Wednesday, January 14, 2009

“ซอฟต์แวร์โรงพยาบาล” ความสุขของชุมชน

หัวใจสำคัญของโรงพยาบาลชุมชนไม่ได้มีแค่หมอ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย พยาบาล เวชภัณฑ์ แต่เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอทีก็สำคัญ จะไม่สำคัญได้อย่างไร ถ้าไม่มีระบบข้อมูลสั่งจ่ายยา และเขียนรายงานส่งกระทรวงสาธารณสุขเบิกค่ารักษา ค่ายา และจิปาถะ

ถ้าจะให้โรงพยาบาลชุมชนเจียดงบประมาณไปซื้อระบบบริหารจัดการโรงพยาบาลมาใช้กันทั่วประเทศ งบประมาณที่ใช้คงมหาศาล พอคิดได้อย่างนั้น บรรดาหมอที่สนใจและมีฝีมือด้านการเขียนโปรแกรมจึงจับมือกันพัฒนาระบบโฮสพิทัลโอเอส (Hospital-OS)
ตัวแกนนำพันธมิตรหมอโปรแกรมเมอร์คือ นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเก็ต และยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท โอเพ่นซอร์ส เทคโนโลยี จำกัด ด้วย โดยมีเพื่อนหมอมาช่วยกันจนคลอดออกมาเป็นโปรแกรมใช้งานตามโรงพยาบาลชุมชุนราว 80 แห่งทั่วประเทศ

โปรแกรมดังกล่าวพัฒนาให้รองรับการทำงานในส่วนลงทะเบียนผู้ป่วยและงานเอกสาร รวมถึงงานบริหารจัดการที่ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานบริการผู้ป่วย และเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่โรงพยาบาล

ตอนเริ่มพัฒนาโปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว "หมอก้อง" สร้างเว็บไซต์ www.Hospital-OS.com ให้เป็นชุมชนสำหรับสมาชิกมาแสดงความคิดเห็น และทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แบ่งปันความรู้ รวบรวมความคิดเห็นจากชุมชนเว็บจนเรียกได้ว่า โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสสำเร็จลุล่วงได้ด้วยพลังของชุมชนอย่างแท้จริง

โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสจึงสนองตอบชุมชนโดยพัฒนาซอฟท์แวร์ในรูปแบบโอเพ่นซอร์ส หรือซอฟท์แวร์เปิด ที่ว่าเปิดหมายความว่า เปิดเผย "ซอร์สโค้ด" หรือเนื้อหาข้อมูลโปรแกรมทุกบรรทัด เผื่อใครมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมสามารถเอาไปพัฒนาต่อ หรือดัดแปลงให้เหมาะกับการใช้งานของโรงพยาบาลได้ฟรี

ถึงได้โปรแกรมบริหารจัดการโรงพยาบาลมาแล้วก็ใช่ว่านำไปใช้งานได้เลย ขั้นต่อไปคือ ต้องจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรู้จักการใช้งาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ปรากฏว่า สุดท้ายเจ้าหน้าที่ดูแลระบบโปรแกรมมีตั้งแต่เภสัชกรไปจนถึงคนขับรถ

"ผู้ดูแลระบบของเราตามโรงพยาบาลต่างๆ มีตั้งแต่คนขับรถ พนักงานห้องบัตร ผู้ช่วยเภสัชกร หรือแม้แต่เป็นพ่อบ้านที่ไม่เคยมีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์มาก่อนก็ทำได้ เราสอนเขาจนดูแลระบบได้" หมอก้องเล่า

นพ.ก้องเกียรติ กล่าวว่า โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการลงทะเบียนคนไข้ไปถึงงานรักษาในโรงพยาบาล แทนที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลแล้วต้องมาที่แผนกเวชทะเบียนเพื่อลงประวัติ จากนั้นคนไข้หรือเจ้าหน้าที่ค่อยถือบัตรไปหน้าห้องตรวจ เพื่อให้หมอดูอาการและสั่งยา แต่ระบบนี้ไม่ต้องใช้กระดาษ เพียงคนไข้กรอกประวัติผ่านคอมพิวเตอร์ ระบบก็จะทำงาน ทำให้แพทย์สามารถสั่งยาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้

“โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสช่วยอุดช่องว่างได้ โรงพยาบาลบางแห่งไกลมาก ไม่มีใครอยากไปขายซอฟต์แวร์หรือบางโรงพยาบาลอยากใช้ซอฟต์แวร์แต่ไม่มีงบประมาณ ก็จะอุดช่องว่างตรงนี้เป็นภาวะพึ่งพากัน" ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูเก็ต กล่าว

อย่างไรก็ตาม โปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเปิดให้ดาวน์โหลดนำไปใช้งานได้ฟรี ไม่เฉพาะแต่โรงพยาบาลไทยเท่านั้น ยังมีต่างประเทศเข้ามาดาวน์โหลดโปรแกรมดังกล่าวไปทดลองนำใช้ เช่น ประเทศแถบแอฟริกาติดต่อเข้ามาเพื่อนำไปช่วยในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโรคเอดส์ 200 กว่าแห่ง แต่ขาดงบประมาณรวมถึงข้อจำกัดอื่น

หมอก้องกล่าวว่า สำหรับเมืองไทยยังมีโอกาสที่ดีและเป็นสังคมเปิด ทุกคนมีทางเลือก บางโรงพยาบาลไม่มีเงินก็สามารถใช้ระบบปฏิบัติการที่เปิดให้ใช้ได้ฟรี และการพัฒนาโปรแกรมพยายามเติมเต็มสำหรับกลุ่มที่ยังขาดโอกาสให้มากที่สุด

นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย เสริมความเห็นว่า ซอฟต์แวร์พาร์คมีความยินดียิ่งในการเปิดโอกาสให้มีการนำโปรแกรมโฮสพิทัลโอเอสไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะทางการแพทย์ที่บ้านเรายังขาดแคลนระบบสารสนเทศที่มีการปรับใช้ให้เข้ากับวัฒนธรรมการทำงานอย่างตรงจุด ซอฟต์แวร์พาร์คจึงร่วมสนับสนุนทุนให้การอบรมแก่บุคลากรของโรงพยาบาลทั่วประเทศและนำไปมอบเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะผ่านโครงการซอฟต์แวร์เพื่อสังคม

"โครงการดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสและสร้างศักยภาพของบุคลากรที่แม้ไม่ได้เป็นคนไอทีก็สามารถนำระบบสารสนเทศมาใช้งานได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดได้" ผอ.ซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าว

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2009/01/14/x_it_h001_330845.php?news_id=330845

No comments: