กรมอุตุฯมองหา "ตัวช่วย" ตรวจจับคลื่นยักษ์สึนามิ เสริมระบบทุ่นลอยตรวจจับความผิดปกติของระดับน้ำทะเล ด้านเอกชนสหรัฐเสนอระบบเฝ้าระวังบนบก ตั้งหอสัญญาณยิงคลื่นวิทยุเช็คผิวคลื่น
นายศุภฤกษ์ ตันศรีรัตนวงษ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาเปิดกว้างสำหรับวิทยาการใหม่ เพื่อใช้เฝ้าระวังภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเกิดคลื่นสึนามิถล่มชายฝั่งอันดามัน สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สินเมื่อปลายปี 2547
"เราจำเป็นต้องมีหลายเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านดาวเทียม คลื่นวิทยุความถี่สูง และอื่นๆ เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของคลื่น ให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้น แต่การเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ ยังต้องพิจารณาถึงงบประมาณ รวมถึงประสิทธิภาพและประโยชน์ที่ได้รับ" อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าว
ปลายปีที่แล้ว รัฐบาลไทยและสหรัฐได้ร่วมกับปล่อย "ระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิแบบทุ่นลอย" ในมหาสมุทรอินเดีย เพื่อใช้ตรวจจับคลื่นที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเลสำหรับแจ้งอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ชายฝั่ง เมื่อเซ็นเซอร์ใต้น้ำตรวจพบแรงเคลื่อนไหวของน้ำผิดปกติ สัญญาณจะถูกส่งไปยังทุ่นผิวน้ำ ซึ่งจะส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมมายังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาแจ้งเตือนภัยยังผู้อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่ง
ด้าน ดร.แอนตัน จี.เจลาส ประธานบริษัทคอดาร์นอร์ จากสหรัฐ ได้เสนอระบบเรดาร์ชายฝั่งช่วยเสริมการเฝ้าระวังภัยพิบัติ ระบบดังกล่าวใช้หอเรดาร์ยิงคลื่นวิทยุความถี่สูงแบบเอชเอฟ 4-50 เมกะเฮิรตซ์ ตรวจกระแสน้ำบริเวณพื้นผิวทะเลเพื่อดูความเร็วและทิศทางการไหลที่ก่อให้เกิดคลื่นและคลื่นยักษ์ สามารถติดตั้งได้บริเวณชายฝั่งทะเลโดยไม่ต้องลงไปในทะเล
อุปกรณ์ที่ใช้จะมีเพียงแค่หอเรดาร์สำหรับส่งคลื่นวิทยุไปกระทบผืนน้ำ และรับสัญญาณสะท้อนกลับ จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปยังระบบคอมพิวเตอร์เพื่อประมวลผลความเร็วและทิศทางการไหลของพื้นผิวน้ำทะเล
“ระบบเรดาร์คลื่นวิทยุความถี่สูง ทำงานเหมือนเครื่องตรวจจับความเร็วรถที่ตำรวจจราจรของไทยใช้ แต่ระบบนี้สามารถตรวจได้ 360 องศา และควบคุมทางไกลได้กว่า 340 กิโลเมตร จากบริเวณชายฝั่ง ทำให้ดัดแปลงห้องควบคุมได้หลากหลาย เช่น อเมริกา ใช้รถยนต์เสมือนห้องควบคุม หรือเกาหลีใต้ ที่นำอุปกรณ์ติดตั้งแถบชายหาดและใช้การควบคุมระยะไกลผ่านจีพีอาร์เอส ไทยก็อาจนำไปติดตั้งบนหลังคาบ้านได้” ดร.แอนตัน กล่าว
เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถแสดงผลการตรวจวัดคลื่นและสึนามิแบบเรียลไทม์ต่อเนื่อง และยังพัฒนาให้ส่งสัญญาณเตือนภัยได้ เช่น ในอินเดีย ที่พัฒนาระบบให้สามารถส่งข้อความเตือนไปยังศูนย์ควบคุมที่เมืองเชนไนหากพบคลื่นสูงผิดปกติ ให้สามารถประกาศเตือนประชาชนได้ทันเวลา ปัจจุบัน ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็ใช้ระบบนี้ในการตรวจวัดคลื่นผิวน้ำเพื่อเฝ้าระวังการเกิดสึนามิ
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/12/WW54_5401_news.php?newsid=78548
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment