Wednesday, October 24, 2007

"ดิสคัฟเวอรี" ทะยานฟ้าพร้อมภารกิจต่อเติม 2 ห้องแล็บอวกาศ



สเปซด็อทคอม/เอเยนซี - นาซาส่งดิสคัฟเวอรีขึ้นไปต่อเติมสถานีอวกาศนานาชาติตามเวลากำหนดเมื่อ 4 ทุ่มครึ่งคืนที่ผ่านมา แม้ฝนตั้งท่าเป็นอุปสรรค โดยลูกเรือทั้งหมด 7 คนจะขึ้นไปต่อเติมห้องปฏิบัติการบนอวกาศของยุโรปและญี่ปุ่นคือ "โคลัมบัส" และ "คิโบ" ตามลำดับเป็นเวลา 14 วัน นับเป็นปฏิบัติการต่อเติมสถานีอวกาศครั้งที่ 23 สำหรับปีนี้

หลังพิจารณาว่าแผ่นน้ำแข็งที่ถังเชื้อเพลิงไม่เป็นอันตรายต่อการส่งยาน องค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐ (นาซา) ส่งกระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Discovery) จากศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) เมื่อคืนวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา ตามกำหนดเวลา 22.38 น.ตามเวลาประเทศไทยเพื่อขึ้นไปต่อเติมสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) โดยลูกเรือทั้งหมด 7 คนในเที่ยวบินนี้จะขึ้นไปต่อเติมห้องปฏิบัติการบนอวกาศของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นคือ "โคลัมบัส" (Columbus) และ "คิโบ" (Kibo) ตามลำดับเป็นเวลา 14 วัน นับเป็นปฏิบัติการต่อเติมสถานีอวกาศครั้งที่ 23 สำหรับปีนี้

นักอุตุนิยมวิทยาคาดว่าเมฆฝนจะเคลื่อนตัวไปยังบริเวณที่ปล่อยยานซึ่งอาจจะส่งผลให้ต้องเลื่อนการส่งยาน แต่ด้วยความหวังที่จะชนะการเสี่ยงดวงกับสภาพอากาศนาซาได้เติมไฮโดรเจนและออกเหลวเย็นยิ่งยวดกว่า 500,000 แกลลอนในถังเชื้อเพลิงด้านนอกของยานดิสคัฟเวอรี และองค์การอวกาศสหรัฐฯ ก็ผ่านพ้นอุปสรรคทางธรรมชาติไปได้ โดยเมฆได้เคลื่อนห่างจากฐานปล่อยจรวด

"เรามีวันที่โชคดี เราแค่เหมือนจะได้รับโชคไม่ดีนัก แต่ผมก็บอกกับทีมของผมว่าตอนนี้ทุกอย่างไม่มีอะไรผิดปกติและต่อไปเราก็จะมีโชคหน่อยๆ" ไมค์ ไลน์แบช (Mike Leinbach) ผู้อำนวยการปล่อยจรวดของนาซากล่าว

อีกอุปสรรคก่อนหน้านี้คือเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการวิศวกรได้แนะนำให้นาซาเปลี่ยนฉนวนกันความร้อน 3 แผ่นในส่วนปีกของยาน แต่นาซาตัดสินใจว่าความเสี่ยงดังกล่าวไม่มากพอต่อความจำเป็นที่ต้องเลื่อนการส่งยานออกไปอีก 2 เดือนเพื่อเปลี่ยนกระเบื้องตามคำแนะนำ ซึ่งการส่งยานล่าช้าออกไปนั้นจะส่งผลกระทบต่อตารางการส่งยานของนาซาที่เหลืออยู่

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาศูนย์พยากรณ์อากาศในแหลมคานาเวอรัล (Cape Canaveral) คาดการณ์ว่ามีโอกาส 60% ที่สภาพอากาศจะเอื้อต่อการปล่อยจรวด แต่ก็มีโอกาสที่จะเกิดฝนและเมฆปกคลุมจนเป็นต่อการปฏิบัติภารกิจของยานดิสคัฟเวอรี อย่างไรก็ดีลูกเรือทั้งหมดได้รวมกันที่ศูนย์อวกาศกันตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้วและพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ และนาฬิกานับได้เริ่มนับถอยหลังก็เริ่มทำงานตั้งแต่ช่วงหยุดสุดสัปดาห์แล้ว

"เรารู้สึกมั่นใจมากๆ ว่าเรามียานที่ปลอดภัยซึ่งพร้อมบิน เราคงจะไม่ปล่อยจรวดหากเราไม่คิดว่าที่กล่าวไปนั้นเป็นเรื่องจริง" เลอรอย เคน (LeRoy Cain) ผู้จัดการหน่วยปล่อยจรวดของนาซากล่าว

สำหรับเที่ยวบิน STS-120 ของดิสคัฟเวอรีนี้บังคับการโดย พาเมลา เมลรอย (Pamela Melroy) นักบินหญิงวัย 46 ผู้ช่ำชองของนาซา และยังมีเปาโล เนสโปลี (Paulo Nespoli) ลูกเรืออิตาลีจากองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) ซึ่งรับภารกิจส่งชิ้นส่วนเป็นท่อยาวที่เรียกว่า P6 หนัก 16 ตัน ยาว 20 เมตร โดยชิ้นส่วนนี้จะช่วยแปรแถวเสาอากาศพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนที่ 3 จากที่กำหนดไว้ 4 ส่วน ภายหลังจากติดตั้งแล้วจะทำให้เครื่องกำหนดพลังงานไฟฟ้าของสถานีอวกาศปั่นพลังงานได้เร็วขึ้น

"มันน่าตื่นเต้นและมีหลายสิ่งให้ทำ" เมลรอยกล่าว พร้อมทั้งเผยว่าเธอและลูกเรือต่างมั่นใจว่ายานดิสคัฟเวอรีพร้อมที่จะบินแล้ว แม้จะมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับแผงกันความร้อนด้านนอกของตัวยานก็ตาม

ภารกิจล่าสุดในการต่อเติมสถานีอวกาศนี้กำหนดให้มีการเดินอวกาศ (spacewalk) ทั้งหมด 5 ครั้งรวมเป็นเวลา 30.5 ชั่วโมง โดยนักบินอวกาศจะแบ่งเป็น 2 ทีมเพื่อผลัดกันปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และจะทดสอบวิธีซ่อมแซมฉนวนกันความร้อนของกระสวยอวกาศระหว่างการเดินอวกาศด้วย ซึ่งภารกิจทั้งหมดจะปูทางไปสู่ภารกิจการส่งยานแอตแลนติส (Atlantis) ในวันที่ 6 ธ.ค.ซึ่งกำหนดให้ขึ้นไปต่อเติมห้องปฏิบัติการโคลัมบัสของยุโรปต่อ

ทั้งนี้องค์การอวกาศสหรัฐฯ วางแผนที่จะส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปยังสถานีอวกาศอีก 13 เที่ยวเพื่อต่อเติมสถานีอวกาศให้แล้วเสร็จก่อนเดือน ก.ย.2553 ขณะเดียวกันปีหน้าก็จะมีภารกิจที่แยกออกจากการต่อเติมสถานีอวกาศนั่นคือการส่งกระสวยอวกาสขึ้นไปปรับปรุงกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope)

ลูกเรือทั้ง 7 ประกอบด้วย พาเมลา เมลรอย (Pamela Melroy) ผู้บังคับการบิน, จอร์จ แซมกา (George Zamka) นักบินประจำเที่ยวบิน, และผู้เชี่ยวชาญประจำเที่ยวบิน สกอตต์ พาราซินสกี (Scott Parazynski), สเตฟานี วิลสัน (Stephanie Wilson), ดักลาส วีล็อก (Douglas Wheelock), เปาโล เนสโปลี (Paolo Nespoli ) และ แดเนียล ทานี (Daniel Tani )

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000125789

No comments: