Monday, October 29, 2007

“รถพยาบาลหัวใจฉุกเฉิน” ฝีมือคนไทย


สนช. – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติจับมือโรงพยาบาลปิยะเวท และห้างหุ้นส่วนเอกวัตร (1994) จำกัด เปิดตัวรถพยาบาลหัวใจฉุกเฉินครบวงจรฝีมือคนไทย ทดแทนการนำเข้า แถมยังเหมาะกับการใช้งานในประเทศได้ดีกว่าเดิม ตอบสนองการรักษาพยาบาลโรคหัวใจหลังพบคนไทยดับด้วยโรคร้าย 5 ราย/ชั่วโมง

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับโรงพยาบาลปิยะเวท และห้างหุ้นส่วน เอกวัตร (1994) จำกัด แถลงข่าวการสนับสนุนและพิธีส่งมอบ “รถพยาบาลหัวใจฉุกเฉินสมบูรณ์แบบ” เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์และด้านสาธารณสุขของไทย ด้วยการสร้างรถพยาบาลฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับที่นำเข้าจากต่างประเทศขึ้น ณ โรงพยาบาลปิยะเวท กรุงเทพฯ

นายศุภชัย หล่อโลหการ ผอ.สนช.กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้อนาคตประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพของเอเชีย โรงพยาบาลทุกแห่งต้องมีรถพยาบาลที่จะสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและดูแลผู้ป่วยได้ โดยมีความพร้อมด้านเครื่องมือแพทย์เพื่อให้ความช่วยเหลือและสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ทันท่วงที ซึ่งโรคหัวใจก็นับเป็นโรคที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และอาการค่อนข้างเฉียบพลัน สนช.จึงร่วมกับเอกชนพัฒนารถพยาบาลดังกล่าวขึ้น

ทั้งนี้ ในการพัฒนารถพยาบาลหัวใจฉุกเฉินสมบูรณ์แบบ ได้ใช้ทั้งเทคโนโลยีการออกแบบเชิงการใช้งานด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉินและการใช้เทคโนโลยีคอมโพสิทร่วมในการผลิต โดยเป็นการใช้โครงแชสส์ซีขนาด 6 ล้อขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศ

สำหรับการออกแบบรถพยาบาล การออกแบบโครงสร้างตัวถังรถ และการจัดวางอุปกรณ์ภายใน ได้ติดตั้งระบบกันสะเทือนแบบถุงลม และเลือกใช้วัสดุคอมโพสิตมาใช้ประกอบทั้งตัวถังภายนอกเพื่อความแข็งแรงของโครงสร้างให้สามารถรับนำหนักแขวนได้และส่วนประกอบภายในรถ

“รถพยาบาลดังกล่าวจึงมีคุณสมบัติทั้งทนความร้อน ทนสารเคมี และทนการผุกร่อน อีกทั้งยังทำความสะอาดได้ง่ายและผลิตชิ้นงานได้เร็วและมีคุณภาพสูง ที่สำคัญคือเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศได้ดีกว่าการนำเข้า และยังไม่พบว่าจะมีประเทศใดในภูมิภาคเอเชียที่ผลิตและประกอบรถพยาบาลที่ใช้เทคโนโลยีและวัสดุคอมโพสิตมาก่อนด้วย” ผอ.สนช.กล่าว

ด้านสถานการณ์ผู้ป่วยโรคหัวใจ รศ.นพ.องค์การ เรืองรัตนอัมพร รองผอ.สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท-โรงพยาบาลปิยะเวท เปิดเผยว่า โรคหัวใจกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับ 1 ของทุกประเทศทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากทุกปี จากรายงานปี 2548 ขององค์การอนามัยโลกพบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 17.5 ล้านคน เฉลี่ยนาทีละ 33 คน ส่วนสถิติในประเทศไทยพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ 5 ราย/ชั่วโมง

“ผู้ป่วยโรคหัวใจโดยมากจะเกิดอาการแบบปัจจุบันทันด่วน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยระหว่างเดินทางมายังโรงพยาบาลสูงถึง 60% เนื่องจากไปถึงโรงพยาบาลช้าเกินไป หรือรถพยาบาลที่เคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ครบครัน ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยยังจำเป็นต้องมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะคอยดูแลเป็นพิเศษด้วย” รศ.นพ.องค์การ ทิ้งท้าย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000128234

No comments: