Tuesday, October 30, 2007

“ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ” แหล่งมั่วสุมทางวิชาการแห่งแรกของเด็กไทย


ถ้าพูดถึงเรื่องของดวงดาว อวกาศ หรือปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ผู้คนส่วนมากจะต้องนึกถึง “ท้องฟ้าจำลอง” เป็นอันดับแรก แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับฟากฟ้า ดวงดาว และห้องฉายดาวขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศไทย สถานที่ที่เด็กๆ จะได้ตื่นเต้นและสนุกสนานไปกับการดูดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนได้แม้ในเวลากลางวัน

“ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ” หรือที่คุ้นหูและเรียกกันจนติดปากชาวไทยมานานหลายสิบปีแล้วว่า “ท้องฟ้าจำลอง” อยู่บนถนนสุขุมวิท ใกล้กับสถานีขนส่งเอกมัย และเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งไม่ได้มีแค่ท้องฟ้าจำลองหรือห้องฉายดาวเท่านั้น แต่ยังรวบรวบเอาความรู้วิทยาศาสตร์ทุกสาขามาจัดแสดงไว้เป็นนิทรรศการถาวรให้ผู้เข้าชมได้อิ่มเอมกับอาหารสมองจานใหญ่ที่บรรดานักวิชาการได้จัดเตรียมไว้ให้

ส่วนเหตุที่ใครๆ มักเรียกกันว่า ท้องฟ้าจำลอง นั่นอาจเป็นเพราะแรกเริ่มเดิมทีที่เปิดให้บริการมีแต่อาคารรูปโดมครึ่งทรงกลมสูงกว่า 10 เมตร ที่บรรจุห้องฉายดาวเอาไว้ภายใน (อาคาร 1) แล้วจึงมีอาคารนิทรรศการอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาในภายหลัง ได้แก่ อาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาคารโลกใต้น้ำ อาคารธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอาคารวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ท้องฟ้าจำลองเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2507 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 43 ปีกว่าแล้ว

“ในสมัยนั้นขณะที่ ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็น รมว.กระทรวงศึกษาธิการ ท่านเห็นว่าเยาวชนเริ่มมั่วสุมกันมากขึ้น ท่านจึงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้สร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งนี้ขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้และเป็นที่มั่วสุมทางวิชาการของเด็กๆ ดีกว่าปล่อยให้เยาวชนมั่วสุมกันเองแล้วก่อเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์” อาจารย์กระจ่าง ธรรมวีระพงษ์ นักวิชาการประจำท้องฟ้าจำลองย้อนให้ฟังถึงที่มา

ในที่สุดแหล่งมั่วสุมทางวิชาการของเด็กๆ ได้ฤกษ์ตอกเสาเข็มเมื่อปี 2505 และเสร็จในปี 2507 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 12 ล้านบาท

กำเนิดของท้องฟ้าจำลอง เน้นที่การให้ความรู้ทางภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แก่เยาวชน โดยเน้นที่การจำลองให้เหมือนจริง ทำให้เข้าใจง่ายกว่าการบรรยายด้วยปากเปล่า เด็กๆ จะได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์ที่จะได้จากห้องฉายดาวด้วยเครื่องฉายดาวขนาดใหญ่ และจอรับภาพคล้ายกับจอภาพยนตร์ขนาดยักษ์ขึงเป็นโดมรูปครึ่งทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เมตร ภายในห้องฉายดาวจุผู้ชมได้มากถึง 360 คน จัดเป็นห้องฉายดาวขนาดใหญ่ตามมาตรฐานสากลทีเดียว

อ.กระจ่าง อธิบายต่อว่า ห้องฉายดาวจะฉายให้ผู้ชมได้เห็นท้องฟ้าในค่ำคืนของวันที่ฉาย ซึ่งจะไม่เหมือนกันในแต่ละวัน แต่ก็จะไม่แตกต่างกันมากนักในวันที่ใกล้เคียงกัน โดยเน้นให้ความรู้ในเรื่องดาราศาสตร์และการดูดาวขั้นพื้นฐานแก่เยาวชนและประชาชนที่เข้าชม

“ระหว่างการฉายดาวบนท้องฟ้ายามค่ำคืนของแต่ละวัน ก็จะมีเรื่องพิเศษฉายคั่น ซึ่งได้กำหนดตารางการฉายไว้แล้วในแต่ละปี แต่ละเรื่องจะฉายนานประมาณ 2 เดือน อย่างเช่น ในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. นี้กำลังฉายเรื่องสถานีอวกาศนานาชาติ พอเข้าเดือน พ.ย. – ธ.ค. เป็นช่วงที่ท้องฟ้าโปร่ง เมฆน้อย เหมาะกับการดูดาวอย่างยิ่ง เราก็จะฉายเรื่องวิธีการดูดาว หรือถ้าช่วงไหนมีปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ ก็จะฉายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ เช่น สุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทยเมื่อปี 2538 ก็ฉายเรื่องการสุริยุปราคาตลอดช่วงนั้น” อ.กระจ่าง อธิบาย ซึ่งเรื่องพิเศษที่จะฉายขึ้นอยู่กับฤดูกาลและปรากฏการณ์ด้วย

จากบัณฑิตสาขาวิชาดาราศาสตร์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.กระจ่าง ก็เข้ารับราชการ ตำแหน่งนักวิชาการ ประจำท้องฟ้าจำลองกรุงเทพมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยมีหน้าที่หลักในการเผยแพร่ความรู้ด้านดาราศาสตร์ให้กับเยาวชน ทั้งจัดนิทรรศการ ค่ายดาราศาสตร์ และกิจกรรมการเรียนการสอนต่างๆ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายระหว่างการฉายดาว สลับสับเปลี่ยนกันกับนักวิชาการประจำคนอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีนักวิชาการประจำท้องฟ้าจำลองทั้งหมด 3 คน แต่ในสมัยแรกๆ ได้มีการเชิญนักวิชาการจากข้างนอกมาร่วมบรรยายด้วย

“ทุกคนจะมีตารางเวรบรรยายในห้องฉายดาวหมุนเวียนกันไป เราไม่ใช้วิธีอัดเทปเสียงผู้บรรยายเอาไว้เปิดในเวลาแสดงการฉายดาว เพราะว่าดาวที่เราฉายในแต่ละวันเป็นภาพดาวของค่ำคืนวันนั้นๆ ซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละวัน และเราเน้นให้ผู้ชมความมีรู้พื้นฐานการดูดาวของวันนั้น จึงใช้การบรรยายสดเหมาะสมที่สุด” อ.กระจ่าง อธิบาย ซึ่งขณะฉายดาว ผู้บรรยายจะมีช่างเทคนิคเป็นผู้ช่วยด้วยอีก 1 คน

นอกจากการฉายดาวในแต่ละวันและเรื่องพิเศษที่ฉายในแต่ละเดือนแล้ว ยังมีเรื่องพิเศษเกี่ยวกับดาราศาสตร์และอวกาศเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่อง แต่จะเป็นเรื่องเฉพาะทางและเนื้อหาเข้มข้นมากขึ้น อาจไม่ค่อยเป็นที่สนใจหรือเข้าใจยากสำหรับเด็กและประชาชนทั่วไป แต่หากกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือสถานศึกษาใดต้องการชม ก็สามารถติดต่อล่วงหน้าให้ฉายเรื่องพิเศษโดยจัดเป็นรอบพิเศษได้ ซึ่ง อ.กระจ่าง บอกว่า ที่จริงท้องฟ้าจำลองก็เปรียบเสมือนห้องเรียนดาราศาสตร์อีกห้องหนึ่งนั่นเอง

อ.กระจ่าง เล่าต่อว่า ตั้งแต่ท้องฟ้าเปิดให้บริการประชาชนมาตั้งแต่ปี 2507 เคยเปลี่ยนจอภาพใหม่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นเมื่อหลายปีก่อน ใช้งบประมาณราว 20 ล้านบาท ส่วนเครื่องฉายดาวยังคงเป็นเครื่องเดิมตั้งแต่ฉายครั้งแรก ซึ่งเป็นระบบที่ยังควบคุมด้วยผู้ใช้เอง ไม่ได้ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เหมือนเครื่องฉายดาวรุ่นใหม่ๆ และแม้ประสิทธิภาพของเครื่องฉายดาวนี้อาจลดลงไปบ้าง แต่ก็ไม่เลวร้ายถึงขนาดใช้การไม่ได้

“เครื่องฉายดาวรุ่นที่ใช้เราใช้อยู่ตอนนี้เป็นของบริษัท คาร์ลไซซ์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งรุ่นนี้เขาเลิกผลิตไปแล้ว และเหลือเพียงเครื่องเดียวในโลกที่ยังใช้งานอยู่ ต่างประเทศที่เขาเคยใช้รุ่นนี้ เขาก็เปลี่ยนไปใช้รุ่นที่ทันสมัยกว่าแล้ว รุ่นเก่าก็จัดแสดงไว้ให้ดูกัน” อ.กระจ่าง เล่าถึงเครื่องฉายดาวสุดคลาสสิกของบ้านเราที่ไม่มีท้องฟ้าจำลองที่ไหนเหมือน

ทว่าเครื่องฉายดาวรุ่นเก๋าของเรา ตอนนี้ไม่สามารถฉายให้เห็นดวงจันทร์ได้แล้ว แต่ อ.กระจ่าง ก็ปลอบใจว่า ไม่เห็นดวงจันทร์เพียงอย่างเดียวก็ไม่เป็นไร เพราะเราก็ยังเห็นดาวดวงอื่นๆ ครบทั้งหมด เรายังเรียนรู้เรื่องราวของดาวดวงอื่นๆ ได้ไม่ต่างจากเดิม และหากจะเปลี่ยนเครื่องใหม่ก็ต้องใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศเราในตอนนี้ เพราะเครื่องเดิมก็ยังใช้การได้ เพียงแต่ไม่มีดวงจันทร์ให้ชม

ปกติแล้วห้องฉายดาวของท้องฟ้าจำลองจะเปิดแสดงให้ชมกันวันละ 4 รอบ ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ และปิดทุกวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่หากช่วงไหนมีปรากฏการณ์สำคัญ วันสำคัญ หรือมีโรงเรียนต่างๆ สนใจจำนวนมากก็อาจเพิ่มรอบได้ตามความเหมาะสม ที่ผ่านมาเคยเปิดแสดงสูงสุด 16 รอบต่อวัน เมื่อครั้งดาวหางฮัลเลย์เข้าใกล้โลกในปี 2529 และในช่วงวันเด็กของทุกปีก็ฉายวันละ 9-10 รอบ โดยเฉลี่ยจะมีผู้เข้าชมในแต่ละปีประมาณ 3 แสนคน และเคยสูงสุดถึง 6 แสนคนต่อปี

นอกจากท้องฟ้าจำลองกรุงเทพย่านเอกมัยแห่งนี้แล้ว หลายคนอาจไม่ทราบว่ายังมีท้องฟ้าจำลองอีก 2 แห่ง คือ ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต คลองหก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี และที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งทั้ง 2 แห่งยังมีอายุไม่มากนักและขนาดไม่ใหญ่เท่า แต่อาจมีเครื่องฉายดาวที่ทันสมัยกว่า ส่วนเรื่องราวที่ฉายก็คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว

ส่วนในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยจะมีท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่เพิ่มอีก 4 แห่ง ใน 4 ภูมิภาคของประเทศ ซึ่ง อ.กระจ่าง ให้ข้อมูลว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเพิ่มในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น โดยแห่งแรกที่กำลังเริ่มดำเนินการก่อสร้างคือที่ จ.ร้อยเอ็ด ส่วนอีก 3 แห่ง ยังไม่ชัดเจน แต่คงได้ข้อสรุปในไม่ช้านี้

แม้จะมีท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธท้องฟ้าจำลองกรุงเทพแห่งนี้ได้ ในฐานะท้องฟ้าจำลองแห่งแรกในประเทศไทย แหล่งมั่วสุมทางวิชาการที่ได้ทั้งความรู้และเพลิดเพลินของเยาวชนรุ่นคุณพ่อคุณแม่ และจะยังคงเป็นเช่นนั้นต่อไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานไทยในอนาคต

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000117375

No comments: