Thursday, June 14, 2007

เทคโนโลยีใหม่เพื่อการเตือนภัยพิบัติ

ภายใต้โครงการบริหารจัดการภาวะเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Risk Management Program ของมูลนิธิป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย หรือ Asia Disaster Preparedness Center (ADPC) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจาก Danish International Development Agency (DANIDA) โดยลักษณะการทำงานของ ADPC จะไม่แข่งกับศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในแต่ละประเทศที่เป็นสมาชิก แต่จะทำงานในลักษณะเสริมกัน เพื่อให้ศูนย์เตือนภัยของแต่ละประเทศรวมถึงประเทศไทยมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพราะนอกจากมีข้อมูลภายในประเทศแล้ว ยังจะมีข้อมูลจาก ADPC เป็นส่วนเสริมเพื่อใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

ล่าสุดได้ทำข้อตกลงร่วมกับไอบีเอ็ม นำซูเปอร์คอมพิวเตอร์มาช่วยประสานการเชื่อมต่อ และส่งข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 23 ประเทศ เช่น ประเทศกัมพูชา เวียดนาม ไทย ประเทศในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ และในแถบมหาสมุทรอินเดีย

ระบบดังกล่าวจะช่วยให้นักวิจัยสามารถกำหนดแนวทางป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติ อันเนื่องมาจากสภาพอากาศแปรปรวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งซูเปอร์คอมพิวเตอร์นี้จะทำหน้าที่เป็นศูนย์ประมวลผลจากข้อมูลความเสี่ยง
ที่จะเกิดภัยพิบัติจากประเทศสมาชิกทั้ง 23 ประเทศ มาประมวลเพื่อให้ได้ข้อมูลการพยากรณ์อากาศครอบคลุมพื้นที่โดยรอบ 3 ตารางกิโลเมตร

ซึ่งการประสานงานของศูนย์จะรับและประมวลผลข้อมูลแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ระบบดังกล่าวใช้แอพพลิเคชันพยากรณ์อากาศและงานวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ Weather Research and Forecasting (WRF) Model ซึ่งระบบงานที่ใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา ภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานพยากรณ์อากาศของสหรัฐ และหน่วยงานที่ให้บริการด้านการพยากรณ์อากาศชั้นนำทั่วโลก เช่น ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี นอร์เวย์ จีน อังกฤษ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผลที่ได้จะเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติขึ้นได้แม่นยำ และสามารถส่งข้อมูลไปยังประเทศสมาชิกทั้ง 23 ประเทศได้ภายในเวลา 6 นาที

ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นระบบประมวลผลนี้เป็นเครื่อง IBM System p575 ในสภาพแวดล้อมแบบคลัสเตอร์ มีประสิทธิภาพในการประมวลผลสูงถึง 9 แสนล้านงานคำนวณต่อวินาที ทั้งนี้ซูเปอร์คอมพิเวตอร์ที่ใช้ IBM System p575 เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับการยอมจากหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาชั้นนำทั่วโลก แอพพลิชันด้านงานพยากรณ์อากาศจำเป็นต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ที่มีพลังประมวลผลปริมาณข้อมูลมากมายมหาศาลและช่วยแก้สมการที่ซับซ้อน เพื่อทำให้การคาดการณ์รูปแบบการเกิดสภาพภูมิอากาศในลักษณะต่างๆ ทำให้อย่างแม่นยำที่สุด

ระบบงานดังกล่าวจะรับข้อมูลดิบจากแหล่งที่มาต่างๆ นอกจากนี้มูลนิธิยังใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลของ IBM System Storage DS4800 และ TS3310 Tape Library เป็นโครงการสร้างพื้นฐานไอทีที่มีเสถียรภาพและยืดหยุ่นสูงภายใต้ความร่วมมือนี้

ระบบการประมวลผลขั้นสูงและแอพพลิเคชัน WRF นี้ เป็นส่วนสำคัญในการเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น ดินถล่ม น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ภายในรูปแบบของ End-to-End Multi-Hazard Early-Warming ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของหลายประเทศ เช่น บังกลาเทศ กัมพูชา จีน ลาว หมู่เกาะมัลดีฟส์ หมู่เกาะมอริเชียส พม่า ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และไทย ระบบนี้จะทำหน้าที่สนับสนุนงานของศูนย์อุตุนิยมวิทยาของแต่ละประเทศ โดยจะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อเตือนภัยจากพิบัติที่กำลังก่อตัวขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งยังช่วยประเทศเตรียมความพร้อม โดยอบรมเจ้าหน้าที่และเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงานของแต่ละประเทศให้พร้อมรับมือกับภัยพิบัติล่วงหน้า

ดร.พิจิตร รัตตกุล รักษาการผู้อำนวยการบริการ มูลนิธิศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภัยพิบัติต่างๆ เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาล เช่น มูลค่าความเสียหายจากภัยพิบัติดินถล่มประมาณ 157 ล้านบาทต่อปี

ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เกิดอุทกภัยบ่อยครั้งมากขึ้น และกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ กว้างขวางมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น โดยมูลค่าความเสียหายจากอุทกภัยที่ผ่านมามีมูลค่าสูงถึง 6.443 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ เป้าหมายของศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชียคือ เป็นแหล่งข้อมูลที่ละเอียดโดยอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานของแต่ละประเทศ ส่งรายงานสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศไปยังศูนย์ คาดว่าจะเปิดให้บริการเฟสแรกได้ประมาณเดือน ต.ค. ซึ่งใช้งบในการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือในส่วนของฮาร์ดแวร์อย่างเดียว ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะต้องวางโรงสร้างพื้นฐานทั้งหมด 4 เฟส เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ

การจัดสร้างระบบงานใหม่ที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นก้าวสำคัญของมูลนิธิที่ดำเนินงานมาอย่างยาวนานตลอด 21 ปี โดยมูลนิธิจะช่วยอบรมบุคลากรของประเทศสมาชิกให้ใช้ประโยชน์จากระบบการพยากรณ์และงานวิจัยดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยลดความเสียหายและปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในภูมิภาคนี้ จากเหตุการณ์ไม่คาดคิดในอนาคต

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ Today

No comments: