Thursday, June 7, 2007

ซอฟต์แวร์สามมิติส่องดูตับไตไส้พุง ช่วยนักศึกษาแพทย์รู้ซึ้งระบบร่างกาย

สองนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีโรเชสเตอร์ พร้อมทีมนักศึกษา ช่วยกันพัฒนาภาพสามมิติอวัยวะภายในร่างกายที่ให้รายละเอียดได้เหมือนจริงทุกประการสามารถมองเห็นได้รอบ 360 องศา ทั้งตับ กะโหลกศรีษะ และโมเลกุลโปรตีน
ภาพอวัยวะในรูปแบบดิจิทัลสามมิติเหล่านี้ สร้างจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายโปรแกรมช่วยกัน โปรแกรมตัวแรกใช้สร้างเส้นทางท่องเที่ยวในร่างกายเหมือนกับมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ อีกโปรแกรมหนึ่งใช้ส่งภาพผ่านตัวกรองพิเศษเพื่อส่งไปยังระบบสร้างภาพสามมิติ สำหรับตัวต้นแบบยังต้องส่องด้วยแว่นตาสามมิติแบบที่ใช้ดูในโรงภาพยนตร์ ที่ด้านหนึ่งเป็นแผ่นใสสีแดงและอีกข้างหนึ่งเป็นสีฟ้าดูจากจอคอมพิวเตอร์ ทีมงานตั้งเป้าว่าจะพัฒนาอุปกรณ์ชมภาพสามมิติแบบอินเทอร์แอ็คทีฟสมบูรณ์แบบ ที่ผู้ใช้สามารถซูมภาพเข้าออก และดูภาพได้ทุกมุมมองภายหลัง
ผู้ที่ได้ทดลองสวมแว่นสามมิติดูภาพอวัยวะเสมือนจริงต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วยให้พวกเขาเข้าใจพัฒนาการของมนุษย์ได้ดียิ่ง โดยเฉพาะนักเรียนแพทย์ต่างชมเปาะว่า พวกเขาสามารถวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น
โปรแกรมดังกล่าวเปรียบเสมือนกับได้ท่องเที่ยวเข้าไปในอวัยวะสำคัญที่เห็นละเอียดลออระดับเซลล์และเนื้อเยื่อ ช่วยให้ผู้ศึกษาเข้าใจกลไกทำงานของร่างกายอย่างแจ่มแจ้ง
จิลเลียน สก็อต นักศึกษาจากภาควิชาภาพตัวอย่างทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยบัฟฟาโล บอกว่า การได้เห็นว่าอวัยวะในศีรษะมาอยู่ตรงหน้าเหมือนของจริงช่างเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างมาก
ภาพสามมิติที่ทีมงานสร้างขึ้นอาศัยความรู้หลายด้านประกอบกัน เช่น การสร้างภาพประกอบ ความรู้ด้านโครงสร้างเซลล์ระดับโมเลกุล และความเข้าใจระบบร่างกาย จากนั้นป้อนข้อมูลให้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพที่มีมิติตื้นลึก จนสุดท้ายได้ห้องสมุดร่างกายเสมือนจริงออกมา
"เป้าหมายของเราคือ ให้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือที่สุดแก่ผู้ใช้ และหาเทคนิคทำให้ได้ภาพกราฟฟิกที่สวยงานที่สุดเท่าที่เราทำได้" พอล เครก นักชีวเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีโรเชสเตอร์ กล่าว
ปัจจุบันภาพอวัยวะสามมิติที่ทำสำเร็จแล้ว ได้แก้ ภาพตับ ไต และหัวใจ ทีมงานมีแผนทำภาพให้ครบทุกอวัยวะในร่างกาย จากนั้นค่อยเขยิบไปทำภาพโรคชนิดต่างๆ ให้อยู่ในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง
ภาพเสมือนจริงเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้สามารถสื่อสารรับรู้กับภาพได้ทั้งทางสายตาและเสียง บางครั้งรวมถึงกลิ่น และสัมผัสจับต้องระหว่างใช้งานท่องอยู่ในโลกสามมิติที่ถูกสร้างขึ้นมา

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: