Thursday, October 18, 2007

เจ้าพระยา ชีวิตบนแผ่นฟิล์ม


เจ้าพระยา สายเลือดของชีวิตลุ่มน้ำภาคกลางถูกคัดเลือกให้เป็นนักแสดงนำของภาพยนตร์สารคดีวิทยาศาสตร์เรื่องใหม่ของเนชั่นทีวี สายน้ำที่คนไทยยกย่องเรียก 'แม่' ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และอารยธรรม จะมาบอกเรื่องราวของเธออีกครั้ง จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา ถ่ายทอด

เมื่อลำน้ำสายสำคัญของคนไทยกำลังตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลง เจ้าพระยากำลังสิ้นใจ แล้วคนไทยจะอยู่ได้อย่างไร คำถามนี้ผุดขึ้นในหัวของ ชวลิต เผ่าผม หนึ่งในทีมผลิตภาพยนตร์เจ้าพระยา จากเนชั่นทีวี

ชวลิตเป็นหนึ่งในคนทำหนังที่มากด้วยประสบการณ์ เขาได้พิสูจน์ฝีมือกับการรับหน้าที่เขียนบทรายการสารคดีเชิงข่าวอย่างจุดชนวนความคิด และฝากฝีมือไว้กับสารคดีเชิงสิ่งแวดล้อมอย่าง โลกร้อน และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง

แม้จะเป็นคนลุ่มน้ำเจ้าพระยามาแต่กำเนิด แต่การร้อยเรียงชีวิตและเรื่องราวของสายน้ำที่ยอมรับกันว่าเป็นสายโลหิตของคนภาคกลางไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

เจ้าพระยาเป็นสายน้ำที่มิติทางประวัติศาสตร์ อารยธรรม วัฒนธรรมและสังคม เช่นเดียวกับแม่น้ำเทมส์ แม่น้ำดานูบ ไทกริส-ยูเฟรติส และไนล์

ในอดีต ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีญี่ปุ่นทีมเดียวกับที่เคยทำภาพยนตร์สารคดีชุด 'เส้นทางสายไหม' เคยบุกตะลุยขึ้นไปถึงทิเบตเพื่อสืบเสาะหาแหล่งกำเนิดของ 'ฮวงโห สายเลือดสำคัญของอารยธรรมและสังคมจีน'

เช่นเดียวกัน การบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าพระยา จึงเปรียบเสมือนนำชีวิตของคน 'หลายรุ่น' และ 'หลายชีวิต' มาปรากฏบนแผ่นฟิล์ม แต่สิ่งที่ท้าทายกว่านั้นคือ การสะท้อนชีวิตของเจ้าพระยาในมิติทางวิทยาศาสตร์

ชวลิต เล่าว่า เรื่องราวทั้งหมดได้ถ่ายทอดลงบนแผ่นฟิล์ม โดยทีมงานใช้เวลาเกือบ 2 ปี โดยวางโครงเรื่อง หาข้อมูล และบุกป่าฝ่าดง ลงพื้นที่สำรวจต้นน้ำทั้ง 4 สายที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อ ปิง วัง ยม น่าน

"โดยหลักแล้ว การนำเสนอเนื้อหาที่คาบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ถือว่าค่อนข้างยาก การผลิตภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ให้สมบูรณ์ จำเป็นต้องใช้เวลาและเงินทุนมาก หากเทียบกับสารคดีวิทยาศาสตร์ระดับมืออาชีพจริงๆ อย่างเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ทุกอย่างคือการลงทุน ใช้เวลาถ่ายทำนานหลายปี เพื่อให้ได้ภาพตรงตามที่ต้องการ" เจ้าของผลงาน กล่าว

ก่อนหน้านี้ทีมผลิตภาพยนตร์จากเนชั่นทีวี ได้ฝากผลงานหนังวิทยาศาสตร์ เรื่อง 'สึนามิ ความรู้เพื่อความหวัง' ซึ่งเข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 2 ในปี 2549 โดยในปีนี้ 'เจ้าพระยา' (The Chao Phraya) ได้รับให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยเพียงเรื่องเดียวที่เข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 3 ร่วมกับภาพยนตร์อีก 26 เรื่อง จาก 12 ประเทศ

'เจ้าพระยา' ภาพยนตร์ความยาว 40 นาที คือภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของคนไทย ที่ได้หยิบยกเอากรณีตัวอย่างของแม่น้ำสายเลือดใหญ่ของคนไทย มาสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติของสิ่งแวดล้อมในเชิงวิทยาศาสตร์ ด้วยทุนสร้าง 1 ล้านบาท ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

"เราแค่ต้องการพิสูจน์ว่าคนไทยก็สามารถทำหนังสารคดีวิทยาศาสตร์ที่คนจำนวนมากให้ความสนใจได้เช่นกัน โดยในอนาคตเราอาจจะผลิตรายการอย่างเมก้าเคลฟเวอร์ หรือสารคดีวิทยาศาสตร์ได้เอง หากมีเงินทุนสนับสนุน และเวลาในการผลิตผลงาน" ชวลิตกล่าว
มนธิดา สีตะธนี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการสื่อสารวิทยาศาสตร์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) จากสวทช. บอกว่า ที่ผ่านมา สวทช. ได้นำเข้ารายการทีวีที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ อย่าง 'เมก้าเคลฟเวอร์ ฉลาด สุด .. สุด'

หรือรายการสั้นที่นำเสนอนวัตกรรมและวิทยาการใหม่ อย่าง 'บียอนทูมอโรว์' ตลอดจนให้ทุนสนับสนุนมืออาชีพให้สร้างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ เช่น 'สึนามิ ความรู้เพื่อความหวัง' 'สายไหม วิถีชีวิตไทย สู่สากล' แอนิเมชันเรื่อง The moon 'ดวงจันทร์ มากกว่า 140 ดวง' มาจนถึง 'เจ้าพระยา'

"เจ้าพระยา นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ การเปลี่ยนแปลงของสายน้ำที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิต ผ่านทางภาพยนตร์ ซึ่งมีส่วนจะช่วยสร้างสิ่งที่มองไม่เห็น สิ่งที่เป็นนามธรรม ให้เป็นรูปธรรม จับต้องได้ และสร้างให้เกิดความเข้าใจได้มากขึ้น" ตัวแทนผู้ให้ทุนกล่าวและว่า การสนับสนุนงบประมาณเพื่อผลิตภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ของคนไทยที่มีความสมบูรณ์มากที่สุด เป็นอีกหนึ่งความหวังในการสร้างแรงจูงใจให้มืออาชีพหันมาผลิตภาพยนตร์วิทยาศาสตร์มากขึ้น

เหตุผลที่หนังวิทยาศาสตร์พันธุ์แท้ ยังไม่โดดเด่นจนได้ปรากฏโฉมบนแผ่นฟิล์มหรือจอแก้ว เหมือนกับหนังไซไฟ ที่ผสานระหว่างหลักวิทยาศาสตร์บวกกับจินตนาการบรรเจิดของผู้เขียนบท ที่ถึงแม้บางช่วงบางตอนของหนัง จะปนเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่ผิดเพี้ยนไปบ้าง
แต่คนดูก็ยอมที่จะควักกระเป๋าตีตั๋วเข้าชม ไม่ว่าจะผลิตออกมากี่ครั้งกี่ตอน ทั้งการเดินทางในอวกาศอย่างสตาร์วอร์ส โคลนนิ่ง โรบอท กระทั่งล่าสุดกับผีชีวะ ที่ลอยลำขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศเพียงสัปดาห์แรกที่ออกฉาย

กระแสตอบรับภาพยนตร์แนวไซไฟ หรือแนววิทยาศาสตร์ ส่งผลให้ผู้ผลิตหนังทั่วโลกพร้อมที่จะทุ่มทุนมหาศาลเพื่อสร้างหนังวิทยาศาสตร์ดีๆ สักเรื่องมาเอาใจคนดู

ความสนใจดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตหนังรายย่อยเริ่มหันมาผลิตสารคดีวิทยาศาสตร์ เป็นทางเลือกให้คนดูจอแก้ว ซึ่งผลตอบออกมาค่อนข้างดี แม้ในประเทศไทยรายการทีวีที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ก็ฮอตฮิตติดลมบน ไม่ว่าจะเป็นสารคดีส่องโลก แดนสนธยา หรือแม้แต่เกมโชว์ ฉลาด สุด .. สุด กับเมก้าเคลฟเวอร์ที่แม้จะลาจอไปแล้ว ก็ยังกลับมารีรันให้ได้ชมกันอีกครั้ง

อาจณา เซาเรอร์ ผู้จัดการโครงการเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ จากสถาบันเกอเธ่ บอกว่า ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าโปรแกรมรายการทีวีในปัจจุบันเริ่มสอดแทรกรายการที่มีเนื้อหาสาระทางวิทยาศาสตร์ให้เห็นมากขึ้น ซึ่งกระแสตอบรับจากจำนวนผู้ชมเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ผู้จัด เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับรายการแนวนี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามรายการวิทยาศาสตร์ที่นำมาฉายในทีวีส่วนใหญ่ จะเป็นสารคดี เกมโชว์ รายการความรู้เชิงทดลองสั้นๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ รายการที่เป็นของคนไทยจริงๆ แทบจะไม่มีให้เห็นเลย ซึ่งการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง จะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตภาพยนตร์มืออาชีพในประเทศไทย ได้มองเห็นถึงอีกช่องทางหนึ่งในการทำภาพยนตร์

"ที่ผ่านมาทีมงานได้เปิดโอกาสให้ผู้กำกับหนังได้เข้ามามีส่วนในการคัดเลือกหนังวิทยาศาสตร์จากหลากหลายประเทศ เป็น 100 เรื่อง ก่อนเข้าฉายในวันจริง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการจุดประกายให้ผู้กำกับหนังไทยได้เห็นแนวทางของการผลิตภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ของประเทศต่างๆ และเริ่มมีความคิดที่จะทำภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ขึ้นเองบ้าง" อาจณา กล่าว

ในปีแรกของงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ หนังวิทย์จากประเทศไทยที่ส่งเข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นหนังที่ส่งมาจากหน่วยงานราชการ ในลักษณะหนังสั้นๆ ที่อธิบายถึงลักษณะงานขององค์กรมีองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ปะปนอยู่ ทำให้หนังวิทย์จากประเทศไทยไม่มีความโดดเด่นเมื่อเทียบกับหนังจากต่างประเทศ

"ปัจจุบันหน่วยงานรัฐเองเริ่มให้ความสนใจที่จะผลิตหนังวิทยาศาสตร์ที่มีรูปแบบของภาพยนตร์จริงๆ มากขึ้น ซึ่งการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เป็นเวทีในการนำเสนอผลงาน ตลอดจนกระตุ้นการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และสร้างจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ภายนอกห้องเรียน ให้เยาวชนเกิดความรู้และความเข้าใจเนื้อหาวิทยาศาสตร์มากกว่าในหนังสือ เพราะเอาเข้าจริงแล้วโอกาสที่เยาวชนจะได้ชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์นั้นมีอยู่ไม่มาก" ผู้จัดการโครงการเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ กล่าว

เดือนพฤศจิกายนนี้เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์จะเปิดฉากขึ้นอีกครั้ง ในปีที่ 3 ซึ่งกลายเป็นเทศกาลประจำปีที่คนดูภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ทั้งไทยและเทศเฝ้ารอ หากพิจารณาจากรายชื่อหนังที่นำมาฉายแล้วไม่ต่างจาก World Film Festival ที่ส่งตรงมาจากต่างประเทศ

แต่ที่แสดงความต่างน่าจะเป็นอายุผู้ชมที่น้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในชุดนักเรียนทั้งประถมและมัธยม เรียกว่าอ่าน Subtitle ยังไม่ค่อยจะทัน แต่ก็แห่มาดูกันแบบแน่นขนัด จนโรงหนังแทบไม่มีอากาศหายใจ

กลางเดือนกรกฎาคม ท้องฟ้าจำลองรังสิตคึกคักขึ้นทันตา เมื่อนักวิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน ผู้จัดรายการโทรทัศน์ และผู้กำกับศิลป์ ราว 20 คนมาพร้อมกันเพื่อนั่งพิจารณาภาพยนตร์วิทยาศาสตร์กว่า 100 เรื่อง จาก 12 ประเทศ ที่ส่งเข้าร่วมในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ครั้งนี้

เวลาผ่านไป 20 ชั่วโมง เมื่อหนังเรื่องสุดท้ายปิดฉาก เราได้รายชื่อภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ 57 เรื่องที่เข้าฉาย และอีก 26 เรื่องสำหรับเข้าชิง 6 รางวัลจากงานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์จากเยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรีย อังกฤษ แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม รวมทั้ง "เจ้าพระยา" ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศไทยด้วย

ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) บอกว่า จุดเด่นของภาพยนตร์ที่ผ่านเข้ารอบให้ฉายในเทศกาลครั้งนี้ คือการแสดงให้เห็นถึงความพยายามและความสามารถในการที่จะสื่อสารสาระและองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้รูปแบบที่เหมาะสม และใช้ศิลปะการถ่ายทำหรือการสร้างระดับสูงที่ช่วยให้เราเข้าใจได้ง่าย และชวนให้ดูสนุกน่าติดตาม

ในส่วนของรางวัลได้แบ่งย่อยออกเป็น รางวัลภาพยอดเยี่ยม รางวัลภาพยนตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา รางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไบเออร์ เกี่ยวกับสุขภาพ จากผู้สนับสนุนหลัก รางวัลภาพยนตร์สื่อวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม และรางวัลพิเศษจากคณะกรรมการ โดยผู้ชนะเลิศแต่ละรางวัลจะได้รับโล่ ประกาศนียบัตร พร้อมเงินรางวัล 500 ยูโร

"กิจกรรมการประกวดจะช่วยกระตุ้นให้คนทำหนังได้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเป็นรางวัลที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมฉายในเทศกาลนี้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์ที่มาจากต่างประเทศ ทั้งนักผลิตภาพยนตร์อิสระ ไปจนถึงมืออาชีพ" ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว

หลังจากที่ได้ภาพยนตร์ทั้ง 57 เรื่อง ถูกจัดเป็นหมวดหมู่ตามความเหมาะสมของเนื้อหาและสถานที่ฉาย สำหรับเด็กอนุบาล ประถม และมัธยม แบ่งเนื้อหาออกเป็นสาระบันเทิงเพื่อครอบครัว ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยี ตลอดจนวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ทั้งที่เกี่ยวกับชีววิทยา เคมี โลก และอวกาศ

ทุกเรื่องที่เข้าฉายจะต้องผ่านขั้นตอนการลงเสียงพากย์ภาษาไทย เพื่อเพิ่มอรรถรสการรับชมสำหรับเด็ก โดยปีนี้ สวทช. ได้สนับสนุนทุนให้กับสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ทำหน้าที่แปลภาษาและให้เสียงพากย์ภาษาไทย ทีมพากย์กว่า 10 ชีวิต ใช้เวลาตลอด 6 เดือนแฝงตัวอยู่ในสตูดิโอ 3 แห่ง เพื่อลงเสียงให้กับภาพยนตร์ทั้ง 57 เรื่อง ให้มีความสมจริงโดยไม่ต้องอาศัย Subtitle โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าชมเทศกาลหนังวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ประมาณ 20,000 คน

ปีนี้มีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ตัวแทนประเทศไทยทั้ง 2 เรื่อง ที่ได้รับเลือกเข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์ครั้งนี้ ได้แก่เรื่อง 'มหัศจรรย์บนใบบัว : ธรรมชาติสู่อนาคต' ผลิตโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และ 'เจ้าพระยา' จากทุนสร้างของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผลิตโดย 'เนชั่นแชนแนล'

ส่วนภาพยนตร์จากประเทศอื่นๆ ที่ร่วมฉาย เช่น 'ไบโอนิค' ซึ่งเกี่ยวกับการเรียนรู้จากธรรมชาติแบบใหม่ จากประเทศเยอรมนี และ 'มด พลังลึกลับจากธรรมชาติ' จากประเทศออสเตรเลีย รวมถึง 'แมวกับสุนัข ใครฉลาดกว่ากัน' 'ชีววิทยาของตัวตุ่น' 'วิทยาการธรรมชาติไบโอนิค' 'รถด่วนขบวนนักทดลอง' ชีวิตของจอมปลวกที่ต้องผจญกับภัยธรรมชาติ ใน 'ปราการที่ถูกล้อม'

ผู้สนใจสามารถคลิกดูรายชื่อหนัง เวลา และสถานที่จัดฉายได้ในเวบไซต์ www.goethe.de/sciencefilmfestival สำหรับวางแผนเตรียมตัวก่อนเข้าชม วันที่ 13-23 พฤศจิกายน นี้ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร และอุทยานการเรียนรู้ ทีเค ปาร์ค

แอบกระซิบบอกว่ารอบหนึ่งรับได้ไม่เกิน 240 ที่นั่ง คงต้องรีบไปจับจองพื้นที่กันก่อนเวลา เพราะถ้าพลาดปีนี้เห็นทีต้องรอไปถึงปีหน้า หนังดีๆ ไม่ได้มีมาให้ดูกันบ่อยๆ

จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/10/18/WW06_WW06_news.php?newsid=193326

No comments: