Thursday, August 28, 2008

สวทช. อิมพอร์ตเกมโชว์วิทย์จากเกาหลี "ฟองน้ำอัจฉริยะ ฉลาดสุดสุด"


ชวนแฟนๆ รายการฉลาดสุดสุด และแฟนๆ ซีรีส์เกาหลี มาเจอกันกับ "ซพันจ์ - ฟองน้ำอัจฉริยะ ฉลาดสุดสุด" เกมส์โชว์แนววิทยาศาสตร์ รายการใหม่ล่าสุดที่นำเข้าจากแดนกิมจิ เริ่มตอนแรก 28 ส.ค.นี้ ทุกค่ำวันพฤหัสฯ ช่อง 9 ด้าน ผอ.สวทช. เผยจุดเด่นของรายการ คือชักชวนให้สงสัย และกระตุ้นความอยากรู้ของผู้ชม ให้เข้าใจวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ อย่างมีเหตุผล

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) แถลงข่าวเปิดตัวรายการใหม่ "ซพันจ์" (Sponge) ฟองน้ำอัจฉริยะ ฉลาดสุดสุด โดยมีนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ที่โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทารา แกรนด์ เมื่อวันที่ 27 ส.ค.51 และมีสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานมากมายรวมทั้งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วย

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตร ผอ.สวทช. กล่าวว่า สวทช. ได้สนับสนุน และส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีผ่านหลายกิจกรรม และการทำงานร่วมกับหน่วยงานและโรงเรียนต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนสนใจวิทยาศาสตร์ และพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในด้านนี้ ซึ่งสื่อโทรทัศน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ในการเผยแพร่ข่าวสารหรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทั้งยังเป็นสื่อที่เยาวชนและประชาชนจำนวนมากเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งหลายรายการที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จไม่น้อย เช่น บียอนด์ ทูมอร์โรว์ ฉลาดล้ำโลก (Beyond Tomorrow), เมกา เคลเวอร์ ฉลาดสุดสุด (Mega clever)

สำหรับรายการ "ซพันจ์" ฟองน้ำอัจฉริยะ ฉลาดสุดสุด เป็นรายการเกมส์โชว์ยอดฮิต จากเกาหลีใต้ ในรูปแบบสารคดีเชิงวิทยาศาสตร์ ที่กระตุ้นผู้เข้าแข่งขัน และผู้ชมให้อยากรู้อยากเห็นในเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าตื่นเต้น โดยเตรียมนำมาออกอากาศต่อจากรายการ เมกา เคลเวอร์ ฉลาดสุดสุด ทางโมเดิร์น ไนท์ ทีวี ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 20.30 น. เริ่มตอนแรกวันพฤหัสบดีที่ 28 ส.ค.นี้ รวมทั้งหมดมี 42 ตอน

"รูปแบบรายการฟองน้ำอัจฉริยะ มีลักษณะเป็นเกมวิทยาศาสตร์ คล้ายๆ กับรายการ เมกา เคลเวอร์ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ ใช้กลยุทธสร้างความสงสัย เพื่อชักชวนให้ค้นหาคำตอบ และรายการลักษณะนี้จะชักจูงให้คนหันมาสนใจดูรายการประเภทนี้กันมากขึ้น และสนใจที่จะทำความเข้าใจกับธรรมชาติ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงมากกว่าความฉาบฉวยภายนอก ส่วนชื่อรายการ ฟองน้ำอัจฉริยะ สื่อถึงการเปรียบเทียบตัวเราให้เหมือนกับฟองน้ำ ที่พร้อมจะดึงดูดความรู้เข้าสู่ตัวเองอยู่เสมอ และนำความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์และถ่ายทอดให้ผู้อื่นต่อไป" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

ผอ.สวทช. บอกอีกว่า สิ่งที่น่าสนใจของรายการฟองน้ำอัจฉริยะนี้ อีกประการหนึ่งคือ เป็นรายการแรก ที่นำมาจากประเทศในเอเชีย คือประเทศเกาหลี และความเป็นเกาหลี ก็น่าจะเป็นสิ่งดึงดูดผู้ชมด้วยส่วนหนึ่ง แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว เนื้อหาสาระในรายการ จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของผู้ชม ได้เช่นเดียวกับรายการอื่นก่อนหน้านี้ ซึ่งได้รับความนิยมสูงอย่างน่าพอใจ และก็หวังว่าในอนาคตจะมีรายการลักษณะนี้ที่ผลิตโดยคนไทยเอง

อย่างไรก็ดี ยังเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัว ได้ใช้เวลาชมรายการโทรทัศน์ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น พ่อ แม่ ลูก สามารถพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากการชมรายการนี้ ซึ่งเป็นการจุดประกายให้ประชาชนสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น

นอกจากนี้ สวทช. ยังมีโครงการผลิตรายการ เคลเวอร์ แคมป์ (Clever Camp) ซึ่งเป็นรายการเรียลลิตี เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของประเทศไทย โดยให้เยาวชนผู้เข้าแข่งขัน เข้ามาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ ที่เป็นภาระกิจของแข่งขันร่วมกันในบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ในช่วงปิดเทอมเดือน ต.ค. และเตรียมนำออกอากาศทางโมเดิร์น ไนท์ ทีวี ในเดือน พ.ย.51

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000101285

Wednesday, August 27, 2008

หุ่นยนต์เลียนแบบสัตว์


หมุนก่อนโลก
วิศวกรนำสัตว์หลายชนิดมาศึกษา เพื่อนำข้อดีมาใช้ในการประดิษฐ์หุ่นยนต์ อย่าง ดร.แอนเน็ต โฮซอย จากมหาวิทยาลัยเอ็มไอที สหรัฐอเมริกา ที่ศึกษากล้ามเนื้อและเมือกเหนียวๆ คล้ายกับมายองเนสของหอยทาก ทำให้มันเคลื่อนที่ไปได้ทุกทิศทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นซ้าย ขวา ไต่ขึ้นไปบนกำแพง ไต่ลงมา หรือไต่อยู่ที่เพดาน และยังไต่ได้เกือบทุกพื้นผิว เช่น ต้นไม้ กำแพง กระจก

ดร.โฮซอย กล่าวว่า "เรากำลังประดิษฐ์หุ่นยนต์โรโบสเนลเคลื่อนที่ไปได้ทุกทิศทาง เหมือนกับหอยทาก โดยอาจปรับมาเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในการผ่าตัด เพื่อเคลื่อนที่เข้าไปในจุดที่เข้าไปยากมากๆ หรือใช้ในการขุดเจาะน้ำมัน ที่สำคัญของการประ ดิษฐ์หุ่นยนต์คือ เราต้องไม่เลียนแบบสัตว์มาทั้งดุ้น แต่เราต้องมีความเข้าใจในลักษณะพิเศษของสัตว์ ที่ทำให้มันสามารถทำอย่างที่มันทำได้"


นอกจากการศึกษาหอยทากของ ดร.โฮซอยแล้ว ยังมีการศึกษาหุ่นยนต์ตุ๊กแกของ ดร.โรเบิร์ต ฟูล จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ โดย ดร.ฟูลศึกษาไบโอเมคานิกที่ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวได้ เช่น ดูว่าสัตว์ประเภทใดวิ่งดีที่สุด คลานดีที่สุด ปีนดีที่สุด จากนั้นจึงวิเคราะห์ว่า ลักษณะทางชีวภาพใดที่ทำให้มันทำเช่นนั้น

ดร.ฟูล นำสัตว์ต่างๆ มาเดินบนเครื่องเดินสายพานเล็กๆ เพื่อดูการเดิน รวมทั้งสังเกตเมื่อพวกมันตกลงมาในแนวดิ่งแล้วมันจะทำอย่างไร หรือดึงขาแมลงสาบออกแล้วดูว่า พวกมันพยายามเคลื่อนไหวอีกได้อย่างไร

ส่วนหุ่นยนต์ตุ๊กแกนั้น ดร.ฟูล ศึกษาจิ้งจกและตุ๊กแกว่า ทำไมตีนของพวกมันเกาะอยู่บนวัสดุพื้นผิวเรียบได้ ทั้งยังเคลื่อนที่ได้เร็วมาก คือ 1 เมตรต่อ 1 วินาที จนพบว่า ตุ๊กแกเคลื่อนไหวในแนวดิ่งได้อย่างสบายๆ ก็เพราะมีขนเล็กๆ นับล้านเส้นอยู่ที่อุ้งเท้า และขนแต่ละเส้นมีตุ่มเล็กๆ อยู่จำนวนมาก โดยตุ่มนี้ทำให้ตีนตุ๊กแกยึดติดกับพื้นผิว และหลุดออกจากพื้นผิว อย่างเวลาก้าวเท้าเดิน ซึ่งวิทยาการของดร.ฟูล อาจนำไปใช้พัฒนาหุ่นยนต์ค้นหาและช่วยชีวิตได้

ที่มา: http://www.matichon.co.th/khaosod
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdOakkzTURnMU1RPT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBd09DMHdPQzB5Tnc9PQ==


Tuesday, August 26, 2008

จรวดทำลายตัวเอง หลังนำส่งดาวเทียมนาซาไม่สำเร็จ


จรวดขนดาวเทียมทดลองให้ "นาซา" ไปไม่รอด เข้าระบบทำลายตัวเอง หลังจากทะยานเบี่ยงทิศทาง ผิดเป้าหมาย เศษซากระเบิดตกลงมหาสมุทรแอตแลนติก ใกล้ชายฝั่งเวอร์จิเนีย

จรวดนำส่งดาวเทียม ในระดับวงโคจรย่อย ATK-ALV X-1 ของอัลลิอันต์ เทคซิสเต็มส์ อินส์ หรือ เอทีเค (Alliant Techsystems Inc. : ATK) ซึ่งนำส่ง 2 ดาวเทียมไฮเพอร์โซนิก ให้แก่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซา) ถูกทำลาย หลังโคจรออกนอกทิศทาง

ตามรายงานผ่านเว็บไซต์ของนาซา ระบุว่า เหตุเกิดที่ฐานปล่อยจรวดวอลลอปส์ ของนาซา (NASA's Wallops Flight Facility) ที่มลรัฐเวอร์จิเนีย เมื่อเวลา 05.10 น. ของวันที่ 22 ส.ค.51 ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับเวลา 15.10 น. ในวันเดียวกัน ตามเวลาประเทศไทย

เมื่อจรวด ATK-ALV X-1 ทะยานตัวออกไปได้ เพียงแค่ 27 วินาทีเท่านั้น ก็เกิดการระเบิด ที่ระดับความสูง ประมาณ 3,000-3,600 เมตร

เคนต์ โรมิเกอร์ (Kent Romiger) อดีตนักบินอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งรั้งตำแหน่งรองประธาน ฝ่ายเทคโนโลยีอวกาศ ของเอทีเค เปิดเผยผ่านสเปซด็อตคอมว่า จรวด (ซึ่งเป็นรุ่นทดลอง) ถูกโปรแกรมไว้ว่า หากทะยานเบี่ยงไปจากทิศทางที่กำหนดไว้ จะสั่งไปสัญญาณไปยัง ระบบทำลายตัวเอง ซึ่งเป็นการป้องกัน เพื่อความปลอดภัย

ทั้งนี้ นาซาคาดการณ์ว่า เศษซากระเบิดส่วนใหญ่ ตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ก็ยังมีรายงานเห็นเศษจรวด ตกลงสู่ภาคพื้นดินด้วย

อย่างไรก็ดี แม้เศษจรวดจะไม่ตกใส่ผู้คน แต่เศษที่ตกลงบนพื้น หรือท้องทะเลก็อาจเป็นอันตรายได้ โดยทางนาซาแนะนำไม่ให้ประชาชนจับเศษดังกล่าว และโทรแจ้งศูนย์ฉุกเฉิน หากพบเห็น

ทั้งนี้ นาซาจ่ายให้แก่เอทีเค 17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้าง "ไฮโบลต์" ดาวเทียมไฮเพอร์โซนิกเพื่อการวิจัย (Hypersonic Boundary Layer Transition : HYBOLT) และ "โซเร็กซ์" (Sub-Orbital Aerodynamic Re-entry Experiment : SOAREX) และจัดเตรียมการนำส่ง

ที่สำคัญ นาซาได้แสดงความผิดหวัง ที่เกิดความล้มเหลวในการนำส่งดาวเทียมครั้งนี้ และได้ตั้งทีมสอบสวนหาสาเหตุของการระเบิด ไปพร้อมๆ กับเอทีเค ซึ่งเป็นเจ้าของจรวด.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000100786

Sunday, August 17, 2008

"ต้นไม้ตดได้ไหม?" คำถามจาก "อาฟาง" สู่ไอเดียแยกคาร์บอนจาก CO2


นักเรียน ม.ปลายคิดบรรเจิดใช้สารนาโนแยกคาร์บอนจาก CO2 ชนะเลิศเขียนเรียงความ "ใช้นาโนลดโลกร้อน" พร้อมเสนอจินตนาการอื่นอีกเพียบ ทั้งให้ออกซิเจนเป็นอาหารต้นไม้ เสนอผลิตเสื้อนาโนที่ยืด-หดตามอุณหภูมิ ไม่เปื้อนง่าย ให้สวมใส่สบาย ไม่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยๆ ลดปริมาณการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสนอให้ผลิตภัณฑ์นาโนย่อยสลายเองได้

"ต้นไม้ตดได้หรือเปล่า?" ณัฐวดี บุญโนนแต้ หรือ "อาฟาง" นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช เปิดประโยคสนทนาแรกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ หลังได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเขียนเรียงความหัวข้อ "นาโนเทคโนโลยีกับการแก้ปัญหาโลกร้อน" ผ่านเว็บไซต์ "ไทยนาโน" (Thai-Nano.com ) ของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 16 ส.ค.51

อาฟางเผยแนวคิดในเรียงความว่า ตั้งคำถามเล่นๆ กับเพื่อนว่า "ต้นไม้ตดได้ไหม" และเผยว่าได้ เพราะอากาศเสียจากต้นไม้คือคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งต้นไม้ปล่อยออกมาในบางช่วงนั่นเอง จึงคิดต่อว่าจะจัดการกับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรดี และอยากการได้อ่านแนวคิดรวบยอดจากคำนำหนังสือนาโนเทคโนโลยี ที่นำเสนอความคิดของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย สหรัฐฯ และสวิส ก็ได้แนวคิดว่าน่าจะเอาสารที่มีความเล็กระดับอะตอม ไปแยกคาร์บอนออกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

อย่างไรก็ดี เธอไม่คิดว่าทุกอย่างที่เล็กลงแล้วจะดีเสมอ ดังนั้นการจะนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ต้องเกิดประโยชน์ ปลอดภัย ประหยัดและใช้ได้จริง ส่วนแนวคิดของเธอนั้นเธอเองมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น

นอกจากนี้อาฟางยังมีแนวคิดด้วยว่า เสื้อนาโนที่มีคุณสมบัติกันน้ำ-กันเปื้อนในปัจจุบันนั้น น่าจะพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่หดได้เมื่ออยู่ที่มีอากาศเย็นเพื่อกระชับร่างกายให้อบอุ่น และเมื่อออกกลางแจ้งหรืออยู่ในที่อากาศร้อนก็ขยายตัวเพื่อให้ผู้สวมใส่สบาย หากมีเสื้อผ้าแบบนี้ก็จะทำให้โรงงานไม่ต้องผลิตเสื้อผ้าออกมาก เพราะเราสามารถใส่เสื้อผ้าตัวเดียวได้ทุกโอกาส ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงงานสู่ชั้นบรรยากาศได้ ส่วนออกซิเจนที่เหลือจากการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ก็เอาไปเป็นอาหารให้ต้นไม้ เกิดประโยชน์ ไม่สูญเปล่า และยังมีอีกคิดคือพัฒนาผลิตภัณฑ์นาโนที่สามารถย่อยสลายเองได้

"หนูเป็นคนชอบคิด มีความคิดบ้าๆ บอๆ" อาฟางเผยเหตุผลในการส่งประกวดเรียงความ และบอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า แนวคิดในการเขียนเรียงความครั้งนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากการดูสารคดีเกี่ยวกับการย่อขนาด ตั้งแต่จักรวาล ลงมาสู่ดวงดาว โลก จนไปถึงอะตอมและสิ้นสุดที่ควาร์ก สารคดีดังกล่าวทำให้รู้ว่า "สิ่งที่เล็กที่สุดเป็นพื้นฐานของสิ่งที่ยิ่งใหญ่"

สำหรับผู้ได้รับรางวัลประกวดเรียงความคนอื่นๆ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ม.ต้น ม.ปลาย และอุดมศึกษา ได้แก่
ระดับ ม.ต้น
รางวัลชนะเลิศ - ด.ช.สุวิทย์ พรมเสน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - ด.ญ.กิตติกานต์ ปานอยู่
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - ด.ช.วัชรภัทร ด่านคงรักษ์
รางวัลชมเชย - ด.ญ.สายวรุณ ผิวนวล
รางวัลชมเชย - ด.ช.กิตติพงศ์ ทีภูเวียง

ระดับ ม.ปลาย
รางวัลชนะเลิศ - น.ส.ณัฐวดี บุญโนนแต้
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - น.ส.กมลกร บินรัมย์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - นายสุทธิพันธ์ อารมย์แก้ว
รางวัลชมเชย - นายสุทธิ สีพิกา
รางวัลชมเชย - นายอภิสิทธิ์ แซงภูเขียว

ระดับอุดมศึกษา
รางวัลชนะเลิศ - น.ส.อัจฉราภรณ์ แข็งแรง
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - น.ส.นัฐวี ธระวรรณ์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - นายเกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง
รางวัลชมเชย - น.ส.อภิชญา จินาติ
รางวัลชมเชย - น.ส.พรประภา ม่วงประเสริฐ

ทั้งนี้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดได้สมัครผ่านเว็บไซต์ไทยนาโนในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. โดยไม่ต้องกรอกประวัติชื่อสถาบัน ดังนั้นทางคณะกรรมการจึงไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อโรงเรียนของเยาวชนแต่ละคน สำหรับผู้เป็นประธานในการมอบรางวัลครั้งนี้คือ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000096806