Friday, June 29, 2007

"บลูมูน" จันทร์เต็มดวงยากจะเห็น 30 มิ.ย.นี้


นาซา/เอเอพี/ผู้จัดการออนไลน์- 30 มิ.ย.นี้เกิด "บลูมูน" จันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ในรอบเดือน ปรากฏการณ์ยากจะเกิด เพียง 2.5 ปีมีครั้ง ด้านนักดาราศาสตร์ระบุจันทร์เพ็ญสวยงามแต่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาดวงดาว

จันทร์เต็มดวงในวันที่ 30 มิ.ย.นี้เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "บลูมูน" (Blue moon) หรือปรากฏการณ์ที่จันทร์เต็มดวงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบเดือน ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 2.5 ปีต่อครั้ง ขณะที่บางนิยามหมายถึงปรากฏการณ์ที่จันทร์เต็มดวง 3 ครั้งภายใน 1 ฤดูกาล

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติในคืนสิ้นเดือนนี้ว่าปกติเดือนหนึ่งดวงจันทร์เต็มดวงเพียงครั้งเดียว แต่เดือน มิ.ย.นี้มีจันทร์เต็มดวง 2 ครั้ง และเป็นเหตุการณ์ที่นานๆ จะเห็นจึงเรียกว่าบลูมูน ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า Once in a blue moon หมายถึงนานๆ จะเห็นสักครั้ง อีกทั้งจันทร์เต็มดวงที่จะเห็นก็ไม่ได้เป็นสีฟ้า

"ไม่มีอะไรพิเศษ ตามความหมายของฝรั่งคือดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน ไม่ถึงกับบ่อยแต่ก็ไม่ยากที่จะเกิด เกิดจันทร์เพ็ญห่างกัน 29.5 วัน โอกาสจะเกิดต้นเดือน-ปลายเดือนก็เกิดขึ้นได้ เป็นแค่รอบการโคจรของดวงจันทร์กับรอบปฏิทินเท่านั้น" นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทยให้ความเห็น

แม้จันทร์เต็มดวงจะเป็นปรากฏการณ์ที่สวยงามแต่สำหรับนักดาราศาสตร์แล้วกลับกลายเป็นอุปสรรคในการศึกษาดวงดาวบนท้องฟ้ารวมทั้งการศึกษาดวงจันทร์เอง

"แสงสว่างจากจันทร์เต็มดวงได้บดบังดวงดาวให้ยากที่จะสังเกต มันยังยากที่จะหาตำแหน่งภูเขาและปากปล่องภูเขาไฟของดวงจันทร์เอง ช่วงจันทร์เต็มดวงเป็นเวลาที่แย่สำหรับการดูดวงจันทร์ มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะมองดวงจันทร์ขึ้นและตกลงมหาสมุทร แต่สำหรับการสังเกตทางดาราศาสตร์แล้ว มันเป็นช่วงเวลาแย่ที่สุด ไม่มีเงา มันก็มีพื้นผิวที่เป็นแสงขาวนวล เวลาที่ดีสุดสำหรับดูดวงจันทร์คือเวลาที่คุณเห็นดวงจันทร์เพียงครึ่งหรือน้อยกว่านั้น" ความเห็นของเจฟฟ์ วายแอทท์ (Geoff Wyatt) ผู้จัดการหอดูดาวซิดนีย์ (Sydney Observatory) ออสเตรเลีย

สำหรับจันทร์เต็มดวงที่จะเห็นในคืนวันสิ้นเดือนนี้ไม่ได้เป็น "สีน้ำเงิน" ตามความหมายภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ในสำนวนภาษาอังกฤษคำดังกล่าวมีหลายความหมาย อาจหมายถึงเหตุการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้น นานๆ ครั้งหรืออาจจะหมายถึงเรื่องไร้สาระน่าหัวเราะก็ได้

อย่างไรก็ดีเคยมีปรากฏการณ์ที่ผู้คนเห็นดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงินทั้งขณะที่จันทร์เต็มดวง จันทร์ครึ่งดวง หรือแม้แต่จันทร์เสี้ยว และบางคืนก็ยังเห็นเป็นสีเขียวด้วย

เมื่อปี 1883 ที่ภูเขาไฟกรากาตัวในอินโดนีเซียระเบิดซึ่งนักวิทยาศาสตร์ประมาณความรุนแรงเท่ากับระเบิดนิวเคลียร์ 100 ล้านตัน ภูเขาไฟส่งเสียงกัมปนาถให้ผู้คนที่อยู่ห่างออกไป 600 กิโลเมตรได้ยินคล้ายเสียงลั่นของชัตเตอร์กล้องถ่ายภาพ เถ้าภูเขาไฟพวยพุ่งสู่ชั้นบรรยากาศและดวงจันทร์เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน

สก็อตต์ โรว์แลนด์ (Scott Rowland) นักภูเขาไฟวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาย (University of Hawaii)ให้ข้อมูลว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้คนเห็นดวงจันทร์สีน้ำเงินนั้นเพราะบางส่วนอนุภาคของเถ้าภูเขาไฟที่ล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศมีขนาดประมาณ 1 ไมครอน ซึ่งเป็นขนาดที่สะท้อนแสงสีแดงได้เป็นอย่างดีขณะที่แสงสีอื่นๆ ผ่านฝุ่นละอองดังกล่าวลงสู่พื้นโลกได้ ดังนั้นแสงขาวของดวงจันทร์ที่ผ่านฝุ่นละอองลงมาจึงกลายเป็นสีน้ำเงินและบางครั้งกลายเป็นสีเขียว

สำหรับปรากฏการณ์บลูมูนที่จันทร์เต็มดวงเป็นรอบที่ 2 ของเดือนในครั้งต่อไปนั้นจะเกิดขึ้นในวันส่งท้ายปีเก่าของปี 2009

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000075615

No comments: