Wednesday, June 13, 2007
"ผ้าอัจฉริยะ" ตรวจของเหลวในกาย เตือนอันตรายล่วงหน้า
บีบีซีนิวส์/ชานแนลโฟร์ – นักวิจัยยุโรปซุ่มพัฒนาเสื้อผ้าอัจฉริยะ เพื่อติดตามตรวจสอบสุขภาพของผู้สวมใส่ และบ่งชี้ความผิดปกติแต่เนิ่นๆ
"ผ้าอัจฉริยะ" (intelligent textiles) มีเซ็นเซอร์ฝังอยู่ภายใน ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อตรวจสอบของเหลวในร่างกาย อาทิ เลือด และเหงื่อ เพื่อตรวจสอบและติดตามผลสุขภาพของผู้ป่วยที่กำลังพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง และนักกีฬาที่มีอาการบาดเจ็บ
โครงการผลิตผ้าอัจฉริยะเป็นของ "ไบโอเท็กซ์" (Biotex) ที่ได้รับทุนสนับสนุนครึ่งหนึ่งมูลค่า 2.1 ล้านปอนด์ (ประมาณ 135 ล้านบาท) จากสหภาพยุโรป และมีนักวิจัยจาก 8 สถาบันร่วมกันค้นคิด
การพัฒนาต้นแบบผ้าฝังเซ็นเซอร์ใกล้ลุล่วงแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือทดลองกับอาสาสมัคร
ฌอง ลูปราโน (Jean Luprano) ผู้ประสานงานโครงการจาก CSEM บริษัทเทคโนโลยีสวิตเซอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารดิ เอนจิเนียร์ (The Engineer) ว่า เซ็นเซอร์ที่พัฒนาขึ้นมาผ่านการทดสอบในห้องวิจัยแล้ว และขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการฝังลงในเนื้อผ้า ซึ่งคาดว่าอีกไม่นานจะสามารถนำมาทดสอบปัจจัยคู่ขนานต่างๆ ได้
ผ้าอัจฉริยะเวอร์ชันแรกจะสามารถตรวจสอบเหงื่อ ด้วยการวัดสภาพความเป็นกรด ความเข้มข้นของเกลือ และอัตราการขับเหงื่อ
นักวิจัยในโครงการหวังว่า ในที่สุดแล้ว เทคโนโลยีนี้จะสามารถติดตามตรวจสอบสัญญาณสำคัญของร่างกาย ประเมินความคืบหน้าในการรักษาแผล ระบุการป่วยและการติดเชื้อแต่เนิ่นๆ โดยการบ่งชี้ความผิดปกติในกระบวนการเผาผลาญอาหาร
ลูปราโนย้ำว่า ไม่ได้มีเจตนาใช้เทคโนโลยีนี้แทนวิธีวินิจฉัยโรคปกติ แต่ต้องการให้เป็นทางเลือกเพิ่มเติมเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพในชีวิตประจำวัน
“ระบบตรวจสอบแบบสวมใส่ได้ แม้มีความแม่นยำน้อยกว่า แต่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในโรงพยาบาล”
มาร์ก ออตเวต (Mark Outhwaite) ประธานกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ บริติช คอมพิวเตอร์ โซไซตี้ (British Computer Society) ที่เกี่ยวข้องกับสารสนเทศและระบบแพทย์ทางไกล แสดงทัศนะว่า เซ็นเซอร์จะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ก็ต่อเมื่อสามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำและน่าเชื่อถือเท่านั้น
ออตเวตสำทับว่า ข้อมูลคุณภาพต่ำที่ระบุแนวโน้มมากกว่าสภาพที่เป็นจริง อาจเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบศักยภาพของนักกีฬา แต่ไม่ควรนำมาใช้ในการตัดสินใจที่มีความสำคัญต่อการรักษา และว่า แนวคิดเรื่องชุดอัจฉริยะเคยเป็นประเด็นถกเถียงในหมู่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เมื่อปลายทศวรรษ 1990 ที่มีผู้เสนอให้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการติดตามค้นหาทหารที่บาดเจ็บในสนามรบ
ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000068441
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment