Wednesday, October 31, 2007

"ธีออส" ดาวเทียมไทยดวงแรกพร้อมส่ง ธ.ค.นี้


สทอภ.พร้อมส่ง "ธีออส" ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทยต้น ธ.ค.นี้ แจงทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องดูสภาพอากาศและเวลาที่เหมาะสมในช่วงเวลาปล่อยจรวดอีกที

นายชาญชัย เพียรวิจารณ์พงศ์ ผู้อำนวยการโครงการดาวเทียมธีออส สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เผยว่า ช่วงครึ่งเดือนแรกของ ธ.ค.ที่จะถีงนี้เป็นช่วงเวลาที่พร้อมส่งดาวเทียม โดยได้เตรียมการส่งมาตั้งแต่ 15 ต.ค.แล้ว ซึ่งสถานที่ปล่อยดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทยอยู่ที่ศูนย์อวกาศยัชนี (Yahni) ชายแดนประเทศรัสเซียเช่นเดิม

นายชาญชัยเผยว่า ทุกอย่างพร้อมแล้วแต่ในการส่งดาวเทียมขึ้นไปนั้นจำเป็นต้องดูเวลาและสภาพอากาศที่เหมาะสม ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมานั้นนับว่าช่วง ต้น ธ.ค.เหมาะสมที่สุด โดยในวันที่ 20 พ.ย.นี้ เขาและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะเดินทางไปดูความพร้อมในการปล่อยจรวดที่ฐานปล่อยของรัสเซีย

ส่วนจะสามารถถ่ายทอดสดสัญญาณเพื่อเผยแพร่ภาพขณะส่งจรวดได้หรือไม่นั้นขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างเจรจาโดยเขาชี้แจงว่าเนื่องจากฐานปล่อยจรวดนั้นเป็นของฐานรัสเซียจึงมีข้อจำกัดตรงที่ไม่ให้มีการบันทึกภาพได้

เดิมระหว่างสร้างดาวเทียมนั้น สทอภ.เคยระบุไว้ว่า พร้อมส่งธีออสในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา แต่หลังจากดาวเทียมแล้วเสร็จก็ออกมาเผยกำหนดในการส่งดาวเทียมอีกครั้งว่าเป็นช่วงเดือน ต.ค.นี้

จากนั้นก็รายงานว่าจำเป็นต้องเลื่อนการส่งออกไปถึงปลายเดือน พ.ย.นี้ และล่าสุดเป็นช่วงต้น ธ.ค.นี้ ซึ่งตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับบริษัทแอสเตรียม เอส.เอ.เอส. (Astrium S.A.S) ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นบริษัทคู่สัญญาของไทยที่รับจ้างผลิตดาวเทียมธีออสมูลค่า 6,000 ล้านบาทนั้นกำหนดช่วงของการปล่อยดาวเทียมไว้ระหว่าง 19 ก.ค.50-19 ม.ค.51

สำหรับดาวเทียมธีออสนั้นมีชื่อเต็มว่า Thailand Earth Observation System (THEOS) เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติขนาดเล็กหนัก 750 กิโลกรัม บันทึกภาพด้วยระบบเดียวกับกล้องถ่ายรูปทั่วไปด้วยความละเอียดของภาพขาวดำ 2 เมตร และความละเอียดภาพสี 15 เมตร เมื่อส่งขึ้นไปแล้วจะโคจรที่ความสูง 822 กิโลเมตรโดยจะโคจรมาซ้ำจุดเดิมทุกๆ 26 วัน มีอายุการใช้ 5 ปี

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000128798

เนคเทค –ซิป้า มอบทุนประเดิมศึก “NSC 2008” ชิงถ้วยพระราชทานฯ


วท. -เนคเทคจับมือซิป้าประกวดโครงการพัฒนาโปรแกรมคอมพ์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 10 เผยมอบแล้ว 170 ทุนรอบแรกแก่นักพัฒนาส่วนกลางจากทั้งหมดทั่วประเทศกว่าพันคน ก่อนควานหาตัวผู้ชนะเลิศชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในมหกรรมไอซีทีต้นปีหน้า

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) จัดพิธีมอบทุนสนับสนุนเยาวชนไทยพัฒนาซอฟต์แวร์ในโครงการ “การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10 (NSC 2008)” ขึ้นเมื่อวันที่ 29 ต.ค. โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผอ.เนคเทค กล่าวว่า การประกวดดังกล่าวเป็นโครงการระดับประเทศที่สร้างศักยภาพด้านไอซีทีของเยาวชนไทยอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ หลายโครงการที่ได้รับรางวัลต่างได้รับการพัฒนาต่อในเชิงธุรกิจและสังคม

ขณะที่นักพัฒนาที่มีผลงานเด่นเมื่อจบการศึกษาแล้วได้ประกอบอาชีพในธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือแม้แต่นักเรียนผู้พัฒนาโครงการที่ผ่านการคัดเลือกในรอบชิงชนะเลิศก็จะได้รับสิทธิเข้าศึกษาต่อโดยไม่ต้องสอบคัดเลือกในมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง อาทิ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.ธรรมศาสตร์ และวลัยลักษณ์

ผอ.เนคเทค กล่าวอีกว่า การแข่งขันปีนี้มีโครงการที่ส่งข้อเสนอถึง 1,319 โครงการ ผ่านการพิจารณารอบแรกแล้วจำนวน 665 โครงการ โดยมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ได้รับทุนเบื้องต้นกว่า 1,000 คน จำนวนทุนละ 5,000 บาท โดยเป็นการมอบทุนในส่วนภาคกลางจำนวน 170 โครงการ ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดีในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

การประกวด "NSC 2008" จะมีการตัดสินรางวัลชนะเลิศในงานมหกรรมการประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2551 โดยผู้ชนะเลิศอันดับที่ 1 จะได้โล่รางวัลเกียรติยศ และถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในสาขาต่างๆ จำนวน 9 รางวัล

ทั้งนี้ การจัดประกวดยังได้รับความร่วมมือจากสมาคมคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนาสนับสนุนรางวัลพิเศษอีก 8 รางวัลสำหรับผู้พัฒนาโปรแกรมเพื่อช่วยคนพิการทางสายตาด้วย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000129598

Tuesday, October 30, 2007

วท.ผนึกศธ.หนุนเรียนรู้วิทย์ตลอดชีวิต


ศูนย์พันธุวิศวกรรมประเดิมจองพื้นที่ท้องฟ้าจำลอง จัดแสดงนิทรรศการถาวรนำเสนอเทคโนโลยีชีวภาพ ชูหัวข้อพืชจีเอ็มโอ สเต็มเซลล์และโรคพันธุกรรม เผยปรับเนื้อหาให้เข้าถึงกลุ่มคนทั่วไป

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงนามความร่วมมือในโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิต : วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อชีวิต โดย ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และนายชินภัทร ภูมิรัตน์ รองปลัดกระทรวงศึกษาฯ เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้

วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงและใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการประกอบอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตให้พึ่งตนเองได้ โดยคิดหาเหตุผลและแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ ตามแผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปีนับจากวันลงนามวานนี้ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นแหล่งรวมข้อมูล องค์ความรู้และทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์ฯ ที่สำคัญของประเทศ ขณะที่กระทรวงศึกษาฯ เป็นหน่วยงานหลักของประเทศ ที่มีภารกิจรับผิดชอบการจัดการเรียนรู้ให้กับประชาชนทุกกลุ่ม

ก่อนหน้านี้ กระทรวงวิทย์ได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาฯ ในโครงการ "ดิจิทัล ไทยแลนด์" ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา โดยทั้ง 2 กระทรวงทำงานร่วมกันมาโดยตลอด และความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้เกิดแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนมากขึ้น

ทางกระทรวงวิทย์มีโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น โครงการศูนย์การเรียนรู้ระดับชุมชนและคลินิกเทคโนโลยี ที่ทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สามารถปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น เทคโนโลยีกรองน้ำ เทคโนโลยีถนอมอาหาร โดยร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาค ทำหน้าที่เป็นแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ ฉะนั้น ความร่วมมือครั้งนี้จะขยายโอกาสการเรียนรู้ให้กว้างขึ้นสู่ทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว

ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ไบโอเทคซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทย์ ได้สนับสนุนโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพเชิงชีวจริยธรรม (Bioethics) ร่วมกับท้องฟ้าจำลอง โดยได้รับข้อมูลสนับสนุนจากองค์การยูเนสโก

“ไบโอเทคจะจัดนิทรรศการ Bioethics ต่อเนื่องตลอด 1 ปี นำเสนอความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดัดแปรพันธุกรรมพืช สเต็มเซลล์และโรคทางพันธุกรรม เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ที่ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ โดยเนื้อหาจะปรับให้เข้าใจง่าย เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไป” ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าว

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/10/30/WW54_5401_news.php?newsid=197484

"ท้องฟ้าจำลอง" ผ่านไปกว่า 40 ปีวันนี้ยังอยู่ดีไหมเอ่ย


มีท้องฟ้าจำลองเปิดใหม่ที่รังสิตเขาลือกันว่าที่นั่นมีเครื่องฉายดาวสุดทันสมัยในเอเชีย มีโอกาสจึงได้แวะเวียนไปเยือน 2 ครั้งและก็ไม่ผิดหวังกับระบบฉายดาวที่ดูตื่นตาตื่นใจเหมือนได้เข้าไปชมโรงภาพยนตร์ 3 มิติ แต่ก็อดนึกถึงท้องฟ้าจำลองที่เอกมัยไม่ได้ว่ายังอยู่ดีหรือเปล่า

การเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางของ "ท้องฟ้าจำลอง" ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิตไม่ได้เป็นการแย่งชิงลูกค้า หากแต่เป็นการกระจายการให้บริการและแบ่งเบาภาระกว่า 40 ปีของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ซึ่งย่อเอกภพอันกว้างไกลลงบนพืนฟ้าจำลองย่านเอกมัยให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ได้ท่องจินตนาการออกไปในโลกของอวกาศและดวงดาว

หากเปรียบเป็นคนท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของไทยก็เข้าสู่วัยกลางคนแล้วและคงได้เห็นการเติบโตของเด็กๆ หลายรุ่นต่อหลายรุ่น จากเด็กเล็กที่อาจจะเคยวิ่งซนรอบศูนย์วิทยาศาสตร์ วันนี้พวกเขาอาจจะกำลังเฝ้ามองลูกๆ ที่กลายเป็นลิงทะโมนอยู่นอกโรงฉายท้องฟ้าจำลองก็ได้

"สถานที่ตรงนี้ก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคลา" นางผณินทร มหาเอกอนันต์ คุณแม่วัย 37 ที่นำลูกๆ วัยซน 3 คนมาชมท้องฟ้าจำลองพร้อมกับพ่อบ้านในวันหยุดสุดสัปดาห์กล่าวพร้อมกับท่าทางคล้ายกับหวนระลึกถึงความหลัง โดยเธอและครอบครัวเลือกเดินทางมาพักผ่อนกันที่ท้องฟ้าจำลองด้วยเสียงเรียกร้องของลูกชายวัย 5-6 ขวบที่ได้มาเยือนแหล่งความรู้นี้พร้อมกับโรงเรียนก่อนหน้าไม่นานนัก

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนนางผณินทรก็เคยมาเยือนท้องฟ้าจำลองหลายครั้งจากกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดให้ แต่เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้นเธอสารภาพว่าไม่ได้ตั้งใจฟังสิ่งที่วิทยากรบรรยายนักเพราะมัวแต่ห่วงสนุกกับเพื่อนๆ พอโตขึ้นแล้วได้นำลูกๆ มาเองคราวนี้เธอเข้าใจในสิ่งที่วิทยากรถ่ายทอดมากกว่าเดิมเพราะเธอมีสมาธิที่จะฟังมากขึ้น และคิดว่าผู้ใหญ่ที่ได้มาเยือนสถานที่ให้ความรู้เช่นนี้ก็คงอยากจะพาลูกๆ มาบ้าง

"แต่ (รูปแบบ) สถานที่ยังน่าสนใจน้อยกว่าห้าง" นางผณินทรให้ความเห็นพร้อมทั้งแนะว่าควรจะปรับปรุงสถานที่ให้น่าสนใจขึ้น และถ้ามีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักเรื่อยๆ ก็จะดีมาก

ด้านนางสมภัสสร อินทรภู่ คุณแม่วัย 46 มาเยือนท้องฟ้าจำลองพร้อมลูกชาย หลานและญาตินับสิบคน โดยญาติๆ เดินทางมาไกลจากภาคใต้เพื่อมาเยี่ยมเธอที่กรุงเทพฯ เธอจึงชักชวนสมาชิกในครอบครัวใหญให้มาเยือนแหล่งความรู้ดาราศาสตร์ที่เธอมักจะแวะเวียนมาเป็นประจำ

"ดีค่ะ มาบ่อย ท้องฟ้าจำลองก็ดี นิทรรศการก็ดีมีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ แต่อยากให้ปรับปรุงเพราะนิทรรศการยังดูยากไป นิทรรศการน่าจะดูง่ายกว่านี้" นางสมภัสสรกล่าว หลังจากนั้นก็พอลูกชายไปทดลองชั่งน้ำหนักซึ่งมีมาตรวัดที่บอกว่าน้ำหนักคนเราจะเป็นเท่าไหร่บนดวงจันทร์ที่มีแรงโน้มถ่วงน้อยกว่า

ขณะที่ท้องฟ้าจำลองได้เปิดฉายดาวรอบสุดท้ายของวันในเวลา 14.30 น. อีกครอบครัว "พุฒิวณิชย์พิมร" ที่มาไม่ทันก็ได้เดินชมนิทรรศการกลางแจ้งที่จัดแสดงอยู่ด้านนอกโรงฉาย โดยพ่อ แม่และลูกสาววัย 5 ขวบซึ่งเดินทางมาจาก จ.ปราจีนบุรีไม่เคยเยือนศูนย์วิทยาศาสตร์เก่าแก่นี้เลย อย่างไรก็ดีนายสุรพลก็ได้แสดงความเห็นถึงสิ่งที่ศูนย์ต้องปรับปรุงหลายอย่าง

"เป็นแหล่งความรู้แต่ไม่พัฒนาเลย ทุกจุดเก่าและโทรม ใช่เพียงแค่รักษาสภาพเดิมไว้เท่านั้นแต่ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ต้องปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ เพราะคนเราไม่ได้หวังมาครั้งเดียวแล้วไม่มาครั้งที่ 2-3 อีก ดูอย่างห้างที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาคนที่ไปแล้วก็อยากไปอีก และเรื่องความปลอดภัยก็เป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างเครื่องบิน-รถไฟ (นิทรรศการที่อยู่กลางแจ้ง) ไม่ปลอดภัยเลย เก่าและมีสนิมเต็ม ก็ควรมีป้ายบอกว่าห้ามเข้าใกล้เพราะเด็กอาจจะปีนป่ายได้" นายสุรพลกล่าวถึงสิ่งที่ต้องปรับปรุง

แม้จะสร้างความทรงจำดีๆ ตราตรึงไว้ในความทรงจำของเด็กหลายคน แต่คล้ายว่าท้องฟ้าจำลองกำลังโรยรากับหน้าที่อันยาวนานกว่า 4 ทศวรรษและยังต้องเผชิญกับการเติบโตของห้างสรรสินค้าที่เร้าใจและดึงดูดเยาวชนให้ห่างออกไปจากแหล่งบ่มเพาะความรู้และความรักในวิทยาศาสตร์นี้ได้มากกว่า บางทีผู้ปกครองและโรงเรียนก็คือแรงฉุดสำคัญที่ยังทำให้สถานที่แห่งนี้ยังคงหยัดยืนอยู่ได้

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000118270

“ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ” แหล่งมั่วสุมทางวิชาการแห่งแรกของเด็กไทย


ถ้าพูดถึงเรื่องของดวงดาว อวกาศ หรือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ผู้คนส่วนมากจะต้องนึกถึง “ท้องฟ้าจำลอง” เป็นอันดับแรก แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับฟากฟ้า ดวงดาว และห้องฉายดาวขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย สถานที่ที่เด็กๆ จะได้ตื่นเต้นและสนุกสนานไปกับการดูดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนได้แม้ในเวลากลางวัน

“ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ” หรือที่คุ้นหูและเรียกกันจนติดปากชาวไทยมานานหลายสิบปีแล้วว่า “ท้องฟ้าจำลอง” อยู่บนถนนสุขุมวิท ใกล้กับสถานีขนส่งเอกมัย และเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งไม่ได้มีแค่ท้องฟ้าจำลองหรือห้องฉายดาวเท่านั้น แต่ยังรวบรวบเอาความรู้วิทยาศาสตร์ทุกสาขามาจัดแสดงไว้เป็นนิทรรศการถาวรให้ผู้เข้าชมได้อิ่มเอมกับอาหารสมองจานใหญ่ที่บรรดานักวิชาการได้จัดเตรียมไว้ให้

ส่วนเหตุที่ใครๆ มักเรียกกันว่า ท้องฟ้าจำลอง นั่นอาจเป็นเพราะแรกเริ่มเดิมทีที่เปิดให้บริการมีแต่อาคารรูปโดมครึ่งทรงกลมสูงกว่า 10 เมตร ที่บรรจุห้องฉายดาวเอาไว้ภายใน (อาคาร 1) แล้วจึงมีอาคารนิทรรศการอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาในภายหลัง ได้แก่ อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาคารโลกใต้น้ำ อาคารธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอาคารวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ท้องฟ้าจำลองเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2507 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 43 ปีกว่าแล้ว

“ในสมัยนั้นขณะที่ ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็น รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ท่านเห็นว่าเยาวชนเริ่มมั่วสุมกันมากขึ้น ท่านจึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้สร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้และเป็นที่มั่วสุมทางวิชาการของเด็กๆ ดีกว่าปล่อยให้เยาวชนมั่วสุมกันเองแล้วก่อเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์” อาจารย์กระจ่าง ธรรมวีระพงษ์ นักวิชาการประจำท้องฟ้าจำลองย้อนให้ฟังถึงที่มา

ในที่สุดแหล่งมั่วสุมทางวิชาการของเด็กๆ ได้ฤกษ์ตอกเสาเข็มเมื่อปี 2505 และเสร็จในปี 2507 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 12 ล้านบาท

กำเนิดของท้องฟ้าจำลอง เน้นที่การให้ความรู้ทางภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แก่เยาวชน โดยเน้นที่การจำลองให้เหมือนจริง ทำให้เข้าใจง่ายกว่าการบรรยายด้วยปากเปล่า เด็กๆ จะได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่จะได้จากห้องฉายดาวด้วยเครื่องฉายดาวขนาดใหญ่ และจอรับภาพคล้ายกับจอภาพยนตร์ขนาดยักษ์ขึงเป็นโดมรูปครึ่งทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เมตร ภายในห้องฉายดาวจุผู้ชมได้มากถึง 360 คน จัดเป็นห้องฉายดาวขนาดใหญ่ตามมาตรฐานสากลทีเดียว

อ.กระจ่าง อธิบายต่อว่า ห้องฉายดาวจะฉายให้ผู้ชมได้เห็นท้องฟ้าในค่ำคืนของวันที่ฉาย ซึ่งจะไม่เหมือนกันในแต่ละวัน แต่ก็จะไม่แตกต่างกันมากนักในวันที่ใกล้เคียงกัน โดยเน้นให้ความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์และการดูดาวขั้นพื้นฐานแก่เยาวชนและประชาชนที่เข้าชม

“ระหว่างการฉายดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนของแต่ละวัน ก็จะมีเรื่องพิเศษฉายคั่น ซึ่งได้กำหนดตารางการฉายไว้แล้วในแต่ละปี แต่ละเรื่องจะฉายนานประมาณ 2 เดือน อย่างเช่น ในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. นี้กำลังฉายเรื่องสถานีอวกาศนานาชาติ พอเข้าเดือน พ.ย. – ธ.ค. เป็นช่วงที่ท้องฟ้าโปร่ง เมฆน้อย เหมาะกับการดูดาวอย่างยิ่ง เราก็จะฉายเรื่องวิธีการดูดาว หรือถ้าช่วงไหนมีปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ ก็จะฉายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ เช่น สุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยเมื่อปี 2538 ก็ฉายเรื่องการสุริยุปราคาตลอดช่วงนั้น” อ.กระจ่าง อธิบาย ซึ่งเรื่องพิเศษที่จะฉายขึ้นอยู่กับฤดูกาลและปรากฏการณ์ด้วย

จากบัณฑิตสาขาวิชาดาราศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.กระจ่าง ก็เข้ารับราชการ ตำแหน่งนักวิชาการ ประจำท้องฟ้าจำลองกรุงเทพมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยมีหน้าที่หลักในการเผยแพร่ความรู้ด้านดาราศาสตร์ให้กับเยาวชน ทั้งจัดนิทรรศการ ค่ายดาราศาสตร์ และกิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายระหว่างการฉายดาว สลับสับเปลี่ยนกันกับนักวิชาการประจำคนอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีนักวิชาการประจำท้องฟ้าจำลองทั้งหมด 3 คน แต่ในสมัยแรกๆ ได้มีการเชิญนักวิชาการจากข้างนอกมาร่วมบรรยายด้วย

“ทุกคนจะมีตารางเวรบรรยายในห้องฉายดาวหมุนเวียนกันไป เราไม่ใช้วิธีอัดเทปเสียงผู้บรรยายเอาไว้เปิดในเวลาแสดงการฉายดาว เพราะว่าดาวที่เราฉายในแต่ละวันเป็นภาพดาวของค่ำคืนวันนั้นๆ ซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละวัน และเราเน้นให้ผู้ชมความมีรู้พื้นฐานการดูดาวของวันนั้น จึงใช้การบรรยายสดเหมาะสมที่สุด” อ.กระจ่าง อธิบาย ซึ่งขณะฉายดาว ผู้บรรยายจะมีช่างเทคนิคเป็นผู้ช่วยด้วยอีก 1 คน

นอกจากการฉายดาวในแต่ละวันและเรื่องพิเศษที่ฉายในแต่ละเดือนแล้ว ยังมีเรื่องพิเศษเกี่ยวกับดาราศาสตร์และอวกาศเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง แต่จะเป็นเรื่องเฉพาะทางและเนื้อหาเข้มข้นมากขึ้น อาจไม่ค่อยเป็นที่สนใจหรือเข้าใจยากสำหรับเด็กและประชาชนทั่วไป แต่หากกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือสถานศึกษาใดต้องการชม ก็สามารถติดต่อล่วงหน้าให้ฉายเรื่องพิเศษโดยจัดเป็นรอบพิเศษได้ ซึ่ง อ.กระจ่าง บอกว่า ที่จริงท้องฟ้าจำลองก็เปรียบเสมือนห้องเรียนดาราศาสตร์อีกห้องหนึ่งนั่นเอง

อ.กระจ่าง เล่าต่อว่า ตั้งแต่ท้องฟ้าเปิดให้บริการประชาชนมาตั้งแต่ปี 2507 เคยเปลี่ยนจอภาพใหม่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นเมื่อหลายปีก่อน ใช้งบประมาณราว 20 ล้านบาท ส่วนเครื่องฉายดาวยังคงเป็นเครื่องเดิมตั้งแต่ฉายครั้งแรก ซึ่งเป็นระบบที่ยังควบคุมด้วยผู้ใช้เอง ไม่ได้ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เหมือนเครื่องฉายดาวรุ่นใหม่ๆ และแม้ประสิทธิภาพของเครื่องฉายดาวนี้อาจลดลงไปบ้าง แต่ก็ไม่เลวร้ายถึงขนาดใช้การไม่ได้

“เครื่องฉายดาวรุ่นที่ใช้เราใช้อยู่ตอนนี้เป็นของบริษัท คาร์ลไซซ์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งรุ่นนี้เขาเลิกผลิตไปแล้ว และเหลือเพียงเครื่องเดียวในโลกที่ยังใช้งานอยู่ ต่างประเทศที่เขาเคยใช้รุ่นนี้ เขาก็เปลี่ยนไปใช้รุ่นที่ทันสมัยกว่าแล้ว รุ่นเก่าก็จัดแสดงไว้ให้ดูกัน” อ.กระจ่าง เล่าถึงเครื่องฉายดาวสุดคลาสสิกของบ้านเราที่ไม่มีท้องฟ้าจำลองที่ไหนเหมือน

ทว่าเครื่องฉายดาวรุ่นเก๋าของเรา ตอนนี้ไม่สามารถฉายให้เห็นดวงจันทร์ได้แล้ว แต่ อ.กระจ่าง ก็ปลอบใจว่า ไม่เห็นดวงจันทร์เพียงอย่างเดียวก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็ยังเห็นดาวดวงอื่นๆ ครบทั้งหมด เรายังเรียนรู้เรื่องราวของดาวดวงอื่นๆ ได้ไม่ต่างจากเดิม และหากจะเปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ต้องใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศเราในตอนนี้ เพราะเครื่องเดิมก็ยังใช้การได้ เพียงแต่ไม่มีดวงจันทร์ให้ชม

ปกติแล้วห้องฉายดาวของท้องฟ้าจำลองจะเปิดแสดงให้ชมกันวันละ 4 รอบ ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ และปิดทุกวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่หากช่วงไหนมีปรากฏการณ์สำคัญ วันสำคัญ หรือมีโรงเรียนต่างๆ สนใจจำนวนมากก็อาจเพิ่มรอบได้ตามความเหมาะสม ที่ผ่านมาเคยเปิดแสดงสูงสุด 16 รอบต่อวัน เมื่อครั้งดาวหางฮัลเลย์เข้าใกล้โลกในปี 2529 และในช่วงวันเด็กของทุกปีก็ฉายวันละ 9-10 รอบ โดยเฉลี่ยจะมีผู้เข้าชมในแต่ละปีประมาณ 3 แสนคน และเคยสูงสุดถึง 6 แสนคนต่อปี

นอกจากท้องฟ้าจำลองกรุงเทพย่านเอกมัยแห่งนี้แล้ว หลายคนอาจไม่ทราบว่ายังมีท้องฟ้าจำลองอีก 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต คลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทั้ง 2 แห่งยังมีอายุไม่มากนักและขนาดไม่ใหญ่เท่า แต่อาจมีเครื่องฉายดาวที่ทันสมัยกว่า ส่วนเรื่องราวที่ฉายก็คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว

ส่วนในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะมีท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่เพิ่มอีก 4 แห่ง ใน 4 ภูมิภาคของประเทศ ซึ่ง อ.กระจ่าง ให้ข้อมูลว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเพิ่มในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น โดยแห่งแรกที่กำลังเริ่มดำเนินการก่อสร้างคือที่ จ.ร้อยเอ็ด ส่วนอีก 3 แห่ง ยังไม่ชัดเจน แต่คงได้ข้อสรุปในไม่ช้านี้

แม้จะมีท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธท้องฟ้าจำลองกรุงเทพแห่งนี้ได้ ในฐานะท้องฟ้าจำลองแห่งแรกในประเทศไทย แหล่งมั่วสุมทางวิชาการที่ได้ทั้งความรู้และเพลิดเพลินของเยาวชนรุ่นคุณพ่อคุณแม่ และจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานไทยในอนาคต

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000117375

Monday, October 29, 2007

บ้านนิรภัยรับมือแผ่นดินไหวปลอดภัย


บริษัทรับสร้างบ้านออกแบบบ้านนิรภัย ป้องกันแผ่นดินไหวด้วยโครงสร้างผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก เอไอทีร่วมวงวิเคราะห์ความแกร่ง ระบุรับมือแผ่นดินไหวได้เกินกว่ากฎหมายกำหนด

นายนวพล สังเวียนวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูลเฮ้าส์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทออกแบบบ้านนิรภัยให้มีคุณสมบัติต้านภัยแผ่นดินไหว โดยเป็นบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก ต่างจากบ้านทั่วไปที่ใช้เสาคานรับน้ำหนัก และโครงสร้างส่วนใหญ่ทำจากก้อนอิฐ จึงเสี่ยงต่อการพังทลายสูง เมื่อได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว

นอกจากตัวบ้านจะรับมือแผ่นดินไหวได้แล้ว กำแพงด้านในยังเสริมฉนวนกันความร้อนจากพลาสติกโพลิสไตร์ลิน เพื่อป้องกันเสียง ความชื้นและความร้อนจากภายนอก ช่วยประหยัดพลังงานได้ 60% เมื่อเทียบกับบ้านทั่วไป โดยค่าก่อสร้างบ้านนิรภัยประมาณ 13,000 บาทต่อตารางเมตร ไม่ต่างจากต้นทุนบ้านทั่วไป

"แม้ค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างจะเพิ่มขึ้น 7-10% แต่เมื่อรวมกับระยะเวลาการก่อสร้างที่สั้นกว่า ทำให้ราคาไม่ต่างกันมาก” นายนวพล กล่าว

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ภาควิชาวิศวกรรมโครงสร้าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า เอไอทีร่วมทดสอบบ้านนิรภัยของบริษัทคูลเฮ้าส์ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพการต้านแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว และยืนยันได้ว่าบ้านที่ออกแบบใหม่นี้รับมือแรงกระทำได้สูงกว่าบ้านทั่วไป และสูงกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด 33%

ทีมวิจัยได้พัฒนาวิธีการตรวจสอบ และปรับปรุงจุดเสี่ยงในส่วนโครงสร้างกำแพงที่อาจเกิดการเสียหาย ด้วยโปรแกรมวิเคราะห์ทางคอมพิวเตอร์ หรือ ไฟไนต์อิลิเมนต์ โดยนำผลการทดสอบแรงดัด แรงกด แรงโยก แรงเหวี่ยงในแนวแกนและแรงเฉื่อย เพื่อหาค่าความต้านทานที่แท้จริงในการรับแรงแผ่นดินไหว แรงลม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ

ทั้งนี้ แม้จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว จะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่จากการสำรวจพบรอยเลื่อนเพิ่มขึ้นบริเวณภาคเหนือและตะวันตก ชี้ถึงโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 ริกเตอร์ได้ในอนาคต และแม้แผ่นดินไหวจะมีศูนย์กลางในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่เดียวกันในทางธรณีวิทยา

การออกแบบกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นหนึ่งในการออกแบบบ้านเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังมีการออกแบบในรูปแบบอื่น เช่น แบบเสาคาน หรือเฟรม รวมถึงโครงสร้างที่อ่อนไหวต่อแรงลม และแรงสั่นสะเทือน ซึ่งปัจจุบันเอไอทีร่วมกับการเคหะแห่งชาติ ในการพัฒนาระบบเสาคานป้องกันแผ่นดินไหว ในโครงการบ้านเอื้ออาทรด้วย

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/10/29/WW54_5406_news.php?newsid=196974

“รถพยาบาลหัวใจฉุกเฉิน” ฝีมือคนไทย


สนช. – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติจับมือโรงพยาบาลปิยะเวท และห้างหุ้นส่วนเอกวัตร (1994) จำกัด เปิดตัวรถพยาบาลหัวใจฉุกเฉินครบวงจรฝีมือคนไทย ทดแทนการนำเข้า แถมยังเหมาะกับการใช้งานในประเทศได้ดีกว่าเดิม ตอบสนองการรักษาพยาบาลโรคหัวใจหลังพบคนไทยดับด้วยโรคร้าย 5 ราย/ชั่วโมง

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท และห้างหุ้นส่วน เอกวัตร (1994) จำกัด แถลงข่าวการสนับสนุนและพิธีส่งมอบ “รถพยาบาลหัวใจฉุกเฉินสมบูรณ์แบบ” เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์และด้านสาธารณสุขของไทย ด้วยการสร้างรถพยาบาลฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับที่นำเข้าจากต่างประเทศขึ้น ณ โรงพยาบาลปิยะเวท กรุงเทพฯ

นายศุภชัย หล่อโลหการ ผอ.สนช.กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้อนาคตประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของเอเชีย โรงพยาบาลทุกแห่งต้องมีรถพยาบาลที่จะสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและดูแลผู้ป่วยได้ โดยมีความพร้อมด้านเครื่องมือแพทย์เพื่อให้ความช่วยเหลือและสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันท่วงที ซึ่งโรคหัวใจก็นับเป็นโรคที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และอาการค่อนข้างเฉียบพลัน สนช.จึงร่วมกับเอกชนพัฒนารถพยาบาลดังกล่าวขึ้น

ทั้งนี้ ในการพัฒนารถพยาบาลหัวใจฉุกเฉินสมบูรณ์แบบ ได้ใช้ทั้งเทคโนโลยีการออกแบบเชิงการใช้งานด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินและการใช้เทคโนโลยีคอมโพสิทร่วมในการผลิต โดยเป็นการใช้โครงแชสส์ซีขนาด 6 ล้อขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ

สำหรับการออกแบบรถพยาบาล การออกแบบโครงสร้างตัวถังรถ และการจัดวางอุปกรณ์ภายใน ได้ติดตั้งระบบกันสะเทือนแบบถุงลม และเลือกใช้วัสดุคอมโพสิตมาใช้ประกอบทั้งตัวถังภายนอกเพื่อความแข็งแรงของโครงสร้างให้สามารถรับนำหนักแขวนได้และส่วนประกอบภายในรถ

“รถพยาบาลดังกล่าวจึงมีคุณสมบัติทั้งทนความร้อน ทนสารเคมี และทนการผุกร่อน อีกทั้งยังทำความสะอาดได้ง่ายและผลิตชิ้นงานได้เร็วและมีคุณภาพสูง ที่สำคัญคือเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศได้ดีกว่าการนำเข้า และยังไม่พบว่าจะมีประเทศใดในภูมิภาคเอเชียที่ผลิตและประกอบรถพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยีและวัสดุคอมโพสิตมาก่อนด้วย” ผอ.สนช.กล่าว

ด้านสถานการณ์ผู้ป่วยโรคหัวใจ รศ.นพ.องค์การ เรืองรัตนอัมพร รองผอ.สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท-โรงพยาบาลปิยะเวท เปิดเผยว่า โรคหัวใจกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 1 ของทุกประเทศทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากทุกปี จากรายงานปี 2548 ขององค์การอนามัยโลกพบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 17.5 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 33 คน ส่วนสถิติในประเทศไทยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 5 ราย/ชั่วโมง

“ผู้ป่วยโรคหัวใจโดยมากจะเกิดอาการแบบปัจจุบันทันด่วน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยระหว่างเดินทางมายังโรงพยาบาลสูงถึง 60% เนื่องจากไปถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป หรือรถพยาบาลที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ครบครัน ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยยังจำเป็นต้องมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะคอยดูแลเป็นพิเศษด้วย” รศ.นพ.องค์การ ทิ้งท้าย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000128234

Friday, October 26, 2007

ทัวร์นาโนเทค


จากก่อตั้งมาได้ 3 ปีกว่า วันนี้..นาโนเทคหรือศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ น้องเล็กในบรรดา 4 ศูนย์แห่งชาติของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปิดบ้าน... แสดง 3 ผลงานเด่นด้านนาโนเทคโนโลยี พร้อมโชว์ศักยภาพอุปกรณ์ของการให้บริการทดสอบสินค้านาโนเทคโนโลยี

ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค เปิดเผยถึง 3 ผลงานเด่นที่นักวิจัยของนาโนเทคทำสำเร็จพร้อมให้เอกชนนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพและใช้ได้จริง

ผลงานแรกคือ “การพัฒนาสารผสมไททาเนียมไดออกไซด์สำหรับเคลือบเซรามิก เพื่อใช้บำบัดน้ำในตู้ปลา” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของศูนย์ บริษัท โนะนามิ ไซเอ็นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไวท์เครนอคาเรียม (ประเทศไทย) จำกัด

เซรามิกที่ผ่านการเคลือบสารไททาเนียมออกไซด์นี้จะมีคุณสมบัติพิเศษในการกำจัดตะไคร่น้ำ และเชื้อแบคทีเรีย โดยสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียชนิด E.coli ได้ถึง 99% เมื่อใช้สารดังกล่าวในปริมาณ 1% (น้ำหนักต่อปริมาตร) ผลิต ภัณฑ์ดังกล่าวสามารถฟื้นฟูคุณ ภาพของน้ำที่ผ่านการบำบัดจากตู้ปลา ทำให้ผู้เลี้ยงปลาไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย สามารถทิ้งไว้ได้นานถึง 7 เดือนทีเดียว ผลงานนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร

สำหรับผลงานชิ้นที่ 2 คือ “การพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมฟิล์มพลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหารเคลือบผิวด้วยไททาเนียมไดออกไซด์” สำหรับการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยรักษาคุณภาพ ลดการสูญเสียและยืดอายุการเก็บรักษา พืชผัก-ผลไม้สด เนื่องจากมีคุณสมบัติในการสลายเอทิลีน ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และสลายกลิ่น

ผลงานนี้เป็นงานวิจัยต่อเนื่องจากโครง การหลังปริญญาเอกของนักวิจัยนาโนเทคทำร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่น งานวิจัยอยู่ระหว่างการพัฒนาฟิล์มต้นแบบอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานจริงเช่นเดียวกับฟิล์มต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ

ส่วนผลงานชิ้นที่ 3 ก็คือ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบของเครื่องสำอางและยา โดยใช้อนุภาคนาโนชนิดไขมันแข็งบรรจุสารต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น” เรียก ง่าย ๆ ว่า แคปซูลนาโน ใช้สำหรับบรรจุสารต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งเป็นสาร สกัดจากสมุน ไพรไทยต่าง ๆ เช่น จากใบกะ เพรา ดอกดาวเรืองหรือน้ำมันรำข้าว นำไปใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในเครื่องสำอาง อาหารและยา

ผลิตภัณฑ์ต้นแบบนี้ เป็นผลงานร่วม ระหว่างนักวิจัยนาโนเทคและคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ระหว่างการยื่นคำขอสิทธิบัตรไทย และทดสอบในอาสาสมัคร รวมถึงพัฒนาต้นแบบในระดับอุตสาหกรรม

และผลงานจากนาโนเทค ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้...

ผู้อำนวยการศูนย์ฯ บอกว่ายังมีผลงานที่น่าสนใจและกำลังจะยื่นจดสิทธิบัตรอีกหลายผลงาน เช่น เทคนิคใหม่ในการตรวจสอบลายนิ้วมือ ผลงานจากความร่วมมือของนาโนเทคและสถาบันเอไอที

จากองค์ประกอบของเหงื่อคน ซึ่งมีน้ำ 98-99% เป็นเกลือ 0.8% และที่เหลือ 0.2% เป็นกรดไขมัน การตรวจสอบลายนิ้วมือแบบเดิม ๆ จะใช้ผงแป้งโรยกรณีรอยนิ้วมือบนที่แห้ง หากเลือนรางจะใช้สารเคมี เพื่อตรวจสอบจากเกลือที่เหลืออยู่ แต่หากตกน้ำ เกลือละลายหาย ไป เหลือเพียงกรดไขมันที่ มีน้อยมาก งานวิจัยนี้จึงพัฒนาสารตรวจสอบลายนิ้วมือจากไขมัน เนื่องจากมีน้อย สารที่ตรวจสอบจึงต้องมีอนุภาคที่เล็กมากระดับนาโนเมตร งานวิจัยนี้ใช้อนุภาคนาโนของทองคำซึ่งเรืองแสงเห็นได้ง่ายผสมสารไคโดแซนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่หาง่ายเพราะมาจากเปลือกหอยเปลือกปูนำมาเป็นสารตรวจสอบ

ต้นแบบผลิตภัณฑ์นี้อยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตร ผู้อำนวยการนาโนเทคบอกว่าใครสนใจต่อยอดระดับอุตสาหกรรมก็เชิญได้ที่นาโนเทค

นอกจากการสร้างผลงานด้านนาโนเทคโนโลยี อีกภารกิจที่สำคัญของศูนย์นาโนเทคแห่งนี้ก็คือการให้บริการอุปกรณ์ทดสอบสินค้านาโนเทค อำนวยความสะดวกให้ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ต้องส่งชิ้นงานไปตรวจสอบถึงต่างประเทศ

หน่วยบริการนี้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบวิเคราะห์คุณสมบัติของวัตถุทั้ง ลักษณะทางกายภาพ ชีวภาพ และองค์ประกอบทางเคมีต่าง ๆ

เป้าหมายบริการนี้ไม่ใช่เพื่องานวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีส่วนช่วยในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอีกด้วย เพราะ...จากกระแสนาโน.. ที่เกลื่อนตลาด จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ผลิตภัณฑ์นั้น เป็น “นาโนแท้”... หรือว่า “โอเวอร์เคลม”.
‘นาตยา คชินทร’
nattayap@dailynews.co.th

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=144133&NewsType=1&Template=1

Wednesday, October 24, 2007

"ดิสคัฟเวอรี" ทะยานฟ้าพร้อมภารกิจต่อเติม 2 ห้องแล็บอวกาศ



สเปซด็อทคอม/เอเยนซี - นาซาส่งดิสคัฟเวอรีขึ้นไปต่อเติมสถานีอวกาศนานาชาติตามเวลากำหนดเมื่อ 4 ทุ่มครึ่งคืนที่ผ่านมา แม้ฝนตั้งท่าเป็นอุปสรรค โดยลูกเรือทั้งหมด 7 คนจะขึ้นไปต่อเติมห้องปฏิบัติการบนอวกาศของยุโรปและญี่ปุ่นคือ "โคลัมบัส" และ "คิโบ" ตามลำดับเป็นเวลา 14 วัน นับเป็นปฏิบัติการต่อเติมสถานีอวกาศครั้งที่ 23 สำหรับปีนี้

หลังพิจารณาว่าแผ่นน้ำแข็งที่ถังเชื้อเพลิงไม่เป็นอันตรายต่อการส่งยาน องค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐ (นาซา) ส่งกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) เมื่อคืนวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ตามกำหนดเวลา 22.38 น.ตามเวลาประเทศไทยเพื่อขึ้นไปต่อเติมสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) โดยลูกเรือทั้งหมด 7 คนในเที่ยวบินนี้จะขึ้นไปต่อเติมห้องปฏิบัติการบนอวกาศของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นคือ "โคลัมบัส" (Columbus) และ "คิโบ" (Kibo) ตามลำดับเป็นเวลา 14 วัน นับเป็นปฏิบัติการต่อเติมสถานีอวกาศครั้งที่ 23 สำหรับปีนี้

นักอุตุนิยมวิทยาคาดว่าเมฆฝนจะเคลื่อนตัวไปยังบริเวณที่ปล่อยยานซึ่งอาจจะส่งผลให้ต้องเลื่อนการส่งยาน แต่ด้วยความหวังที่จะชนะการเสี่ยงดวงกับสภาพอากาศนาซาได้เติมไฮโดรเจนและออกเหลวเย็นยิ่งยวดกว่า 500,000 แกลลอนในถังเชื้อเพลิงด้านนอกของยานดิสคัฟเวอรี และองค์การอวกาศสหรัฐฯ ก็ผ่านพ้นอุปสรรคทางธรรมชาติไปได้ โดยเมฆได้เคลื่อนห่างจากฐานปล่อยจรวด

"เรามีวันที่โชคดี เราแค่เหมือนจะได้รับโชคไม่ดีนัก แต่ผมก็บอกกับทีมของผมว่าตอนนี้ทุกอย่างไม่มีอะไรผิดปกติและต่อไปเราก็จะมีโชคหน่อยๆ" ไมค์ ไลน์แบช (Mike Leinbach) ผู้อำนวยการปล่อยจรวดของนาซากล่าว

อีกอุปสรรคก่อนหน้านี้คือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการวิศวกรได้แนะนำให้นาซาเปลี่ยนฉนวนกันความร้อน 3 แผ่นในส่วนปีกของยาน แต่นาซาตัดสินใจว่าความเสี่ยงดังกล่าวไม่มากพอต่อความจำเป็นที่ต้องเลื่อนการส่งยานออกไปอีก 2 เดือนเพื่อเปลี่ยนกระเบื้องตามคำแนะนำ ซึ่งการส่งยานล่าช้าออกไปนั้นจะส่งผลกระทบต่อตารางการส่งยานของนาซาที่เหลืออยู่

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์อากาศในแหลมคานาเวอรัล (Cape Canaveral) คาดการณ์ว่ามีโอกาส 60% ที่สภาพอากาศจะเอื้อต่อการปล่อยจรวด แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดฝนและเมฆปกคลุมจนเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจของยานดิสคัฟเวอรี อย่างไรก็ดีลูกเรือทั้งหมดได้รวมกันที่ศูนย์อวกาศกันตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้วและพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ และนาฬิกานับได้เริ่มนับถอยหลังก็เริ่มทำงานตั้งแต่ช่วงหยุดสุดสัปดาห์แล้ว

"เรารู้สึกมั่นใจมากๆ ว่าเรามียานที่ปลอดภัยซึ่งพร้อมบิน เราคงจะไม่ปล่อยจรวดหากเราไม่คิดว่าที่กล่าวไปนั้นเป็นเรื่องจริง" เลอรอย เคน (LeRoy Cain) ผู้จัดการหน่วยปล่อยจรวดของนาซากล่าว

สำหรับเที่ยวบิน STS-120 ของดิสคัฟเวอรีนี้บังคับการโดย พาเมลา เมลรอย (Pamela Melroy) นักบินหญิงวัย 46 ผู้ช่ำชองของนาซา และยังมีเปาโล เนสโปลี (Paulo Nespoli) ลูกเรืออิตาลีจากองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) ซึ่งรับภารกิจส่งชิ้นส่วนเป็นท่อยาวที่เรียกว่า P6 หนัก 16 ตัน ยาว 20 เมตร โดยชิ้นส่วนนี้จะช่วยแปรแถวเสาอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนที่ 3 จากที่กำหนดไว้ 4 ส่วน ภายหลังจากติดตั้งแล้วจะทำให้เครื่องกำหนดพลังงานไฟฟ้าของสถานีอวกาศปั่นพลังงานได้เร็วขึ้น

"มันน่าตื่นเต้นและมีหลายสิ่งให้ทำ" เมลรอยกล่าว พร้อมทั้งเผยว่าเธอและลูกเรือต่างมั่นใจว่ายานดิสคัฟเวอรีพร้อมที่จะบินแล้ว แม้จะมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับแผงกันความร้อนด้านนอกของตัวยานก็ตาม

ภารกิจล่าสุดในการต่อเติมสถานีอวกาศนี้กำหนดให้มีการเดินอวกาศ (spacewalk) ทั้งหมด 5 ครั้งรวมเป็นเวลา 30.5 ชั่วโมง โดยนักบินอวกาศจะแบ่งเป็น 2 ทีมเพื่อผลัดกันปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และจะทดสอบวิธีซ่อมแซมฉนวนกันความร้อนของกระสวยอวกาศระหว่างการเดินอวกาศด้วย ซึ่งภารกิจทั้งหมดจะปูทางไปสู่ภารกิจการส่งยานแอตแลนติส (Atlantis) ในวันที่ 6 ธ.ค.ซึ่งกำหนดให้ขึ้นไปต่อเติมห้องปฏิบัติการโคลัมบัสของยุโรปต่อ

ทั้งนี้องค์การอวกาศสหรัฐฯ วางแผนที่จะส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศอีก 13 เที่ยวเพื่อต่อเติมสถานีอวกาศให้แล้วเสร็จก่อนเดือน ก.ย.2553 ขณะเดียวกันปีหน้าก็จะมีภารกิจที่แยกออกจากการต่อเติมสถานีอวกาศนั่นคือการส่งกระสวยอวกาสขึ้นไปปรับปรุงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope)

ลูกเรือทั้ง 7 ประกอบด้วย พาเมลา เมลรอย (Pamela Melroy) ผู้บังคับการบิน, จอร์จ แซมกา (George Zamka) นักบินประจำเที่ยวบิน, และผู้เชี่ยวชาญประจำเที่ยวบิน สกอตต์ พาราซินสกี (Scott Parazynski), สเตฟานี วิลสัน (Stephanie Wilson), ดักลาส วีล็อก (Douglas Wheelock), เปาโล เนสโปลี (Paolo Nespoli ) และ แดเนียล ทานี (Daniel Tani )

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000125789

Tuesday, October 23, 2007

CO2 เพิ่มเกินคาด 35% ซ้ำน้ำทะเลดูดซับได้น้อยลง


บีซีนิวส์/เอเยนซี- ทีมนักวิจัยนานาชาติพบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร็วสูงกว่าที่คาดเป็น 35% ด้านนักวิจัยอังกฤษยังพบมหาสมุทรดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงครึ่งหนึ่ง

จากการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิลประจวบกับการลดลงของการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งบนพื้นดินและในมหาสมุทร นักวิจัยพบว่าปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ในชั้นบรรยากาศที่วัดเมื่อปี 2549 สูงกว่าเมื่อปี 2533 ถึง 35% ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มสูงเร็วกว่าที่คาด ทั้งนี้ได้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐ (Proceedings of the National Academy of Sciences)

"ในการเพิ่มขึ้นของประชากรและความมั่งคั่งของโลก เราทราบแล้วว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นจากการชะลอตัวที่เกิดเกิดจากธรรมชาติซึ่งตรึงองค์ประกอบเคมีดังกล่าวในชั้นบรรยากาศไว้" โจเซฟ แคนาเดลล์ (Josep Canadell) ผู้อำนวยการโครงการคาร์บอนโลก (Global Carbon Project) จากองค์การวิจัยในเครือจักรภพอังกฤษด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมซึ่งนำการศึกษาครั้งนี้กล่าว

จากการศึกษาใหม่นี้คาร์บอนถูกปลดปล่อยออกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและการผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 7 พันล้านตันในปี 2543 เป็น 8.4 พันล้านตันในปี 2549 และอัตราการเพิ่มของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงขึ้นจาก 1.3% ต่อปีในช่วงปี 2533-2542 เป็น 3.3% ต่อปีในช่วง 2543-2549

"เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมาในปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ทุกๆ ตันที่ถูกปล่อยออกมา ราวว 600 กิโลกรัมจะถูกกำจัดออกไปโดยธรรมชาติ แต่ในปี 2549 มีเพียง 550 กิโลกรัมเท่านั้นที่ถูกกำจัดออกไป ส่วนที่เหลือก็ตกลงมา สัดส่วนของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เหลืออยู่ในชั้นบรรยากาศหลังจากการดูดซับของพืชและมหาสมุทรที่สูงขึ้นกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้นแสดงให้เห็นความสามารถของโลกในการดูดซับการปลดปล่อยที่เป็นฝีมือมนุษย์นั้นลดลง" แคนาเดลล์กล่าว

ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย สหภาพยุโรปและองค์กรระหว่างเป็นประเทศอื่นๆ โดยนักวิจัยผู้ทำการศึกษาส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ ไอพีซีซี (UN's Intergovernmental Panel on Climate Change) ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2550 นี้ ร่วมกับ อัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สร้างกระแสความสนใจในภาวะโลกร้อนด้วยภาพยนตร์ An Invenient Truth

ขณะเดียวกันก็มีรายงานจากฝั่งอังกฤษโดยยูท์ สชัสเตอร์ (Ute Schuster) ผู้นำการศึกษาร่วมกับ ศ.แอนดรูว์ วัตสัน (Prof. Andrew Watson) จากคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) พบว่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของมหาสมุทแอตแลนติกเหนือได้ลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงปี 2533 ถึงปี 2548 โดยพวกเขาได้รวบรวมข้อมูลจากเซนเซอร์ที่ติดในเรือบรรทุกกล้วยซึ่งเดินทางจากอินเดียตะวันตกไปยังอังกฤษทุกเดือน และได้ทำการวัดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในทะเลมากกว่า 90,000 ครั้ง ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวได้ตีพิมพ์ลงวารสารจีโอกราฟิกรีเสริช (Geophysical Research) ฉบับเดือน พ.ย.นี้

"การเปลี่ยนแปลงในปริมาณมากนี้เป็นความน่าแปลกใจที่ชวนสยดสยอง เราคาดหวังว่าการดูดซับจะเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ เพราะมหาสมุทรนั้นมีมวลมหาศาล" สชัสเตอร์กล่าว อย่างไรก็ดีเธอก็เตือนว่าไม่ควรด่วนสรุปกับผลการศึกษาใหม่นี้เร็วเกินไป ซึ่งเป็นไปได้ว่าผลจากการศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อมโยงตามธรรมชาติหรืออาจจะขานรับกับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร้วนี้ ขณะเดียวกันเราก็ทราบว่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นที่จะต้องติดตามการดูดซับก๊าซเรือนกระจกของมหาสมุทรต่อไป

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000125672

Monday, October 22, 2007

“นาโนเทค” อวดตู้ปลา 7 เดือนไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ


หลายคนอาจสงสัยว่านอกจาก “เสื้อนาโน” แล้ว “นาโนเทค” นั้นมีผลงานอื่นอะไรอีกบ้าง ล่าสุดได้เผยผลงานเด่น 3 ชิ้น “ตู้ปลานาโน” ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ 7 เดือนด้วยสารเคลือบสารฆ่าจุลินทรีย์-ตะไคร่น้ำ “แคปซูลนาโน” บรรจุสารสกัดจากใบกะเพรา-ดาวเรือง-รำข้าวใช้ทำเครื่องสำอาง และพลาสติกเคลือบนาโนไททาเนียมไดออกไซด์ผลิตบรรจุภัณฑ์ยืดอายุพืช-ผัก

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เปิดบ้านเสนอผลงานวิจัยเด่นที่พร้อมต่อยอดสู่เอกชน ได้แก่ “ตู้ปลานาโน” ซึ่งใช้เซรามิกส์เคลือบสารไททาเนียมไดออกไซด์ซึ่งช่วยยับยั้งแบคทีเรีย E.coli ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงและยับยั้งการเติบโตของตะไคร่น้ำ ซึ่งสามารถทิ้งตู้ปลาไว้ได้นาน 7 เดือนโดยไม่ต้องเปลี่ยนน้ำ ซึ่งจากการทดลองผลว่าสารที่เคลือบเซรามิกส์นั้นไม่ส่งผลกระทบต่อปลา

ทั้งนี้ นาโนเทคได้นำปลาที่ตั้งอยู่ในห้องวิจัยโดยใส่เซรามิกที่เคลือบสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์และทิ้งไว้นาน 1 เดือนมาจัดแสดงเปรียบเทียบกับตู้ปลาซึ่งไม่ได้เปลี่ยนน้ำมาเป็นเวลา 1 เดือนเช่นกัน โดยน้ำในตู้ปลาที่ใส่เซรามิกเคลือบสารนั้นยังคงใส ส่วนน้ำในตู้ปลาที่ใช้เซรามิกทั่วไปนั้นมีสีขุ่นและมีตะไคร่น้ำเกาะให้เห็นชัดเจน

ระหว่างเยี่ยมชมผลงานของนาโนเทคนั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปรยขึ้นว่าตะไคร่น้ำและจุลินทรีย์บางชนิดก็เป็นประโยชน์ต่อปลา ดังนั้นถ้าใส่เซรามิกเคลือบสารลงไปปลาก็ขาดสิ่งที่เป็นประโยชน์ดังกล่าว

“เราต้องการให้ปลอดเชื้อจุลินทรีย์” ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคชี้แจง พร้อมเผยว่าเซรามิกดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของศูนย์และบริษัท โนะนามิ ไซเอ็นซ์ (ประเทศไทยจำกัด) จำกัด ขณะเดียวกันกำลังยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรผลงานดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ยังมีแผ่นฟิล์มพลาสติกเคลือบผิวด้วยไททาเนียมไดออกไซด์สำหรับประยุกต์ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ซึ่งช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผัก-ผลไม้สดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ซึ่งเป็นงานวิจัยต่อเนื่องจากโครงการหลังปริญญาเอกของนักวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้กำลังอยู่ระหว่างการขยายการผลิตจากห้องปฏิบัติการสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยบริษัทด้านบรรจุภัณฑ์อาหารในเมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่นได้ติดต่อเพื่อนำเทคโนโลยีไปผลิต

ส่วนผลงานสุดท้ายที่นาโนเทคนำมาเสนอ คือ อนุภาคนาโนในรูปแบบของไขมันชนิดแข็ง (solid lipid nanoparticles) สำหรับบรรจุสารออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ หรือ “แคปซูลนาโน” เพื่อผสมลงในเครื่องสำอาง โดยมีสารสกัดจากสมุนไพรหลายชนิดที่จะนำมาบรรจุ อาทิ สารแกมมา-ออร์ซานอล (gamma-oryzanol) ซึ่งได้จากน้ำมันรำข้าว สารออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากใบกะเพรา และสารอัลฟา-ไลโปอิค แอซิด (alpha-lipoic acid) จากดอกดาวเรือง เป็นต้น

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000124399

ตู้ปลาใส่กรวดนาโนสะอาดปิ๊งลดภาระล้างตะไคร่นานเป็นเดือน

ภารกิจที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดของนักเลี้ยงปลาสวยงามคือล้างตู้ปลา ขัดตะไคร่ ทีมวิจัยจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติจึงร่วมกับภาคเอกชนคิดค้นสารเคลือบช่วยตู้ปลาใสปิ๊งนานเป็นเดือนจากเดิมที่ต้องล้างทุกอาทิตย์

ดร.ณัฏฐพรพิมพะ นักวิจัยโครงการพัฒนาสารผสมไททาเนียมไดออกไซด์สำหรับเคลือบเซรามิกบำบัดน้ำในตู้ปลา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ทดลองนำสารไททาเนียมไดออกไซด์ ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียอี. โคไล มาเคลือบเม็ดเซรามิกใส่ตู้ปลาเพื่อลดตะไคร่น้ำและแบคทีเรีย

ทีมวิจัยเลือกใช้ปลาทองและปลาแดงเพื่อดูผลกระทบที่เกิดกับปลาเมื่อใส่เม็ดเซรามิกลงในตู้ปลาเนื่องจากปลาทองเป็นปลาที่ไวต่อปฏิกิริยาแปลกปลอม ส่วนปลาแดงมีความทนทานต่อทุกสภาพแวดล้อม

หลังจากเลี้ยงปลาทั้งสองชนิดในตู้ปลาแช่เม็ดเซรามิกเคลือบไททาเนียมนาน1 เดือนโดยไม่มีระบบกรองน้ำ มีเพียงเครื่องเติมออกซิเจนเพียงเครื่องเดียว ให้อาหารปกติ แสงแดดเท่ากัน อายุปลาเท่ากัน เปรียบเทียบกับระหว่างตู้ที่ใส่เซรามิกเคลือบสารและไม่เคลือบสาร

"ผลการทดลองพบว่า ตู้ที่ใส่เซรามิกที่เคลือบสารดังกล่าวหากพ่นในอัตราไม่เกิน 1% ต่อปริมาตรของเซรามิก จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอยู่รอดของปลา สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้กว่า 99% และยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำได้ แต่หากพ่นมากกว่า 1% อาจทำให้เป็นพิษจนเกล็ดปลาหลุดได้ นักวิจัย กล่าว

เมื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำวัดปริมาณออกซิเจนพบว่าน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่มีคุณภาพและสามารถยืดเวลาการทำความสะอาดจากสัปดาห์ละครั้งเป็นเดือนละครั้งได้ โดยอายุการใช้งานของสารเคลือบดังกล่าวหลังทดสอบไปแล้ว 1 เดือน ยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยที่สารไม่ละลายน้ำ

งานวิจัยดังกล่าวอยู่ระหว่างยื่นจดอนุสิทธิบัตรประเทศไทยโดยที่ผ่านมาได้นำเสนอผลงานวิชาการในเวทีประชุมวิชาการระดับประเทศและนานาชาติไปแล้ว ช่วงนี้อยู่ระหว่างการต่อยอดการวิจัยด้วยการนำสารที่พัฒนาได้ไปทดลองเคลือบอุปกรณ์ตกแต่งตู้ปลาชนิดอื่นๆ อาทิ ต้นไม้พลาสติก อุปกรณ์กรองน้ำ เพื่อดูประสิทธิภาพการยับยั้งแบคทีเรียและการยืดอายุน้ำในตู้ปลา และกำลังจะพัฒนาสูตร

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Thursday, October 18, 2007

ฝ่าทฤษฎี! "หลุมดำ" จากดาวฤกษ์ใหญ่สุดที่เคยพบ


สเปซด็อทคอม/เนชันแนลจีโอกราฟิก- ตามทฤษฎีแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ไม่เคยคำนวณมวลของหลุมดำได้มากกว่ามวลของดวงอาทิตย์ 10 เท่า หากหลุมดำนั้นเกิดจากดาวฤกษ์มวล 20 เท่าของดวงอาทิตย์ แต่ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์ได้พบหลุมดำในระบบดาวคู่ของกาแลกซีก้นหอยที่มีมวลถึง 16 เท่าของดวงอาทิตย์

ทีมนักดาราศาสตร์พบหลุมดำที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 16 เท่า โคจรรอบกลุ่มดาวภายในกาแลกซีก้นหอย (spiral galaxy) ชื่อ M33 ที่อยู่ห่างจากโลก 2.7 ล้านปีแสง และทำให้เกิดระบบดาวคู่ที่เรียกว่า M33 X-7 อีกทั้งยังเป็นหลุมดำไกลที่สุดเท่าที่เคยสังเกตด้วย โดยทีมวิจัยว่าดาวในระบบคู่ได้ผ่านหน้าหลุมดำและบดบังรังสีเอกซ์ที่หลุมดำปลดปล่อยออกมา

จากนั้นทีมวิจัยได้ที่รวบรวมจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทรารังสีเอกซ์ (Chandra X-Ray Observatory) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ และกล้องโทรทรรศน์เจมินินอร์ธ (Gemini North Telescope) บนยอดภูเขาไฟมัวนาเคียในฮาวาย สหรัฐฯ ไปคำนวณหามวลของหลุมดำ ซึ่งจากปรากฏการณ์เกิดคราสผ่านหน้าหลุมดำทำให้พวกเขาคำนวณได้แม่นมากขึ้น

"เรากำลังสับสนในการใช้ทฤษฎีมาตรฐานเพื่ออธิบายระบบนี้เพราะว่ามันเป็นหลุมดำที่ใหญ่มาก" เจโรม โอรอสซ์ (Jerome Orosz) สมาชิกในทีมวิจัยครั้งนี้จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานดิเอโก (University of California, San Diego) สหรัฐฯ กล่าว โดยพวกเขาจะได้ตีพิมพ์ผลงานลงวารสาร "เนเจอร์" (Nature) ฉบับวันที่ 17 ต.ค.นี้

ทีมนักดาราศาสตร์ประมาณว่าก่อนที่ดาวต้นกำเนิดของหลุมดำจะระเบิดนั้นต้องปลดปล่อยก๊าซออกมาในอัตราที่น้อยกว่าการคาดการณ์ของแบบจำลองประมาณ 10 เท่า และหากว่าดาวฤกษ์ขนาดใหญ่สูญเสียมวลเพียงน้อยนิดในระยะสุดท้ายของดวงดาวก็จะสามารถอธิบายถึงความสว่างของซูเปอร์โนวา "2006gy" ซึ่งเป็นซูเปอร์โนวาที่สว่างที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาได้ด้วย

ด้านเจฟฟรีย์ แม็คคลินท็อค (Jeffrey McClintock) จากศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์สมิธโซเนียนฮาร์วาร์ด (Harvard Smithsonian Center for Astrophysics) ในแคมบริดจ์ แมสสาชูเสตต์ กล่าวว่าในวันหนึ่งดาวในระบบ M33 X-7 จะหายไป ซึ่งจากการเป็นคู่กับหลุมดำที่มีขนาดใหญ่ในที่สุดดาวดวงนั้นก็เกิดระเบิดเป็นซูเปอร์โนวาและในสุดเราก็จะมีหลุมดำที่เป็นคู่

อย่างไรก็ดีแม้หลุมดำจากดาวฤกษ์นี้จะเป็นหลุมดำที่ใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ถึง 16 เท่า แต่หากเทียบกับหลุมดำซึ่งคาดอยู่ใจกลางกาแลกซีใหญ่ๆ กาแลกซีแล้วยังเล็กกว่ามาก ทั้งนี้คาดว่ามีหลุมดำที่มี "มวลยิ่งยวด" (Supermassive) ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ประมาณล้านถึงสิบล้านเท่า หากแต่มีกลไกในการเกิดที่แตกต่างไปจากหลุมดำที่เกิดจากดวงดาว

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000123737

"ไบโอดีเซลโฮมเมด" เปลี่ยนน้ำมันเหลือทิ้งในครัวเป็นเชื้อเพลิงให้รถ


บีบีซีนิวส์ - บ้านใครมีน้ำมันพืชเหลือใช้อย่าเพิ่งรีบทิ้ง เดี๋ยวนี้เขาอนุญาตให้ทำน้ำมันไบโอดีเซลใช้กับรถยนต์ของตัวเองกันได้แล้ว วิธีทำก็ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องเข้าปั๊มน้ำมันเหมือนอย่างแต่ก่อน แถมช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าไม่ให้พร่อง

ยุคน้ำมันแพงแบบนี้ใครๆ ก็เรียกหาพลังงานทดแทน และที่กำลังมาแรงคงหนีไม่พ้น "ไบโอดีเซล" ที่นักวิทยาศาสตร์และผู้มีไอเดียบรรเจิดทั้งหลายต่างพยายามค้นคว้าวิจัยเพื่อนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลที่กำลังจะเหลือน้อยลงทุกที

ล่าสุดกับข่าวคราว นักธุรกิจเจ้าของบริษัท สหัสวรรษไบโอดีเซลอินเตอร์เนชั่นแนล จ.อุบลราชธานี สามารถผลิตไบโอดีเซลที่ให้ประสิทธิเหมือนน้ำมันดีเซลทุกประการ และยังสามารถนำ “กลีเซอรีน” ซึ่งเป็นสารตกค้างในกระบวนการผลิตไบโอดีเซล นำกลับมาใช้ผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้เป็นรายแรกของโลก ทำให้ลดต้นทุนการผลิตน้ำมันชนิดนี้ลดลงกว่า 300% โดยเจ้าตัวจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว (อ่าน : นักธุรกิจอุบลฯเจ๋ง! คนแรกของโลก ค้นพบวิธีผลิต “ไบโอดีเซล 100%”)

ทางฟากอังกฤษก็ตื่นตัวเรื่องการผลิตเชื้อเพลิงใช้เองไม่แพ้กัน เพราะเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลแดนผู้ดีได้ออกกฏหมายอนุญาตให้คุณพ่อบ้าน-แม่บ้านสามารถผลิตไบโอดีเซลใช้กับรถยนต์ในครอบครัวได้มากถึง 2,500 ลิตร โดยไม่ต้องเสียภาษีใดๆ

เมื่อไขมันเหลือใช้สามารถเก็บไปแปลงเป็นพลังงานได้ หลายๆ บริษัทก็เริ่มหัวใสทำนเครื่องผลิตไบโอดีเซลออกมาจำหน่ายมากมายหลากหลายค่าย พร้อมแนะวิธีใช้ให้เสร็จสรรพ

ทั้งนี้ เรดิโอโฟร์ (Radio 4) ของสำนักข่าวบีบีซีจึงเสนอบทความแนะนำวิธีการผลิตน้ำมันใช้เองแบบง่ายๆ โดยยกตัวอย่างจากวิศวกรรายหนึ่งมาให้เป็นกรณีศึกษา

แดน เพอร์กิส (Dan Purkis) วิศวกรหนุ่มเมืองผู้ดีที่อาศัยอยู่ในเมืองที่ร่ำรวยน้ำมันเชื้อเพลิงของเกาะอังกฤษอย่างอเบอร์ดีน แต่เขากลับกระตือรือร้นที่จะผลิตไบโอดีเซลไว้ใช้เองกับรถโฟร์วีลของเขา

เพอร์กิสให้คำแนะนำว่า มันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากที่จะทำ และไม่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่พิเศษอะไรเลย ส่วนวัตถุดิบก็ล้วนเป็นของเหลือใช้แทบทั้งสิ้น ทั้งยังมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

"ผมใช้น้ำมันพืชที่ใช้แล้วจากโรงแรมในละแวกใกล้เคียง ที่แต่ละสัปดาห์จะมีน้ำมันพืชเหลือทิ้งประมาณ 50-100 ลิตร ซึ่งโดยปกติแล้วก็จะกลายเป็นสิ่งปนเปื้อนในดิน" เพอร์กิส เผย ซึ่งเขายังประดิษฐ์เครื่องทำไบโอดีเซลใช้เองด้วย แทนที่จะซื้อเครื่องมือสำเร็จรูปจากบริษัทที่ผลิตจำหน่ายในราคาเครื่องละ 700 ปอนด์ (ประมาณ 44,800 บาท)

เริ่มแรกนำน้ำมันพืชเหลือใช้นั้นมาตั้งทิ้งไว้ให้ตะกอนนอนก้น จากนั้นก็กรองเอาน้ำมันที่อยู่เหนือตะกอนประมาณ 70% ซึ่งบริสุทธิ์พอที่จะนำไปใช้กับรถยนต์ได้เลย ส่วนที่เหลืออีก 30% นำมาทำให้ใช้งานได้โดยการเติมเมธานอลและโซเดียมไฮดรอกไซด์หรือโซดาไฟ (NaOH) แล้วให้ความร้อนเพื่อให้สารทำปฏิกิริยากัน ซึ่งจะได้กลีเซอรีน

จากนั้นนำกลีเซอร์รีนไปชะเพื่อแยกให้ไบโอดีเซลออกจากสบู่ โดยใช้น้ำครึ่งหนึ่ง และจะได้เชื้อเพลิงออกมาครึ่งหนึ่ง

เพอร์กิสบอกว่า เมื่อนำไบโอดีเซลที่เขาผลิตเองไปใช้กับรถยนต์ ปรากฏว่าขับเคลื่อนได้ดียิ่งขึ้น ให้ความรู้สึกราบเรียบกว่าใช้น้ำมันหล่อลื่นเสียอีก และยังสามารถปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เพื่อให้รองรับกับน้ำมันไบโอดีเซลได้ด้วย

ทั้งนี้ เขายังบอกด้วยว่า ใครที่สนใจจะทำไบโอดีเซลไว้ใช้เองอย่างเขา ก็สามารถหาข้อมูลและคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการผลิตไบโอดีเซลได้ทั้งจากเว็บไซต์และหนังสืออีกมากมาย

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์ของเอเอ (AA) ได้ออกมาเตือนว่า การนำไบโอดีเซลจากน้ำมันเหลือใช้มาใช้กับรถยนต์อาจทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้ เพราะการเผาไหม้ของไบโอดีเซลนี้จะไม่สมบูรณ์เหมือนอย่างดีเซลหรือเบนซินปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดเขม่าตกค้างในเครื่องยนต์ อีกทั้งเครื่องยนต์ดีเซลบางชนิดก็ค่อนบ้างบอบบาง ส่งผลให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นหากจะใช้ไบโอดีเซลจริงๆก็ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของบริษัทผลิตรถยนต์ต้นสังกัด

นอกจากนี้ทางสมาคมผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ในอังกฤษยังให้คำแนะนำด้วยว่า หากจะผลิตไบโอดีเซลใช้เองต้องระมัดระวังให้มากเป็นพิเศษ เพราะกระบวนการผลิตอาจก่อให้เกิดสารเคมีที่ไม่พึงประสงค์และจัดการได้ยาก และสำหรับผู้ที่เพิ่งซื้อรถยนต์คันใหม่ก็ต้องแน่ใจด้วยว่าบริษัทที่จัดจำหน่ายหรือบริษัทประกันยินยอมให้ใช้ไบโอดีเซลได้ เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000123706

ฮอนด้าไทยสู้วิกฤติพลังงานเปลี่ยนเถ้าขยะเป็นเงิน-ใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์

อิฐบล็อกจากเถ้าแกลบและก๊อกน้ำรุ่นประหยัดน้ำสิ่งประดิษฐ์รับมือวิกฤติพลังงานจากพนักงานฮอนด้าในไทย ช่วยบริษัทลดภาระค่าฝังกลบขยะ และประหยัดค่าประปาได้ 90%

ขณะที่ศาลาพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์รุ่นประหยัด ผลิตไฟฟ้าป้อนอาคารสำนักงานในนิคมฯ ลาดกระบัง

ชัชชัยสมบุญสำราญ ผู้จัดการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรมโรงงาน บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพฯ กล่าวว่า ไทยฮอนด้าประสบความสำเร็จในการพัฒนา "อิฐบล็อก" จากเถาแกลบผสมปูนซีเมนต์ในรูปแบบของอิฐบล็อกปูพื้นถนนและอิฐก่อสร้าง โดยแข็งแรงทัดเทียมกับอิฐที่ขายในตลาด ถือเป็นการใช้ประโยชน์จากของเสียแทนการฝังกลบ

ขยะจากโรงงานมีปริมาณสูงถึงเดือนละ1 ตัน เมื่อเผาในเตาเผาใต้ดินซึ่งอุณหภูมิเผาไหม้ 850-1,400 องศาเซลเซียส สามารถกำจัดสารพิษที่ปนเปื้อนในขยะได้ทั้งหมด ทำให้เถ้าแกลบที่ออกมามีความบริสุทธิ์และสามารถใช้ประโยชน์

การนำเถ้าแกลบมาทำเป็นอิฐบล็อกช่วยลดปริมาณขยะที่เดิมกำจัดด้วยวิธีฝังกลบได้กว่า 90% ส่วนที่เหลืออีก10% เป็นขยะพิษที่ยังไม่มีเทคโนโลยีกำจัดที่ดีพอเช่น หลอดไฟถ่าน ฟิวเตอร์ ที่ต้องหลีกเลี่ยงการนำกลับมาใช้ประโยชน์ ชัชชัยกล่าว

วรุณแสงสุริยาโชติ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยฮอนด้าฯ กล่าวว่า ไทยฮอนด้าให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2542 โดยกำหนดเป็นนโยบายที่จะลดใช้พลังงาน ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต โดยตั้งเป้าลดใช้พลังงานให้ได้ 44% ในปี 2553 จากพลังงานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งเชื้อเพลิง ไฟฟ้า น้ำประปา รวมถึงขยะ

ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้มีการประดิษฐ์คิดค้นและเกิดเป็น "นวัตกรรมพลังงาน" หลายรูปแบบ เช่น อิฐบล็อกจากเถ้าแกลบ ศาลาพลังงานแสงอาทิตย์อัจฉริยะ ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าส่องสว่างและป้อนระบบทำความเย็นในอาคาร

สำหรับศาลาพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แทนหลังคาแผงนี้ได้รับการพัฒนาให้มีขนาดบางเพียง 4 ไมครอน ด้วยเทคโนโลยีการเคลือบแบบฟิล์มบาง จากเดิมผลิตด้วยผลึกซิลิคอนที่หนา 200 ไมครอน ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง ขณะที่ประสิทธิภาพไม่ต่างกัน

บริษัทฮอนด้า โซลเทค ประเทศญี่ปุ่น พัฒนาโซลาร์เซลล์ชนิดบางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายเพื่อให้ติดตั้งได้บนหลังคา สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ในครัวเรือน และราคาจะถูกกว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่มีใช้ในปัจจุบัน" วรุณ กล่าว

นอกจากนี้ยังมีก๊อกน้ำประหยัดพลังงานสิ่งประดิษฐ์ของพนักงานฮอนด้าไทยที่ประยุกต์ใช้ยางอเนกประสงค์ในการลดแรงดันน้ำ ที่ไหลออกจากก๊อกให้เบาลง จึงช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 90% ปัจจุบันมีการพัฒนาก๊อกประหยัดน้ำในรูปแบบใหม่ๆเพื่อวัดปริมาณการใช้น้ำที่ลดลงด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

เจ้าพระยา ชีวิตบนแผ่นฟิล์ม


เจ้าพระยา สายเลือดของชีวิตลุ่มน้ำภาคกลางถูกคัดเลือกให้เป็นนักแสดงนำของภาพยนตร์สารคดีวิทยาศาสตร์เรื่องใหม่ของเนชั่นทีวี สายน้ำที่คนไทยยกย่องเรียก 'แม่' ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และอารยธรรม จะมาบอกเรื่องราวของเธออีกครั้ง จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา ถ่ายทอด

เมื่อลำน้ำสายสำคัญของคนไทยกำลังตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลง เจ้าพระยากำลังสิ้นใจ แล้วคนไทยจะอยู่ได้อย่างไร คำถามนี้ผุดขึ้นในหัวของ ชวลิต เผ่าผม หนึ่งในทีมผลิตภาพยนตร์เจ้าพระยา จากเนชั่นทีวี

ชวลิตเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่มากด้วยประสบการณ์ เขาได้พิสูจน์ฝีมือกับการรับหน้าที่เขียนบทรายการสารคดีเชิงข่าวอย่างจุดชนวนความคิด และฝากฝีมือไว้กับสารคดีเชิงสิ่งแวดล้อมอย่าง โลกร้อน และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

แม้จะเป็นคนลุ่มน้ำเจ้าพระยามาแต่กำเนิด แต่การร้อยเรียงชีวิตและเรื่องราวของสายน้ำที่ยอมรับกันว่าเป็นสายโลหิตของคนภาคกลางไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

เจ้าพระยาเป็นสายน้ำที่มิติทางประวัติศาสตร์ อารยธรรม วัฒนธรรมและสังคม เช่นเดียวกับแม่น้ำเทมส์ แม่น้ำดานูบ ไทกริส-ยูเฟรติส และไนล์

ในอดีต ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีญี่ปุ่นทีมเดียวกับที่เคยทำภาพยนตร์สารคดีชุด 'เส้นทางสายไหม' เคยบุกตะลุยขึ้นไปถึงทิเบตเพื่อสืบเสาะหาแหล่งกำเนิดของ 'ฮวงโห สายเลือดสำคัญของอารยธรรมและสังคมจีน'

เช่นเดียวกัน การบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าพระยา จึงเปรียบเสมือนนำชีวิตของคน 'หลายรุ่น' และ 'หลายชีวิต' มาปรากฏบนแผ่นฟิล์ม แต่สิ่งที่ท้าทายกว่านั้นคือ การสะท้อนชีวิตของเจ้าพระยาในมิติทางวิทยาศาสตร์

ชวลิต เล่าว่า เรื่องราวทั้งหมดได้ถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม โดยทีมงานใช้เวลาเกือบ 2 ปี โดยวางโครงเรื่อง หาข้อมูล และบุกป่าฝ่าดง ลงพื้นที่สำรวจต้นน้ำทั้ง 4 สายที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ ปิง วัง ยม น่าน

"โดยหลักแล้ว การนำเสนอเนื้อหาที่คาบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ถือว่าค่อนข้างยาก การผลิตภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ให้สมบูรณ์ จำเป็นต้องใช้เวลาและเงินทุนมาก หากเทียบกับสารคดีวิทยาศาสตร์ระดับมืออาชีพจริงๆ อย่างเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ทุกอย่างคือการลงทุน ใช้เวลาถ่ายทำนานหลายปี เพื่อให้ได้ภาพตรงตามที่ต้องการ" เจ้าของผลงาน กล่าว

ก่อนหน้านี้ทีมผลิตภาพยนตร์จากเนชั่นทีวี ได้ฝากผลงานหนังวิทยาศาสตร์ เรื่อง 'สึนามิ ความรู้เพื่อความหวัง' ซึ่งเข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 2 ในปี 2549 โดยในปีนี้ 'เจ้าพระยา' (The Chao Phraya) ได้รับให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวที่เข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 3 ร่วมกับภาพยนตร์อีก 26 เรื่อง จาก 12 ประเทศ

'เจ้าพระยา' ภาพยนตร์ความยาว 40 นาที คือภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของคนไทย ที่ได้หยิบยกเอากรณีตัวอย่างของแม่น้ำสายเลือดใหญ่ของคนไทย มาสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติของสิ่งแวดล้อมในเชิงวิทยาศาสตร์ ด้วยทุนสร้าง 1 ล้านบาท ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

"เราแค่ต้องการพิสูจน์ว่าคนไทยก็สามารถทำหนังสารคดีวิทยาศาสตร์ที่คนจำนวนมากให้ความสนใจได้เช่นกัน โดยในอนาคตเราอาจจะผลิตรายการอย่างเมก้าเคลฟเวอร์ หรือสารคดีวิทยาศาสตร์ได้เอง หากมีเงินทุนสนับสนุน และเวลาในการผลิตผลงาน" ชวลิตกล่าว
มนธิดา สีตะธนี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) จากสวทช. บอกว่า ที่ผ่านมา สวทช. ได้นำเข้ารายการทีวีที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ อย่าง 'เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาด สุด .. สุด'

หรือรายการสั้นที่นำเสนอนวัตกรรมและวิทยาการใหม่ อย่าง 'บียอนทูมอโรว์' ตลอดจนให้ทุนสนับสนุนมืออาชีพให้สร้างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เช่น 'สึนามิ ความรู้เพื่อความหวัง' 'สายไหม วิถีชีวิตไทย สู่สากล' แอนิเมชันเรื่อง The moon 'ดวงจันทร์ มากกว่า 140 ดวง' มาจนถึง 'เจ้าพระยา'

"เจ้าพระยา นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ การเปลี่ยนแปลงของสายน้ำที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต ผ่านทางภาพยนตร์ ซึ่งมีส่วนจะช่วยสร้างสิ่งที่มองไม่เห็น สิ่งที่เป็นนามธรรม ให้เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และสร้างให้เกิดความเข้าใจได้มากขึ้น" ตัวแทนผู้ให้ทุนกล่าวและว่า การสนับสนุนงบประมาณเพื่อผลิตภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ของคนไทยที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด เป็นอีกหนึ่งความหวังในการสร้างแรงจูงใจให้มืออาชีพหันมาผลิตภาพยนตร์วิทยาศาสตร์มากขึ้น

เหตุผลที่หนังวิทยาศาสตร์พันธุ์แท้ ยังไม่โดดเด่นจนได้ปรากฏโฉมบนแผ่นฟิล์มหรือจอแก้ว เหมือนกับหนังไซไฟ ที่ผสานระหว่างหลักวิทยาศาสตร์บวกกับจินตนาการบรรเจิดของผู้เขียนบท ที่ถึงแม้บางช่วงบางตอนของหนัง จะปนเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนไปบ้าง
แต่คนดูก็ยอมที่จะควักกระเป๋าตีตั๋วเข้าชม ไม่ว่าจะผลิตออกมากี่ครั้งกี่ตอน ทั้งการเดินทางในอวกาศอย่างสตาร์วอร์ส โคลนนิ่ง โรบอท กระทั่งล่าสุดกับผีชีวะ ที่ลอยลำขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศเพียงสัปดาห์แรกที่ออกฉาย

กระแสตอบรับภาพยนตร์แนวไซไฟ หรือแนววิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ผู้ผลิตหนังทั่วโลกพร้อมที่จะทุ่มทุนมหาศาลเพื่อสร้างหนังวิทยาศาสตร์ดีๆ สักเรื่องมาเอาใจคนดู

ความสนใจดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตหนังรายย่อยเริ่มหันมาผลิตสารคดีวิทยาศาสตร์ เป็นทางเลือกให้คนดูจอแก้ว ซึ่งผลตอบออกมาค่อนข้างดี แม้ในประเทศไทยรายการทีวีที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ก็ฮอตฮิตติดลมบน ไม่ว่าจะเป็นสารคดีส่องโลก แดนสนธยา หรือแม้แต่เกมโชว์ ฉลาด สุด .. สุด กับเมก้าเคลฟเวอร์ที่แม้จะลาจอไปแล้ว ก็ยังกลับมารีรันให้ได้ชมกันอีกครั้ง

อาจณา เซาเรอร์ ผู้จัดการโครงการเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ จากสถาบันเกอเธ่ บอกว่า ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าโปรแกรมรายการทีวีในปัจจุบันเริ่มสอดแทรกรายการที่มีเนื้อหาสาระทางวิทยาศาสตร์ให้เห็นมากขึ้น ซึ่งกระแสตอบรับจากจำนวนผู้ชมเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ผู้จัด เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับรายการแนวนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามรายการวิทยาศาสตร์ที่นำมาฉายในทีวีส่วนใหญ่ จะเป็นสารคดี เกมโชว์ รายการความรู้เชิงทดลองสั้นๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ รายการที่เป็นของคนไทยจริงๆ แทบจะไม่มีให้เห็นเลย ซึ่งการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตภาพยนตร์มืออาชีพในประเทศไทย ได้มองเห็นถึงอีกช่องทางหนึ่งในการทำภาพยนตร์

"ที่ผ่านมาทีมงานได้เปิดโอกาสให้ผู้กำกับหนังได้เข้ามามีส่วนในการคัดเลือกหนังวิทยาศาสตร์จากหลากหลายประเทศ เป็น 100 เรื่อง ก่อนเข้าฉายในวันจริง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการจุดประกายให้ผู้กำกับหนังไทยได้เห็นแนวทางของการผลิตภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ของประเทศต่างๆ และเริ่มมีความคิดที่จะทำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ขึ้นเองบ้าง" อาจณา กล่าว

ในปีแรกของงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ หนังวิทย์จากประเทศไทยที่ส่งเข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นหนังที่ส่งมาจากหน่วยงานราชการ ในลักษณะหนังสั้นๆ ที่อธิบายถึงลักษณะงานขององค์กรมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ปะปนอยู่ ทำให้หนังวิทย์จากประเทศไทยไม่มีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับหนังจากต่างประเทศ

"ปัจจุบันหน่วยงานรัฐเองเริ่มให้ความสนใจที่จะผลิตหนังวิทยาศาสตร์ที่มีรูปแบบของภาพยนตร์จริงๆ มากขึ้น ซึ่งการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เป็นเวทีในการนำเสนอผลงาน ตลอดจนกระตุ้นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และสร้างจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ภายนอกห้องเรียน ให้เยาวชนเกิดความรู้และความเข้าใจเนื้อหาวิทยาศาสตร์มากกว่าในหนังสือ เพราะเอาเข้าจริงแล้วโอกาสที่เยาวชนจะได้ชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์นั้นมีอยู่ไม่มาก" ผู้จัดการโครงการเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ กล่าว

เดือนพฤศจิกายนนี้เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จะเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง ในปีที่ 3 ซึ่งกลายเป็นเทศกาลประจำปีที่คนดูภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทั้งไทยและเทศเฝ้ารอ หากพิจารณาจากรายชื่อหนังที่นำมาฉายแล้วไม่ต่างจาก World Film Festival ที่ส่งตรงมาจากต่างประเทศ

แต่ที่แสดงความต่างน่าจะเป็นอายุผู้ชมที่น้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในชุดนักเรียนทั้งประถมและมัธยม เรียกว่าอ่าน Subtitle ยังไม่ค่อยจะทัน แต่ก็แห่มาดูกันแบบแน่นขนัด จนโรงหนังแทบไม่มีอากาศหายใจ

กลางเดือนกรกฎาคม ท้องฟ้าจำลองรังสิตคึกคักขึ้นทันตา เมื่อนักวิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน ผู้จัดรายการโทรทัศน์ และผู้กำกับศิลป์ ราว 20 คนมาพร้อมกันเพื่อนั่งพิจารณาภาพยนตร์วิทยาศาสตร์กว่า 100 เรื่อง จาก 12 ประเทศ ที่ส่งเข้าร่วมในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ครั้งนี้

เวลาผ่านไป 20 ชั่วโมง เมื่อหนังเรื่องสุดท้ายปิดฉาก เราได้รายชื่อภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ 57 เรื่องที่เข้าฉาย และอีก 26 เรื่องสำหรับเข้าชิง 6 รางวัลจากงานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์จากเยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรีย อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม รวมทั้ง "เจ้าพระยา" ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทยด้วย

ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) บอกว่า จุดเด่นของภาพยนตร์ที่ผ่านเข้ารอบให้ฉายในเทศกาลครั้งนี้ คือการแสดงให้เห็นถึงความพยายามและความสามารถในการที่จะสื่อสารสาระและองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้รูปแบบที่เหมาะสม และใช้ศิลปะการถ่ายทำหรือการสร้างระดับสูงที่ช่วยให้เราเข้าใจได้ง่าย และชวนให้ดูสนุกน่าติดตาม

ในส่วนของรางวัลได้แบ่งย่อยออกเป็น รางวัลภาพยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา รางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไบเออร์ เกี่ยวกับสุขภาพ จากผู้สนับสนุนหลัก รางวัลภาพยนตร์สื่อวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม และรางวัลพิเศษจากคณะกรรมการ โดยผู้ชนะเลิศแต่ละรางวัลจะได้รับโล่ ประกาศนียบัตร พร้อมเงินรางวัล 500 ยูโร

"กิจกรรมการประกวดจะช่วยกระตุ้นให้คนทำหนังได้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเป็นรางวัลที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมฉายในเทศกาลนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่มาจากต่างประเทศ ทั้งนักผลิตภาพยนตร์อิสระ ไปจนถึงมืออาชีพ" ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว

หลังจากที่ได้ภาพยนตร์ทั้ง 57 เรื่อง ถูกจัดเป็นหมวดหมู่ตามความเหมาะสมของเนื้อหาและสถานที่ฉาย สำหรับเด็กอนุบาล ประถม และมัธยม แบ่งเนื้อหาออกเป็นสาระบันเทิงเพื่อครอบครัว ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี ตลอดจนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ทั้งที่เกี่ยวกับชีววิทยา เคมี โลก และอวกาศ

ทุกเรื่องที่เข้าฉายจะต้องผ่านขั้นตอนการลงเสียงพากย์ภาษาไทย เพื่อเพิ่มอรรถรสการรับชมสำหรับเด็ก โดยปีนี้ สวทช. ได้สนับสนุนทุนให้กับสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ทำหน้าที่แปลภาษาและให้เสียงพากย์ภาษาไทย ทีมพากย์กว่า 10 ชีวิต ใช้เวลาตลอด 6 เดือนแฝงตัวอยู่ในสตูดิโอ 3 แห่ง เพื่อลงเสียงให้กับภาพยนตร์ทั้ง 57 เรื่อง ให้มีความสมจริงโดยไม่ต้องอาศัย Subtitle โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมเทศกาลหนังวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ประมาณ 20,000 คน

ปีนี้มีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ตัวแทนประเทศไทยทั้ง 2 เรื่อง ที่ได้รับเลือกเข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ ได้แก่เรื่อง 'มหัศจรรย์บนใบบัว : ธรรมชาติสู่อนาคต' ผลิตโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ 'เจ้าพระยา' จากทุนสร้างของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลิตโดย 'เนชั่นแชนแนล'

ส่วนภาพยนตร์จากประเทศอื่นๆ ที่ร่วมฉาย เช่น 'ไบโอนิค' ซึ่งเกี่ยวกับการเรียนรู้จากธรรมชาติแบบใหม่ จากประเทศเยอรมนี และ 'มด พลังลึกลับจากธรรมชาติ' จากประเทศออสเตรเลีย รวมถึง 'แมวกับสุนัข ใครฉลาดกว่ากัน' 'ชีววิทยาของตัวตุ่น' 'วิทยาการธรรมชาติไบโอนิค' 'รถด่วนขบวนนักทดลอง' ชีวิตของจอมปลวกที่ต้องผจญกับภัยธรรมชาติ ใน 'ปราการที่ถูกล้อม'

ผู้สนใจสามารถคลิกดูรายชื่อหนัง เวลา และสถานที่จัดฉายได้ในเวบไซต์ www.goethe.de/sciencefilmfestival สำหรับวางแผนเตรียมตัวก่อนเข้าชม วันที่ 13-23 พฤศจิกายน นี้ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร และอุทยานการเรียนรู้ ทีเค ปาร์ค

แอบกระซิบบอกว่ารอบหนึ่งรับได้ไม่เกิน 240 ที่นั่ง คงต้องรีบไปจับจองพื้นที่กันก่อนเวลา เพราะถ้าพลาดปีนี้เห็นทีต้องรอไปถึงปีหน้า หนังดีๆ ไม่ได้มีมาให้ดูกันบ่อยๆ

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/10/18/WW06_WW06_news.php?newsid=193326

ไอบีเอ็มโชว์กายวิภาคสามมิติ-แพทย์คลิกดูไฟล์ชิ้นเนื้อผิดปกติได้ทันที

ไอบีเอ็มเปิดตัวต้นแบบซอฟต์แวร์กายวิภาคสามมิติแสดงภาพเส้นเลือดและอวัยวะภายในอย่างชัดเจน เผยแพทย์คลิกเมาส์เรียกอ่านประวัติการรักษาของผู้ป่วยได้ครบถ้วนและเข้าใจง่าย ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อความและภาพเอกซเรย์

นายอองเดรเอลิสซีฟ นักวิจัยของไอบีเอ็ม ผู้มีหน้าที่ดูแลโครงการด้านสุขภาพประจำห้องปฏิบัติการวิจัยซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยของไอบีเอ็ม พัฒนาซอฟต์แวร์กายวิภาคสามมิติ แสดงภาพอวัยวะภายในของมนุษย์ เพื่อให้แพทย์ตรวจดูข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยได้ จากการคลิกเมาส์คอมพิวเตอร์บนอวัยวะสามมิติดังกล่าว

"ซอฟต์แวร์นี้เสมือนเป็นกูเกิลเอิร์ธ (Google Earth) สำหรับร่างกายคนเรา" นายเอลิสซีฟ กล่าว

ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดหลัง แพทย์จะสอบถามประวัติการรักษา ทำการทดสอบ วิเคราะห์วินิจฉัยอาการด้วยการดูและตรวจร่างกาย จากนั้นแพทย์จะสืบค้นข้อมูลประวัติการรักษาเดิมจากกองเอกสารจำนวนมาก และโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่พบ หรือพบข้อมูลแต่ไม่ทั้งหมด ทำให้ไม่ทราบถึงอาการเจ็บป่วยคล้ายคลึงกันที่เคยเกิดขึ้น

แต่ในห้องปฏิบัติการวิจัยด้านสุขภาพที่ซูริคแพทย์จะ คลิก ภาพสามมิติที่แสดงแทนร่างกายมนุษย์เพื่ออ่านไฟล์ข้อมูลประวัติการรักษาทั้งหมดที่มีอยู่ รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังของผู้ป่วยได้ในทันที ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลที่เป็นข้อความ ผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ และภาพถ่ายทางการแพทย์ เช่น ภาพถ่ายเอกซ์เรย์ ภาพจากการตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

หรือหากแพทย์สนใจข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังเฉพาะชิ้นใดชิ้นหนึ่งในกรณีนี้ก็สามารถคลิกขยายภาพกระดูกชิ้นเป้าหมายขึ้นมาตรวจดู

ในการพัฒนาซอฟต์แวร์จำลองสามมิตินี้ไอบีเอ็มอาศัยเทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักรกลชั้นสูง และการสร้างโมเดลสามมิติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล่าสุด ในการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน และข้อมูลแบบข้อความที่ซับซ้อน หรือที่เรียกว่าข้อมูลที่ไม่มีการจัดโครงสร้าง พร้อมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านั้นเข้ากับโมเดลเชิงกายวิภาค ในรูปแบบที่สื่อความหมายและเข้าถึงได้ง่าย

นอกจากนี้ซอฟต์แวร์กายวิภาคยังใช้ SNOMED ซึ่งเป็นระบบกำหนดชื่อทางการแพทย์ ประกอบด้วยคำศัพท์ทางการแพทย์ประมาณ 3 แสนคำ เพื่อเชื่อมโยงส่วนที่เป็นภาพและส่วนที่เป็นเอกสารข้อความเข้าด้วยกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, October 16, 2007

โลกยกย่องอัจฉริยะ นักวิทย์โนเบล2007


สัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมการพิจารณารางวัลโนเบลแต่ละสาขา ได้ประกาศรายชื่อนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติ

ให้ทราบกันถ้วนทั่วแล้ว ชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ทุกวันนี้ล้วนมาจากการอุทิศตนทำงานของนักวิทยาศาสตร์โลกเหล่านี้
เจ้าแห่งเทคนิคตัดต่อยีน

อันดับแรกเปิดตัวด้วยรางวัลโนเบลสาขาสรีระศาสตร์ หรือการแพทย์ ปีนี้มีนักวิทยาศาสตร์ 3 คน ร่วมกันครองรางวัล ได้แก่ มาริโออาร์. คาเพกซี ศาสตราจารย์ด้านพันธุกรรมมนุษย์จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยยูทาห์ โอลิเวอร์สมิธีส์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาและ มาร์ตินเจ.อีแวนส์ จากมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์อังกฤษ จากผลงานค้นพบที่สำคัญเกี่ยวข้องกับเซลล์ต้นกำเนิดจากตัวอ่อน และเทคนิคตัดต่อดีเอ็นเอในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

การค้นพบเหล่านี้ทำให้เกิดเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สำคัญเช่น การค้นหายีนเป้าหมายในหนูเทคโนโลยีที่นำมาใช้งานแพร่หลายด้านเวชชีวศาสตร์หลายสาขาตั้งแต่งานวิจัยไปจนถึงการพัฒนาวิธีการรักษาแบบใหม่

การค้นหายีนเป้าหมายมักถูกใช้เพื่อปิดการทำงานของยีนตัวใดตัวหนึ่ง เทคนิคดังกล่าวช่วยให้นักวิจัยเข้าใจบทบาทการทำงานของยีนหลายตัวช่วงที่ตัวอ่อนกำลังเติบโต ช่วยให้เข้าใจสรีระวิทยาในตัวเต็มวัย กลไกความชรา และโรค

ปัจจุบันยีนหนูมากกว่า 1 หมื่นยีนผ่านการทดลองปิดการทำงานด้วยเทคนิคนี้ (ครึ่งหนึ่งเป็นยีนที่พบร่วมกันในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพยายามศึกษาการทำงานของยีนโดยวิธีปิดการทำงานของยีนให้ครบทุกตัว

ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาและการทำงานของร่างกายมนุษย์ตลอดชั่วชีวิตถูกเก็บอยู่ในดีเอ็นเอ และดีเอ็นเอที่ว่านี้จะบรรจุอยู่ในโครโมโซมอีกที โครโมโซมจะอยู่เป็นคู่เสมอ มีรูปร่างคล้ายกับคู่ปาท่องโก๋ ลูกจะได้รับโครโมโซมชุดหนึ่งจากพ่อและอีกชุดจากแม่ โครโมโซมทั้งสองชุดจะแลกเปลี่ยนกันนับตั้งแต่ตัวอ่อนของทารกเริ่มต้นพัฒนา เหตุผลนี้เองทำให้มนุษย์แต่ละคนมีพันธุกรรมบางส่วนที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเอง

มาริโอและ สมิธีส์ พบว่า กระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลดีเอ็นเอสามารถนำมาใช้ดัดแปลงยีนเป้าหมายในเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และทำการศึกษาเทคนิคการดัดแปลงยีนอย่างต่อเนื่องจนบรรลุเป้าหมาย

ความก้าวหน้าในเทคนิคค้นหายีนเป้าหมายช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถดัดแปลงดีเอ็นเอในคลังพันธุกรรมของหนูได้เกือบทุกแบบจนรู้ถึงบทบาทการทำงานของยีนทั้งช่วงร่างกายปกติและเป็นโรค และผลิตหนูตัดต่อยีนศึกษาโรคคนกว่า 500 ชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคประสาทเสื่อม เบาหวาน และมะเร็ง

กำเนิดฮาร์ดดิสก์จิ๋ว

รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปีนี้ ราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน มอบให้นักวิทยาศาสตร์สองคนที่ค้นพบเทคนิคสำคัญย่อฮาร์ดดิสก์ให้เล็กลงแต่จุข้อมูลได้มหาศาล สร้างคุณูปการแก่วงการคอมพิวเตอร์

อัลแบรต์แฟร์ นักฟิสิกส์ฝรั่งเศส และ ปีเตอร์กรุนเบิร์ก ชาวเยอรมันได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2550 จากการค้นพบปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่เรียกว่า "ไจแอนท์ แมกเนโตรีซิสแทนต์" หรือจีเอ็มอาร์ ช่วยปฏิวัติเทคนิคการดึงข้อมูลดิจิทัลจำนวนมากๆ บนฮาร์ดดิสก์มาใช้ได้ง่าย และเร็วขึ้น ทั้งยังเป็นเทคนิคอันดับต้นๆ ที่ใช้ในงานด้านนาโนเทคโนโลยี

นับตั้งแต่คอมพิวเตอร์เริ่มเก็บบันทึกข้อมูลลงบนฮาร์ดดิสก์พัฒนาการของฮาร์ดดิสก์รุ่นใหม่นอกจากมีขนาดเล็กลงแล้ว ยังบรรจุข้อมูลได้มากมายมหาศาลกว่าฮาร์ดดิสก์รุ่นเก่าหลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็น ฮาร์ดดิสก์ขนาด 2.5 นิ้ว ในคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป หรือฮาร์ดดิสก์จิ๋วในเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ขณะที่ฮาร์ดดิสก์ความจุระดับเทราไบต์ (พันพันล้านไบต์) เป็นวิวัฒนาการล่าสุดที่พัฒนามาให้ใช้งานในบ้าน
ข้อมูลในฮาร์ดดิสก์จัดเก็บกระจายอยู่บนแผ่นแม่เหล็กทิศทางการวางข้อมูลดิจิทัลลงบนแผ่นแม่เหล็ก จำเป็นต้องสอดคล้องกันระหว่างตำแหน่งของตัวเลขฐานสองคือ "ศูนย์" และ "หนึ่ง" อย่างแม่นยำ การเรียกข้อมูลตัวเลขฐานสอง หรือดิจิทัลบนแผ่นแม่เหล็ก มาประมวลผลต้องใช้หัวอ่านฮาร์ดดิสก์สแกนไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วแผ่นแม่เหล็ก

เมื่อฮาร์ดดิสก์ขนาดเล็กลงพื้นที่บนแผ่นแม่เหล็กจึงเล็กลงด้วย เท่ากับว่า สนามแม่เหล็กของข้อมูลดิจิทัลแต่ละตัว ยิ่งมีกำลังอ่อนลงและอ่านยากลำบากขึ้น ยิ่งข้อมูลอัดกันแน่นมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องการเทคนิคการอ่านข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น

นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ90 เป็นต้นมา มีเทคนิคใหม่ถูกพัฒนามาใช้เป็นมาตรฐานสำหรับหัวอ่านฮาร์ดดิสก์ การคิดค้นวิธีดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของฮาร์ดดิสก์ที่เล็กลง แต่จุข้อมูลมากขึ้น ดังเห็นได้จาก 2-3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีการอ่านข้อมูลบนฮาร์ดดิสก์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เป็นผลมาจากการศึกษาผลกระทบเชิงฟิสิกส์ ซึ่งเจ้าของรางวัลโนเบลปีนี้ได้สังเกตเห็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
แม้ว่าแฟร์ และ กรุนเบิร์ก ต่างแยกกันศึกษาเทคนิค แต่ได้ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า "ไจแอนท์ แมกเนโตรีซิสแทนต์" หรือ จีเอ็มอาร์ พร้อมกัน และยังเป็นเทคนิคที่นิยมนำไปใช้งานด้านนาโนเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน

ปุ๋ยไนโตรเจนคว้าโนเบลเคมี

สำหรับรางวัลโนเบลสาขาเคมีราชบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน มอบให้ เกอร์ฮาร์ดเอิร์ทล์ ชาวเยอรมันจากงานศึกษาค้นคว้าด้านเคมีพื้นผิว ศาสตร์ที่ช่วยให้เข้าใจกระบวนการทางเคมีมากมาย เช่น การเกิดสนิมเหล็ก การทำงานของเซลล์เชื้อเพลิง และตัวกำจัดไอเสียของรถยนต์

การศึกษาปฏิกิริยาเคมีพื้นผิวมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมหลายประเภทเช่น การผลิตปุ๋ยเคมี เคมีพื้นผิวสามารถอธิบายได้แม้กระทั่งการทำลายชั้นโอโซน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดบนพื้นผิวของผลึกน้ำแข็งขนาดเล็กในชั้นสตราโทสเฟียร์ และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทหนึ่งที่พึ่งความรู้ด้านเคมีพื้นผิวเช่นกัน

วิทยาศาสตร์สาขาเคมีพื้นผิวเริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เมื่อ40 ปีที่แล้ว เอิร์ทล์ เป็นนักเคมีคนแรกที่สังเกตเห็นศักยภาพของสาขานี้ เขาได้พัฒนาวิธีการใหม่สำหรับเคมีพื้นผิวออกมามากมาย และนำมาใช้ทดลองให้เห็นภาพอย่างชัดเจนถึงปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดกับพื้นผิวของวัตถุ

ศาสตร์ดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เครื่องมือสุญญากาศที่ทันสมัยเพื่อสังเกตพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละชั้นของอะตอมและโมเลกุลบนพื้นผิวโลหะบริสุทธิ์ ทั้งยังสามารถนำมาใช้ทำนายได้อย่างแม่นยำว่าธาตุตัวไหนเข้าได้กับระบบ

อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือการปนเปื้อนอาจเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอนการวัด หากต้องการเข้าใจภาพรวมของปฏิกิริยาได้ชัดเจน จำเป็นต้องอาศัยเทคนิคทดลองที่แม่นยำ และผสมผสานกันหลายเทคนิค

เอิร์ทล์ได้ดำเนินการวิจัยอย่างอุตสาหะ ความเข้าใจในศาสตร์ด้านเคมีพื้นผิวสมัยใหม่ที่ศึกษาถูกประยุกต์มาใช้ในงานวิจัยเชิงวิชาการ และการพัฒนากระบวนการเคมีในภาคอุตสาหกรรม กระบวนการฮาเบอร์-โบส ที่เอิร์ทล์พัฒนาถูกนำไปใช้แยกไนโตรเจนออกจากอากาศ เพื่อใช้ในปุ๋ยเคมี

ปฏิกิริยาดังกล่าวมีคุณูปการอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจเนื่องจากไนโตรเจนสำหรับใส่เป็นปุ๋ยให้พืชมักขาดแคลน เอิร์ทล์ ยังได้ศึกษาปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของคาร์บอนมอนอกไซด์บนแผ่นแพลทินัม ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในตัวแคตะไลต์ที่ใช้กำจัดไอเสียในรถยนต์

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Thursday, October 11, 2007

จมูกไฮเทคจำกลิ่นไวน์ดีมหิดลหนุนโรงงานใช้กลิ่นนำทางการผลิต

ศูนย์นาโนศาสตร์ม.มหิดล จัดทำฐานข้อมูลผลิตองุ่นและไวน์ ลงพื้นที่ปลูกในนครราชสีมาติดตั้งเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลการผลิต พร้อมส่งจมูกอิเล็กทรอนิกส์จดจำกลิ่นของกระบวนการผลิตน้ำไวน์ หวังเป็นบรรทัดฐานการผลิตไวน์คุณภาพ

ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์เกิดเจริญ ศูนย์นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมวิจัยอยู่ระหว่างสำรวจไร่องุ่น 12 แห่ง และโรงงานไวน์ 6 แห่ง ในพื้นที่ อ.มวกเหล็ก และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์เก็บข้อมูลดิน น้ำและสภาพอากาศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากของมหาวิทยาลัยต้นสังกัด และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

ข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์จะนำมาจัดทำฐานข้อมูลการปลูกองุ่นและผลิตไวน์ที่มีคุณภาพทั้งนี้ ทีมงานจะคัดเลือกไร่องุ่นและโรงงานไวน์ให้เหลือเพียงอย่างละ 2 แห่ง สำหรับติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ดังกล่าวประมาณเดือนมกราคม 2551 เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานเปรียบเทียบว่า พื้นที่และการดูแลแบบไหนที่จะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากที่สุด

จากนั้นทีมวิจัยจะนำ"จมูกอิเล็กทรอนิกส์" ผลงานการพัฒนาของศูนย์นาโนศาสตร์ฯ ที่แล้วเสร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ช่วยจดจำกลิ่นของกระบวนการผลิตน้ำไวน์ หรือเริ่มตั้งแต่การจดจำกลิ่นผลองุ่นไปจนถึงขั้นจดจำกลิ่นของไวน์องุ่น สำหรับสร้างมาตรฐานไวน์องุ่นของไทย ให้มีความน่าเชื่อถือและยอมรับในระดับโลก

เทคโนโลยีการดมกลิ่นนี้จะสร้างความเชื่อมั่นจากต่างประเทศในด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ เช่น ไวน์รสอย่างนี้ กลิ่นนี้มาจากส่วนไหนของประเทศ หรือมีสภาพแวดล้อมโดยรอบในไร่ และวิธีการปลูกอย่างไร นักวิจัยกล่าวและว่า เทคโนโลยีดมกลิ่นไวน์นี้มีใช้แล้วในฝรั่งเศส และรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ส่วนญี่ปุ่นใช้เทคนิคนี้ในอุตสาหกรรมการผลิตสาเกและซีอิ๊ว

นักวิจัยอธิบายว่า จมูกมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์ดมกลิ่นประมาณ 200 แบบ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับดมไวน์นี้สามารถเลียนแบบจมูกมนุษย์ได้ประมาณ 32 แบบ ซึ่งครอบคลุมในส่วนของการจดจำคุณลักษณะของไวน์เบื้องต้นได้ ก่อนหน้านี้จมูกอัจฉริยะนี้ได้นำไปทดสอบดมกลิ่นเบียร์ กาแฟ สมุนไพรและสุรา เพื่อจัดแบ่งชั้นของคุณภาพ ทั้งยังพบว่าสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริงหากเอกชนสนใจ

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Wednesday, October 10, 2007

เทศกาลหนังวิทย์ครั้งที่ 3 พา 57 เรื่องทั่วโลกฉาย 13-23 พ.ย.นี้


หากได้เห็นโครงสร้างเคมี 3 แฉกเชื่อมโยงกันด้วยพันธะ “เซลลูลอยด์” น่ารักน่าเอ็นดูปรากฏขึ้นคราใด คงทราบกันดีว่าหมายถึงเทศกาล “ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้” จะได้กลับมามอบสาระ–บันเทิงกันอีกหน โดยครั้งนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว และมีภาพยนตร์สารคดีวิทยาศาสตร์ร่วมฉายถึง 57 เรื่องด้วยกัน

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และสถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด แถลงข่าวเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 3 ขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ณ สถาบันเกอเธ่ เขตสาทร กรุงเทพฯ

ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผอ.สสวท. กล่าวว่า เทศกาลดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 –23 พ.ย. ภายในงานมีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์นานาชาติเข้าฉายรวม 57 เรื่องจาก 12 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี แคนาดา ญี่ปุ่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ออสเตรีย ฮังการี อังกฤษ และไทย โดยจะมีความยาวตั้งแต่ 5 –90 นาที/เรื่อง และทุกเรื่องพากย์เสียงภาษาไทย

ไฮไลต์สำคัญของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในเทศกาลคือ “ปราการที่ถูกล้อม” (The Besieged Fortress) ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ความยาว 82 นาทีจากประเทศฝรั่งเศส ที่กล่าวถึงชีวิตและการทำงานของฝูงปลวกนับล้านในจอมปลวกแห่งหนึ่งกลางทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ของทวีปแอฟริกา ที่ต้องผจญกับภัยน้ำไหลบ่าและการต่อสู้กับฝูงมดกินเนื้อ เพื่อความอยู่รอดของทั้งฝูง

“วิทยาการไบโอนิก -ลิขสิทธิ์ของธรรมชาติ” (BIONIK Patents of Nature) ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ความยาว 28.32 นาทีจากประเทศเยอรมนี ที่กล่าวถึงการประยุกต์ใช้กลไกความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ของมนุษย์ทุกวันนี้ ขณะที่ตัวอย่างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น ผึ้งกลายพันธุ์ ชีววิทยาตัวตุ่น และเหนือขอบฟ้าสู่อวกาศ ฯลฯ

ทั้งนี้ มีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ของไทยร่วมฉาย 2 เรื่องด้วยกัน คือ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ที่พูดถึงวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำที่ถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนไทยสายนี้ โดยการพัฒนาของเนชันแชนแนลและการสนับสนุนทุนจาก สวทช. ส่วนอีกเรื่องคือ “มหัศจรรย์บนใบบัว: ธรรมชาติสู่อนาคต” ที่เด็กๆ ผู้เดินเรื่องจะได้ค้นหาคำตอบของปริศนาน้ำกลิ้งบนใบบัว ซึ่งพัฒนาโดยนักวิชาการของ สสวท.

สำหรับสถานที่ฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ครั้งนี้จะแบ่งเป็น 4 จุดคือ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร และอุทยานการเรียนรู้ ทีเค พาร์ค เซ็นทรัลเวริล์ด พลาซา เขตราชประสงค์ โดยเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมภาพยนตร์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จุดประสงค์การจัดงานครั้งนี้เพื่อต้องการใช้ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เป็นสื่อการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์สู่เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และครู อย่างเป็นรูปธรรม และได้เห็นวิทยาศาสตร์มีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งการจัดงาน 2 ครั้งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าครั้งนี้จะมีผู้มาร่วมงานเฉลี่ยจุดละ 5,000 คนทั้ง 4 จุด จึงคาดว่าน่าจะมีผู้ร่วมงานถึง 20,000 คนตลอดทั้งงาน

ส่วนภาพยนตร์ที่นำมาฉายในงานจะจัดหมวดหมู่ตามความเหมาะสมของเนื้อหาและสถานที่จัดฉาย แบ่งเป็นสำหรับเด็กระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา และสำหรับเด็กมัธยมศึกษาขึ้นไป โดยแยกเป็นกลุ่มสาระบันเทิงเพื่อครอบครัว ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์ทั่วไปและเทคโนโลยี และวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

นอกจากนั้นในวันสุดท้ายของการจัดงาน ยังมีการประกาศผลรางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ดีเด่นจำนวน 6 รางวัลให้แก่ภาพยนตร์ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วในรอบแรก 26 เรื่องจากทั้งหมด 57 เรื่องซึ่งรวมถึงผลงานเรื่อง “แม่น้ำเจ้าพระยา” ของไทยด้วย

“การจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ปีนี้ได้ขยายเวลาจัดงานให้มีจำนวนวันมากขึ้น แต่ลดจำนวนรอบฉายในแต่ละวันลง เพื่อให้เด็กจากต่างจังหวัดสามารถเดินทางมาชมได้สะดวกขึ้น ซึ่งตอนนี้มีโรงเรียนหลายแห่งส่งอีเมลมาจองคิว คิดเป็นนักเรียนได้ประมาณ 2,000 คนแล้ว” ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าว โดยผู้สนใจสามารถชมรอบฉายและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.goethe.de/sciencefilmfestival

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000120289

แถลงข่าวเทศกาลวิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3


เปิดอย่างเป็นทางการแล้วกับงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ที่จัดขึ้นขึ้นในช่วงเช้าของวันนี้ (9 ต.ค.) ณ สถาบันเกอเธ่ นำโดย ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย สถานทูตฝรั่งเศส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด

ภายในงานได้นำตัวอย่างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จากประเทศต่างๆ มาให้ชมเพื่อเรียกน้ำย่อย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมงาน ผู้สนใจสามารถติดตามชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทุกเรื่อง โดยจะจัดฉายที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อพวช.) พิพิธภัณฑ์เด็ก อุทยานการเรียนรู้ (TK PARK) ในระหว่างวันที่ 13-23 พฤศจิกายน 2550

ติดตามรายละเอียดภาพยนตร์ที่จัดแสดง วันเวลา และสถานที่ ได้ที่ ttp://www.goethe.de/ins/th/ban/deindex.htm

Axis Graphic Limited

Monday, October 8, 2007

สจล.ทำตุ๊กตุ๊กหัวใจเก๋งนั่งนิ่มไม่สั่นกระตุกประหยัดเชื้อเพลิง

วิศวกรเครื่องกลสจล.พบเทคนิคปรับย่อขนาดเครื่องยนต์ 4 จังหวะของรถยนต์ ให้สวมใส่ได้พอดีกับขนาดห้องเครื่องของตุ๊กตุ๊ก เพิ่มประสิทธิภาพตุ๊กตุ๊กให้ทำความเร็วมากถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งยังวิ่งนุ่มนวลขึ้น ประหยัดเชื้อเพลิง ไม่แผลดเสียงสั่นประสาท

ผศ.ดร.จินดาเจริญพรพาณิชย์ ผู้ช่วยอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ทีมงานจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ดัดแปลงรถตุ๊กตุ๊กต้นแบบ 2 คัน ให้มีคุณสมบัติพิเศษคือวิ่งได้เร็วขึ้น นุ่มนวลขึ้นหรืออาการรถกระตุกลดลง ประหยัดเชื้อเพลิง 12% ส่วนต้นทุนค่าอุปกรณ์รวมค่าดัดแปลงแล้วไม่เกิน 1 หมื่นบาท และที่สำคัญรถตุ๊กตุ๊กดัดแปลงนี้สามารถขับขี่บนท้องถนนได้ถูกต้องตามกฎระเบียบของกรมการขนส่งทางบก

รถต้นแบบประหยัดเชื้อเพลิงนี้ติดตั้งเครื่องยนต์4 จังหวะ ซึ่งใช้อยู่ในรถกระบะและรถเก๋ง ที่ผ่านการดัดแปลงย่อส่วนด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมเครื่องกล จนสามารถสวมใส่แทนเครื่องยนต์ 2 จังหวะเดิมของรถตุ๊กตุ๊กอย่างลงตัว โดยไม่ต้องแก้ไขขนาดเฟรมเดิมของห้องเครื่อง

ที่ผ่านมาการนำเครื่องยนต์4 จังหวะมาเปลี่ยนรถตุ๊กตุ๊ก ต้องปรับขนาดเฟรมของห้องเครื่องให้ใหญ่ขึ้นเท่ากับตัวเครื่องยนต์ใหม่ เจ้าของรถต้องรับภาระทั้งค่าเครื่องยนต์ ค่าติดตั้งและค่าเปลี่ยนขนาดเฟรมด้วย

รถตุ๊กตุ๊กที่สวมใส่เครื่องยนต์4 จังหวะย่อส่วนนี้ น้ำหนักจะเพิ่มขึ้น 20% แต่สามารถวิ่งด้วยความเร็ว 40-80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประหยัดน้ำมันเครื่องจากเดิมต้องเปลี่ยนทุกวัน ก็เป็น 3,000 กิโลเมตรต่อครั้ง ด้านมลภาวะทางเสียงที่เกิดขึ้น แม้จะเปลี่ยนใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะก็ลดปัญหาได้ไม่มาก จึงใช้ท่อลดเสียงที่ราคาไม่เกิน 300 บาท สวมบริเวณท่อไอเสียเพื่อลดปัญหาดังกล่าว รวมทั้งติดตั้งหม้อกรองอากาศเพื่อลดการปล่อยไอเสีย

"ส่วนน้ำหนักที่เกินขึ้นมาประมาณ20% แก้ไขได้ด้วยการเสริมโช้คอัพเพื่อรับน้ำหนัก และไม่เสียค่าใช้จ่ายมากเท่าการปรับขนาดเฟรม" ผศ.ดร.จินดาในฐานะผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล กล่าวและว่า รถต้นแบบทั้งสองผ่านการทดสอบแล้ว ทั้งวิ่งบนถนนจริงและห้องปฏิบัติการด้านกำลังของ สจล.

ทั้งนี้นักวิจัยแนะนำเครื่องยนต์ 4 จังหวะสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพให้รถตุ๊กตุ๊ก ควรเป็นเครื่องยนต์มือสองนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคุณภาพจะดีและน่าเชื่อถือได้มากกว่าเครื่องยนต์มือหนึ่งจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังราคาถูกกว่าด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

พบระบบสุริยะใหม่กำลังให้กำเนิดโลกใบที่ 2


สเปซด็อทคอม/เอเอฟพี – วงการดาราศาสตร์ตื่นเต้นอีกครั้งเมื่อสามารถจับภาพกลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองในอวกาศที่กำลังก่อตัวเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่อยู่ในระบบสุริยะที่มีร่องรองเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต เชื่ออาจเป็นโลกใบใหม่ขนาดเท่าดาวอังคาร

กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) สามารถจับภาพฝุ่นและละอองก๊าซที่อยู่รวมกันเป็นแถบขนาดใหญ่ และกำลังหมุนวนรอบดาวฤกษ์อายุน้อย เอชดี 113766 (HD 113766) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราเพียงเล็กน้อย อยู่ห่างออกไป 424 ปีแสง นักวิทย์คาด ดาวเคราะห์ดวงใหม่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นแล้ว และน่าจะเป็นที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้

แถบก๊าซและฝุ่นละอองที่พบ อยู่ใจกลางของบริเวณที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต (habitable zone) ในระบบสุริยะนั้น ซึ่งมีอุณหภูมิที่สามารถทำให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลวได้ และนักดาราศาสตร์ก็ตั้งข้อสังเกตว่า มันกำลังก่อตัวรวมกันเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่ และจากการคาดคะเน แถบฝุ่นนั้นน่าจะมีองค์ประกอบมากพอจนสามารถก่อตัวขึ้นเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวอังคารได้เลยทีเดียว

"ช่วงเวลาของระบบสุริยะเหมาะสมมากทีเดียวที่โลกใบใหม่จะถูกสร้างขึ้น" คาเรย์ ลิสซี (Carey Lisse) จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ (Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory) เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐฯ สมาชิกในทีมที่ศึกษากำเนิดของโลกใหม่กล่าว ซึ่งจากการค้นคว้า พวกเขาประมาณการกันว่าดาวฤกษ์เอชดี 113766 น่าจะมีอายุราว 10 ล้านปี ซึ่งเป็นช่วงอายุของดาวฤกษ์ที่เหมาะสมต่อการก่อตัวของดาวเคราะห์หิน ทั้งนี้รายละเอียดต่างๆ ทีมวิจัยได้รายงานไว้ในวารสารแอสโทรฟิสิคัล (Astrophysical Journal)

ลิสซี อธิบายว่า ถ้าหากดาวฤกษ์ที่พบนั้นมีอายุน้อยเกินไป ดาวเคราะห์ที่เกิดขึ้นใหม่จะเต็มไปด้วยก๊าซ และอาจกลายเป็นดาวเคราะห์ก๊าซขนาดใหญ่อย่างดาวพฤหัสบดี แต่หากดาวฤกษ์อายุมากเกินไปแล้ว กล้องสปิตเตอร์ก็คงจะจับภาพดาวเคราะห์หินที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นได้ไปแล้ว

นอกจากนี้ ระบบสุริยะนั้นยังเต็มไปด้วยฝุ่นผงและองค์ประกอบที่อาจมารวมตัวกันแลัวกลายเป็นดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกได้ด้วย จากการคำนวณด้วยกล้องสปิตเตอร์ ลิสซี ขยายความว่า องค์ประกอบที่อยู่รอบๆ ดาวฤกษ์เอชดี 113766 มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนมาไกลกว่าระยะที่ปุยเมฆคล้ายหิมะอัดแน่นเข้าหากัน และกำเนิดเป็นระบบสุริยะและดาวหางในระยะเริ่มต้น

ขณะเดียวกัน มันยังดูไม่เหมือนกับว่า องค์ประกอบต่างๆ กำลังอัดแน่นเข้าหากัน เหมือนอย่างที่พบอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์อายุมากและพวกอุกกาบาตทั้งหลาย

"องค์ประกอบผสมที่พบในแถบนั้นชวนให้นึกถึงสิ่งที่เหมือนกับลาวาที่ไหลออกมาจากใต้พื้นพิภพมากที่สุด มันทำให้ผมคิดถึงสิ่งที่พวยพุ่งออกมาจากภูเขาไฟมัวนาเคีย (Mauna Kea) บนเกาะฮาวาย ทันทีที่ผมเห็นส่วนประกอบของฝุ่นละอองในระบบสุริยะนั้น ซึ่งมันเต็มไปด้วยหินและเหล็กซัลไฟด์ (iron sulfides) อีกมากมาย" ลิสซี กล่าว ซึ่งสิ่งที่เขาพบนั้นดูเหมือนกับสภาพเมื่อ 100 ล้านปี ก่อนที่ดาวเคราะห์ดวงนี้จะถือกำเนิดขึ้น และหากเป็นเช่นเดียวกับโลกของเรา ต้องใช้เวลาอีกกว่า 1,000 ล้านปี กว่าที่ชีวิตแรกจะอุบัติขึ้น และกว่าที่พัฒนาไปเป็นสิ่งมีชีวิตซับซ้อนก็ต้องอาศัยเวลาอีกนานหลายพันล้านปี

อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) แล้วกว่า 250 ดวง และเกือบทั้งหมดก็มีระยะห่างจากดาวฤกษ์เท่าๆ กับที่โลกห่างจากดวงอาทิตย์ แต่ส่วนมากมักเป็นดาวเคราะห์ก๊าซขนาดใหญ่อย่างดาวพฤหัสบดี และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเรื่องฮือฮา เมื่อทีมนักดาราศาสตร์ที่หอสังเกตการณ์ยุโรปตอนใต้ (European Southern Observatory) ในประเทศชิลี ค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกที่อยู่ห่างออกไปราว 20.5 ปีแสง มีร่องรอยเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งอุณหภูมิและระยะห่างจากดวงอาทิตย์ทำให้น้ำอยู่ในสถานของเหลวได้ และอาจมีถึง 2 ดวงด้วยกัน คือ กลีส 581ซี (Gliese 581c) และ กลีส 581ดี (Gliese 581d) เป็นดาวบริวารของดาวฤกษ์กลีส 581 (Gliese 581) ที่อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000117756

Sunday, October 7, 2007

“น้องแอ๊ค” ตัวแทนเด็กไทยฉลอง 50 ปีอวกาศใน “สภาพไร้น้ำหนัก”


คาบเกี่ยววันเสาร์และอาทิตย์ (6 -7 ต.ค.) นี้ อาจเป็นวันหยุดพักผ่อน “เดิมๆ” ของใครหลายๆ คน ขณะที่อีกฟากโลกหนึ่ง “น้องแอ็ค -สุนารี เนรมิต” ตัวแทนเยาวชนไทยกำลังใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ของเธอไปกับกิจกรรมที่ไม่เหมือนใคร –ไม่มีใครเหมือน และเรียกได้ว่า “สุดหฤหรรษ์” จนบอกใครๆ ก็ต้องอิจฉา กับการพิสูจน์ “สภาพไร้น้ำหนัก” ด้วยตัวเธอเอง

น้องแอ็ค –สุนารี เนรมิต เป็นตัวแทนเยาวชนหนึ่งเดียวของไทยที่ได้ร่วมทดสอบสภาพไร้น้ำหนักกับเที่ยวบินเหินเวหาของ บ.ซีโร กราวิตี คอร์ปเปอเรชัน บริษัทชื่อดังของสหรัฐอเมริกา โดยได้ทดสอบสภาพไร้น้ำหนักจากเที่ยวบินที่บินจากสนามบินแมคคาแรน ลาสเวกัส ในวันที่ 6 ต.ค.ตามเวลาเมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา โดยหลังจากภารกิจนี้ เธอจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันต่อมา

สำหรับ “น้องแอ็ค” เยาวชนจากโรงเรียนปิยชาติพัฒนา จ.นครนายก เป็นนักเรียน 1 ใน 4 คนที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมกิจกรรม จากสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อคัดเลือกเหลือเพียงคนเดียวไปสัมผัสประสบการณ์มหัศจรรย์ ร่วมกับเยาวชนตัวแทนอีก 8 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ, สาธารณรัฐเชก, โคลัมเบีย, บาห์เรน, ไนจีเรีย, จีน, นอร์เวย์ และ สหรัฐอเมริกา โดยกิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมฉลอง 50 ปีของยุคอวกาศหลังการปล่อยดาวเทียมสปุตนิก 1 ของสหภาพโซเวียตเมื่อ 4 ต.ค.2500

ก่อนไป น้องแอ็ค บอกว่า แม้ทีแรกที่ได้รับคัดเลือกจะมีความประหม่าบ้างว่าจะทำกิจกรรมได้ไหม และตื่นเต้นนิดหน่อย แต่จากที่ได้เตรียมตัวศึกษาความรู้ในด้านอวกาศมาแล้วก็ทำให้มั่นใจว่าจะทำได้ โดยกิจกรรมที่อยากทำมากที่สุดคือการทดสอบสภาพไร้น้ำหนักอย่างที่เคยเห็นมาในรูปภาพ ซึ่งคราวนี้จะได้ไปพิสูจน์จริงๆ กับตัวเองว่าเป็นอย่างไร และจะนำความรู้ที่ได้มาแบ่งปันกับเพื่อนๆ ที่ประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ เชื่อว่าน้องแอ็คคงไม่ผิดหวังกับประสบการณ์สุดประทับใจครั้งนี้ สังเกตได้จากใบหน้าเปื้อนยิ้มของเธอจากรูปถ่าย ซึ่งได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ www.spaceweek.org แทบจะทันทีหลังจากเหล่าเยาวชนน้อยๆ จากทั่วทุกมุมโลกได้สัมผัสประสบการณ์มหัศจรรย์นี้แล้ว

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000118698

Thursday, October 4, 2007

มข.ค้นหาวิธีใช้นาโนนำทางทำลายมะเร็ง

ม.ขอนแก่นประยุกต์แม่เหล็กนาโนทางการแพทย์ วางแผนส่งเข้าร่างกายไปจับเซลล์มะเร็ง จากนั้นส่งคลื่นความร้อนไปยังแม่เหล็ก ส่งผลให้เซลล์ร้ายถูกทำลาย ขณะที่เซลล์ปกติข้างเคียงปลอดภัย

ผศ.ดร.สันติ แม้นศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ศึกษานำอนุภาคนาโนแม่เหล็กมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ใน 2 รูปแบบ คือ ใช้อนุภาคนาโนแม่เหล็กเข้าไปเกาะเซลล์มะเร็ง จากนั้นกระตุ้นด้วยสนามแม่เหล็กจนเกิดความร้อน ซึ่งจากการวิจัยพบอุณหภูมิที่เหมาะสม คือ 42-46 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งเป้าหมาย โดยไม่เกิดผลร้ายต่อเซลล์ปกติข้างเคียง

สำหรับการศึกษาในรูปแบบต่อมาเป็นการใช้อนุภาคนาโนแม่เหล็ก เป็น "สารนำวิถี" เพิ่มความเปรียบต่างของการถ่ายภาพ กล่าวคือ ในกรณีที่มีการนำผู้ป่วยไปถ่ายภาพสมองหรือบริเวณชิ้นส่วนต่างๆ ของร่างกายภายในห้องเอกซเรย์ เครื่องมือถ่ายภาพกำทอนแม่เหล็ก (เอ็มอาร์ไอ) บางทีอาจให้ภาพไม่คมชัด ไม่สามารถระบุตำแหน่งเซลล์มะเร็ง

แต่หากใส่สารอนุภาคนาโนแม่เหล็กที่เป็นตัวนำวิถีสารเหล่านี้ก็จะวิ่งเข้าไปบริเวณที่เป็นมะเร็งหรือเนื้องอก ทำให้การถ่ายภาพของเครื่องมือเอ็มอาร์ไอคมชัดยิ่งขึ้น นำไปสู่การรักษาทันท่วงที ในต่างประเทศมีการวิจัยบำบัดมะเร็งด้วยวิธีดังกล่าว ในหนูทดลองซึ่งถูกทำให้เกิดเซลล์มะเร็ง พบว่าปริมาตรของเนื้องอกลดลง

ขณะนี้ทีมงานกำลังศึกษาหาสารแม่เหล็กที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพราะสารแม่เหล็กมีหลายประเภท ก็ต้องดูว่าแต่ละชนิดมีพิษมากน้อยแค่ไหน หากผลวิจัยได้สารแม่เหล็กตามต้องการแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนทดลองในสัตว์และคน ถ้าผลทดสอบพบว่าอนุภาคนาโนแม่เหล็กสามารถ "นำวิถี" ตรวจหาเซลล์มะเร็งและบำบัดโรคมะเร็งได้ ทีมวิจัยก็อาจจะนำมาใช้กับคนไข้มะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งพบมากในภาคอีสาน

ประกอบกับม.ขอนแก่น มีศูนย์วิจัยมะเร็งท่อน้ำดีที่ใหญ่สุดในโลก คาดว่าในอนาคตผลงานวิจัยดังกล่าวจะเป็นประโยชน์สำหรับการรักษามะเร็งท่อน้ำดีในระยะเริ่มแรก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Wednesday, October 3, 2007

ชวนนักช็อปใช้กระเป๋าผ้านาโน


สำนักงานนวัตกรรมจับมือบีเอสซีเปิดตัวกระเป๋าผ้านาโน กันน้ำและน้ำมัน ทำความสะอาดง่าย ดึงหน่วยวิจัยนาโนศาสตร์ของมหิดล ทดสอบซักรีด 50 ครั้ง พบคุณสมบัติยังคงเดิม

นายบุญเกียรติโชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการบริษัทไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ บีเอสซี กล่าวว่าบริษัทร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ผลิตกระเป๋าผ้าฝ้ายด้วยเทคโนโลยีนาโน โดยเคลือบ สารฟลูออโรโพลีเมอร์อนุภาคกึ่งนาโนบนเส้นใยผ้าฝ้ายทำให้กระเป๋ามีคุณสมบัติเหมือนใบบอนใบบัวคือ ไม่เปียกน้ำและน้ำมัน เช็ดทำความสะอาดง่าย
ผลิตภัณฑ์กระเป๋าผ้านาโนนี้แม้ว่าจะไม่มีนัยสำคัญทางการตลาด แต่บริษัทต้องการสร้างจิตสำนึกให้คนไทยมีส่วนร่วม ในการบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ตลอดจนสร้างค่านิยมให้ใช้กระเป๋าผ้าแทนถุงพลาสติก

ผศ.ดร.เติมศักดิ์ศรีคิรินทร์ หน่วยวิจัยนาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะของนักวิจัยทำหน้าที่ประเมินผล กล่าวว่า สารฟลูออโรโพลีเมอร์อนุภาค 90-300 นาโนเมตร มีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำ และไม่ยอมให้ของเหลวงซึมผ่านไปถึงเส้นใยผ้า จึงกันเปียกได้ทั้งน้ำ ชา กาแฟ และซอส จากการทดสอบพบว่าหลังผ่านการซักรีด 50 ครั้ง คุณสมบัติกันน้ำก็ยังคงเดิม

อย่างไรก็ตามขณะนี้นักวิจัยมีความรู้และเข้าใจลักษณะการยึดติดพื้นผิวของอนุภาคนาโนแล้ว โอกาสที่จะเลือกเติมสารอื่นเพื่อเพิ่มคุณสมบัติใหม่ให้เส้นใยผ้า เช่น กันแบคทีเรีย กันการติดไฟ ก็สามารถทำได้

บริษัทไอ.ซี.ซี. เตรียมวางขายกระเป๋าผ้านาโนเป็นครั้งแรก 500 ใบ พร้อมสาธิตคุณสมบัติของกระเป๋า ใน ตลาดสินค้านวัตกรร(อินโนมาร์ท 2007) ระหว่างวันที่ 4-7 ตุลาคมนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

Tuesday, October 2, 2007

Asimo Anime


Honda ชวนเหล่าแอนิเมชั่นทั่วประเทศ ระดมสมอง โชว์ไอเดียเจ๋งๆ อวดฝีไม้ลายแอนิเมะ โดยส่งผลงานแอนิเมชั่นสั่นๆ ไม่เกิน 30 วินาที ภายใต้แนวความคิด “อาซิโมและเทคโนโลยีอันล้ำสมัยจากฮอนด้าจะสร้างโลกให้น่าอยู่ได้อย่างไร” เรื่องใดเจ๋ง เทคนิคใครแจ๋ว รับไปเลย MacBook Pro และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท ตั้งแต่วันนี้ – 7 พฤศจิกายน 2550

รายละเอียดเพิ่มเติม http://activity.sanook.com/asimoanime/