Tuesday, January 6, 2009
จุฬาฯ พัฒนาโปรแกรมอ่านหน้าจอหนุนผู้พิการสายตาเป็น"คอลเซ็นเตอร์"
ธุรกิจขนาดเล็กหรือใหญ่อยากมัดใจลูกค้าได้ต้องมี "ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์" หรือที่เรียกว่า คอลเซ็นเตอร์ ยิ่งบริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดยิ่งดี เพราะปัญหาของลูกค้าเกิดขึ้นได้ทุกนาที
เป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเปิดโอกาสรับผู้พิการทางสายตาเป็นพนักงานให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ 2 คน โดยมีโปรแกรมอ่านหน้าจอภาษาไทย ช่วยให้ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้อย่างคล่องแคล่ว
ซอฟต์แวร์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ"ไอไซท์ แล็บ" ที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) สนับสนุนให้นักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาขึ้น เพื่อเปิดโอกาสผู้พิการทางสายตาเข้าถึงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ
ดร.อติวงศ์สุชาโต ผู้ช่วยคณบดีด้านสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงโปรแกรมดังกล่าวว่า ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาสื่อสารและค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงใช้คอมพิวเตอร์ได้โดยลำพัง ไม่ต้องอาศัยผู้ช่วย ในต่างประเทศมีโปรแกรมลักษณะนี้ใช้กันอย่างแพร่หลาย หากไทยต้องการใช้จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ซึ่งราคาแพง ทำให้ผู้พิการส่วนใหญ่ขาดโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพ
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสนับสนุนครบทั้งอุปกรณ์วิจัยเทคโนโลยี และงบประมาณปีละ 3 หมื่นดอลลาร์ หรือประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 สิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายน 2553 ปัจจุบันโปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอพัฒนาแล้วเสร็จ พร้อมทั้งปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานในศูนย์ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ โดยมีพนักงานที่พิการทางสายตา 2 คน เริ่มทดลองงานใช้งานโปรแกรม
โปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอพัฒนาขึ้นจากโปรแกรมระบบเปิดหรือ โอเพ่น ซอร์ส โดยใช้ชื่อโปรแกรมว่า เอ็นวีดีเอ (Non Visaul Desktop Access) ทำหน้าที่มองจอภาพแทนตา และส่งสัญญาณเสียงตอบกลับว่า บนหน้าจอมีลักษณะอย่างไร มีข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้พิการสามารถป้อนคำสั่งที่ต้องการผ่านคีย์บอร์ดได้ทันที ในรูปแบบแปลงตัวอักษรเป็นเสียงพูด (Text to Speech)
"เมื่อผู้พิการกดแป้นแท็บ (Tab) บนแป้นพิมพ์จะมีสัญญาณเสียงบอกให้ทราบตำแหน่งที่เคอร์เซอร์กะพริบอยู่ เช่น คอมพิวเตอร์ของฉัน ( My Computer) เอกสารของฉัน (My Document) ถังขยะ หรือขณะที่ผู้พิการคลิกเปิดโฟลเดอร์ ก็จะมีเสียงแจ้งว่า "กำลังเปิดเอกสารของฉันเป็นต้น" ดร.อติวงศ์ หนึ่งในทีมพัฒนาโปรแกรม กล่าว
การพัฒนาโปรแกรมช่วยอ่านหน้าจอสำหรับผู้พิการทางสายตาได้รับความร่วมมือจากหลายองค์กร โดยเฉพาะสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และสมาคมคนตาบอดเพื่อการวิจัย ที่ร่วมทดสอบโปรแกรมตลอดจนพัฒนาแก้ไข กระทั่งสามารถใช้งานได้สูงสุด ตรงความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
"การติดตั้งใช้งานโปรแกรมในธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จะนำร่องให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพของโปรแกรมว่า สามารถใช้งานได้จริง ก่อนที่จะพัฒนาต่อให้มีความแม่นยำ ตลอดจนพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติม ให้เหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละประเภท ในลักษณะโปรแกรมเสริมต่อไป" นักพัฒนาโปรแกรม กล่าว
ด้านนายแอชลีย์วีซีย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสารสนเทศและปฏิบัติการ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ธนาคารพิจารณาถึงประโยชน์ของโครงการดังกล่าว เนื่องจากโปรแกรมช่วยอ่านของภาคเอกชนที่จำหน่ายในตลาด มีราคาแพงและยังไม่มีภาษาไทย หากสามารถพัฒนาเป็นภาษาไทยได้ และแจกจ่ายให้ผู้พิการทางสายตานำไปใช้โดยไม่ต้องซื้อในราคาแพง จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้พิการทางสายตาและสังคมโดยรวม
จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา
ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/2009/01/06/x_it_h001_329763.php?news_id=329763
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment