ศูนย์นาโนศาสตร์ม.มหิดล จัดทำฐานข้อมูลผลิตองุ่นและไวน์ ลงพื้นที่ปลูกในนครราชสีมาติดตั้งเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลการผลิต พร้อมส่งจมูกอิเล็กทรอนิกส์จดจำกลิ่นของกระบวนการผลิตน้ำไวน์ หวังเป็นบรรทัดฐานการผลิตไวน์คุณภาพ
ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์เกิดเจริญ ศูนย์นาโนศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมวิจัยอยู่ระหว่างสำรวจไร่องุ่น 12 แห่ง และโรงงานไวน์ 6 แห่ง ในพื้นที่ อ.มวกเหล็ก และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์เก็บข้อมูลดิน น้ำและสภาพอากาศ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากของมหาวิทยาลัยต้นสังกัด และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
ข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์จะนำมาจัดทำฐานข้อมูลการปลูกองุ่นและผลิตไวน์ที่มีคุณภาพทั้งนี้ ทีมงานจะคัดเลือกไร่องุ่นและโรงงานไวน์ให้เหลือเพียงอย่างละ 2 แห่ง สำหรับติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ดังกล่าวประมาณเดือนมกราคม 2551 เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานเปรียบเทียบว่า พื้นที่และการดูแลแบบไหนที่จะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากที่สุด
จากนั้นทีมวิจัยจะนำ"จมูกอิเล็กทรอนิกส์" ผลงานการพัฒนาของศูนย์นาโนศาสตร์ฯ ที่แล้วเสร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ช่วยจดจำกลิ่นของกระบวนการผลิตน้ำไวน์ หรือเริ่มตั้งแต่การจดจำกลิ่นผลองุ่นไปจนถึงขั้นจดจำกลิ่นของไวน์องุ่น สำหรับสร้างมาตรฐานไวน์องุ่นของไทย ให้มีความน่าเชื่อถือและยอมรับในระดับโลก
เทคโนโลยีการดมกลิ่นนี้จะสร้างความเชื่อมั่นจากต่างประเทศในด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมถึงความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ เช่น ไวน์รสอย่างนี้ กลิ่นนี้มาจากส่วนไหนของประเทศ หรือมีสภาพแวดล้อมโดยรอบในไร่ และวิธีการปลูกอย่างไร นักวิจัยกล่าวและว่า เทคโนโลยีดมกลิ่นไวน์นี้มีใช้แล้วในฝรั่งเศส และรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ส่วนญี่ปุ่นใช้เทคนิคนี้ในอุตสาหกรรมการผลิตสาเกและซีอิ๊ว
นักวิจัยอธิบายว่า จมูกมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์ดมกลิ่นประมาณ 200 แบบ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาขึ้นสำหรับดมไวน์นี้สามารถเลียนแบบจมูกมนุษย์ได้ประมาณ 32 แบบ ซึ่งครอบคลุมในส่วนของการจดจำคุณลักษณะของไวน์เบื้องต้นได้ ก่อนหน้านี้จมูกอัจฉริยะนี้ได้นำไปทดสอบดมกลิ่นเบียร์ กาแฟ สมุนไพรและสุรา เพื่อจัดแบ่งชั้นของคุณภาพ ทั้งยังพบว่าสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริงหากเอกชนสนใจ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment