Friday, June 29, 2007

1 ก.ค. "ดาวศุกร์-ดาวเสาร์" ใกล้ชิดกัน 0.7 องศา


เดอะสตาร์/ผู้จัดการออนไลน์-ฉลองรับครึ่งปี "ดาวศุกร์-ดาวเสาร์" ใกล้ชิดกัน 0.7 องศา 1 ก.ค.นี้ เหนือท้องฟ้าฟากตะวันตกใกล้กลุ่มดาวสิงโตและห่างจากดาวหัวใจสิงห์เพียง 5 องศา

ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำของวันที่ 1 ก.ค.ดาวศุกร์จะโคจรเข้าใกล้ดาวเสาร์โดยมีระยะห่างเพียง 0.7 องศา ซึ่งนายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่าเราจะเห็นดาวศุกร์และดาวเสาร์ห่างกันด้วยขนาดที่กว้างกว่าขนาดเชิงมุมของดวงจันทร์เล็กน้อย โดยขนาดเชิงมุมหรือขนาดปรากฏของดวงจันทร์เท่ากับ 0.5 องศา ส่วนขนาดเชิงมุมจากขอบฟ้าถึงท้องฟ้าตำแหน่งกลางศรีษะเป็น 90 องศา โดยทั่วโลกจะเห็นดาวศุกร์เข้าใกล้ดาวเสาร์พร้อมกันแต่เวลาที่เห็นจะต่างกันไปตามเวลาท้องถิ่น เช่นที่สหรัฐอเมริกาจะเห็นในวันที่ 30 มิ.ย. แต่ไทยจะเห็นในช่วงหัวค่ำวันที่ 1 ก.ค.นี้

ทางด้าน รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่าโอกาสที่ดาวศุกร์กับดาวเสาร์จะอยู่ใกล้กันเกิดได้ยากและไม่ทราบว่าอีกกี่ปีจะเกิดขึ้นอีก โดยดาวศุกร์ซึ่งเคลื่อนที่เร็วกว่าจะเริ่มทิ้งห่างดาวเสาร์หลังจากวันที่ 1 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ดาวศุกร์เป็นดาวที่มีคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์สั้นกว่าดาวเสาร์โดยใช้เวลาเพียง 224 วัน แต่ดาวเสาร์ต้องใช้เวลา 29 ปีจึงจะโคจรรอบอาทิตย์ครบ 1 รอบ อย่างไรก็ดีดาวเคราะห์ทั้ง 2 ยังมีโอกาสที่เข้าใกล้กันอีก

ทั้งนี้ รศ.บุญรักษาให้ข้อมูลว่าตำแหน่งที่จะเห็นดาวเคราะห์ทั้ง 2 ดวงจะอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวสิงโตทางซีกฟ้าทิศตะวันตกและอยู่สูงจากขอบฟ้าพอสมควร โดยจะเห็นดาวศุกร์ที่สว่างมากเนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่สว่างสุดบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กับดาวเสาร์ที่สว่างน้อยกว่า และเหนือดาวทั้ง 2 ขึ้นไป 5 องศาจะเป็นตำแหน่งของดาวหัวใจสิงห์ (Regulus)

"ตอนนี้ก็เริ่มเห็นดาวศุกร์-ดาวเสาร์ใกล้กันแล้วและจะใกล้ที่สุดวันที่ 1 ก.ค.นี้ จากนั้นไม่นานดาวศุกร์ก็เคลื่อนที่ทิ้งไป ส่วนดาวเสาร์ก็ยังอยู่บริเวณดาวสิงห์โดยในคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ 29 ปี ดาวเสาร์จะอยู่ใกล้กลุ่มดาวสิงห์ประมาณ 2 ปี" รศ.บุญรักษากล่าว พร้อมทั้งเพิ่มเติมว่าช่วงนี้เรายังจะได้เห็นดาวพฤหัสบดีที่สว่างสดใสในทิศตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างชัดเจน โดยวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมาดวงจันทร์และดาวพฤหัสบดีก็อยู่ใกล้กันมากด้วย

ทั้งนี้เราจะเห็นดาวเสาร์เป็นจุดสีเหลืองอยู่ใต้ดาวศุกร์เยื้องไปทางขวา โดยดาวศุกร์จะมีความสว่างมากกว่าถึง 8 เท่าเพราะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่า และแม้ตาเปล่าเราจะเห็นดาวเคราะห์ทั้ง 2 อยู่ใกล้กันมากแต่ระยะห่างจริงไกลกันหลายพันล้านกิโลเมตร และปรากฏการณ์นี้ก็เป็นโอกาสให้เราเห็นลักษณะการเคลื่อนที่สัมพัทธ์กันของดาวเคราะห์ด้วย

ที่มา: http://www.manager.co.th/
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000075828

No comments: