Thursday, June 21, 2007

เปิดเทคนิคแชมป์ ‘ABU Robot 2007’


สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ บริษัท อสมท จำกัด (มหา ชน) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) จัดแข่งขัน ABU Robot Contest Thailand Championship 2007 รอบชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ภายใต้ชื่อ “มหัศจรรย์ ฮาลองเบ” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ผลปรากฏว่า “มะ พร้าวอ่อน 3” จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา โค่นแชมป์เก่า “หอยหลอด” จากวิทยา ลัยเทคนิคสมุทรสงคราม คว้าโล่จากนายกรัฐมนตรีและเงินรางวัลมาครอง เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ “ABU Robocon 2007” ที่ ประเทศเวียดนาม ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้

อาจารย์บรรณพต จันทร์แดง อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมมะพร้าวอ่อน 3 ซึ่งประกอบด้วย นายวัชรพงษ์ จันทา, นายจักรกฤษ วรางกูร และนายอาทิตย์ เจนสัญญายุทธ นักเรียนสาขาอิเล็กทรอนิกส์ ที่นอกจากได้รับรางวัลชนะเลิศแล้ว ยังได้รับรางวัลเพื่อการพัฒนาหุ่นยนต์ จากฮอนด้า จำนวน 1 แสนบาท พร้อมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีการคิดค้นหุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ “อาซิโม” กล่าวว่า จุดเด่นของทีมอยู่ที่หุ่นยนต์ออโต้ซึ่งมีโปรแกรมที่หลากหลาย สามารถพลิกแพลงปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของสถาน การณ์ได้ ทั้งยังสามารถทำงานได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากตัวเซ็นเซอร์สำหรับอ่านเส้นนักเรียนทำขึ้นเอง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเรียน

“หุ่นยนต์ออโต้ทั้ง 3 ตัว จะมีโปรแกรมให้เลือกใช้งานอย่างน้อยตัวละ 12-13 โปรแกรม ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะเขียนจากการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า และก่อนที่จะไปแข่ง ขันที่เวียดนามจะเขียนโปรแกรมเพิ่มอย่างน้อยอีกตัวละ 5 โปรแกรม พร้อมปรับปรุงโครงสร้างให้แข็งแรงกว่าเดิม”อาจารย์บรรณพต กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ไม่ห่วงว่าอุปกรณ์ในการสร้างหุ่นยนต์จะด้อยกว่าต่างชาติ เพราะไอซีทีมีเงินอัดฉีดให้ถึง 9 แสนบาทเพื่อพัฒนาต่อยอดก่อนไปชิงชัยที่เวียดนาม ที่สำคัญการที่จะชนะได้ขึ้นอยู่กับการแก้เกมและเทคนิคซึ่งทีมไทยทำได้ดี พร้อมมองว่าในเชิงของนโยบายภาครัฐควรที่จะเปิดเวทีแข่งขันในลักษณะนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้เด็กไทยได้ฝึกฝนฝีมือ

สำหรับกติกาการแข่งขัน แต่ละทีมจะมีสมาชิก 4 คน แบ่งเป็นนักเรียน/นักศึกษา 3 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน ออกแบบหุ่นยนต์บังคับด้วยมือ 1 ตัว และหุ่นยนต์อัตโนมัติไม่เกิน 3 ตัว น้ำหนักรวมไม่เกิน 50 กิโลกรัม ซึ่งแต่ละทีมต้องนำวัตถุรูปทรงกระบอกที่เปรียบเสมือนไข่มุก ไปสร้างเกาะซึ่งเสมือน เมืองฮาลอง และเมืองไบตูลองของประเทศเวียดนาม ทีมที่สร้าง “Victory Islands” ที่มีลักษณะเป็น รูปตัววีเสร็จก่อนจะเป็นผู้ชนะ หรือถ้าสร้างไม่เสร็จก็จะใช้การนับคะแนนตัดสิน การแข่งขันจะใช้เวลา 3 นาที แบ่งเป็นทีมสีเขียวและสีแดง

ส่วนรางวัลอื่น ๆ อาทิ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งและรางวัลหุ่นยนต์อัตโนมัติยอดเยี่ยมเป็นของทีมหอยหลอด, รางวัลรองชนะเลิศอันดับสองเป็นของทีม MEC-CARLA มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ และทีม iRAP THE UPPERCUT สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th/
Link: http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=131140&NewsType=1&Template=1

No comments: