Tuesday, May 6, 2008

มทร.กรุงเทพตั้งโรงงานเส้นใยนาโน


ศูนย์นาโนเทคจับมือ มทร.กรุงเทพ ตั้งโรงงานผลิตเส้นใยนาโนแห่งแรกในไทย มูลค่า 300 ล้านบาท เน้นผลิตเส้นใยคุณสมบัติพิเศษป้อนวงการวิจัย

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า

สวทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) จัดตั้งโรงงานต้นแบบเส้นใยสังเคราะห์ผสมเพื่อใช้ในการวิจัย โดยนำเข้าเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสมจากสหรัฐอเมริกา ด้วยงบประมาณ 56 ล้านบาท

โรงงานต้นแบบดังกล่าว จะช่วยต่อยอดการวิจัยระดับต้นน้ำของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สิ่งทอไทยในตลาดโลก โดยเส้นใยสังเคราะห์แบบผสม เป็นหนึ่งในสิ่งทอที่มีแนวโน้มผลิตในหลายประเทศ

เนื่องจากทำให้สิ่งทอที่ผลิตได้มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ระบายความร้อนและความชื้นได้ดี เส้นใยนุ่มเหนียวและทนต่อแรงดึงได้ดี เมื่อเทียบกับเส้นใยสังเคราะห์ทั่วไป

เส้นใยสังเคราะห์ผสม เกิดจากการฉีดขึ้นรูปของโพลีเมอร์ 2 ชนิด ซึ่งมีคุณสมบัติต่างกัน ช่วยให้เส้นใยที่เกิดขึ้นใหม่สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น สิ่งทอทางการแพทย์ ที่มีประสิทธิภาพในการดูดซับและปลอดเชื้อโรค
สิ่งทอยานยนต์ เช่น เบาะนั่งกันไฟ ปราศจากแบคทีเรีย คราบสกปรกและกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น

"เทคโนโลยีที่เลือกใช้เป็นเทคโนโลยีล่าสุด ของการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสม ด้วยกระบวนการทางวิศวกรรมเคมี เพื่อให้โพลีเมอร์จับตัวเป็นเส้นใย ซึ่งนำไปใช้ในกระบวนการทอผ้าได้ทันที" ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค กล่าว
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบเส้นใยสังเคราะห์ผสม ใช้งบประมาณรวม 300 ล้านบาท ระยะโครงการ 5 ปี โดยในปีแรกเน้นการลงทุนสร้างโรงงาน และนำเข้าเทคโนโลยี ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยเส้นใยสังเคราะห์ผสมในมหาวิทยาลัยต่างๆ

เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาเส้นใยให้มีคุณสมบัติพิเศษ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งมีโรงงานต้นแบบผลิตเส้นใยเดี่ยว

นอกจากนี้ ศูนย์นาโนเทคร่วมมือกับสถาบันวิจัยสิ่งทอไต้หวัน เพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสิ่งทอในรูปแบบต่างๆ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะนำองค์ความรู้การผลิตเสื้อเกราะกันกระสุน จากเส้นใยสังเคราะห์ผสม มาพัฒนาใช้เองในประเทศ

"อุตสาหกรรมสิ่งทอในไทย ส่วนใหญ่อยู่ระดับปลายน้ำ แม้ว่าจะมีการวิจัยและพัฒนาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการวิจัยสารเคลือบผิวเพื่อเพิ่มคุณสมบัติสิ่งทอ ให้กันน้ำ หรือป้องกันแบคทีเรีย ทำให้คุณสมบัติที่ได้คงอยู่ได้ไม่นาน เพราะงานวิจัยไม่ได้ลงลึกถึงการพัฒนาระดับเส้นใย" ผศ.เฉลิม มัติโก อธิการบดี มทร.กรุงเทพ กล่าว

ดังนั้น การก่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเส้นใยสังเคราะห์ผสมนี้ นับเป็นครั้งในประเทศไทย ที่จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอคุณสมบัติพิเศษ ที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ทำงานวิจัยร่วมกัน

สำหรับโรงงานต้นแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2552 มีกำลังการผลิต 10-20 กิโลกรัมโพลีเมอร์ต่อชั่วโมง น่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่มีมูลค่าส่งออกไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

ประกอบกับประเทศไทยมีความพร้อมในการผลิตสิ่งทอจากเส้นใยสังเคราะห์ผสม เนื่องจากมีฐานการผลิตเม็ดพลาสติกและปิโตรเคมีที่เข้มแข็ง จึงสามารถผลักดันให้ไทยมีศักยภาพผลิตสิ่งทอเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/

No comments: