Wednesday, October 10, 2007
เทศกาลหนังวิทย์ครั้งที่ 3 พา 57 เรื่องทั่วโลกฉาย 13-23 พ.ย.นี้
หากได้เห็นโครงสร้างเคมี 3 แฉกเชื่อมโยงกันด้วยพันธะ “เซลลูลอยด์” น่ารักน่าเอ็นดูปรากฏขึ้นคราใด คงทราบกันดีว่าหมายถึงเทศกาล “ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้” จะได้กลับมามอบสาระ–บันเทิงกันอีกหน โดยครั้งนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว และมีภาพยนตร์สารคดีวิทยาศาสตร์ร่วมฉายถึง 57 เรื่องด้วยกัน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และสถานเอกอัครราชฑูตฝรั่งเศส โดยการสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด แถลงข่าวเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 3 ขึ้นเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ณ สถาบันเกอเธ่ เขตสาทร กรุงเทพฯ
ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผอ.สสวท. กล่าวว่า เทศกาลดังกล่าวจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 –23 พ.ย. ภายในงานมีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์นานาชาติเข้าฉายรวม 57 เรื่องจาก 12 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี แคนาดา ญี่ปุ่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ออสเตรีย ฮังการี อังกฤษ และไทย โดยจะมีความยาวตั้งแต่ 5 –90 นาที/เรื่อง และทุกเรื่องพากย์เสียงภาษาไทย
ไฮไลต์สำคัญของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในเทศกาลคือ “ปราการที่ถูกล้อม” (The Besieged Fortress) ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ความยาว 82 นาทีจากประเทศฝรั่งเศส ที่กล่าวถึงชีวิตและการทำงานของฝูงปลวกนับล้านในจอมปลวกแห่งหนึ่งกลางทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ของทวีปแอฟริกา ที่ต้องผจญกับภัยน้ำไหลบ่าและการต่อสู้กับฝูงมดกินเนื้อ เพื่อความอยู่รอดของทั้งฝูง
“วิทยาการไบโอนิก -ลิขสิทธิ์ของธรรมชาติ” (BIONIK Patents of Nature) ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ความยาว 28.32 นาทีจากประเทศเยอรมนี ที่กล่าวถึงการประยุกต์ใช้กลไกความมหัศจรรย์ของธรรมชาติเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ของมนุษย์ทุกวันนี้ ขณะที่ตัวอย่างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น ผึ้งกลายพันธุ์ ชีววิทยาตัวตุ่น และเหนือขอบฟ้าสู่อวกาศ ฯลฯ
ทั้งนี้ มีภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ของไทยร่วมฉาย 2 เรื่องด้วยกัน คือ “แม่น้ำเจ้าพระยา” ที่พูดถึงวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำที่ถือได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนไทยสายนี้ โดยการพัฒนาของเนชันแชนแนลและการสนับสนุนทุนจาก สวทช. ส่วนอีกเรื่องคือ “มหัศจรรย์บนใบบัว: ธรรมชาติสู่อนาคต” ที่เด็กๆ ผู้เดินเรื่องจะได้ค้นหาคำตอบของปริศนาน้ำกลิ้งบนใบบัว ซึ่งพัฒนาโดยนักวิชาการของ สสวท.
สำหรับสถานที่ฉายภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ครั้งนี้จะแบ่งเป็น 4 จุดคือ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร และอุทยานการเรียนรู้ ทีเค พาร์ค เซ็นทรัลเวริล์ด พลาซา เขตราชประสงค์ โดยเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปสามารถเข้าชมภาพยนตร์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
จุดประสงค์การจัดงานครั้งนี้เพื่อต้องการใช้ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เป็นสื่อการถ่ายทอดวิทยาศาสตร์สู่เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และครู อย่างเป็นรูปธรรม และได้เห็นวิทยาศาสตร์มีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งการจัดงาน 2 ครั้งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่าครั้งนี้จะมีผู้มาร่วมงานเฉลี่ยจุดละ 5,000 คนทั้ง 4 จุด จึงคาดว่าน่าจะมีผู้ร่วมงานถึง 20,000 คนตลอดทั้งงาน
ส่วนภาพยนตร์ที่นำมาฉายในงานจะจัดหมวดหมู่ตามความเหมาะสมของเนื้อหาและสถานที่จัดฉาย แบ่งเป็นสำหรับเด็กระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา และสำหรับเด็กมัธยมศึกษาขึ้นไป โดยแยกเป็นกลุ่มสาระบันเทิงเพื่อครอบครัว ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์ทั่วไปและเทคโนโลยี และวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
นอกจากนั้นในวันสุดท้ายของการจัดงาน ยังมีการประกาศผลรางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ดีเด่นจำนวน 6 รางวัลให้แก่ภาพยนตร์ที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้วในรอบแรก 26 เรื่องจากทั้งหมด 57 เรื่องซึ่งรวมถึงผลงานเรื่อง “แม่น้ำเจ้าพระยา” ของไทยด้วย
“การจัดเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ปีนี้ได้ขยายเวลาจัดงานให้มีจำนวนวันมากขึ้น แต่ลดจำนวนรอบฉายในแต่ละวันลง เพื่อให้เด็กจากต่างจังหวัดสามารถเดินทางมาชมได้สะดวกขึ้น ซึ่งตอนนี้มีโรงเรียนหลายแห่งส่งอีเมลมาจองคิว คิดเป็นนักเรียนได้ประมาณ 2,000 คนแล้ว” ศ.ดร.สุรินทร์ กล่าว โดยผู้สนใจสามารถชมรอบฉายและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.goethe.de/sciencefilmfestival
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000120289
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment