ปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงผุดโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ Junior Science Talent Project (JSTP) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ ก้าวสู่ความเป็นนักวิจัยมืออาชีพ และเป็นผู้ผลิตความรู้ โดยสนับสนุนทุนการศึกษา และการวิจัยถึงระดับปริญญาเอกภายในประเทศ
การจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการวิจัยของ JSTP ทั้ง 8 รุ่น และการเรียนรู้ทางด้านดนตรีควบคู่กับวิทยาศาสตร์
นายยอดหทัย เทพธรานนท์ นักวิจัยอาวุโส สวทช. หนึ่งในคณะผู้ริเริ่มโครงการ JSTP เล่าว่า นอกจากเปิดโอกาสให้ศึกษา และทำวิจัยแล้ว ทางโครงการไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเรียนด้านวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ สามารถเรียนได้ทุกสาขา แต่ให้สนใจทำการวิจัย โดยทางโครงการจะมีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยชั้นนำของประเทศ เป็นอาจารย์พี่เลี้ยง และที่ปรึกษาให้อีกด้วย ส่วนที่ให้เป็นทุนให้เปล่าก็มีปัญหาบ้างในบางคน จึงมีการยกเลิกทุนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมขึ้น
ที่ปรึกษา JSTP นายอุดมศิลป์ ปิ่นสุข กล่าวว่า โครงการนี้ทำให้เด็กเห็นบรรยากาศของการวิจัย เพื่อให้เกิดแนวคิดในการทำวิจัยของตัวเอง เด็กที่ถูกคัดเลือกมาแล้วระดับหนึ่งจะมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ มีวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ โครงงานการวิจัยที่ผ่านมา จะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ งานที่ออกมาบางอย่างก็ง่ายเกินไป เพราะเป็นความคิดของเด็ก บางอย่างก็ซับซ้อน การที่มีอาจารย์พี่เลี้ยงคอยแนะแนว ทำให้อยู่ในโลกของความเป็นจริง และเป็นที่ปรึกษาให้เพียงพอ และตรงกับสาขาวิชาที่ทำวิจัยมากที่สุด อย่างไรก็ตาม โครงการยังขาดการประชาสัมพันธ์ ทำให้มีเด็กเข้าโครงการน้อย ส่วนมากรู้จากรุ่นพี่ นอกจากนี้ โรงเรียนเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กค้นพบตัวเอง และมุ่งสู่ทางที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่นๆ ยิ่งเด็กค้นพบตัวเองเร็วเท่าไร ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น
เกศทิพย์ อิศรางกูร ณ อยุธยา หรือ ท้อป สมาชิก JSTP รุ่นที่ 8 เล่าว่า เคยเข้าโครงการเมื่อรุ่นที่ 6 และได้ทำวิจัยจริง จึงประทับใจ เลยเข้าโครงการอีกครั้ง สนใจวิทยาศาสตร์เพราะเห็นว่าทำให้ประเทศพัฒนา สิ่งรอบตัวเราก็เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งนั้น และอยากสร้างงานวิจัย JSTP ได้ให้ประสบการณ์ในการทำการทดลองจริง รู้จักนำทฤษฎีมาปฏิบัติจริง รู้จักการวิเคราะห์ และแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ครอบครัวยังสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะสนใจวิทยาศาสตร์ หรือดนตรี ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือการทำวิจัยในห้องปฏิบัติการ ตนอยากให้เยาวชนสนใจวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง เพราะแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน ถ้านำความสามารถของแต่ละคนมาใช้ จะทำให้ประเทศได้อะไรจากเยาวชนเหล่านี้มากยิ่งขึ้น
ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ หรือ อาร์ม สมาชิก JSTP รุ่นที่ 3 บอกว่า เข้าโครงการนี้เพราะเจอใบสมัครตกอยู่กับพื้น พออ่านแล้วก็เห็นว่าน่าสนใจ ที่สนใจวิทยาศาสตร์เพราะที่บ้านมีสวนกล้วยไม้ ทำให้ได้เห็นขั้นตอนการเจริญเติบโต จึงสนใจด้านพืชเป็นพิเศษ ซึ่ง JSTP ให้โอกาส และประสบการณ์ ทำให้ได้เข้าร่วมอบรม ได้ทำวิจัยในเรื่องที่ชอบ รู้จักอาจารย์ที่มีความสามารถ รู้จักเพื่อนๆ ที่มีเป้าหมายในชีวิตเหมือนกัน ตนเห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศ ถ้าไม่มีก็จะทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปได้ยาก
ขณะที่ ทวีนันท์ เชี่ยวชาญชำนาญกิจ หรือ ตั้ม สมาชิก JSTP รุ่นที่ 6 เล่าว่า ตอนเห็นใบสมัครก็ยังไม่รู้ว่าเป็นโครงการอะไร อาจารย์จึงแนะนำเห็นว่าน่าลอง เพราะตนชอบวิทยาศาสตร์ ตอนเด็กๆ ชอบซ่อมพวกวิทยุ เครื่องเล่นเทป เมื่อขึ้นมัธยมปลายก็ถามอาจารย์ว่าชอบไฟฟ้าต้องเรียนวิชาอะไร อาจารย์บอกว่าวิชาฟิสิกส์ จึงหาหนังสือมาอ่านเพราะไม่รู้ว่าฟิสิกส์คืออะไร ทั้งนี้ JSTP ให้โอกาสกับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัด เมื่อได้ทำวิจัยในห้องปฏิบัติการจริงก็ชอบ และถามอาจารย์ว่าเรียนอะไรถึงได้อยู่ห้องวิจัย ตนจึงเรียนวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แค่ให้ลองนำสิ่งที่เรียนเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวก็จะทำให้การเรียนรู้สึกสนุก ไม่ใช่เรียนโดยการจำทฤษฎีเพื่อทำโจทย์ปัญหา จะทำให้น่าเบื่อ
พิมพ์พจี นวกุลสิรินาถ หรือ สไปร์ท สมาชิก JSTP รุ่นที่ 8 กล่าวว่า สนใจวิทยาศาสตร์เพราะที่บ้านเป็นฟาร์มเลี้ยงสุนัข ขายสัตว์เลี้ยง เข้าโครงการ JSTP โดยส่งใบสมัครตอนมัธยมต้น ซึ่งช่วงนั้นเรียนการศึกษานอกโรงเรียนเพราะป่วย เมื่อไม่เข้าใจก็ให้อาจารย์สอน JSTP ทำให้ตนแน่ใจที่จะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพราะการพบนักวิทยาศาสตร์ในการทำวิจัย ทำให้ได้คำตอบว่าเรียนวิทยาศาสตร์แล้วจะทำอะไร เห็นว่าปัจจุบันเด็กไทยเลือกอาชีพตามค่านิยมของสังคม เช่น แพทย์ หรือวิศวะ และเห็นว่าไม่ใช่เด็กทุกคนจะต้องเรียนวิทยาศาสตร์ ถ้าเด็กสนใจอยากเรียนรู้ ไม่ว่าจะวิชาอะไรควรทุ่มเทให้เต็มที่ เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่เรียนรู้อยู่แล้ว
ปิดท้ายที่ วัชรพงษ์ อนรรฆเมธี หรือ โจ สมาชิก JSTP รุ่นที่ 6 เล่าว่า ตอนเป็นเด็กมีความสามารถหลายทาง แต่ถ้าเข้าไปอยู่ในสาขาที่ขาดแคลนก็น่าจะทำอะไรได้มากขึ้น เลยเข้า JSTP ตอนมัธยมปลาย งานวิจัยทางคณิตศาสตร์จะแตกต่างจากสาขาอื่น ไม่ใช่การคิดใหม่ ส่วนมากเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยเดิมที่มีอยู่แล้ว ตนว่าการเรียนคณิตศาสตร์เหมือนเล่นเกม ปีที่ยากขึ้นก็เหมือนกับเกมที่ยากขึ้น เป็นการท้าทายสำหรับตัวเอง JSTP ให้โอกาสเริ่มต้นที่หาอาจารย์ที่ปรึกษา เพราะตอนนั้นยังเป็นนักเรียนมัธยมปลาย ต้องมีการแนะนำในการวิจัย รู้จักตัวตนของการวิจัยทางคณิตศาสตร์ ให้ทุนสนับสนุนในสิ่งที่อยากทำ ตนเห็นว่าคณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก ที่ยากเนื่องจากบางคนมีเป้าหมายสูง เช่น การสอบเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อทำไม่ได้จึงทำให้เสียกำลังใจ
จะว่าไปแล้ว เด็กไทยมีความสามารถมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือด้านอื่นๆ แต่ยังขาดเวทีสำหรับการแสดงออกซึ่งความสามารถที่มีอยู่ เพราะสังคมยังไม่เห็นความสำคัญของการให้โอกาสแก่เด็กเหล่านี้ แต่เมื่อใดที่มีโอกาส เด็กเหล่านี้ก็จะแสดงศักยภาพชนิดที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว!!
ที่มา: http://www.matichon.co.th/
Link: http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01edu10130650&day=2007/06/13§ionid=0107
Wednesday, June 13, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment