Tuesday, June 19, 2007
กระดาษนาโนกันน้ำเลียนแบบใบบัว
ศูนย์นาโนเทคประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจิ๋วเคลือบกระดาษสา สร้างคุณสมบัติกันน้ำ เชื้อราและแบคทีเรีย เลียนแบบใบบัวตามธรรมชาติ
ดร.อิศรา สระมาลา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กล่าวว่า ทีมงานประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนกับการเพิ่มมูลค่ากระดาษสา ให้สามารถกันน้ำ เชื้อราและแบคทีเรีย โดยนำอนุภาคขนาดนาโนของสารจำพวกพลาสติกหรือโพลีเมอร์ เคลือบบนพื้นผิวกระดาษสา และอบในความร้อนที่เหมาะสม เพื่อให้พื้นผิวมีลักษณะคล้ายใบบัว ที่น้ำสามารถกลิ้งอยู่ได้โดยไม่เปียก
"งานวิจัยเริ่มจากศึกษาลักษณะพื้นผิวของวัสดุธรรมชาติที่ป้องกันน้ำได้ เช่น ใบบัว ดอกจอก และขนสัตว์บางชนิด เช่น เป็ด ไก่ พบว่าคุณสมบัติดังกล่าวเกิดจากสภาพผิวที่ค่อนข้างขรุขระ เป็นหนามหรือหลุมขนาดเล็ก เช่น ใบบัวที่มีทั้งขนขนาดเล็กและใหญ่ซ้อนกันอยู่บนผิวใบ รวมทั้งมีไขเคลือบ ทำให้อากาศแทรกตัวอยู่ตามพื้นผิว จนน้ำกลิ้งอยู่ได้โดยไม่เปียก" ดร.อิศรา กล่าว
ทีมงานใช้เวลาค้นคว้าประมาณ 3 เดือนในระดับห้องปฏิบัติการ โดยนำกระดาษสา ซึ่งทำมาจากเส้นใยปอพันธุ์สา ลักษณะเส้นใยไม่เป็นระเบียบ และสั้นกว่าเส้นใยของผ้า มาเป็นตัวทดลอง พบว่าหลังเคลือบสารโพลีเมอร์หรือพลาสติกแล้ว เส้นใยสามารถป้องกันน้ำได้ 100% หยดน้ำกลิ้งบนกระดาษในรูปทรงเป็นวงรี มีองศาวัดจากแผ่นกระดาษได้ 120 องศา เมื่อเทียบกับใบบัวที่น้ำกลิ้งได้แบบอิสระ และหยดน้ำมีลักษณะกลม 360 องศา
“เทคโนโลยีการผลิตกระดาษสากันน้ำนี้ จะเกิดความคุ้มทุนหากนำไปปรับใช้ในการผลิตกระดาษตั้งแต่ขั้นตอนแรก เพราะเส้นใยของกระดาษจะได้รับสารเคลือบอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ ก่อนที่จะนำไปส่งออกหรือแปรรูปเป็นสินค้าชนิดอื่น” ดร.อิศรา กล่าวและว่า
นอกจากเทคโนโลยีอนุภาคนาโนจะเพิ่มมูลค่ากระดาษสาได้แล้ว ยังสามารถนำวิธีการไปประยุกต์ใช้กับเส้นใยชนิดอื่น ทั้งจากธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้แก่ชิ้นงาน หรือเพิ่มมูลค่าในระยะยาวได้อีกด้วย
ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย คาดว่าจะวิจัยต่อยอดโดยนำเทคโนโลยีที่ได้ ไปประยุกต์ใช้กับวัสดุอื่นต่อไป เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ประกอบการ ให้มีความสามารถทัดเทียมประเทศคู่ค้าในอนาคต
นายธนูพร สุภาษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอ็มไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกกระดาษสาในปีที่ผ่านมาลดลงมาก เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นสามารถผลิตกระดาษกันน้ำได้ก่อนไทย โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกัน อีกทั้งเนื้อกระดาษของญี่ปุ่นมีความละเอียดติดอันดับ 1 ของโลก ส่งผลให้ธุรกิจกระดาษสาไทยต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพตามไปด้วย
“หากมีเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาคุณสมบัติของกระดาษ ให้สามารถใช้งานได้มากกว่าประโยชน์ด้านบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม อนาคตกระดาษสาอาจจะเป็นกระเป๋าหิ้ว รองเท้าหรือสินค้าแปรรูปชนิดอื่น เพราะเมื่อเทียบกับถุงพลาสติกหรือกล่องเหล็กแล้ว วัสดุที่ทำจากกระดาษสาไม่ทำลายสภาพแวดล้อม” นายธนูพร กล่าว
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/19/WW54_5401_news.php?newsid=79806
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment