Thursday, February 22, 2007

ไอพีทีวี

‘ไอพีทีวี’ พัฒนาการของเน็ต คอนเวอร์เจนต์

แม้บริการโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือไอพีทีวี (Internet Protocal Television : IPTV) จะแจ้งเกิดในเมืองไทยมานานกว่า 2 ปี จากการเปิดตลาดของ 2 ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่ของไทย คือ ทรู
คอร์ปอเรชั่น ที่ขายพ่วงไปกับทรูวิชั่นส์ หรือยูบีซีเก่า ส่วนอีกรายคือ บัดดี้ บรอดแบนด์ ของบริษัท แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวอร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์ ในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น โดยอาศัยโครงข่ายของบริษัท ทีโอที ในการตลาด ทว่ายอดผู้ใช้บริการไอพีทีวี กลับยังไม่กระเตื้อง

ต่างจากตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) กลับมีแนวโน้มเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งๆ ที่อาศัยเทคโนโลยีตัวเดียวกัน แต่กลับไม่สามารถเดินไปพร้อมกันได้

ไอพีทีวี ถือเป็นบริการเสริม มาต่อยอดให้กับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ให้สามารถรับชมรายการทีวีต่างๆ บนจอคอมพิวเตอร์เหมือนดูโทรทัศน์ปกติ หรือจะผ่านจอโทรทัศน์ทั่วไปก็ได้ หากสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ยังสามารถชมรายการตามสั่ง (ออนดีมานด์) ได้ตามเวลาที่ต้องการ หรือจะจัดเก็บบันทึกรายการที่ชื่นชอบจากฟรีทีวีเพื่อไว้ชมย้อนหลังก็ได้

ส่วนปัญหาและอุปสรรค ที่ทำให้ไอพีทีวี ไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทย หลายฝ่ายมองว่า ส่วนหนึ่งมาจากความเร็วในการรับส่งข้อมูล (แบนด์วิดท์) ยังมีราคาสูง โดยปัจจุบันความเร็วในระดับเมกะบิตต่อวินาที ราคาอยู่ที่ 500-1,000 บาทต่อเดือน รวมไปถึงการต้องปรับเปลี่ยนหรือต้องมีอุปกรณ์เสริม ได้แก่ โมเด็ม คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ทีวีเองก็ต้องเป็นทีวีความละเอียดสูง (High-Definition T.V) ซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทยมากนัก ยังไม่รวมบริการเนื้อหา หรือคอนเทนต์ ก็ดึงดูดเพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้กับตลาดด้วย

‘ทรู ไอพีทีวี’ หนึ่งจิ๊กซอว์ บูมอินเทอร์เน็ต คอนเวอร์เจนต์
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หนึ่งในผู้ให้บริการไอพีทีวี กล่าวว่า การเติบโตของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ส่วนหนึ่ง ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐด้วยว่าจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าเทียบกับเกาหลี สิงคโปร์ ประเทศไทย ยังห่างไกล

เพราะจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเมืองไทยยังต่ำมีเพียงแค่ 3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เมื่อเทียบกับประเทศอื่น เกาหลี มีปริมาณการใช้งานบรอดแบนด์ถึง 74% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่สิงคโปร์ มีถึง 51% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ นอกจากนี้จำนวนผู้มีคอมพิวเตอร์ใช้งานในเมืองไทยก็ยังต่ำ แต่ถ้ามีจำนวนพีซีมากขึ้น การขยายตัวอินเทอร์เน็ตก็ต้องเพิ่มตาม

“โอกาสในตลาดนี้ ยังมีแนวโน้มเติบโตไปได้อีกมากและทรูเองก็ตั้งเป้า 3 ปี นำความสามารถ ทั้งความรู้ ข่าวสาร บันเทิงเข้าถึงประชาชนคนไทย ให้ได้อย่างน้อย 50% ของ 8 ล้านครัวเรือน ผ่านการเชื่อมต่อทางใดทางหนึ่งจากเครือจ่ายทรู” ศุภชัย กล่าว

ปัจจุบัน ทรูมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ 6 แสนราย และคาดว่าปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านราย ส่วนบริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกของบริษัท ทรูวิชั่นส์ มีสมาชิกจำนวน 6 แสนครัวเรือนและจะเพิ่มเป็น 1 ล้านครัวเรือนในปีนี้ โดยทรู เชื่อว่าพัฒนาการของอินเทอร์เน็ต จะเป็นตัวผลักดันให้เข้าสู่การผนวกรวมบริการ (คอนเวอร์เจนตื) อย่างแท้จริง

ด้าน ธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ ผู้อำนวยการบริหารด้านโฮม คอนซูเมอร์ โซลูชัน และไฮสปีด แอ็คเซ็ส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งของบริการไอพีทีวี คือความต้องการความเร็วในการใช้งาน ปัจจุบันความเร็วที่ 512 กิโลบิตต่อวินาที ก็สามารถดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ซึ่งเครือข่ายของทรู สามารถรองรับการใช้งานได้ นอกจากนี้ อุปกรณ์โมเด็มของทรูเอง ก็สามารถรองรับได้ถึง 24 เมกะบิต แต่การใช้งานจริง ต้องค่อยๆ ไต่ระดับความเร็วขึ้นไป

“จริงๆ ทุกบ้าน พร้อมใช้บริการ แต่กว่าจะเป็นที่นิยมคงต้องใช้เวลา” ผู้อำนวยการบริหารด้านโฮม คอนซูเมอร์ โซลูชัน และไฮสปีด แอ็คเซ็ส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ล่าว

‘ไทย’ 1 ใน 5 ประเทศ ดูวีดีโอ ผ่านเน็ตมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม แม้บริการไอพีทีวีจะยังไม่สามารถแพร่หลายในเมืองไทย แต่จากผลการวิจัยตลาดของบริษัทไอดีซี พบว่า อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวัน ของผู้ใช้บริการในอนาคต เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตธรรมดา มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มากขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความรวดเร็วในการเชื่อมต่อ

ในที่สุด กลุ่มผู้ใช้งานก็จะมีความเข้าใจถึงข้อดีของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และเริ่มมีความต้องการบริการเสริมต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์มากขึ้น และเชื่อว่าผู้ใช้บริการ 20% ดูโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต (IPTV) และอีก 77.8% ดูวิดีโอผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

ประเทศที่มีอัตราการดูวีดีโอ ผ่านดินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และไทยตามลำดับ ในขณะที่ประเทศที่มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สูงสุด ได้แก่ ประเทศเกาหลี (90.5%) ไต้หวัน (90.5%) ฮ่องกง (89.6%) สิงคโปร์ (78.2%) ไทย (63.6%) และจีน (52.6%) ตามลำดับ ส่วนในประเทศมาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินเดีย ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ ยังคงใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ (แนร์โรว์แบนด์)

เชื่อมต่อแบบมีสาย คงอิทธิพลต่อผู้ใช้ออนไลน์
แต่หากกล่าวถึงการขยายเครือข่ายแล้ว กลุ่มผู้ใช้งานบรอดแบนด์มักนิยมเขื่อมต่อแบบใช้สาย (wired) ส่วนการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายภายในบ้านแบบไร้สาย (wireless) ยังไม่นิยมมากนัก ซึ่งต่อไป การเชื่อมต่อเครือข่ายภายในบ้าน จะมีบทบาทมากขึ้น โดยจะกลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของสื่อ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน

นั่นหมายถึงพัฒนาการไปอีกขั้นหนึ่ง ที่ไปสู่การเชื่อมต่อไปยังระบบที่ให้ความบันเทิง (Entertainment System) ด้วยการผนวกรวมระบบวีดีโอ เสียง ตลอดจนรูปภาพต่างๆ ที่ส่งผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้หน่วยเก็บข้อมูล เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกวีดีโอ เป็นอุปกรณ์รับส่งข้อมูล ซึ่งนอกเหนือจากการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการทำงานแล้ว การใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในบ้าน ยังเป็นแรงกระตุ้นให้กับตลาดเกมออนไลน์ รวมไปถึงความบันเทิงต่างๆ เช่น การดูหนัง ฟังเพลงด้วย

ผลจากการขยายตัวทางด้านอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ไม่เพียงแต่กระตุ้นการใช้งานบนโลกออนไลน์ อีกแง่มุมหนึ่ง อินเทอร์เน็ตยังเป้นตัวกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจและจีดีพีโดยรวมของประเทศด้วย เพราะจากการสำรวจของธนาคารโลก พบว่า แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวมของแต่ละประเทศ ไม่ได้มาจากการเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานมือถืออีกต่อไป โดยจะมีอินเทอร์เน็ตเข้ามาแทนที่

ดังนั้น หากประเทศไทยสามารถทำให้ประชากรทั่วทั้งประเทศมีอินเทอร์เน็ตใช้ ก็เท่ากับว่า ช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจไทยไปในตัว

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

No comments: