Thursday, May 29, 2008

เด็กไทยคว้ารางวัลแข่งวิทยาศาสตร์โลก

นักเรียนมัธยมจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษากรุงเทพฯ และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เชียงใหม่ คว้าสองรางวัลจากผลงานประเภททีม ในงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือไอเซฟ ที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา

ผลงานของนักเรียนทั้งสองทีมที่สร้างชื่อเสียงได้แก่ โครงงานวิทยาศาสตร์เรื่อง การหมุนของหางเมล็ดหญ้าหนวดฤาษี ศึกษาโดยน.ส.ปรารถนา ชุนหคาม น.ส.อลิสรา ศรีนิลทา และนายชญา นิ่มจินดา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ ได้รับรางวัลที่ 3 ในประเภท แกรนด์ อวอร์ด เป็นทุนการศึกษามูลค่า 1,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 3.1 หมื่นบาท)

ทีมนักเรียนกล่าวว่าการแข่งขันครั้งนี้ช่วยให้เรียนรู้ผลงานของเพื่อนประเทศอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขามีกระบวนการคิดที่ละเอียดถี่ถ้วนมากกว่า มีรายละเอียดและเป็นระบบมาก หลายโครงงานน่าสนใจตรงที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ทีมงานตั้งใจว่าจะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้กับงานของตัวเองในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น

ส่วนอีกโครงงานหนึ่งคือไม้อัดยุคใหม่ผลิตได้จากวัชพืช พัฒนาโดยด.ช.ภีมเดช ประสิทธิ์วรเวทย์ ด.ช.ธนวรกฤต บางเขียว และ ด.ช.มนภาส หะรารักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย เชียงใหม่ ได้รับรางวัลที่ 2 ในประเภทสเปเชี่ยล อวอร์ด จากสมาคมวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เป็นทุนการศึกษามูลค่า 600 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.86 หมื่นบาท)

ผลงานของนักเรียนทั้งสองโรงที่เข้าประกวดอินเทลไอเซฟ ในปีนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก 2 หน่วยงานหลักในประเทศไทย ได้แก่ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

Tuesday, May 27, 2008

เตือนให้ระวัง "ท่อนาโนคาร์บอน" ก่อมะเร็งได้เทียบเท่าแร่ใยหิน


เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะทำผลิตภัณฑ์ใหม่อะไรออกมาก็มักจะมีคำว่า "นาโน" เข้าไปมีเอี่ยวด้วยเสมอ จะนาโนแท้นาโนหลอกหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ นาโนไม่ได้ปลอดภัยไปเสียหมด เพราะล่าสุดนักวิจัยแดนผู้ดีพบว่าหาก "คาร์บอนนาโนทิวบ์" หลุดเข้าไปในปอดแล้วล่ะก็ มีสิทธิ์เป็นมะเร็งร้ายได้เหมือนสูดเอาแร่ใยหินเข้าไปเลยทีเดียว

ทีมนักวิจัยนำโดย ศ.เคนเนธ โดนัลด์สัน (Prof. Kenneth Donaldson) แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) สหราชอาณาจักร ทดสอบผลของ "คาร์บอนนาโนทิวบ์" (carbon nanotube) หรือ "ท่อนาโนคาร์บอน" ในหนูทดลอง พบสามารถทำให้เกิดมะเร็งที่ปอดได้เหมือนกับมะเร็งที่เกิดจากแร่ใยหิน (asbestos) โดยได้รายงานผลการวิจัยลงในวารสารเนเจอร์นาโนเทคโนโลยี (Nature Nanotechnology) และหลายสำนักข่าวก็ให้ความสนใจและนำมารายงานให้ทราบกันทั้งสำนักข่าวเอเอฟพี บีบีซีนิวส์ และไซน์เดลี

ในไซน์เดลีรายงานว่า ศ.โดนัลด์สัน ได้ศึกษาผลของคาร์บอนนาโนทิวบ์ต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งตัวอย่างที่นำมาศึกษา ได้แก่ เส้นใยของคาร์บอนนาโนทิวบ์ชนิดสั้นและยาว กับแร่ใยหินขนาดสั้นและยาวเช่นเดียวกัน โดยนำวัตถุเหล่านี้ฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูทดลอง ผลปรากฏว่าเส้นใยขนาดยาว มีผลต่อปอดของหนูที่รับมันเข้าไป

"ผลการทดลองกระจ่างชัดมาก คาร์บอนนาโนทิวบ์ชนิดยาวและบาง ทำให้หนูมีอาการปลอดอักเสบได้เช่นเดียวกับอาการปอดอักเสบที่เกิดจากแร่ใยหินขนาดยาวและบาง" ศ.โดนัลด์สัน เผย

สำนักข่าวบีบีซีนิวส์รายงานเพิ่มเติมว่า หนูที่ได้รับคาร์บอนนาโนทิวบ์ดังกล่าวเข้าไปภายในช่วง 7 วันแรก ก็แสดงอาการปอดอักเสบให้เห็นมากที่สุด และกว่าจะหายเป็นปกติก็ดินเวลา 1-2 เดือนถัดมา

ทั้งนี้ เพราะการที่แร่ใยหินมีขนาดบางมาก จึงสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปในปอดได้ และด้วยขนาดความยาวที่เหมาะเจาะพอดีที่เข้าไปปะปนอยู่ในปอด ทำให้ปอดไม่สามารถขจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ออกไปได้ จนลุกลามกลายเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอด (mesothelioma) ในที่สุด ซึ่งพิษภัยของแร่ใยหินนี้เคยสร้างหายนะใหญ่หลวงให้ประชาชนในสหรัฐฯ มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน

ส่วนคาร์บอนนาโนทิวบ์เป็นคาร์บอนที่มีอะตอมจัดเรียงตัวกันในอีกรูปแบบหนึ่ง คือเป็นแผ่นแกรไฟต์ (graphite) ที่มีโครงสร้างเป็นรูปทรงกระบอกกลวงคล้ายท่อ อาจประกอบด้วยแผ่นแกรไฟต์เพียงชั้นเดียวหรือหลายชั้นก็ได้ เส้นผ่านศูนย์กลางของท่ออาจมีขนาดเล็กมากๆ แค่ไม่กี่สิบนาโนเมตร และอาจยาวนับร้อยนับพันนาโนเมตร

คาร์บอนนาโนทิวบ์ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่มากๆ เพราะเพิ่งค้นพบได้เมื่อราว 20 ปีที่ผ่านมานี้เอง และด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นเหนือวัสดุอื่นๆ มีน้ำหนักเบาราวกับพลาสติก แต่แข็งแกร่งดุจเหล็ก ทำให้นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจนาโนคาร์บอนเป็นอย่างมาก

อีกทั้งศักยภาพที่เหนือกว่านี้เอง จึงคาดการณ์กันว่าคาร์บอนนาโนทิวบ์จะกลายเป็นสุดยอดวัสดุแห่งโลกในศตวรรษที่ 21 ที่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด เช่น อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ไฟฟ้า แบตเตอรี และยา แต่อย่างไรก็ดี เรื่องความปลอดภัยของคาร์บอนนาโนทิวบ์ต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมก็ยังไม่มีข้อมูลมากนัก

แม้ผลการทดลองจะระบุว่าท่อนาโนคาร์บอนเป็นอันตรายกับปอดของหนู แต่นักวิจัยก็ยังไม่แน่ใจว่าคาร์บอนนาโนทิวบ์นี้จะล่องลอยไปตามอากาศหรือสูดหายใจเข้าไปได้เหมือนใร่ใยหินหรือไม่ แต่แน่นอนว่าถ้าหากคาร์บอนนาโนทิวบ์เข้าถึงปอดเมื่อไหร่ ปอดก็จะไม่ปลอดภัยเมื่อนั้น และหากมีปริมาณมากเพียงพอก็จะก่อให้เกิดมะเร็งเยื่อที่หุ้มปอดได้อย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากนี้ ศ.โดนัลด์สัน กล่าวกับบีบีซีนิวส์อีกว่า นักวิจัยคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะถึงจะบอกได้ว่าคาร์บอนนาโนทิวบ์รูปแบบใดบ้างที่จะทำให้เกิดมะเร็งได้

อย่างไรก็ดี ยังมีแพทย์และนักวิจัยที่ร่วมกันศึกษาในเรื่องนี้อีกหลายคนออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และอยากให้มีมาตรการควบคุมความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคาร์บอนนาโนทิวบ์ที่เป็นหลักประกันและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ด้วย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000059747

Thursday, May 22, 2008

อีก 3 ปีมี "เวชสำอางนาโน" จากสมุนไพรไทยสู่ตลาด

นาโนเทคจับมือ 5 มหาวิทยาลัยวิจัย "เวชสำอางนาโน" จากสมุนไพรไทย ตั้งเป้า 3 ปีมีเครื่องสำอางต้นแบบออกสู่ตลาด ด้านอาจารย์จุฬาฯ เชื่อความร่วมมือช่วยให้งานวิจัยก้าวหน้าเร็วขึ้น

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ลงนามความร่วมมือในโครงการโปรแกรมวิจัยร่วมด้านนาโนเวชสำอางสมุนไพรไทยกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยนเรศวร ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 22 พ.ค.51 โดยมี นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมเป็นสักขีพยาน

ภายในพิธีลงนามผู้จัดการวิทยาศาสตร์ยังพบว่า แต่ละสถาบันได้นำเครื่องสำอางที่ต่างพัฒนาขึ้นมาก่อนความร่วมมือครั้งนี้มาแจกจ่ายแก่ผู้มาร่วมงานด้วย ตัวอย่างของเครื่องสำอางดังกล่าว อาทิ ครีมตะไคร้หอมไล่ยุงจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครีมจากสารสกัดกวาวเครือและขมิ้นชัน ซึ่งบรรจุอยู่ในรูปแคปซูลนาโนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

ทั้งนี้ ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้รายงานถึงความเป็นของความร่วมมือครั้งนี้ว่า ทางศูนย์นาโนเทคได้เล็งเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของสมุนไพรไทยที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นทุกปี

อีกทั้ง ดร.วิวัฒน์ชี้แจงตัวเลขในภายหลังกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ปีที่ผ่านมาไทยมีมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางมากถึง 50,000 ล้านบาท แต่ไม่ใช่สมุนไพรหรือเครื่องสำอางจากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ทั้งนี้คาดว่าอนาคตเวชสำอางนาโนจากสมุนไพรไทยน่าจะทำส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 1,000 ล้านบาท

"ระยะแรกของความร่วมมือ 3 ปีคาดว่าจะได้ต้นแบบของเวชสำอางสมุนไพรไทยที่พัฒนาด้วยนาโนเทคโนโลยีออกสู่เชิงพาณิชย์ โดยผ่านการวิจัยอย่างเป็นระบบและปลอดภัยในการใช้งานจริง"

"ภายใน 3 ปีนี้จะลงทุน 50 ล้านบาทซึ่งคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าได้เป็น x เท่า แต่กำลังศึกษาอยู่ว่า x นี้เป็นเท่าไหร่ อาจจะเป็น 20 ซึ่งเท่ากับว่าเพิ่มยอดขายได้ถึง 1,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วจะขายได้ทันที ยังต้องมีเรื่องอื่นๆ อีก" ดร.วิวัฒน์กล่าว

สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่จะออกมานั้นผู้อำนวยการนาโนเทคชี้แจงกับกลุ่มผู้สื่อข่าวว่าเป็นเครื่องสำอางประเภทไวเทนนิงหรือออกฤทธิ์ให้ผิวขาว และเครื่องสำอางประเภทต้านริ้วรอย ซึ่งกำลังศึกษาสมุนไพรอยู่ประมาณ 20 ตัวที่มีอยู่ในเมืองไทย อาทิ ขมิ้นชัน มังคุด กวาวเครือขาว บัวบก ฟ้าทะลายโจร มะขามป้อม เป็นต้น

ด้าน รศ.ดร.อุบลทิพย์ นิมมานนิตย์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการระบบนำส่งยาและเครื่องสำอาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยซึ่งลงนามความร่วมมือกับนาโนเทคในครั้งนี้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้งานวิจัยทางด้านเครื่องสำอางก้าวหน้าเร็วขึ้น จากที่ต่างคนต่างทำก็จะกลายเป็นความร่วมมือและค้นหาวิธีดีที่สุดในการพัฒนาเครื่องสำอาง

สำหรับสมุนไพรไทยที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกำลังศึกษาเพื่อพัฒนาเป็นเครื่องสำอางมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด อาทิ ใบหม่อน มะขามป้อม มหาด ขมิ้นชัน เป็นต้น ซึ่งสารสกัดจากสมุนไพรเหล่านี้สามารถนำผลิตเป็นเครื่องสำอางได้เลยหรือบรรจุลงแคปซูลนาโนเพื่อให้คงตัวได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรด้วย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000059711

Wednesday, May 7, 2008

สุดยอด "แป้งนาโน" ลดโลกร้อน ดักจับคาร์บอนได้ 400 เท่าตัว


อเอฟพี - นักวิจัยเมืองน้ำหอมเจ๋ง ทำผงแป้งขนาดนาโนสำหรับดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสำเร็จ หวังใช้เป็นตัวกรองในรถยนต์-โรงงานอุตสาหกรรม ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมบรรเทาปัญหาโลกร้อน

คณะนักวิจัยของศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์แห่งฝรั่งเศส (National Centre for Scientific Research: CNRS) ประสบความสำเร็จในการพัฒนา "นาโนพาวเดอร์" (nano-powder) หรือผงแป้งขนาดนาโนที่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ดี นักวิจัยเตรียมต่อยอดนำไปใช้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์

เจราร์ด เฟแรอี (Gérard Férey) จากสถาบันลาวัวซิเอร์ (Lavoisier Institute) ในเมืองแวร์ซายส์ หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า พวกเขาได้พัฒนานาโนพาวเดอร์จากสารชนิดใหม่ที่เรียกว่า เอ็มไอแอล-101 (MIL-101) และสารนี้ในปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร ที่มีรูพรุนขนาด 3.5 นาโนเมตร สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 400 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมกว่านาโนพาวเดอร์ที่ผลิตแล้วในเชิงพาณิชย์ด้วยรูพรุนขนาดเล็กสุด 2.2 นาโนเมตร

นักวิจัยกล่าวต่อว่าสามารถใช้นาโนพาวเดอร์นี้เป็นตัวกรองไอเสีย ที่ถูกปล่อยจากรถยนต์เพื่อช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะถูกปล่อยออกมาได้ นอกจากนั้นก็ยังมีแนวคิดที่จะนำไปใช้ลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ทั้งจากโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ผลงานวิจัยการค้นพบ MIL-101 จะตีพิมพ์ลงในวารสารแลงมัวร์ (Langmuir) ของสมาคมเคมีอเมริกัน (American Chemical Society: ACS) ฉบับถัดไป

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000052786

ค่ำวันที่ 10 พฤษภา....มองฟ้าชม "จันทร์บังดาวอังคาร"


คืนวันเสาร์ที่ 10 พ.ค.นี้ คนไทยทั่วประเทศจะได้มีโอกาสชมปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก หากพลาดครั้งนี้อาจต้องรอชมอีกครั้งในอีก 13 ปีข้างหน้า

อาจารย์ประพีร์ วิราพร นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า ในคืนวันเสาร์ที่ 10 พ.ค.51 นี้ เวลาประมาณ 22.00 น.จะเกิดปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” (occultation) ขึ้นทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เปิดโอกาสให้คนไทยทั่วประเทศมองเห็นปรากฏการณ์ได้ด้วยตาเปล่า

อย่างไรก็ดี ผู้ชมปรากฏการณ์ในภูมิภาคต่างๆ จะเห็นปรากฏการณ์ในเวลาและตำแหน่งบนท้องฟ้าที่แตกต่างกันไปเล็กน้อย ผู้สังเกตปรากฏการณ์ใน จ.เชียงใหม่ จะได้เห็นปรากฏการณ์เป็นจังหวัดแรกของประเทศในเวลา 21.54 น.

สำหรับผู้สนใจชมปรากฏการณ์ควรเลือกสถานที่ที่ไร้แสงไฟรบกวนและปลอดจากต้นไม้ ตึกอาคาร หรือเมฆบัดบังทัศนียภาพใกล้ขอบฟ้า

ผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ อาจเริ่มสังเกตปรากฏการณ์ตั้งแต่ 21.00 น.เป็นต้นไป โดยจะเห็นดาวอังคารเป็นจุดสีส้มแดงอ่อนๆ และเคลื่อนที่น้อยมากเหนือด้านมืดของดวงจันทร์ในคืนขึ้น 6 ค่ำ ก่อนด้านมืดของดวงจันทร์จะค่อยๆ เคลื่อนขึ้นไปสัมผัสกับขอบนอกของดาวอังคารในเวลา 21.56 น. ที่มุมเงย 23 องศา และจะเคลื่อนบดบังดาวอังคารจนมิดในเวลาเพียง 12-13 วินาที

จากนั้นดวงจันทร์จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงค่อยๆ เคลื่อนผ่านดาวอังคาร และเผยให้เห็นดาวอังคารอีกครั้ง แต่เนื่องจากดาวอังคารจะไปปรากฏในด้านสว่างของดวงจันทร์ในตำแหน่งใกล้ขอบฟ้ามากขึ้นจึงอาจไม่เห็นปรากฏการณ์ด้วยตาเปล่า โดยดวงจันทร์จะเคลื่อนผ่านดาวอังคารทั้งดวงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งในเวลา 22.42 น.ถือเป็นอันสิ้นสุดปรากฏการณ์

ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ของสมาคมดาราศาสตร์ไทย นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากประเทศไทยแล้ว หลายประเทศในเอเชียก็มีโอกาสสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน ได้แก่ ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เนปาล พม่า กัมพูชา ดินแดนทิเบต เกาะน้อยใหญ่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาวและเวียดนาม รวมไปถึงซีกตะวันตกของมาเลเซียและอินโดนีเซีย

นายวรเชษฐ์ เผยอีกว่า ตั้งแต่ปี 2501 เป็นต้นมา ได้เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคารมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 16 ส.ค.29 คนไทยสามารถเห็นปรากฏการณ์ได้จากทุกจุดทั่วประเทศ โดยปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคารวันที่ 10 พ.ค.นี้จะเป็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ครั้งล่าสุดหลังจากวันที่ 24 ม.ค.45 ที่เกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์มาแล้ว

ด้านอาจารย์วรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดูดาวเจ้าของหอดูดาวบัณฑิต ต.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งหมายมั่นปั้นมือว่าจะร่วมสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้ พร้อมบันทึกภาพและจัดทำเป็นคลิปวีดิโอปรากฏการณ์เผยแพร่ ได้อธิบายที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า เกิดจากการที่ตำแหน่งของผู้สังเกตการณ์บนโลก (ไม่ใช่ "ตำแหน่งของโลก" เพราะไม่ใช่ทุกตำแหน่งบนโลกที่เห็นปรากฏการณ์ได้) ตำแหน่งดวงจันทร์ และตำแหน่งของดาวอังคารมาอยู่ในแนวเดียวกันพอดี คล้ายกับการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา แต่สลับกันระหว่างดาวอังคารและดวงอาทิตย์

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าปรากฏการณ์ประเภทนี้จะเกิดขึ้นเป็นวงรอบ ซึ่งนักดาราศาสตร์สามารถคำนวณการเกิดปรากฏการณ์ได้ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อใดด้วยโปรแกรมเฉพาะ เนื่องจากดวงดาวแต่ละดวงในระบบสุริยจักรวาลต่างมีวงโคจรที่แตกต่างกัน การคำนวณการเกิดปรากฏการณ์จึงต้องอาศัยโปรแกรมที่จัดทำเฉพาะปรากฏการณ์นั้นๆ

อย่างไรก็ดี อาจารย์ประพีร์ นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากและสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้จะไม่มีความหมายในเชิงการค้นคว้าวิจัยด้านดาราศาสตร์ แต่ก็เปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจดาราศาสตร์ใช้เป็นแบบฝึกหัดภาคสนามในการวัดระยะเชิงมุมระหว่างดวงจันทร์และดาวอังคารที่ระยะต่างๆ ได้

นอกจากนี้อาจารย์ประพีร์ แนะนำด้วยว่า ผู้ที่มีกล้องสองตา กล้องสองตาจะช่วยให้เห็นดาวอังคารได้ชัดขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ที่ต้องการบันทึกภาพเหตุการณ์ไว้ด้วยควรใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาด 14 นิ้วขึ้นไป โดยควรไปชมกันเป็นหมู่คณะและไม่ควรไปชมในสถานที่เปลี่ยวเพื่อให้ชมปรากฏการณ์ได้อย่างปลอดภัยที่สุด

ส่วนปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวอังคาร” ที่สังเกตเห็นได้ในประเทศไทยครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในอีก 13 ปีข้างหน้าในวันที่ 17 เม.ย.64 ซึ่งสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้ทั่วประเทศเช่นกัน และจะเกิดปรากฏการณ์อีกครั้งในอีกประมาณ 19 ปีถัดไปในวันที่ 21 มี.ค.83 ที่สามารถเห็นปรากฏการณ์ได้จากทั่วประเทศ ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง

*** ลองชมภาพแอนิเมชันจำลองปรากฎการณ์ "ดวงจันทร์บังดาวอังคาร" ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ค.51 นี้จากเว็บไซต์สมาคมดาราศาสตร์ไทย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000052864

Tuesday, May 6, 2008

ซันรับสมัครนศ.แข่งออกแบบไอทีการแพทย์

หุ่นยนต์ผ่าตัดที่ลงมีดไม่พลาดเป้าจนถึงการสอดกล้องผ่าตัดที่ทิ้งรอยแผลเป็นขนาดเท่าหลอดดูด ล้วนเป็นการแพทย์สมัยใหม่ที่ประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไอที ล่าสุดบริษัทซันเชิญชวนนักศึกษาประชันความสามารถในเวทีแข่งพัฒนาซอฟต์แวร์การแพทย์ หวังกระตุ้นเยาวชนเห็นความสำคัญไอทีการแพทย์

นายธนชาตินุ่มนนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กิจกรรมแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ หรือ จาวาไจว์ รีจินอล ชาเลนจ์ 2008 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยแต่ทำต่อเนื่อง 2 ปี ที่สิงคโปร์ ต้องการให้นักศึกษาไทยหันมาใช้และสร้างสรรค์เทคโนโลยีโอเพนซอร์สมากขึ้น

การแข่งขันในปีนี้กำหนดให้ผู้แข่งขันต้องพัฒนาระบบการรักษาและการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเนื่องจากประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญระบบด้านนี้ และกำลังเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมด้วย อีกทั้งเป็นการเปิดมุมมองของยาวชนรุ่นใหม่ว่าการแพทย์และไอทีควรจะเกี่ยวโยงกัน และมีอยู่ด้วยกันได้

นพ.สุธีทุวิรัตน์ ประชาสัมพันธ์ สมาคมเวชสารสนเทศไทย กล่าวถึงวิธีการพัฒนาระบบไอทีด้านการแพทย์ เพื่อให้ผู้แข่งขันใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาว่า ปัจจุบันการเขียนโปรแกรมไม่ยาก ผู้พัฒนาต้องให้ความสำคัญต่อการใช้งานของผู้ใช้เป็นหลัก คือระบบต้องเพิ่มความปลอดภัยให้แก่คนไข้ในโรงพยาบาลมากขึ้น ไม่ใช่เพียงช่วยหมอและโรงพยาบาลทำงานได้เร็ว หรือสะดวกขึ้นเหมือนระบบยุคก่อนๆ

ขณะที่แนวโน้มความต้องการนักพัฒนาระบบไอทีด้านการแพทย์ในประเทศไทยต้องการนักพัฒนาโปรแกรมที่เข้าใจด้านแพทย์โดยตรง ต้องรู้ลึก เหมือนที่ต้องการหมอเฉพาะทางมากกว่าหมอทั่วไป ระบบไอทีการแพทย์ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้ ต้องมีส่วนช่วยให้ผู้รับบริการมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดความผิดพลาดและสนับสนุนให้แพทย์รักษาได้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมักผลิตผู้พัฒนาโปรแกรมแบบทั่วๆ ไปออกมา

ล่าสุดซันได้ขยายเวลารับสมัครผู้เข้าแข่งขันออกไปถึง15 พฤษภาคมนี้ ตั้งเป้าจะมีทีมเข้าร่วม 15 ทีม หรือ 45 คน
ตัวแทนผู้เข้าร่วมแข่งขันกล่าวว่ากิจกรรมการแข่งขันจาวาไจว์ยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในไทย แต่ก็เห็นเป็นเรื่องดี ให้โอกาสผู้แข่งขันลองปฏิบัติจริง ได้ประสบการณ์ทำงานและความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยพัฒนาฝีมือขึ้นได้

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/05/06/x_it_h001_201058.php?news_id=201058

เทคโนประดิษฐ์-ภาคเหนือลุ้นใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้า


นักวิจัยวัดกระแสลมเทือกเขาภาคเหนือตอนบนพบมีศักยภาพเทียบเท่าลมทะเลทางใต้ เหมาะสร้างฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ใช้งานในอนาคต แถมลงทุนต่ำกว่าพลังงานแสงอาทิตย์

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิดุษฎี นักวิจัยจากศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทีมวิจัยศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย พบว่า ลมหุบเขาบริเวณพื้นที่ช่องเขาทางภาคเหนือตอนบนมีศักยภาพใช้เป็นแหล่งพลังงานลม ใกล้เคียงกับลมมรสุมจากอ่าวไทย และทะเลอันดามัน

ทีมวิจัยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความเร็วลมความสูง40-80 เมตร 18 จุดบริเวณภาคเหนือตอนบน หรือเท่ากับความสูงประมาณ 1,000-2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล เพื่อเก็บข้อมูลปริมาณลมต่อเนื่อง จากนั้นนำมาวิเคราะห์ผล พบพื้นที่มีศักยภาพ 3 จุด ได้แก่ บ้านกิ่วลม จ.แม่ฮ่องสอน บ้านดอยล้านและบ้านแม่แฮ จ.เชียงใหม่ เหมาะติดตั้งกังหันลม หรือฟาร์มกังหันลมในอนาคต

แม้จะมีความแตกต่างของแรงลมในช่วงเวลากลางวันที่ลมแรงขณะที่ช่วงกลางคืนลมจะนิ่งมากกว่า แต่ค่าเฉลี่ยที่วัดได้ตลอดระยะเวลา 1 ปี แสดงว่ากำลังลมหุบเขาระหว่าง 2-6 เมตรต่อวินาที เพียงพอสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้า นักวิจัยกล่าว

ถึงแม้ต้นทุนติดตั้งกังหันลมที่มีศักยภาพผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนคืนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสูงถึง 90 ล้านบาทต่อต้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังโซลาร์เซลล์แล้ว พลังงานลมใช้เงินลงทุนที่ต่ำกว่า

ผศ.จอมภพแววศักดิ์ จากห้องปฏิบัติการวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์-ลม ศูนย์วิจัยและสาธิตระบบพลังงานทดแทน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เสริมว่า จังหวัดชายฝั่งทะเลภาคใต้มีความเร็วลมโดยเฉพาะกระบี่ เหมาะสำหรับพลังงานลมขนาด 2 เมกะวัตต์ โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 1.3-6.6 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีก 46 แห่งทางภาคใต้ ที่เหมาะสมติดตั้งฟาร์มกังหันลม เพื่อเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/05/06/x_it_h001_201056.php?news_id=201056

มทร.กรุงเทพตั้งโรงงานเส้นใยนาโน


ศูนย์นาโนเทคจับมือ มทร.กรุงเทพ ตั้งโรงงานผลิตเส้นใยนาโนแห่งแรกในไทย มูลค่า 300 ล้านบาท เน้นผลิตเส้นใยคุณสมบัติพิเศษป้อนวงการวิจัย

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า

สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) จัดตั้งโรงงานต้นแบบเส้นใยสังเคราะห์ผสมเพื่อใช้ในการวิจัย โดยนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสมจากสหรัฐอเมริกา ด้วยงบประมาณ 56 ล้านบาท

โรงงานต้นแบบดังกล่าว จะช่วยต่อยอดการวิจัยระดับต้นน้ำของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สิ่งทอไทยในตลาดโลก โดยเส้นใยสังเคราะห์แบบผสม เป็นหนึ่งในสิ่งทอที่มีแนวโน้มผลิตในหลายประเทศ

เนื่องจากทำให้สิ่งทอที่ผลิตได้มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ระบายความร้อนและความชื้นได้ดี เส้นใยนุ่มเหนียวและทนต่อแรงดึงได้ดี เมื่อเทียบกับเส้นใยสังเคราะห์ทั่วไป

เส้นใยสังเคราะห์ผสม เกิดจากการฉีดขึ้นรูปของโพลีเมอร์ 2 ชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติต่างกัน ช่วยให้เส้นใยที่เกิดขึ้นใหม่สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น สิ่งทอทางการแพทย์ ที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับและปลอดเชื้อโรค
สิ่งทอยานยนต์ เช่น เบาะนั่งกันไฟ ปราศจากแบคทีเรีย คราบสกปรกและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น

"เทคโนโลยีที่เลือกใช้เป็นเทคโนโลยีล่าสุด ของการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสม ด้วยกระบวนการทางวิศวกรรมเคมี เพื่อให้โพลีเมอร์จับตัวเป็นเส้นใย ซึ่งนำไปใช้ในกระบวนการทอผ้าได้ทันที" ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค กล่าว
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบเส้นใยสังเคราะห์ผสม ใช้งบประมาณรวม 300 ล้านบาท ระยะโครงการ 5 ปี โดยในปีแรกเน้นการลงทุนสร้างโรงงาน และนำเข้าเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยเส้นใยสังเคราะห์ผสมในมหาวิทยาลัยต่างๆ

เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเส้นใยให้มีคุณสมบัติพิเศษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งมีโรงงานต้นแบบผลิตเส้นใยเดี่ยว

นอกจากนี้ ศูนย์นาโนเทคร่วมมือกับสถาบันวิจัยสิ่งทอไต้หวัน เพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสิ่งทอในรูปแบบต่างๆ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะนำองค์ความรู้การผลิตเสื้อเกราะกันกระสุน จากเส้นใยสังเคราะห์ผสม มาพัฒนาใช้เองในประเทศ

"อุตสาหกรรมสิ่งทอในไทย ส่วนใหญ่อยู่ระดับปลายน้ำ แม้ว่าจะมีการวิจัยและพัฒนาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการวิจัยสารเคลือบผิวเพื่อเพิ่มคุณสมบัติสิ่งทอ ให้กันน้ำ หรือป้องกันแบคทีเรีย ทำให้คุณสมบัติที่ได้คงอยู่ได้ไม่นาน เพราะงานวิจัยไม่ได้ลงลึกถึงการพัฒนาระดับเส้นใย" ผศ.เฉลิม มัติโก อธิการบดี มทร.กรุงเทพ กล่าว

ดังนั้น การก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสมนี้ นับเป็นครั้งในประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอคุณสมบัติพิเศษ ที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ทำงานวิจัยร่วมกัน

สำหรับโรงงานต้นแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2552 มีกำลังการผลิต 10-20 กิโลกรัมโพลีเมอร์ต่อชั่วโมง น่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่มีมูลค่าส่งออกไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

ประกอบกับประเทศไทยมีความพร้อมในการผลิตสิ่งทอจากเส้นใยสังเคราะห์ผสม เนื่องจากมีฐานการผลิตเม็ดพลาสติกและปิโตรเคมีที่เข้มแข็ง จึงสามารถผลักดันให้ไทยมีศักยภาพผลิตสิ่งทอเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/

โลกวิทยาศาสตร์-มทร.กรุงเทพตั้งโรงงานเส้นใยนาโน

ศูนย์นาโนเทคจับมือมทร.กรุงเทพ ตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเส้นใยนาโนแห่งแรกในไทย ทุ่ม 56 ล้านบาท นำเข้าเทคโนโลยีผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสม เน้นผลิตเส้นใยคุณสมบัติพิเศษป้อนวงการวิจัยทางการแพทย์และยานยนต์

โรงงานผลิตเส้นใยนาโนเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2552 มีกำลังการผลิต 10-20 กิโลกรัมโพลีเมอร์ต่อชั่วโมง เป้าหมายในช่วงแรกจะผลิต "เส้นใยสังเคราะห์ผสม" ป้อนเฉพาะนักวิจัย

"นักวิจัยจะนำเส้นใยที่ได้ไปใช้ศึกษาและพัฒนาสิ่งทอให้มีคุณสมบัติพิเศษเช่น นำไปเคลือบสารนาโนให้มีคุณสมบัติระบายความร้อนและความชื้นได้ดี เส้นใยนุ่มเหนียวและทนต่อแรงดึงได้ดี เมื่อเทียบกับเส้นใยสังเคราะห์ทั่วไป" ผศ.เฉลิม มัติโก อธิการบดี มทร.กรุงเทพกล่าว

เส้นใยสังเคราะห์ผสมเกิดจากการฉีดขึ้นรูปของโพลีเมอร์ 2 ชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติต่างกัน ช่วยให้เส้นใยที่เกิดขึ้นใหม่สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น สิ่งทอทางการแพทย์ ที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับและปลอดเชื้อโรค สิ่งทอยานยนต์ เช่น เบาะนั่งกันไฟ ปราศจากแบคทีเรีย คราบสกปรก และกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น

ศ.ดร.วิวัฒน์ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคกล่าวว่า เทคโนโลยีผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสมที่ใช้ในโรงงาน นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ด้วยงบประมาณ 56 ล้านบาท เป็นเทคโนโลยีล่าสุดของการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสม ด้วยกระบวนการทางวิศวกรรมเคมี เพื่อให้โพลีเมอร์จับตัวเป็นเส้นใย ซึ่งนำไปใช้ในกระบวนการทอผ้าได้ทันที

การก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสมนี้นับเป็นครั้งในประเทศไทยที่จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอคุณสมบัติพิเศษ ที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ทำงานวิจัยร่วมกัน

โครงการโรงงานต้นแบบดังกล่าวใช้งบประมาณรวม300 ล้านบาท ระยะโครงการ 5 ปี ในปีแรกเน้นการลงทุนสร้างโรงงาน และนำเข้าเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยเส้นใยสังเคราะห์ผสมในมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเส้นใยให้มีคุณสมบัติพิเศษ มทร.ธัญบุรี ซึ่งมีโรงงานต้นแบบผลิตเส้นใยเดี่ยว

ที่มา: http://www.komchadluek.net
Link: http://www.komchadluek.net/2008/05/06/x_it_h001_201057.php?news_id=201057

ฉลากเปลี่ยนสีบอกเนื้อเน่าใช้งานคู่พลาสติกนาโนยืดอายุอาหาร

ในเร็วๆนี้ การเลือกซื้อเนื้อสัตว์สำหรับประกอบอาหาร จะกลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณแม่บ้าน เมื่อวิทยาลัยปิโตรเลียมฯ ออกแบบพลาสติกฉลาด ติดฉลากเซ็นเซอร์เปลี่ยนสี บอกระดับความสดของเนื้อสัตว์และปลาในหีบห่อ

รศ.ดร.รัตนวรรณมกรพันธ์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนา "พลาสติกฉลาด" ยืดอายุอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสีย สามารถรักษาความสดของอาหารที่บรรจุภายในได้นานขึ้น เช่น กล้วยยืดอายุได้นาน 40 วัน จากเดิมไม่เกิน 14 วันก็จะช้ำเน่า รับประทานไม่ได้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของผลไม้ส่งออก เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่ง

ทีมวิจัยปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของพลาสติกหุ้มอาหารโดยผสมอนุภาคเคลย์หรือแร่ดินเหนียวระดับนาโนเมตรลงในเนื้อพลาสติก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับและยับยั้งการปลดปล่อยก๊าซเอธิลีนในกระบวนการสุกของผลไม้

ทั้งนี้พืชผักจะผลิตก๊าซเอธิลีนขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการสุกและการเสื่อมสภาพ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผักผลไม้สุกและเน่าเสีย เช่น มะม่วงและกล้วยเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง แอปเปิ้ลมีผิวย่นไม่กรอบและดอกไม้ร่วงโรย เป็นต้น

"นอกจากการปรับปรุงคุณสมบัติของพลาสติกเพื่อยืดอายุแล้ว ทีมวิจัยยังพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์วัดความสดของอาหาร เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ฉลาดมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น" รศ.ดร.รัตนวรรณกล่าว

ทีมวิจัยทดลองติดเซ็นเซอร์จิ๋วในบรรจุภัณฑ์เพื่อตรวจวัดก๊าซบางอย่างที่บ่งบอกความสดของอาหาร เช่น เนื้อปลาใกล้เน่าจะปลดปล่อยสารแอมโมเนีย หากเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณแอมโมเนียได้ ก็บอกระดับความสดของเนื้อปลาได้

เซ็นเซอร์ดังกล่าวยังแสดงผลการวัดเป็นสีได้ด้วยเช่น เนื้อสัตว์ที่มีความสด ฉลากเซ็นเซอร์จะมีสีเขียวสด แต่หากเก็บไว้ระยะหนึ่ง ฉลากจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และสีน้ำเงินเมื่อเนื้อในหีบห่อเริ่มเน่าเสีย

เทคนิคนี้นอกจากใช้กับผักผลไม้และเนื้อสัตว์แล้วยังประยุกต์ใช้กับสินค้าที่ต้องการเก็บรักษาความสดเพื่อยืดอายุ เช่น ดอกกุหลาบและดอกกล้วยไม้สำหรับส่งออก เป็นต้น

นักวิจัยเพิ่มเติมว่าเทคโนโลยีผลิตบรรจุภัณฑ์ฉลาด สามารถทำได้ง่าย ใช้งบลงทุนต่ำหรือไม่ใช้เลย เพียงแต่ผู้ผลิตพลาสติกปรับปรุงกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก ในขั้นตอนการผสมพอลิเมอร์กับแร่ดินเหนียว ก็จะได้ "พลาสติกฉลาด" ตามต้องการ ปัจจุบันทีมวิจัยพร้อมต่อยอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนที่สนใจ

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/05/06/x_it_h001_201207.php?news_id=201207

Thursday, May 1, 2008

เติม "นาโน" ใส่อาหารต้องเป็นสารกินได้เท่านั้น


หากใครกำลังจะควักกระเป๋าจ่ายตังค์ เพื่อซื้ออาหารแปลกๆ ที่อ้างว่าใช้ "นาโนเทคโนโลยี" โดยเติมสารที่สุดพิสดารและไม่เคยอยู่ในเมนูอาหารของคุณมาก่อน โปรดหยุดคิดและพิจารณาให้ดี ทั้งนี้นักวิชาการนาโนเทคระบุว่าสารพิเศษที่จะเติมในอาหารได้ต้องเป็นสารชีวภาพที่กินได้เท่านั้น

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา นักวิชาการและหัวหน้าหน่วยบริการวิเคราะห์ทดสอบ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการสัมมนา "นาโนเทคโนดลยีเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร" ณ โรงแรมสยามซิตี เมื่อวันที่ 30 เม.ย.51 ว่าปัจจุบันมีการนำนาโนเทคโนโลยีไปใช้กับอุตสาหกรรมอาหารมากขึ้น โดยอยู่ในรูปแบบของ "แคปซูลนาโน" ที่ช่วยเก็บสารอาหารหรือวิตามินสำหรับผสมลงในเครื่องดื่ม

ทั้งนี้วิตามินบางชนิดที่ละลายในน้ำมัน เมื่อนำไปผสมลงเครื่องดื่มโดยตรง ก็จะได้เครื่องที่ขุ่นดูไม่น่าบริโภค แต่หากบรรจุลงแคปซูลนาโนก่อน ก็จะได้เครื่องดื่มที่ใส หรือบางครั้งใช้เก็บรักษาสารอาหารที่สลายตัวได้ง่ายอย่างวิตามินซี

"อย่างไรก็ดีสินค้าที่ใช้กับอาหารต้องเป็นสารชีวภาพทั้งหมด ไม่เติมสารที่ไม่ใช้กับอาหาร อย่างน้ำนาโนหรือน้ำแร่ที่อ้างว่าเติม "ซิลเวอร์นาโน" (nanosilver) ซึ่งไม่ใช่สารชีวภาพ เป็นต้น" ดร.ณัฐพันธุ์ยกตัวอย่าง ซึ่งแม้จะผ่านกระบวนการนาโนเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ปลอดภัย เพราะการนำสารจำพวกเงินมาผสมลงไปในน้ำดื่ม หากรับประทานเข้าไปอาจก่ออันตรายต่อร่างกายได้

นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์น้ำดื่มหลายชนิดที่อ้างว่าสามารถฆ่าเชื้อโรคภายในร่างกายได้ แต่ไม่ได้ผ่านการรับรองความปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เนื่องจากโฆษณาเกินจริง และบางชนิดไม่ได้มีกระบวนการนาโนเทคโนโลยี เป็นเพียงการนำเกลือมาผสมเท่านั้น

"ทั้งนี้จะมีคุณสมบัติที่เป็นนาโนได้ นอกจากขนาดที่เล็กระดับนาโนแล้ว ต้องมีคุณสมบัติที่เกิดขึ้นหลังจากขนาดที่เล็กลง เช่น ทองเมื่อเป็นอนุภาคใหญ่ก็ค่อยทำปฏิกิริยากับสารอื่น แต่เมื่อมีขนาดเล็กลงก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ดี และขนาดที่เล็กลง มีความถูกต้อง แม่นยำและควบคุมได้" ดร.ณัฐพันธุ์กล่าว

ในส่วนของการเก็บสารอาหารต่างๆ ลงแคปซูลซึ่งเรียกว่า "เอนแคปซูเลชัน" (encapsulation) นั้น ดร.อิสรา สระมาลา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สามารถใช้กระบวนการผลิตง่ายๆ ซึ่งมีอยู่แล้วในอุตสาหกรรมที่เรียกว่า "การเป่าแห้ง" (spray dry) โดยจะผสมสารที่ต้องการกับสารที่ต้องการใช้เป็นเปลือกหุ้ม แล้วเป่าผ่านลมร้อน สารที่ทำหน้าที่เป็นเปลือกจะหดตัวแล้วหุ้มสารที่ต้องการไว้กลายเป็นแคปซูลขนาดเล็ก แต่ทั้งนี้ก็อาจมีการปรับปรุงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในกระบวนการผลิต

"ตัวอย่างของสารที่นำไปบรรจุลงแคปซูลนาโน เช่น สารออกฤทธิ์ในมะระขี้นก ซึ่งเดิมอาจจะใช้วิธีกลบกลิ่นและรส แต่เมื่อกินไปแล้วก็ยังคงมีรสขมและกลิ่นเหม็นเขียวของมะระขี้นกอยู่ เมื่อนำไปเคลือบแคปซูลก็ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เหมือนอาหารเสริมหรือนำไปทำเป็นอาหารอื่นอย่างไอศครีมได้ หรือเคลือบน้ำมันปลาเพื่อกลบกลิ่นคาว เป็นต้น" ดร.อิสรากล่าว

นอกจากนาโนเทคโนโลยีมีบทบาทในการบรรจุสารอาหารลงแคปซูลเพื่อลดข้อจำกัดของอาหารในหลายๆ ด้านแล้ว ยังมีการประยุกต์ใช้กับบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร ซึ่งอาจจะเป็นพลาสติกที่ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่ในขั้นของการวิจัย หรืออาจจะพัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ฉลาดที่สามารถระบุสถานภาพของอาหารและผัก-ผลไม้ต่างๆ ได้ว่าอยู่ในสภาพที่รับประทานได้หรือไม่

ทั้งนี้นาโนเทคมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับอาหารทั้งที่เริ่มทำแล้วและกำลังจะทำคือ การผลิตแคปซูลนาโนเก็บกลิ่นคาวของน้ำมันปลาซึ่งได้เริ่มมาครึ่งปีและทราบวิธีเก็บกลิ่นแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นการตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพการกักเก็บกลิ่น และกำลังจะวิจัยบรรจุภัณฑ์ที่สามารถระบุสภานภาพของอาหารได้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะตรวจจับสารตกค้างในอาหาร.

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000050808