Monday, June 25, 2007

รับสมัครคนใจเด็ดทดลองเสมือนไปดาวอังคารเก็บตัวในยาน 17 เดือน


เอพี/เอเอฟพี – อีซามองหาอาสาสมัครที่อยากร่วมการทดลองอันแสนก้าวล้ำ ทนสภาพกดดันได้ และไม่เบื่อง่าย เพื่อเดินทางสู่ดาวอังคารแบบเสมือนจริง โดยต้องเก็บตัวอยู่ร่วมกันในห้องแคบๆ 520 วันและปฏิบัติภารกิจซ้ำๆ กินอาหารจำกัด ห้ามอาบน้ำ และอาจต้องเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นเมื่อใดก็ไม่รู้

องค์การอวกาศยุโรป หรืออีซา (European Space Agency : ESA) ประกาศรับสมัคร 12 ผู้กล้าที่จะร่วมทดสอบการเดินทางเสมือนสู่ดาวอังคาร โดยอาสาสมัครต้องอยู่กับสภาพจำลองเหมือนยานอวกาศในพื้นที่จำกัด แสนน่าเบื่อ และโดดเดี่ยวบนโลกเป็นเวลาประมาณ 17 เดือน หรือ 520 วัน นับเป็นการทดลองที่ท้ายที่สุดครั้งหนึ่งในโลก

ตามการคำนวณระยะเวลการเดินทางเมื่อดาวอังคารอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดก็จะห่างประมาณ 56 ล้านกิโลเมตร เราจะใช้เวลาเดินทาง 250 วันถึงดาวอังคาร และอยู่บนนั้น 30 วันเพื่อเก็บข้อมูลการทดลอง จากนั้นเดินทางกลับโดยใช้เวลาอีก 240 วัน เป็นเวลาทั้งสิ้น 520 วัน

ยานอวกาศสู่ดาวอังคารจำลองทึ่จะใช้ทดลองนี้ประกอบด้วยชุดส่วนจำเพาะหรือมอดูล (module) ที่มีระบบล็อกด้านใน พัฒนาขึ้นโดยสถาบันวิจัยในมอสโกว รัสเซีย เมื่อประตูมอดูลปิดแน่น เท่ากับตัดขาดกับโลกภายนอก อาสาสมัครจะไม่สามารถติดต่อผู้ใดได้ นอกเสียจากสัญญาณวิทยุที่ดีเลย์ครั้งละหลายสิบนาที

อาสาสมัครจะต้องเผชิญภาวะจำลองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การเกิดเหตุฉุกเฉิน ภารกิจประจำวัน และการทดลอง รวมถึงความน่าเบื่อต่างๆ นานา ซึ่งเกิดขึ้นแน่อย่างไม่ต้องสงสัย ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่จำกัด โดยลูกเรือแต่ละคนจะมีพื่นที่ส่วนตัวขนาด 30 ตารางฟุต มีห้องครัว ห้องนั่งเล่น และห้องสุขาอย่างละ 1 ห้อง ทว่าไม่มีน้ำให้อาบเพราะต้องจำกัดปริมาณน้ำ

ส่วนอาหารการกินก็เป็นอาหารแช่แข็งเหมือนกับผู้ที่ประจำอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติรับประทานกันทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ก็มีจำนวนจำกัด ซี่งต้องแบ่งสรรกันให้ตลอดระหว่างการเดินทาง รวมทั้งไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

แม้ว่าจะมีโอกาสสื่อสารกับคนที่รักหรือภาคพื้นดิน แต่การตอบโต้ติดต่อแต่ละครั้งอาจต้องใช้เวลามากกว่า 40 นาที และบางทีสัญญาณอาจใช้ไม่ได้ เมื่อยานเข้าสู่ตำแหน่งอับ

จุดประสงค์ของการทดสอบครั้งนี้ก็เพื่อศึกษาผลกระทบทางจิตวิทยาว่าลูกเรือสามารถอดทนได้ยาวนานแค่ไหนระหว่างภารกิจการเดินทางสู่ดาวอังคาร

ทั้งนี้ ระหว่างการทดลองอาสาสมัครสามารถออกจากมอดูลได้ทันทีที่ต้องการ หากเกิดปัญหาต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องบอกเหตุผล ทว่าทางทีมวิจัยต้องการอาสาสมัครที่มีท่าทีว่าจะอดทนไปจนสิ้นสุดการทดลองที่ยาวนานนับปีครั้งนี้ได้

ผู้มีสิทธิสมัครร่วมการทดลองนี้จะต้องอายุระหว่าง 25-50 ปี มีสุขภาพดี และมีประสบการณ์การทำงานทางด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาใดสาขาหนึ่ง และที่สำคัญต้องเป็นพลเมืองของ 1 ใน 15 ประเทศสมาชิกอีซาหรือไม่ก็รัสเซียและแคนาดา ซึ่งคุณสมบัติที่สำคัญกว่าอื่นๆ คือพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษและรัสเซีย

อย่างไรก็ดี มีอาสาสมัครเพียง 6 คนที่จะได้เข้าทดสอบ (ส่วนที่เหลือไว้สำรอง) อีซามีรายละเอียดว่า 4 ใน 6 ของลูกเรือที่เข้าร่วมจะเป็นชาวรัสเซีย และอีก 2 มาจากประเทศอื่นๆ ตามที่ระบุ โดยขั้นตอนการทดสอบนั้นจะเริ่มกลางปีหน้า โดยให้อาสาสมัครทดลองอยู่ในยานจำลองก่อน 105 วัน และพิจารณาว่าจะต่อเนื่องไปอีก 105 วัน หรือพัก ก่อนที่จะทดสอบแบบเต็มๆ 520 วันรวดในช่วงปลายปี 2008 หรือต้นปี 2009

กระบวนการคัดสรรนั้นก็เหมือนกับการคัดเลือกนักบินอวกาศของอีซา แม้ว่าจะเน้นไปในทางจิตวิทยาและความทนทานต่อความเครียดมากกว่าความสมบูรณ์ทางร่างกายก็ตาม ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะได้ค่าตอบแทนวันละ 120 ยูโร (ประมาณ 5,500 บาท)

ทั้งนี้ อีซาได้ประกาศว่าทั้งชายและหญิงผู้ที่คิดว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมจะเป็นอาสาสมัครทดลองการเดินทางสู่ดาวอังคารให้สมัครได้ถึงวันที่ 30 ก.ย.นี้ โดยเปิดให้ดาวน์โหลดใบสมัครที่ http://www.spaceflight.esa.int/CallforCandidates

หลังจากประกาศรับสมัครไปแล้วไม่กี่วันมีผู้สนใจส่งใบสมัครมาที่อีซามากกว่า 2,000 ราย ส่วนทางสถาบันวิจัยปัญหาทางชีวเวชของรัสเซีย (Institute of Biomedical Problems) อันเป็นสถานที่ทดลองครั้งนี้ก็ได้รับใบสม้ครแล้วกว่า 150 ใบแต่เป็นผู้หญิงเพียง 19 ราย ซึ่งสิ่งที่ยากลำบากก็คือการหาผู้ที่มีสุขภาพเหมาะสมกับการทดลองในรูปแบบนี้

อย่างไรก็ดี แผนเดินทางสู่ดาวอังคารอาจยังไม่ใช่เป้าหมายอันใกล้ เพราะสหรัฐฯ กำลังเตรียมการเดินทางสู่ดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2018 จากนั้นจึงจะเดินทางสู่ดาวอังคาร แต่ในส่วนของอีซาก็ยังไม่มีแผนที่แน่ชัดเช่นกัน

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000073794

No comments: