Sunday, June 17, 2007

ประชันหุ่นยนต์คนรุ่นใหม่ชิงแชมป์ประเทศไทย

ปัจจุบันเทคโนโลยีถือเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน และเทคโนโลยียังเป็นตัวกำหนดความสามารถการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนมีความรักและสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์คิดค้น และสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงเป็นสิ่งที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะต้องให้ความสำคัญ และร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง

เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีโอกาสได้เรียนรู้และสัมผัสกับเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จึงร่วมกับภาคเอกชนด้านสื่อสารโทรคมนาคม และบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จัดงานเทคโนโลยีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดย จิตเกษม งามนิล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในงานแถลงข่าวการจัดงานถนนเทคโนโลยี 2550 ระหว่างวันที่ 16-17 มิ.ย. นี้ ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ว่าในปีนี้จะเฟ้นหาตัวแทนหุ่นยนต์ไทยไปแข่งขันที่เวียดนาม ในรายการ ABU Asia-Pacific Robot Contest ซึ่งจะจัดแข่งขันที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 26 ส.ค. นี้ ชื่อเกม “มหัศจรรย์ ฮาลองเบย์” ภายใต้แนวคิด “มังกรชิงไข่มุกแห่งฮาลองเบย์” โดยมุ่งมั่นที่จะเอาชนะเจ้าภาพให้ได้ ด้วยการอัดฉีดเงินสำหรับสร้างหุ่นยนต์ให้แก่ทีมชนะเลิศถึง 9 แสนบาท

“ปีที่ผ่านมา ทีมเยาวชนไทยต้องซื้ออุปกรณ์ โดยเฉพาะมอเตอร์เก่า มาใช้ประดิษฐ์หุ่นยนต์ ทำให้เขียนโปรแกรมควบคุมยาก แต่ปีนี้ ฮอนด้า ประเทศไทย ให้มา 4 แสนบาท เป็นเงินอัดฉีดพิเศษ เชื่อว่าหุ่นยนต์ไทยปีนี้จะไม่ด้อยไปกว่าต่างชาติ โดยเฉพาะเวียดนาม ที่เราไม่ต้องการให้เขาเป็นแชมป์ 3 ปีรวด ซึ่งนั่นหมายถึงการอ้างอิงของความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของเวียดนาม” จิตเกษม กล่าว

สำหรับทีมหุ่นยนต์ ABU เพื่อหาตัวแทนประเทศไทยปีนี้พบว่ามีทีมหุ่นยนต์ของนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน 180 ทีม ซึ่งคัดเลือกเหลือเพียง 32 แบ่งเป็นระดับอาชีวศึกษา จำนวน 16 ทีม ได้แก่ “ทานตะวัน” จากวิทยาลัยเทคนิคท่าหลวงซิเมนต์ไทยอนุสรณ์ “ศรีอยุธยา” จากวิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา “พรหมมณี” จากวิทยาลัยการอาชีพนครนายก “ศุภโชค01” จากวิทยาลัยการอาชีพเวียงสา “หอยหลอด” จากวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม “เมืองมีน 2007” จากวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี “กล้วยตาก” จากวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก “SAREN 2” จากวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ “บั้งไฟแสน” จากวิทยาลัยเทคนิคยโสธร “ขุนด่านปราการชล” จากวิทยาลัยเทคนิคนครนายก “นมสด” จากวิทยาลัยเทคนิคสระบุรี “ลำดวน 1” จากวิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ “แปดริ้วโรบอท” จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา “ORIGIN V.TEAM 2” จากวิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช “มะพร้าวอ่อน 3” จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา และ “นายฮ้อยทมิฬ 2007” จากวิทยาลัยการอาชีพสว่างแดนดิน

ส่วนระดับอุดมศึกษาทั้ง 13 ทีม ได้แก่ “TELE BOT#10” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี “ลูกเจ้าแม่คลองประปา” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ “DPU NEXTGEN” จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ “ลูกตาลเมืองเพชร” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี “Enmeya-Carla” จากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ “MEC-CARLA” จากมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ “MECHATRONICS 13” จากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน “MECHATRONICS XIV” จากสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน “Platimum” จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ขณะที่อีก 7 ทีมที่เหลือ อาทิ “iRAP RuddSteR” “iRAP” : Ranger” “iRAP_THE UPPERCUT” “MiNi Mecha” “The Ares” “XZeQuse (เอ็กชีคิ้วส์)” และ “สมหมาย” ล้วนมาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ทั้งนี้ ภายในงานถนนเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 16-17 มิ.ย. นี้ ได้จัดกิจกรรมให้ประชาชนเข้าชม 3 กิจกรรมหลักคือ การแสดงนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ การจัดประกวดสิ่งประดิษฐ์เพื่อชีวิตที่พอเพียง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และการแข่งขันหุ่นยนต์ ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนไทยได้นำความรู้ด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งยังเป็นการกระตุ้นกระแสความสนใจความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหมู่เยาวชนอีกด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

No comments: