Monday, October 8, 2007
พบระบบสุริยะใหม่กำลังให้กำเนิดโลกใบที่ 2
สเปซด็อทคอม/เอเอฟพี – วงการดาราศาสตร์ตื่นเต้นอีกครั้งเมื่อสามารถจับภาพกลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองในอวกาศที่กำลังก่อตัวเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่อยู่ในระบบสุริยะที่มีร่องรองเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต เชื่ออาจเป็นโลกใบใหม่ขนาดเท่าดาวอังคาร
กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ (Spitzer Space Telescope) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) สามารถจับภาพฝุ่นและละอองก๊าซที่อยู่รวมกันเป็นแถบขนาดใหญ่ และกำลังหมุนวนรอบดาวฤกษ์อายุน้อย เอชดี 113766 (HD 113766) ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ของเราเพียงเล็กน้อย อยู่ห่างออกไป 424 ปีแสง นักวิทย์คาด ดาวเคราะห์ดวงใหม่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นแล้ว และน่าจะเป็นที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้
แถบก๊าซและฝุ่นละอองที่พบ อยู่ใจกลางของบริเวณที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต (habitable zone) ในระบบสุริยะนั้น ซึ่งมีอุณหภูมิที่สามารถทำให้น้ำอยู่ในสถานะของเหลวได้ และนักดาราศาสตร์ก็ตั้งข้อสังเกตว่า มันกำลังก่อตัวรวมกันเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่ และจากการคาดคะเน แถบฝุ่นนั้นน่าจะมีองค์ประกอบมากพอจนสามารถก่อตัวขึ้นเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวอังคารได้เลยทีเดียว
"ช่วงเวลาของระบบสุริยะเหมาะสมมากทีเดียวที่โลกใบใหม่จะถูกสร้างขึ้น" คาเรย์ ลิสซี (Carey Lisse) จากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ (Johns Hopkins University Applied Physics Laboratory) เมืองบัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ สหรัฐฯ สมาชิกในทีมที่ศึกษากำเนิดของโลกใหม่กล่าว ซึ่งจากการค้นคว้า พวกเขาประมาณการกันว่าดาวฤกษ์เอชดี 113766 น่าจะมีอายุราว 10 ล้านปี ซึ่งเป็นช่วงอายุของดาวฤกษ์ที่เหมาะสมต่อการก่อตัวของดาวเคราะห์หิน ทั้งนี้รายละเอียดต่างๆ ทีมวิจัยได้รายงานไว้ในวารสารแอสโทรฟิสิคัล (Astrophysical Journal)
ลิสซี อธิบายว่า ถ้าหากดาวฤกษ์ที่พบนั้นมีอายุน้อยเกินไป ดาวเคราะห์ที่เกิดขึ้นใหม่จะเต็มไปด้วยก๊าซ และอาจกลายเป็นดาวเคราะห์ก๊าซขนาดใหญ่อย่างดาวพฤหัสบดี แต่หากดาวฤกษ์อายุมากเกินไปแล้ว กล้องสปิตเตอร์ก็คงจะจับภาพดาวเคราะห์หินที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นได้ไปแล้ว
นอกจากนี้ ระบบสุริยะนั้นยังเต็มไปด้วยฝุ่นผงและองค์ประกอบที่อาจมารวมตัวกันแลัวกลายเป็นดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกได้ด้วย จากการคำนวณด้วยกล้องสปิตเตอร์ ลิสซี ขยายความว่า องค์ประกอบที่อยู่รอบๆ ดาวฤกษ์เอชดี 113766 มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดูเหมือนมาไกลกว่าระยะที่ปุยเมฆคล้ายหิมะอัดแน่นเข้าหากัน และกำเนิดเป็นระบบสุริยะและดาวหางในระยะเริ่มต้น
ขณะเดียวกัน มันยังดูไม่เหมือนกับว่า องค์ประกอบต่างๆ กำลังอัดแน่นเข้าหากัน เหมือนอย่างที่พบอยู่ในกลุ่มดาวเคราะห์อายุมากและพวกอุกกาบาตทั้งหลาย
"องค์ประกอบผสมที่พบในแถบนั้นชวนให้นึกถึงสิ่งที่เหมือนกับลาวาที่ไหลออกมาจากใต้พื้นพิภพมากที่สุด มันทำให้ผมคิดถึงสิ่งที่พวยพุ่งออกมาจากภูเขาไฟมัวนาเคีย (Mauna Kea) บนเกาะฮาวาย ทันทีที่ผมเห็นส่วนประกอบของฝุ่นละอองในระบบสุริยะนั้น ซึ่งมันเต็มไปด้วยหินและเหล็กซัลไฟด์ (iron sulfides) อีกมากมาย" ลิสซี กล่าว ซึ่งสิ่งที่เขาพบนั้นดูเหมือนกับสภาพเมื่อ 100 ล้านปี ก่อนที่ดาวเคราะห์ดวงนี้จะถือกำเนิดขึ้น และหากเป็นเช่นเดียวกับโลกของเรา ต้องใช้เวลาอีกกว่า 1,000 ล้านปี กว่าที่ชีวิตแรกจะอุบัติขึ้น และกว่าที่พัฒนาไปเป็นสิ่งมีชีวิตซับซ้อนก็ต้องอาศัยเวลาอีกนานหลายพันล้านปี
อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanet) แล้วกว่า 250 ดวง และเกือบทั้งหมดก็มีระยะห่างจากดาวฤกษ์เท่าๆ กับที่โลกห่างจากดวงอาทิตย์ แต่ส่วนมากมักเป็นดาวเคราะห์ก๊าซขนาดใหญ่อย่างดาวพฤหัสบดี และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีเรื่องฮือฮา เมื่อทีมนักดาราศาสตร์ที่หอสังเกตการณ์ยุโรปตอนใต้ (European Southern Observatory) ในประเทศชิลี ค้นพบดาวเคราะห์คล้ายโลกที่อยู่ห่างออกไปราว 20.5 ปีแสง มีร่องรอยเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งอุณหภูมิและระยะห่างจากดวงอาทิตย์ทำให้น้ำอยู่ในสถานของเหลวได้ และอาจมีถึง 2 ดวงด้วยกัน คือ กลีส 581ซี (Gliese 581c) และ กลีส 581ดี (Gliese 581d) เป็นดาวบริวารของดาวฤกษ์กลีส 581 (Gliese 581) ที่อยู่ในกลุ่มดาวคันชั่ง
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000117756
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment