Friday, October 26, 2007

ทัวร์นาโนเทค


จากก่อตั้งมาได้ 3 ปีกว่า วันนี้..นาโนเทคหรือศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ น้องเล็กในบรรดา 4 ศูนย์แห่งชาติของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เปิดบ้าน... แสดง 3 ผลงานเด่นด้านนาโนเทคโนโลยี พร้อมโชว์ศักยภาพอุปกรณ์ของการให้บริการทดสอบสินค้านาโนเทคโนโลยี

ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค เปิดเผยถึง 3 ผลงานเด่นที่นักวิจัยของนาโนเทคทำสำเร็จพร้อมให้เอกชนนำไปต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพและใช้ได้จริง

ผลงานแรกคือ “การพัฒนาสารผสมไททาเนียมไดออกไซด์สำหรับเคลือบเซรามิก เพื่อใช้บำบัดน้ำในตู้ปลา” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของศูนย์ บริษัท โนะนามิ ไซเอ็นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทไวท์เครนอคาเรียม (ประเทศไทย) จำกัด

เซรามิกที่ผ่านการเคลือบสารไททาเนียมออกไซด์นี้จะมีคุณสมบัติพิเศษในการกำจัดตะไคร่น้ำ และเชื้อแบคทีเรีย โดยสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียชนิด E.coli ได้ถึง 99% เมื่อใช้สารดังกล่าวในปริมาณ 1% (น้ำหนักต่อปริมาตร) ผลิต ภัณฑ์ดังกล่าวสามารถฟื้นฟูคุณ ภาพของน้ำที่ผ่านการบำบัดจากตู้ปลา ทำให้ผู้เลี้ยงปลาไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อย สามารถทิ้งไว้ได้นานถึง 7 เดือนทีเดียว ผลงานนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร

สำหรับผลงานชิ้นที่ 2 คือ “การพัฒนาต้นแบบอุตสาหกรรมฟิล์มพลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหารเคลือบผิวด้วยไททาเนียมไดออกไซด์” สำหรับการใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ ที่ช่วยรักษาคุณภาพ ลดการสูญเสียและยืดอายุการเก็บรักษา พืชผัก-ผลไม้สด เนื่องจากมีคุณสมบัติในการสลายเอทิลีน ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค และสลายกลิ่น

ผลงานนี้เป็นงานวิจัยต่อเนื่องจากโครง การหลังปริญญาเอกของนักวิจัยนาโนเทคทำร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมจิ ประเทศญี่ปุ่น งานวิจัยอยู่ระหว่างการพัฒนาฟิล์มต้นแบบอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานจริงเช่นเดียวกับฟิล์มต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ

ส่วนผลงานชิ้นที่ 3 ก็คือ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบของเครื่องสำอางและยา โดยใช้อนุภาคนาโนชนิดไขมันแข็งบรรจุสารต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น” เรียก ง่าย ๆ ว่า แคปซูลนาโน ใช้สำหรับบรรจุสารต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่งเป็นสาร สกัดจากสมุน ไพรไทยต่าง ๆ เช่น จากใบกะ เพรา ดอกดาวเรืองหรือน้ำมันรำข้าว นำไปใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในเครื่องสำอาง อาหารและยา

ผลิตภัณฑ์ต้นแบบนี้ เป็นผลงานร่วม ระหว่างนักวิจัยนาโนเทคและคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ระหว่างการยื่นคำขอสิทธิบัตรไทย และทดสอบในอาสาสมัคร รวมถึงพัฒนาต้นแบบในระดับอุตสาหกรรม

และผลงานจากนาโนเทค ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้...

ผู้อำนวยการศูนย์ฯ บอกว่ายังมีผลงานที่น่าสนใจและกำลังจะยื่นจดสิทธิบัตรอีกหลายผลงาน เช่น เทคนิคใหม่ในการตรวจสอบลายนิ้วมือ ผลงานจากความร่วมมือของนาโนเทคและสถาบันเอไอที

จากองค์ประกอบของเหงื่อคน ซึ่งมีน้ำ 98-99% เป็นเกลือ 0.8% และที่เหลือ 0.2% เป็นกรดไขมัน การตรวจสอบลายนิ้วมือแบบเดิม ๆ จะใช้ผงแป้งโรยกรณีรอยนิ้วมือบนที่แห้ง หากเลือนรางจะใช้สารเคมี เพื่อตรวจสอบจากเกลือที่เหลืออยู่ แต่หากตกน้ำ เกลือละลายหาย ไป เหลือเพียงกรดไขมันที่ มีน้อยมาก งานวิจัยนี้จึงพัฒนาสารตรวจสอบลายนิ้วมือจากไขมัน เนื่องจากมีน้อย สารที่ตรวจสอบจึงต้องมีอนุภาคที่เล็กมากระดับนาโนเมตร งานวิจัยนี้ใช้อนุภาคนาโนของทองคำซึ่งเรืองแสงเห็นได้ง่ายผสมสารไคโดแซนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่หาง่ายเพราะมาจากเปลือกหอยเปลือกปูนำมาเป็นสารตรวจสอบ

ต้นแบบผลิตภัณฑ์นี้อยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตร ผู้อำนวยการนาโนเทคบอกว่าใครสนใจต่อยอดระดับอุตสาหกรรมก็เชิญได้ที่นาโนเทค

นอกจากการสร้างผลงานด้านนาโนเทคโนโลยี อีกภารกิจที่สำคัญของศูนย์นาโนเทคแห่งนี้ก็คือการให้บริการอุปกรณ์ทดสอบสินค้านาโนเทค อำนวยความสะดวกให้ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ต้องส่งชิ้นงานไปตรวจสอบถึงต่างประเทศ

หน่วยบริการนี้มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถตรวจสอบวิเคราะห์คุณสมบัติของวัตถุทั้ง ลักษณะทางกายภาพ ชีวภาพ และองค์ประกอบทางเคมีต่าง ๆ

เป้าหมายบริการนี้ไม่ใช่เพื่องานวิจัยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีส่วนช่วยในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอีกด้วย เพราะ...จากกระแสนาโน.. ที่เกลื่อนตลาด จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ผลิตภัณฑ์นั้น เป็น “นาโนแท้”... หรือว่า “โอเวอร์เคลม”.
‘นาตยา คชินทร’
nattayap@dailynews.co.th

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=144133&NewsType=1&Template=1

No comments: