Tuesday, June 19, 2007

กระดาษสานาโนกันน้ำ นักวิจัยสร้างเลียนแบบน้ำกลิ้งบนใบบัว

ศูนย์นาโนเทคพัฒนากระดาษสาโฉมใหม่ ไม่เปียกน้ำ ไม่เปื่อยยุ่ยและไม่ขึ้นรา เผยเคลือบผิวหน้าด้วยพลาสติกสุดจิ๋วระดับนาโน นอกจากจะไม่เปียกแล้ว หยดน้ำยังสามารถกลิ้งบนกระดาษไม่ต่างจากน้ำกลิ้งบนใบบัว

ดร.อิศรา สระมาลา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทีมงานประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนาโนกับการเพิ่มมูลค่ากระดาษสาให้สามารถกันน้ำ เชื้อรา และแบคทีเรีย โดยนำอนุภาคขนาดนาโนของสารจำพวกพลาสติกหรือโพลีเมอร์ เคลือบบนพื้นผิวกระดาษสา และอบในความร้อนที่เหมาะสม เพื่อให้พื้นผิวมีลักษณะคล้ายใบบัว ที่น้ำสามารถกลิ้งอยู่ได้โดยไม่เปียก

"งานวิจัยเริ่มจากศึกษาลักษณะพื้นผิวของวัสดุธรรมชาติที่ป้องกันน้ำได้ เช่น ใบบัว ดอกจอก และขนสัตว์บางชนิด เช่น เป็ด ไก่ พบว่าคุณสมบัติดังกล่าวเกิดจากสภาพผิวที่ค่อนข้างขรุขระ เป็นหนามหรือหลุมขนาดเล็ก เช่น ใบบัวที่มีทั้งขนขนาดเล็กและใหญ่ซ้อนกันอยู่บนผิวใบ รวมทั้งมีไขเคลือบ ทำให้อากาศแทรกตัวอยู่ตามพื้นผิว จนน้ำกลิ้งอยู่ได้โดยไม่เปียก" ดร.อิศรา กล่าว

ทีมงานใช้เวลาค้นคว้าประมาณ 3 เดือนในระดับห้องปฏิบัติการ โดยนำกระดาษสา ซึ่งทำมาจากเส้นใยปอพันธุ์สา ลักษณะเส้นใยไม่เป็นระเบียบ และสั้นกว่าเส้นใยของผ้า มาเป็นตัวทดลอง พบว่าหลังเคลือบสารโพลีเมอร์หรือพลาสติกแล้ว เส้นใยสามารถป้องกันน้ำได้ 100% หยดน้ำกลิ้งบนกระดาษในรูปทรงเป็นวงรี เมื่อเทียบกับใบบัวที่น้ำกลิ้งได้แบบอิสระ และหยดน้ำมีรูปทรงกลม

นอกจากเทคโนโลยีอนุภาคนาโน จะเพิ่มมูลค่ากระดาษสาได้แล้ว ยังสามารถนำวิธีการไปประยุกต์ใช้กับเส้นใยชนิดอื่น ทั้งจากธรรมชาติและเส้นใยสังเคราะห์ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้แก่ชิ้นงาน หรือเพิ่มมูลค่าในระยะยาวได้อีกด้วย ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าว ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

นายธนูพร สุภาษา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอ็ม ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ประกอบการส่งออกกระดาษสา กล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกกระดาษสาในปีที่ผ่านมาลดลงมาก เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นสามารถผลิตกระดาษกันน้ำได้ก่อนไทย โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกัน อีกทั้งเนื้อกระดาษของญี่ปุ่นมีความละเอียดติดอันดับ 1 ของโลก

"หากมีเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาคุณสมบัติของกระดาษ ให้สามารถใช้งานได้มากกว่าประโยชน์ด้านบรรจุภัณฑ์ อนาคตกระดาษสาอาจจะเป็นกระเป๋าหิ้ว รองเท้า หรือของใช้อื่นๆ ที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม" นายธนูพร กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดบึก

No comments: