“เครื่องค้นหานักษัตร” หรือ อุปกรณ์ดูดาวแบบพอเพียง สิ่งประดิษฐ์จากเจ้าหน้าที่ สสวท. สำหรับใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนประกอบวิชาดาราศาสตร์ นายชาญณรงค์ รัตนะ เจ้าหน้าที่สาขาออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับทีมงาน คิดค้น “เครื่องค้นหานักษัตร” อุปกรณ์ดูดาวสำหรับศึกษากลุ่มดาวนักษัตร เหมาะกับการเรียนการสอนกลุ่มดาวต่างๆ และผู้ที่เริ่มหัดดูดาวโดยออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน
ทีมงานจัดแบ่งกลุ่มดาวที่แสดงในแผนที่ดาวเป็น 3 ระดับ ไล่ระดับจากง่ายไปหายาก ระดับละ 2 แผ่น แยกเป็นแผ่นแสดงดวงดาวในซีกฟ้าทิศทางเหนือและทิศใต้อย่าละแผ่น โดยแผนที่ดาวระดับ 1 ง่ายสุด แสดงกลุ่มดาวสำคัญเพียง 6 กลุ่ม เช่น กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวสิงโตและกลุ่มดาวหมีใหญ่ เป็นต้น พร้อมทั้งเขียนเส้นโยงแสดงกลุ่มดาว และรูปภาพของกลุ่มดาวนั้นๆ เพื่อให้นักดูดาวมือใหม่เข้าใจง่ายขึ้น
แผ่นแผนที่ระดับที่ 2 แสดงกลุ่มดาวมากขึ้น มีเส้นโยงแสดงกลุ่มดาว แต่ไม่แสดงรูปภาพของกลุ่มดาว ระดับที่ 3 ยากที่สุดคือ แสดงเฉพาะจุดดาวและชื่อกลุ่มดาวโดยไม่มีการโยงเส้นและรูปภาพ ซึ่งระดับนี้จะเห็นเหมือนดวงดาวต่างๆ ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าจริง
“ทีมงานใช้เวลาคิดค้นนานกว่า 2 ปี ใช้ทุนสร้างเครื่องต้นแบบประมาณ 1,300 บาท และเมื่อส่งผลงานเข้าร่วมเวทีสิ่งประดิษฐ์ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 2549 ปรากฏว่าได้รับรางวัลชมเชย ประเภทผลงานสิ่งประดิษฐ์ สาขาทางการศึกษา (ไม่มีผู้เหมาะสมได้รางวัลสูงกว่านี้) ปัจจุบันได้จดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์นี้แล้ว”
นายชาญณรงค์ ในฐานะหัวหน้าทีมออกแบบ กล่าว
เครื่องค้าหานกษัตรนี้ สร้างจากพลาสติก จึงคงทนถาวรกว่าแผนที่ดูดาวปัจจุบันที่ทำด้วยกระดาษ สามารถดูดาวทั้งซีกฟ้าเหนือและซีกใต้ได้ในเวลาพร้อมกัน มีแสงไฟสีแดงที่ไม่รบกวนสายตาส่องสว่างในตัวเครื่อง ทำให้ใช้งานได้โดยไม่ต้องถือไฟฉายหุ้มกระดาษสีแดงดังแต่ก่อน ทั้งยังติดตั้งเข็มทิศไว้หาทิศอุปกรณ์วัดมุมดวงดาว ซึ่งถอดออกจากเครื่องเพื่อนำไปประยุกต์ใช้วัดมุมหาความสูงของต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้ด้วย และใช้แบตเตอรี่แบบชาร์จไฟของโทรศัพท์มือถือ ทำให้มีน้ำหยักเบา และเมื่อชาร์จไฟเต็มสามารถดูดาวได้ต่อเนื่องประมาณ 5 ชั่วโมง 30 นาที
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment