Sunday, August 17, 2008
"ต้นไม้ตดได้ไหม?" คำถามจาก "อาฟาง" สู่ไอเดียแยกคาร์บอนจาก CO2
นักเรียน ม.ปลายคิดบรรเจิดใช้สารนาโนแยกคาร์บอนจาก CO2 ชนะเลิศเขียนเรียงความ "ใช้นาโนลดโลกร้อน" พร้อมเสนอจินตนาการอื่นอีกเพียบ ทั้งให้ออกซิเจนเป็นอาหารต้นไม้ เสนอผลิตเสื้อนาโนที่ยืด-หดตามอุณหภูมิ ไม่เปื้อนง่าย ให้สวมใส่สบาย ไม่ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยๆ ลดปริมาณการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเสนอให้ผลิตภัณฑ์นาโนย่อยสลายเองได้
"ต้นไม้ตดได้หรือเปล่า?" ณัฐวดี บุญโนนแต้ หรือ "อาฟาง" นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช เปิดประโยคสนทนาแรกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ หลังได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดเขียนเรียงความหัวข้อ "นาโนเทคโนโลยีกับการแก้ปัญหาโลกร้อน" ผ่านเว็บไซต์ "ไทยนาโน" (Thai-Nano.com ) ของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งมีพิธีมอบรางวัลภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2551 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 16 ส.ค.51
อาฟางเผยแนวคิดในเรียงความว่า ตั้งคำถามเล่นๆ กับเพื่อนว่า "ต้นไม้ตดได้ไหม" และเผยว่าได้ เพราะอากาศเสียจากต้นไม้คือคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งต้นไม้ปล่อยออกมาในบางช่วงนั่นเอง จึงคิดต่อว่าจะจัดการกับคาร์บอนไดออกไซด์อย่างไรดี และอยากการได้อ่านแนวคิดรวบยอดจากคำนำหนังสือนาโนเทคโนโลยี ที่นำเสนอความคิดของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซีย สหรัฐฯ และสวิส ก็ได้แนวคิดว่าน่าจะเอาสารที่มีความเล็กระดับอะตอม ไปแยกคาร์บอนออกจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
อย่างไรก็ดี เธอไม่คิดว่าทุกอย่างที่เล็กลงแล้วจะดีเสมอ ดังนั้นการจะนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ต้องเกิดประโยชน์ ปลอดภัย ประหยัดและใช้ได้จริง ส่วนแนวคิดของเธอนั้นเธอเองมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น
นอกจากนี้อาฟางยังมีแนวคิดด้วยว่า เสื้อนาโนที่มีคุณสมบัติกันน้ำ-กันเปื้อนในปัจจุบันนั้น น่าจะพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่หดได้เมื่ออยู่ที่มีอากาศเย็นเพื่อกระชับร่างกายให้อบอุ่น และเมื่อออกกลางแจ้งหรืออยู่ในที่อากาศร้อนก็ขยายตัวเพื่อให้ผู้สวมใส่สบาย หากมีเสื้อผ้าแบบนี้ก็จะทำให้โรงงานไม่ต้องผลิตเสื้อผ้าออกมาก เพราะเราสามารถใส่เสื้อผ้าตัวเดียวได้ทุกโอกาส ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงงงานสู่ชั้นบรรยากาศได้ ส่วนออกซิเจนที่เหลือจากการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ก็เอาไปเป็นอาหารให้ต้นไม้ เกิดประโยชน์ ไม่สูญเปล่า และยังมีอีกคิดคือพัฒนาผลิตภัณฑ์นาโนที่สามารถย่อยสลายเองได้
"หนูเป็นคนชอบคิด มีความคิดบ้าๆ บอๆ" อาฟางเผยเหตุผลในการส่งประกวดเรียงความ และบอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ด้วยว่า แนวคิดในการเขียนเรียงความครั้งนี้ส่วนหนึ่งได้มาจากการดูสารคดีเกี่ยวกับการย่อขนาด ตั้งแต่จักรวาล ลงมาสู่ดวงดาว โลก จนไปถึงอะตอมและสิ้นสุดที่ควาร์ก สารคดีดังกล่าวทำให้รู้ว่า "สิ่งที่เล็กที่สุดเป็นพื้นฐานของสิ่งที่ยิ่งใหญ่"
สำหรับผู้ได้รับรางวัลประกวดเรียงความคนอื่นๆ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับคือ ม.ต้น ม.ปลาย และอุดมศึกษา ได้แก่
ระดับ ม.ต้น
รางวัลชนะเลิศ - ด.ช.สุวิทย์ พรมเสน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - ด.ญ.กิตติกานต์ ปานอยู่
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - ด.ช.วัชรภัทร ด่านคงรักษ์
รางวัลชมเชย - ด.ญ.สายวรุณ ผิวนวล
รางวัลชมเชย - ด.ช.กิตติพงศ์ ทีภูเวียง
ระดับ ม.ปลาย
รางวัลชนะเลิศ - น.ส.ณัฐวดี บุญโนนแต้
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - น.ส.กมลกร บินรัมย์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - นายสุทธิพันธ์ อารมย์แก้ว
รางวัลชมเชย - นายสุทธิ สีพิกา
รางวัลชมเชย - นายอภิสิทธิ์ แซงภูเขียว
ระดับอุดมศึกษา
รางวัลชนะเลิศ - น.ส.อัจฉราภรณ์ แข็งแรง
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 - น.ส.นัฐวี ธระวรรณ์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 - นายเกรียงไกร ฮ่องเฮงเส็ง
รางวัลชมเชย - น.ส.อภิชญา จินาติ
รางวัลชมเชย - น.ส.พรประภา ม่วงประเสริฐ
ทั้งนี้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดได้สมัครผ่านเว็บไซต์ไทยนาโนในช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. โดยไม่ต้องกรอกประวัติชื่อสถาบัน ดังนั้นทางคณะกรรมการจึงไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับชื่อโรงเรียนของเยาวชนแต่ละคน สำหรับผู้เป็นประธานในการมอบรางวัลครั้งนี้คือ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000096806
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment