Tuesday, May 6, 2008

เทคโนประดิษฐ์-ภาคเหนือลุ้นใช้กังหันลมผลิตไฟฟ้า


นักวิจัยวัดกระแสลมเทือกเขาภาคเหนือตอนบนพบมีศักยภาพเทียบเท่าลมทะเลทางใต้ เหมาะสร้างฟาร์มกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ใช้งานในอนาคต แถมลงทุนต่ำกว่าพลังงานแสงอาทิตย์

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิดุษฎี นักวิจัยจากศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทีมวิจัยศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย พบว่า ลมหุบเขาบริเวณพื้นที่ช่องเขาทางภาคเหนือตอนบนมีศักยภาพใช้เป็นแหล่งพลังงานลม ใกล้เคียงกับลมมรสุมจากอ่าวไทย และทะเลอันดามัน

ทีมวิจัยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความเร็วลมความสูง40-80 เมตร 18 จุดบริเวณภาคเหนือตอนบน หรือเท่ากับความสูงประมาณ 1,000-2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล เพื่อเก็บข้อมูลปริมาณลมต่อเนื่อง จากนั้นนำมาวิเคราะห์ผล พบพื้นที่มีศักยภาพ 3 จุด ได้แก่ บ้านกิ่วลม จ.แม่ฮ่องสอน บ้านดอยล้านและบ้านแม่แฮ จ.เชียงใหม่ เหมาะติดตั้งกังหันลม หรือฟาร์มกังหันลมในอนาคต

แม้จะมีความแตกต่างของแรงลมในช่วงเวลากลางวันที่ลมแรงขณะที่ช่วงกลางคืนลมจะนิ่งมากกว่า แต่ค่าเฉลี่ยที่วัดได้ตลอดระยะเวลา 1 ปี แสดงว่ากำลังลมหุบเขาระหว่าง 2-6 เมตรต่อวินาที เพียงพอสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้า นักวิจัยกล่าว

ถึงแม้ต้นทุนติดตั้งกังหันลมที่มีศักยภาพผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนคืนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสูงถึง 90 ล้านบาทต่อต้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังโซลาร์เซลล์แล้ว พลังงานลมใช้เงินลงทุนที่ต่ำกว่า

ผศ.จอมภพแววศักดิ์ จากห้องปฏิบัติการวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์-ลม ศูนย์วิจัยและสาธิตระบบพลังงานทดแทน ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เสริมว่า จังหวัดชายฝั่งทะเลภาคใต้มีความเร็วลมโดยเฉพาะกระบี่ เหมาะสำหรับพลังงานลมขนาด 2 เมกะวัตต์ โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 1.3-6.6 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีก 46 แห่งทางภาคใต้ ที่เหมาะสมติดตั้งฟาร์มกังหันลม เพื่อเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ แต่ต้องศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2008/05/06/x_it_h001_201056.php?news_id=201056

No comments: