ในเร็วๆนี้ การเลือกซื้อเนื้อสัตว์สำหรับประกอบอาหาร จะกลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณแม่บ้าน เมื่อวิทยาลัยปิโตรเลียมฯ ออกแบบพลาสติกฉลาด ติดฉลากเซ็นเซอร์เปลี่ยนสี บอกระดับความสดของเนื้อสัตว์และปลาในหีบห่อ
รศ.ดร.รัตนวรรณมกรพันธ์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทีมวิจัยประสบความสำเร็จในการพัฒนา "พลาสติกฉลาด" ยืดอายุอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสีย สามารถรักษาความสดของอาหารที่บรรจุภายในได้นานขึ้น เช่น กล้วยยืดอายุได้นาน 40 วัน จากเดิมไม่เกิน 14 วันก็จะช้ำเน่า รับประทานไม่ได้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของผลไม้ส่งออก เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาในการขนส่ง
ทีมวิจัยปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของพลาสติกหุ้มอาหารโดยผสมอนุภาคเคลย์หรือแร่ดินเหนียวระดับนาโนเมตรลงในเนื้อพลาสติก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับและยับยั้งการปลดปล่อยก๊าซเอธิลีนในกระบวนการสุกของผลไม้
ทั้งนี้พืชผักจะผลิตก๊าซเอธิลีนขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการสุกและการเสื่อมสภาพ จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผักผลไม้สุกและเน่าเสีย เช่น มะม่วงและกล้วยเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นเหลือง แอปเปิ้ลมีผิวย่นไม่กรอบและดอกไม้ร่วงโรย เป็นต้น
"นอกจากการปรับปรุงคุณสมบัติของพลาสติกเพื่อยืดอายุแล้ว ทีมวิจัยยังพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์วัดความสดของอาหาร เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ฉลาดมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของภาคเอกชนมากขึ้น" รศ.ดร.รัตนวรรณกล่าว
ทีมวิจัยทดลองติดเซ็นเซอร์จิ๋วในบรรจุภัณฑ์เพื่อตรวจวัดก๊าซบางอย่างที่บ่งบอกความสดของอาหาร เช่น เนื้อปลาใกล้เน่าจะปลดปล่อยสารแอมโมเนีย หากเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณแอมโมเนียได้ ก็บอกระดับความสดของเนื้อปลาได้
เซ็นเซอร์ดังกล่าวยังแสดงผลการวัดเป็นสีได้ด้วยเช่น เนื้อสัตว์ที่มีความสด ฉลากเซ็นเซอร์จะมีสีเขียวสด แต่หากเก็บไว้ระยะหนึ่ง ฉลากจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และสีน้ำเงินเมื่อเนื้อในหีบห่อเริ่มเน่าเสีย
เทคนิคนี้นอกจากใช้กับผักผลไม้และเนื้อสัตว์แล้วยังประยุกต์ใช้กับสินค้าที่ต้องการเก็บรักษาความสดเพื่อยืดอายุ เช่น ดอกกุหลาบและดอกกล้วยไม้สำหรับส่งออก เป็นต้น
นักวิจัยเพิ่มเติมว่าเทคโนโลยีผลิตบรรจุภัณฑ์ฉลาด สามารถทำได้ง่าย ใช้งบลงทุนต่ำหรือไม่ใช้เลย เพียงแต่ผู้ผลิตพลาสติกปรับปรุงกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก ในขั้นตอนการผสมพอลิเมอร์กับแร่ดินเหนียว ก็จะได้ "พลาสติกฉลาด" ตามต้องการ ปัจจุบันทีมวิจัยพร้อมต่อยอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนที่สนใจ
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/05/06/x_it_h001_201207.php?news_id=201207
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment