภาษาไทย หากสามารถพัฒนาเป็นภาษาไทยได้ และแจกจ่ายให้ผู้พิการทางสายตานำไปใช้โดยไม่ต้องซื้อในราคาแพง จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้พิการทางสายตาและสังคมโดยรวม

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2009/01/06/x_it_h001_329763.php?news_id=329763

ฟรี!ซอฟต์แวร์เกม-เคมีสามมิติจุดกำเนิดเยาวชนต้นกล้าไอที


อย่าแปลกใจถ้าวันเด็กแห่งชาติที่กำลังจะถึงนี้ ลูกอยากไปเล่นเกมกับเพื่อนที่โรงเรียน แทนที่จะเข้าโรงหนัง เดินห้างหรือเบียดเสียดฝูงชนในสวนสัตว์

เพราะโรงเรียนหลายแห่งเริ่มได้รับซอฟต์แวร์พิเศษ ที่ออกแบบเพื่อเยาวชนและภาคการศึกษาโดยเฉพาะ จาก "โครงการซอฟต์แวร์เพื่อสังคม"

เจ้าภาพของโครงการซอฟต์แวร์เพื่อสังคมคือ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยหรือซอฟต์แวร์พาร์ค ซึ่งร่วมกับพันธมิตรผู้ผลิตซอฟต์แวร์ไทย9 ราย ได้มอบสิทธิในการใช้ซอฟต์แวร์ โดยไม่คิดมูลค่าแก่หน่วยงานหรือองค์กรใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคการศึกษา องค์กรภาครัฐและภาคการสาธารณสุข ล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไปเป็นรอบแจกให้โรงเรียน 48 แห่ง ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก
ศ.ดร.ชัชนาถเทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) หน่วยงานต้นสังกัดของซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวว่า โรงเรียนทั่วประเทศยื่นแสดงความจำนงเพื่อขอรับซอฟต์แวร์ ทางโครงการจึงคัดเลือกสถาบันการศึกษาที่ตรงตามหลักเกณฑ์
อาทิผู้ใช้งานต้องมีความจริงจังที่จะนำซอฟต์แวร์ไปใช้พัฒนาการดำเนินงานอย่างมีระบบและต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง พร้อมให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลกลับถึงผลการใช้งาน แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ เพื่อต่อยอดการพัฒนาซอฟต์แวร์และปรับปรุงประสิทธิภาพในอนาคต

ซอฟต์แวร์ที่แจกให้โรงเรียนประกอบด้วย ซอฟต์แวร์"ใส่ใจ" บริษัทเอเทรียม เทคโนโลยี จำกัด สำหรับเพิ่มความปลอดภัย ป้องกันอันตรายในการเล่นอินเทอร์เน็ต เกมและสนทนาผ่านเน็ต (แชท) สำหรับกลุ่มเยาวชน ทางเอเทรียมเทคโนโลยีใจป้ำแจกโดยไม่จำกัดจำนวน คาดว่าในเบื้องต้นเฉลี่ย 40-80 เครื่องต่อโรงเรียน ยินยอมให้ใช้ซอฟต์แวร์เป็นเวลา 1 ปี

ผู้ผลิตกำหนดเงื่อนไขไว้อย่างเดียวคือ หน่วยงานที่นำซอฟต์แวร์ดังกล่าวไปใช้ ต้องใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง และไม่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ทางบริษัทจะทำซีดีติดตั้งโปรแกรมให้แต่ละโรงเรียน เพื่อเป็นคู่มือในการใช้งานโดยไม่มีการอบรม

ซอฟต์แวร์"สื่อการเรียนรู้สามมิติ" บริษัทลานเกียร์ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อการเรียนการสอนเรื่องโครงสร้างโมเลกุลในวิชาเคมี ในโครงการนี้บริษัทจะนำระบบพร้อมอุปกรณ์สร้างการเรียนรู้ด้วย "มิกซ์เรียลิตี้" (Mixed Reality) ซึ่งจะสร้างความกระตือรือร้นและเรียนรู้อย่างสนุกสนาน จำนวน 80 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วยแผ่นซีดีและเว็บแคม โดยจะมอบสิทธิให้ตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์

ส่วนการติดตั้งและการใช้งานสามารถทำได้โดยใช้แผ่นซีดี ซึ่งจะมีวีดิทัศน์แนะนำการติดตั้ง และหากเกิดปัญหาในการติดตั้งสามารถสอบถามได้โดยตรงกับตัวแทนของบริษัท สื่อการเรียนรู้สามมิตินี้ยังเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย เนื่องจากเป็นโปรแกรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันเอเชีย แปซิฟิก ไอซีที อวอร์ด 2007 ในสาขารีเสิร์ช แอนด์ ดีเวลอปเมนต์ ณ ประเทศสิงคโปร์

ซอฟต์แวร์"เกมมาออกกำลังกายกันเถอะ" บริษัทพิคซอฟท์ จำกัด เป็นเกมชื่อ Boost Life มุ่งส่งเสริมการออกกำลังกายโดยใช้กล้องเว็บแคมเข้าร่วม ซอฟต์แวร์นี้ประกันคุณภาพด้วยรางวัลชนะเลิศ ไทยแลนด์ แอนิเมชั่น แอนด์ มัลติมีเดีย (ทีเอเอ็ม) คอนเทสต์ ในปี 2550 ในสาขา โปรเฟสชั่นแนล พีซี เกม

ซอฟต์แวร์"โปรแกรมพจนานุกรม" บริษัทไทยซอฟท์แวร์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เอื้อประโยชน์ในการเรียนรู้ทางภาษา และให้ใช้ซอฟต์แวร์พจนานุกรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมอบสิทธิในการใช้เป็นเวลา 1 ปี และมีเงื่อนไขว่าจะให้สิทธิเฉพาะใช้ภายในหน่วยงานที่ระบุเท่านั้น โดยต้องแจ้งชื่อ ที่อยู่ และรายละเอียดอื่นๆ เพื่อจัดทำเอกสารสิทธิการใช้งาน พร้อมแผ่นโปรแกรมมอบให้หน่วยงานที่ได้รับเป็นหลักฐานตามกฎหมาย

ซอฟต์แวร์"ระบบสอบออนไลน์เคลื่อนที่" มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) เพื่อสนับสนุนการสอบในสถานศึกษาต่างๆมีลักษณะเป็นระบบสอบออนไลน์ที่เป็นโอเพ่นซอร์ส สามารถใช้งานปรับปรุงและแจกจ่ายได้ฟรี ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเติม เพียงเลือกติดตั้งที่เครื่องใดเครื่องหนึ่งในห้องคอมพิวเตอร์ หรือบนโน้ตบุ๊ก ก็จะได้เครื่องเซิร์ฟเวอร์พร้อมสำหรับการสอบ มีทั้งเวอร์ชั่นที่อยู่บนแผ่นซีดี 2 แผ่น และเวอร์ชั่นที่อยู่บนแผ่นดีวีดี 1 แผ่น พร้อมกับการจัดฝึกอบรมให้ฟรี จึงสนับสนุนระบบการศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งสู่ อี-เลิร์นนิ่ง

ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีกล่าวสรุปว่า ภายในเดือนมีนาคม2552 น่าจะสามารถส่งมอบซอฟต์แวร์ดังกล่าวให้โรงเรียนทั่วประเทศที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว 148 แห่ง จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อ ทั้งครู นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน สนับสนุนการเรียนการสอนในยุคไอที รวมทั้งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน ได้ใช้งานซอฟต์แวร์ไทยเหล่านี้

โครงการซอฟต์แวร์เพื่อสังคม น่าจะเป็นก้าวสำคัญที่เปิดโอกาสแห่งการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศที่จะนำไปสู่การปลูกต้นกล้าเยาวชนไอทีต่อไปในอนาคต

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2009/01/06/x_it_h001_329753.php?news_id=329753